เก็บตก บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี..จากการลงพื้นที่ภาคสนาม
พื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันออกบริเวณรอยต่อของลุ่มน้ำปากพนังกับลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา มีป่าพรุควนเคร็งขึ้นครอบคลุมพื้นที่มากกว่า ๑ แสนไร่ กว้างใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศไทยรองจากพรุโต๊ะแดง จังหวัดนราธิวาส
นอกจากศักยภาพในการทำหน้าที่กักเก็บคาร์บอน (Carbon sequestration) จากชั้นบรรยากาศไว้ในเนื้อไม้ เป็นแหล่งอาศัยของพืชและสัตว์ เป็นแนวกันชนลดผลกระทบจากพายุฝนและอุทกภัย “ป่าพรุควนเคร็ง” ในพื้นที่ตำบลเคร็ง อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช ยังเป็นระบบนิเวศที่ให้บริการและปรับปรุงวิถีชีวิตชาวชุมชนท้องถิ่น
ภายในพรุควนเคร็งอันคำว่า “พรุ” หมายถึงบริเวณที่มีที่ลุ่มชุ่มน้ำ มีซากผุพังของพันธุ์พืชทับถม เมื่อเหยียบย่ำจะยุบตัวให้ความรู้สึกหยุ่นๆ ยังมีทรัพยากรที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจคือต้น “กระจูด” พืชจำพวกกกที่มีลำต้นกลมสีเขียวอ่อน วงรอบกว้างประมาณดินสอ ความสูง ๑-๒ เมตร เมื่อนำมาตัดหัวตัดท้ายตากแดดให้แห้งสนิท สามารถนำมาประดิษฐ์เป็นเครื่องจักรสานได้หลายชนิด เช่น เสื่อ กระสอบ กระบุง กระเป๋า ถือเป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่มีความเหนียว นุ่ม ทนทาน
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพื้นที่ประมาณร้อยละ ๖๕ ของป่าพรุควนเคร็งกำลังอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการถูกคุกคามทั้งจากการเปลี่ยนป่าพรุเป็นสวนปาล์ม การสูญเสียระดับน้ำในป่าพรุ และที่สำคัญคือไฟป่า ยกตัวอย่างเหตุการณ์เมื่อต้นเดือนสิงหาคม ๒๕๖๒ เกิดไฟป่าลุกลามในหลายพื้นที่ทั้งตำบลเคร็ง อำเภอชะอวด, ตำบลการะเกด ตำบลแม่เจ้าอยู่หัว อำเภอเชียรใหญ่ และ ตำบลสวนหลวง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นชาวบ้านเห็นว่า ภาครัฐควรมีนโยบายที่ชัดเจนในการอนุรักษ์ป่าพรุควนเคร็งไว้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ และมีแนวทางป้องกันไฟป่าอย่างชัดเจน โดยศึกษาความสมดุลของปริมาณน้ำในพื้นที่รับน้ำของป่าพรุ รักษาระดับน้ำใต้ดินให้อยู่ใกล้ผิวดินตลอดทั้งปี และสนับสนุนให้พื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางนิเวศวัฒนธรรม เพื่อให้ป่าพรุควรเคร็งคงสภาพเป็นป่าพรุอยู่ได้ท่ามกลางภัยคุกคาม
“เดินเข้าป่าพรุ ๔-๕ ชั่วโมงก็มีเงินติดกระเป๋า”
สุทัศน์ สงขาว
รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเคร็ง
“ป่าพรุควนเคร็งเหมือนตู้เย็นในบ้าน หรือเหมือนกระเป๋าปัจจัยของพี่น้องประชาชนคนเคร็ง วันไหนไม่มีเงินเดินเข้าป่าพรุ ๔-๕ ชั่วโมงก็มีเงินติดกระเป๋า ที่ว่าเหมือนตู้เย็นก็เพราะป่าพรุควนเคร็งเหมือนตู้อาหารของคนในพื้นที่ นึกจะกินปลาน้ำจืดก็ได้กิน นึกจะกินน้ำผึ้งก็ได้กิน อยากกินตัวต่อก็ได้กิน อยากจะกินพืชผักสีเขียวโดยเฉพาะลำเพ็งอยากได้มาแกงเลียงก็มีอยู่ในป่าพรุทั่วไป เปรียบไปแล้วก็เหมือนห้างสรรพสินค้าที่ถ้าลงแล้วได้ทุกอย่าง
“เราอาศัยอยู่กับป่าพรุมาตั้งแต่บรรพบุรุษ บ้านเรือนของผู้คนในตำบลเคร็งส่วนใหญ่จะตั้งอยู่บนเนินควนต่างๆ ไต่ลาดจากเนินควนก็เป็นผืนนา แปลงผัก พื้นที่ผลไม้ แต่มีพืชชนืดหนึ่งเติบโตได้ดีในพรุควนเคร็งคือกระจูด ดินโคลนแถบนี้ทำให้กระจูดขึ้นหนาแน่นเป็นบริเวณกว้าง บางพื้นที่มีต้นกระจูดขึ้นเป็นพันๆ ไร่ คนตำบลเคร็งประมาณ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ไม่มีที่ทำกินเป็นของตัวเอง หลายคนมีที่แค่พอปลูกบ้าน ก็ได้อาศัยทรัพยากรธรรมชาติคือป่าพรุที่มีต้นกระจูดขึ้นปะปนกับไม้เสม็ดแล้วก็ไม้ชนิดอื่นๆ อย่างไม้ชะลูด
“คนเคร็งสัมผัสกระจูดตั้งแต่เกิดจนตาย ลูกหลานคนเคร็งได้เรียนปริญญาก็อาศัยจูด อาศัยปลา อาศัยทรัพยากรธรรมชาติในป่าพรุ”
“ประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านเข้าใจว่าถ้าเกิดไฟไหม้มันจะสูญ ธรรมชาติจะหาย”
สนั่น คงแก้ว
ผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๑๑ ตำบลเคร็ง
“ธรรมชาติของป่าพรุควนเคร็งจะมีต้นกระจูดทับถม ประมาณ ๓-๔ ปีก็จะมีไฟป่า ช่วงหน้าแล้งที่ฝนไม่ตกลงมา แต่เดี๋ยวนี้ไฟป่าตามธรรมชาติไม่ค่อยมี ส่วนใหญ่มาจากฝีมือมนุษย์ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ คนที่ตั้งใจผมว่าเหลือน้อยเต็มทีแล้ว คือระหว่างหน้าแล้งก็เผาป่าพรุเพื่อล่าสัตว์หรือขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน ส่วนที่ไม่ตั้งใจมีมากกว่า ทั้งประมาท เลินเล่อ บางคนหาตัวผึ้งตัวต่อก็ใช้ไฟ บางคนหาปูหาปลา จับได้ก็ย่างปลาปิ้งปลากินกัน กลับบ้านไปแล้วก็เกิดไฟไหม้ หรือคนสูบบุหรี่ในป่าพรุ มันพูดยากเพราะไม่ใช่คนในพื้นที่เท่านั้น ป่าพรุเข้าได้รอบด้าน คนไม่รู้กี่อำเภอกี่จังหวัด วันหนึ่งไม่รู้เท่าไหร่
“คนในพื้นที่หมู่ ๑๑ บ้านผมทำกินอยู่กับกระจูดเกือบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ คนที่ไม่มีทีทำกินประมาณ ๑๐ ครัวเรือน ก็หากินหาอยู่กับป่าพรุ เราประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านเข้าใจว่าถ้าเกิดไฟไหม้มันจะสูญ ธรรมชาติจะหาย กว่าจะกลับมาก็ใช้เวลาอย่างน้อยปีสองปี เราวางแผนทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ไฟป่า ถ้าชาวบ้านอยากให้เผากระจูดที่ตายแล้วทับถม หรือเผาเศษกระจูดหลังเก็บเกี่ยวแล้วซึ่งเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี เพื่อให้กระจูดงอกขึ้นมาใหม่ ถ้าติดต่อมาจะจัดการให้ เจ้าหน้าที่จะเผาให้ชาวบ้านเป็นแปลงๆ ถ้าเก็บไม่ได้ก็ให้มาแจ้ง แต่ขอร้องอย่าเผากันเองโดยเฉพาะหน้าแล้ง จะควบคุมไม่อยู่”
“ช่วยพ่อแม่ทำมาตั้งแต่กำละ ๓ บาท ตอนนี้กำละ ๒๐ บาท ผูกพันกับกระจูดมาตั้งนานแล้ว”
ยุพา คงเทพ
ชาวบ้านหมู่ ๑๑ ตำบลเคร็ง
“ทำกระจูดมาตั้งแต่ ๗ ขวบ ถ้าไม่ได้ทำก็ไม่มีอะไรจะกิน พ่อก็ยากจน แม่ก็ยากจน ถ้าไม่ทำกระจูด พ่อแม่ก็คงไม่มีเงินส่งเรียนหนังสือ ช่วยพ่อแม่ทำมาตั้งแต่กำละ ๓ บาท ตอนนี้กำละ ๒๐ บาท ผูกพันกับกระจูดมาตั้งนานแล้ว
“ธรรมชาติของกระจูดถ้า ๓ ปี ๔ ปีไม่เผา ปล่อยให้ทับถม คุณภาพจะแย่ลง กระจูดจะไม่งอกงาม วันก่อนไปเป็นวิทยากรที่ปากพนังเลยเสนอให้เผา ๓ ปีต่อครั้ง เพราะถ้าไม่เผาจากที่เคยเก็บได้ ๑๐ กำ จะเหลือแค่ ๓ กำ แต่การเผาต้องมีการจัดการที่ดี วางแผนก่อนเผาว่าวันนี้เผาโซนนี้ อีกวันค่อยเผาโซนอื่น
“คำพูดที่ว่าคนที่เข้ามาเก็บกระจูดเผากันเอง ทำให้เกิดไฟไหม้ เราจะเผาทำไม เราทำกระจูดมาตลอดชีวิต ไม่คิดจะเผา เพราะถ้าไม่มีกระจูดแล้วเราจะทำอะไร ตอนนี้เข้าร่วมเป็นสมาชิกอนุรักษ์ป่าพรุ ไม่ให้ใครมาทำลายกระจูด อยากให้คนหมู่ ๑๑ ตำบลเคร็งมาช่วยกันดูแลกระจูดและป่าพรุ ภูมิปัญหาท้องถิ่นเกี่ยวกับการจักสานกระจูดต่อไปไม่รู้ว่ารุ่นลูกรุ่นหลานจะได้สืบทอดอีกมั๊ย”
“ลงตอนหกโมงเช้า ถึงตีสิบได้แล้วประมาณห้าร้อย”
ณรงค์ มีทอง
ชาวบ้านหมู่ ๑๑ ตำบลเคร็ง
“ตอนอยู่ชะอวดกรีดยาง มาได้เมียที่นี่ ดีกว่ากรีดยางอีก ตอนนี้เป็นอาชีพหลัก กระจูดเป็นอะไรที่ลืนลั่นมากของตำบลเคร็ง เราตัดเอาไปส่งที่ทะเลน้อย มัดเป็นกำๆ กำหนึ่งหนักประมาณ ๓ กิโลกรัม ขนขึ้นเรือ เอาคลุกขี้โคลนตม ถ้าเขามารับซื้อหนึ่งกำราคา ๑๓ บาท ถ้าเราไปส่งเอง ๑๘ บาท วันหนึ่งได้ประมาณ ๕๐ กำ ช่วยกันทำสองคน รายได้เยอะ ลงตอนหกโมงเช้า ถึงตีสิบได้แล้วประมาณห้าร้อย
“ในป่าพรุมีกระจูดเยอะมาก เก็บยังไงก็ไม่หมด เกี่ยวแล้วก็งอกขึ้นมาใหม่ พื้นที่ตรงนี้ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์ ผมทำมาสิบกว่าปี มาตัดทุกวัน มีฤดูกาลด้วยนะ เวลาน้ำเยอะจะทำไม่ได้ น้ำขึ้นสูง แต่กระจูดไม่ตาย อีกอย่างที่หน้าฝนทำไม่ได้ เพราะไม่มีแดดให้ตากกระจูด อย่างตอนนี้แล้งอยู่ ที่กลัวคือไฟป่ากิน บางทีมีคนจุดแกล้ง ต้องช่วยกันดูแลรักษา”