พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ (๒๔๖๓-๒๕๖๒) อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ท่านยังเป็นนักเรียนชั้นปีที่ ๓ หลักสูตรเท็ฆนิคทหารบกซึ่งเป็นหลักสูตร ๕ ปี เหตุเพราะเกิด “กรณีพิพาทอินโดจีน” เมื่อปลายปี ๒๔๘๓ ต่อต้นปี ๒๔๘๔ รัฐบาลจึงให้นักเรียนนายร้อยทั้งหมดเข้ารับหน้าที่ผู้บังคับหมวดในสนามรบนอกประเทศ เพราะกำลังขาดแคลนนายทหาร
เมื่อถึงสงครามมหาเอเชียบูรพา ไทยเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ร้อยตรีเปรมถูกส่งเข้าสู่สนามรบอีกครั้งในเมืองเชียงตุง รัฐฉานของพม่า ประสบ
การณ์จากสมรภูมิระหว่างปี ๒๔๘๕ - ๒๔๘๘ สอนหลายสิ่งหลายอย่างให้นายทหารหนุ่มคนนี้อย่างที่ท่านเล่าว่า “ตอนนั้นเกิดความขาดแคลนมาก เราได้รับบทเรียนว่าการพึ่งพาตนเองนั้นเป็นสิ่งสำคัญ…”
ปี ๒๔๘๘ ปีสุดท้ายของสงครามมหาเอเชียบูรพา ได้เลื่อนยศเป็นร้อยเอก เปรม ติณสูลานนท์ และย้ายกลับเข้ามาเป็นผู้บังคับกองร้อยในเมืองไทย จากนั้นชีวิตราชการของท่านก็ก้าวหน้าเป็นลำดับ ในปี ๒๔๙๕ ได้รับทุนให้ไปศึกษาต่อที่โรงเรียนยานเกราะของกองทัพบกสหรัฐฯ ที่ฟอร์ตน็อกซ์ รัฐเคนทักกี แล้วกลับมาเป็นอาจารย์ในโรงเรียนยานเกราะ เติบโตอย่างมั่นคงด้วยความสามารถอันโดดเด่น กระทั่งปี ๒๕๑๑ พลตรี เปรม ติณสูลานนท์ วัย ๔๘ ปี ได้เป็นผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า บรรดาทหารม้าที่มีธรรมเนียมยึดถือผู้นำหน่วยประดุจ “พ่อม้า” จึงเรียกขานท่านว่า “ป๋าเปรม” เมื่อสมญานี้แพร่ออกไป เพียงสื่อเรียกย่อ ๆ ว่า “ป๋า” คนทั้งประเทศก็ย่อมเข้าใจว่าหมายถึงผู้ใด
ในปีที่ “ป๋าเปรม” เป็นผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้านี้เอง โรงกลั่นน้ำมันแห่งใหม่ของรัฐก็ถือกำเนิดขึ้นที่ตำบลบางจาก อำเภอพระโขนง จังหวัดพระนคร โดยกรมการพลังงานทหาร กระทรวงกลาโหม ทำสัญญาให้บริษัทซัมมิทอินดัสเทรียลคอร์ปอเรชั่น (ปานามา) เช่าดำเนินการ
ดูเผิน ๆ ทั้งสองเรื่อง คือ ประวัติการรับราชการทหารของพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ กับโรงกลั่นน้ำมันบางจาก อันเป็นจุดกำเนิดของ “บางจากฯ” กลุ่มธุรกิจของคนไทยซึ่งเริ่มต้นจากปิโตรเลียม อาจดูเหมือนไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกันเลย แต่นี่คือเรื่องราวอันเป็น “ตำนาน” ของสายสัมพันธ์ ซึ่งแม้เริ่มต้นมาคนละทิศละทาง แต่ก็เปลี่ยนผ่านมาด้วยกันท่ามกลางกระแสสังคมเศรษฐกิจการเมืองไทย ก่อนจะมาบรรจบกันในเวลาต่อมา จนแทบกล่าวได้ว่าเราไม่อาจเล่าเรื่องของ “บางจากฯ” ได้เลย หากไม่กล่าวถึงพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ขณะเดียวกันก็ไม่อาจกล่าวถึงผลงานอันเป็นหมุดหมายสำคัญและเป็นคุณูปการที่ท่านมีต่อประเทศชาติบ้านเมืองได้ครบถ้วน โดยละเว้นไม่พูดถึง “บางจากฯ”
เดือนตุลาคม ๒๕๒๑ พลเอกเปรมก้าวขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบก ก่อนจะได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในปีถัดมา จากนั้นเมื่อพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ได้ลาออกจากตำแหน่ง จึงมีพระบรม-ราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๒๓ ท่ามกลางภาวะวิกฤตด้านพลังงาน อันเป็นผลพวงจากสถานการณ์ในตะวันออกกลาง
การขึ้นราคาน้ำมันนำไปสู่การชุมนุมเดินขบวนเรียกร้อง ซ้ำยังกลายเป็นปัญหาต่อการผลิตกระแสไฟฟ้าไม่เพียงพอ
หนึ่งในแนวทางสำคัญในการแก้ปัญหาของรัฐบาลคือมาตรการ “ประหยัดพลังงาน” ที่คนรุ่นนั้นยังจดจำได้ดี เช่น จำกัดเวลาการขายน้ำมัน ทั่วประเทศ ให้สถานีโทรทัศน์งดออกอากาศระหว่าง ๑๘.๐๐ - ๒๐.๐๐ น. และต้องปิดสถานีภายในเวลา ๒๔.๐๐ น. เป็นต้น
“ตอนนั้นเกิดความ
ขาดแคลนมาก
เราได้รับบทเรียนว่า
การพึ่งพาตนเองนั้น
เป็นสิ่งสำคัญ…”
ร้อยตรี เปรม ติณสูลานนท์
สมรภูมิเชียงตุง ๒๔๘๕-๒๔๘๘