เก็บตก บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี..จากการลงพื้นที่ภาคสนาม


(ภาพ : สุพัตรา อินทะมาตร)
กลางเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๒ ช่วงฤดูฝนของแม่น้ำโขง แม่น้ำโขงผันผวนและแห้งลงเป็นประวัติการณ์ สัตว์หลายชนิดแห้งตายคาแม่น้ำ (ภาพ : สุพัตรา อินทะมาตร)

เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๖๒ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดได้ออกประกาศสถานการณ์ระดับแม่น้ำโขง ระบุว่าตามที่ปรากฎข้อเท็จจริงว่าระดับน้ำในแม่น้ำโขงเขตอำเภอเชียงคาน และอำเภอปากชม จังหวัดเลย ลดระดับลงอย่างรวดเร็วดังที่เป็นข่าวในสื่อแขนงต่างๆ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่อาศัยอยู่ตลอดริมฝั่ง จึงขอประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนให้ปฏิบัติตาม ดังนี้

๑ ) ติดตามข่าวสารสถานการณ์ระดับแม่น้ำโขงที่อาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างผิดปกติโดยใกล้ชิดในห้วง ๓-๗ วัน
๒ ) ให้ระมัดระวังอันตรายจากระดับแม่น้ำโขงที่อาจเพิ่มขึ้นหรือหรือลดลงอย่างผิดปกติโดยเฉพาะการเดินเรือ การทำประมงหรือหาปลาตามวิถีพื้นบ้านให้ใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ
๓ ) ห้ามลงไปเดินเล่นหรือกางเต็นท์นอนในเขตแม่น้ำโขงในระยะนี้อย่างเด็ดขาด รวมทั้งให้ดูแลเด็กเล็ก และบุตรหลานที่อาจลงไปเล่นน้ำอย่างใกล้ชิด
และ
๔ ) หากมีเหตุการณ์ผิดปกติเกิดขึ้นให้รายงานอำเภอและจังหวัดเลยทราบตามลำดับโดยด่วน เพื่อรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบต่อไป

ต้นไคร้และพืชหลายชนิดที่ขึ้นอยู่ริมตลิ่งและโขดหินยืนต้นตายหลังสายน้ำเหือดแห้งลงอย่างกะทันหัน (ภาพ : สุพัตรา อินทะมาตร)
หาดทรายอันร้อนระอุในตอนกลางวันทำให้สัตว์น้ำตายเกลื่อนกลาดและส่งกลิ่นเหม็น พวกที่ยังมีชีวิตรอดเพราะว่ายหนีไปตามแอ่งน้ำทันก็ง่ายต่อการถูกจับ ระยะแรกชาวประมงจึงจับปลาได้มาก แต่จำนวนสัตว์น้ำจะลดลงในปีต่อไป (ภาพ : สุพัตรา อินทะมาตร)

รุ่งขึ้นคือวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๒ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ส่งหนังสือด่วนถึง สปป.ลาว ขอให้ชะลอการทดสอบระบบไฟฟ้าเขื่อนไซยะบุรี ที่อยู่ห่างจากชายแดนอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ขึ้นไปทางต้นน้ำประมาณสองร้อยกิโลเมตร พร้อมออกเอกสารชี้แจงสถานการณ์ให้ประชาชนรับทราบ พาดหัวว่า

“สทนช.ร่อนหนังสือด่วนถึงทางการลาว วอนชะลอทดสอบระบบไฟฟ้าเขื่อนไซยะบุรีจนกว่าจีนปล่อยน้ำเพิ่ม คาด ๓ วันระดับน้ำโขงจะเข้าสู่ภาวะปกติ” แจงสาเหตุที่ระดับน้ำโขงลดลงมากในรอบหลายปีว่าเกิดจาก ๓ ปัจจัยหลัก

๑ ) ปริมาณฝนที่ตกลงมาต่ำกว่าเกณฑ์ปกติทั้งที่ประเทศจีน สปป.ลาว และฝั่งไทย
๒ ) เขื่อนจิงหงของจีนปรับลดการระบายน้ำ ซึ่งกระทรวงทรัพยากรน้ำของจีนมีหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการลงวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๖๒ แจ้งเปลี่ยนการระบายน้ำจากเขื่อนจิงหงช่วงวันที่ ๙-๑๘ กรกฎาคม ๒๕๖๒ เพื่อบำรุงรักษาสายส่งไฟฟ้าโรงผลิตพลังน้ำ

และ
๓ ) การทดสอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าของเขื่อนไซยะบุรีของ สปป.ลาว ซึ่งเป็นเขื่อนทดน้ำ เริ่มทำการทดสอบระหว่างวันที่ ๑๕-๒๙ กรกฎาคม ๒๕๖๒ จะทำให้ระดับน้ำโขงลดลงและสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเมื่อวันที่ ๙-๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ทางเขื่อนได้กักเก็บน้ำบางส่วนเพื่อทดสอบระบบ จึงทำให้ระดับน้ำโขงฝั่งไทยลดลง และหลังจากวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๒ จึงทดสอบเครื่องปั่นไฟ ส่งให้ระดับน้ำบริเวณท้ายเขื่อนไซยะบุรีลงมามีระดับสูงขึ้น ๔๐-๕๐ เซนติเมตร

ประกาศจังหวัดเลย เรื่องสถานการณ์ระดับแม่น้ำโขง วันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๖๒ แจ้งให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ตามหมู่บ้าน ชุมชนริมฝั่งติมตามข่าวสารและเฝ้าระวังระดับน้ำแม่น้ำโขง
เอกสารของกลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ วันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ระบุว่า สทนช.ทำหนังสือด่วนผ่านคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติลาวให้พิจารณาชะลอการทดสอบเครื่องปั่นไฟ

เอกสารข้างต้นของ สทนช.ยังระบุอีกว่า สถานการณ์ของระดับน้ำบริเวณด้านท้ายเขื่อนไซยะบุรีลงมา พบว่าทุกสถานีระดับน้ำต่ำกว่าค่าเฉลี่ยและค่าต่ำสุดที่เคยเกิดขึ้นในอดีต โดยระดับน้ำที่สถานีเชียงคาน จังหวัดเลย วันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๖๒ อยู่ที่ ๓.๘๓ เมตร ซึ่งต่ำกว่าระดับน้ำเฉลี่ย -๕.๒๘ เมตร และต่ำกว่าค่าระดับต่ำสุด -๑.๔๓ เมตร นอกจากนี้ ระดับค่าความแตกต่างของระดับน้ำก่อนลดการระบาย กับระดับน้ำที่ต่ำสุดในช่วงลดการระบาย -๑.๗๙ เมตร ซึ่งลดต่ำลงในรอบ ๒๘ ปี

การแห้งขอดลงของลำน้ำโขงอย่างผิดปรกติทั้งๆ ที่อยู่ในช่วงหน้าฝน ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตผู้คนริมสองฝั่งแม่น้ำ กลายเป็นพาดหัวข่าวใหญ่ของสื่อแทบทุกสำนัก เช่น

“วิกฤตแล้ว! แม่น้ำโขงแล้งสุดในรอบ ๕๐ ปี ระดับน้ำลดฮวบ-ลงไปเดินได้แล้ว” (khaosod.co.th / ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๒)
“วิกฤตแม่น้ำโขงแล้ง-ผันผวนหนัก เขื่อนจีนกักน้ำจนแห้ง-เขื่อนไซยะบุรีทดลองผลิตไฟฟ้าทำให้น้ำขึ้น-ลงผิดปกติ กฟฝ.แจงไม่เกี่ยวกับผลกระทบข้ามแดน” (siamrath.co.th / ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๖๒)
“จีนเริ่มเปิดเขื่อนปล่อยน้ำเพิ่มแล้ว แต่ท้ายน้ำโขงยังแห้งหนักสุดรอบ ๑๐ ปี-เรือจอดรอเป็นตับ” (mgronline.com / ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๒)

ในช่วงเวลาเดียวกัน ได้มีการเผยแพร่ภาพสัตว์น้ำหลากชนิดไม่ว่าปลา ปู กุ้ง หอย นอนตายเกลื่อนบนพื้นทรายและซอกหินกลางแม่น้ำ ลักษณะคล้ายถูกเผาหรือย่างสด สัตว์เหล่านี้ต้องจบชีวิตลงหลังน้ำลดและถูกแสงแดดแผดเผา

สุพัตรา อินทะมาตร เจ้าของภาพกล่าวว่า ตนเองเป็นพี่เลี้ยงทีมวิจัยท้องถิ่น อยู่ระหว่างลงพื้นที่เก็บข้อมูลวิจัยเรื่องความมั่นคงทางอาหารในพื้นที่ตำบลบ้านม่วง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย ตามโครงการวิจัยชุมชนบ้านม่วงกับการสร้างแผนเชิงรุกในการปรับตัวให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง สู่การเพิ่มขีดความสามารถความมั่นคงในอาหาร ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

สุพัตราเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ว่า “วันนั้นสังเกตว่ามีชาวบ้านออกมาหาปลากันมาก แล้วได้ปลากลับไปเป็นกระสอบ มีคนบอกว่าพวกเราน่าจะออกไปดู ในใจยังคิดว่าจะออกไปหาอาหารกลางวัน แต่พอลงไปกลางแม่น้ำ มันไม่ใช่แล้ว ปลาตายเยอะผิดปรกติ ตายเป็นกิโลๆ แล้วก็มีปู กุ้งตัวใหญ่ๆ กุ้งพวกนี้ตามปรกติจะอาศัยอยู่ตามรากต้นไคร้เรียกกันทั่วไปว่ากุ้งแม่น้ำโขง ปรกติขายกิโลละสองร้อยบาท แล้วยังมีกุ้งฝอยที่ต้องตายอย่างน่าสงสาร คือน้ำแห้งมากและแห้งลงกะทันหัน ต้นไคร้ก็ยืนต้นตายเหมือนกัน พวกสัตว์น้ำก็คงจะหนีลงน้ำลึกไม่ทัน ที่ติดค้างอยู่ตามแอ่งก็ถูกจับ พวกที่หลุดรอดไปได้สุดท้ายก็แห้งตาย”

ก้านก่อง จันลอง ชาวบ้านห้วยคร้อ หมู่ ๔ ตำบลบ้านม่วง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ด้วยเล่าว่า “ถ้าเป็นน้ำขึ้นน้ำลงตามธรรมชาติ พวกเราก็เข้าใจ ชาวบ้านจะรู้ว่าน้ำมาเมื่อไหร่ คนหาปลาจะรู้ว่าเดือนไหนน้ำถึงจะมาเดือนไหนน้ำถึงจะลด ไม่มีความสูญเสียร้ายแรงตามมา แต่ถ้าเป็นน้ำเขื่อน เขาปล่อยมาเมื่อไหร่เราไม่รู้ ความเสียหายคือต้นไคร้ล้มตาย อุปกรณ์หาปลาของชาวบ้านบางทีพัดหายไปกับน้ำ ไม่มีการแจ้งเตือนสักอย่าง ถ้าเป็นน้ำธรรมชาติยังพอเข้าใจได้ ถ้าเป็นน้ำเขื่อนทำใจลำบากจริงๆ”

เมื่อภาพถ่ายโศกนาฏกรรมกลางลำน้ำโขงได้รับการเผยแพร่ลงบนสื่อออนไลน์ก็ถูกแชร์ออกไปในวงกว้าง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ต่างจากฆาตกรรมหมู่กลางแม่น้ำ

นับจากนี้ปัญหาของชุมชนสองฝั่งโขงคือการล่มสลายของความมั่นคงทางอาหาร หลังจากแม่น้ำโขงทำหน้าที่เป็นแหล่งโปรตีนราคาถูกของผู้คนมาช้านาน

ความตายอันน่าอเนจอนาถของกุ้ง หอย ปู ปลา รวมถึงต้นไคร้ ฯลฯ กลางลำน้ำโขงคือหายนะที่เกิดขึ้นจริงในยุคของเรา

หมายเหตุ : เก็บตกจากลงพื้นที่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย และอำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย วันที่ ๒๙-๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๒ จัดโดยชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย