ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต
“ไตรภูมิพระร่วง” อธิบายว่า เขาพระสุเมรุเป็นแท่งเขาที่มีหน้าตัดรูปกลม ขณะที่ “โลกบัญญัติ” กล่าวว่า “”ภูเขาหลวงสิเนรุ” นั้น “มีสัณฐานดี เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส เหมือนเสา” แม้รูปพรรณจะต่างกัน แต่สิ่งที่ระบุไว้ในทำนองเดียวกันคือแต่ละด้านมีสีไม่เหมือนกัน
ใน “ไตรภูมิพระร่วง” แบ่งเส้นรอบวงความยาว ๒๕๒,๐๐๐ โยชน์ ของเขาพระสุเมรุออกเป็นสี่ส่วน ส่วนละ ๖๓,๐๐๐ โยชน์ โดยขยายความว่า ด้านตะวันออกเป็นสีเงิน ด้วยเหตุนั้น ท้องฟ้าและน้ำในมหาสมุทรด้านเหนือจึงสะท้อนเงาเหลี่ยมเขาเป็นสีขาว
ด้านทิศตะวันตกและทิศเหนือเป็นสีแก้วผลึกและสีทอง อากาศและน้ำทะเลจึงเป็นสีแดงและสีเหลืองตามลำดับ
ส่วนทิศใต้เป็นสีแก้วอินทนิล คัมภีร์จึงให้เหตุผลที่ดูสมจริงตามประสบการณ์ของคนเราว่า ด้วยเหตุดังนั้น ท้องฟ้าของชมพูทวีปจึงเป็นสีฟ้า และมหาสมุทรด้านใต้ (คือด้านที่ล้อมรอบชมพูทวีปของมนุษย์) สีของน้ำทะเลจึงสะท้อนสีฟ้าอมเขียวของเหลี่ยมเขา มาให้เห็นเป็นสีน้ำทะเล!
ส่วน “โลกบัญญัติ” ที่อธิบายว่าเขาพระสุเมรุมีรูปหน้าตัดเป็นสี่เหลี่ยม กลับระบุสีแต่ละด้านไว้ต่างออกไป คือทิศตะวันออกเป็นทอง ตะวันตกเป็นเงิน ด้านเหนือทำด้วยแก้วไพฑูรย์ ใต้ล้วนแล้วด้วยแก้วผลึก
ในภาพจิตรกรรมฝาผนังตามวัดต่างๆ มักเขียนรูปเขาพระสุเมรุเป็นเหมือนแท่งหินตะปุ่มตะป่ำ มีหลืบเขาสลับซับซ้อนขึ้นไปเป็นชั้นๆ ไม่ค่อยเขียนเป็นแท่งสี่เหลี่ยมสีต่างๆ เว้นแต่ในสมุดภาพไตรภูมิที่วาดลงบนสมุดข่อย เช่นฉบับกรุงธนบุรี ซึ่งอาจพยายามเคร่งครัดตามข้อมูลในคัมภีร์ในสกุล “โลกบัญญัติ” ถึงกับแสดงให้เห็นเหลี่ยมเขาด้วยเทคนิคเชิงช่าง เหมือนเขาพระสุเมรุเป็นกล่องกระดาษที่โดนฉีกคลี่แบะทั้งสี่ด้านออกมาวางเรียงหน้ากระดานให้เห็นพร้อมกันชัดๆ
เรียกว่าเป็น “คิวบิสม์” (Cubism) ก่อนหน้าอัครมหาศิลปินปิกัสโซ (Pablo Picasso) หลายร้อยปีก็ว่าได้!
ดังที่เคยกล่าวไปแล้วว่า ในโลกยุคโบราณ เรื่องราวของสุเมรุจักรวาลเป็นความรู้พื้นฐานที่ “ซึมซาบ” ในใจของกลุ่มชนชั้นที่มีการศึกษาของสยาม แม้แต่เรื่องเหลี่ยมเขาสี่ด้านมีสี่สีก็สามารถอ้างอิงถึงได้ โดยไม่ต้องอธิบายอะไรเพิ่มเติมกันอีก
ใน กากีคำกลอน ของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) กวีเอกยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พูดถึงเหลี่ยมเขาสี่ด้านสี่สีไว้ด้วย ในฉากที่พระยาครุฑเหาะพานางกากีออก “แว๊น” ร่อนเที่ยว แล้วบินโฉบเขาพระสุเมรุ
“ชี้บอกยอดเขาพระเมรุมาศ แก้วประหลาดงามดีเป็นสี่อย่าง
แดงเขียวขาวเหลืองเรืองนภางค์ ……………………………………”
คือบอกด้วยว่า แต่ละด้านเป็นสีต่างๆ กัน คือ แดง เขียว ขาว เหลือง ตรงตามคัมภีร์เป๊ะ!
อาจสังเกตด้วยว่า ในที่นี้ โวหารกวีเรียกเขาพระสุเมรุว่า “พระเมรุมาศ” (ภูเขาทอง) ฟังดูเหมือนชื่อเรียกอาคารชั่วคราวที่สร้างขึ้นเพื่อปลงศพพระมหากษัตริย์ อย่างที่เรียกกันย่อๆ ว่า “พระเมรุ”
ตรงนี้ไม่ได้เป็นแค่เพียงคำพ้องรูปพ้องเสียง แต่ที่จริงคือ “คำเดียวกัน”
“พระเมรุมาศ” ที่ใช้ถวายพระเพลิงพระบรมศพนั้น แท้ที่จริงแล้วก็คือการ “จำลอง” เขาพระสุเมรุมาสร้างขึ้น เพื่อประกอบพระราชพิธี อันถือเป็นการส่งเสด็จพระมหากษัตริย์ผู้เป็นเทพเจ้ากลับคืนสู่สวรรค์
แม้แต่คำว่า “ตาย” สำหรับพระมหากษัตริย์ ที่ราชาศัพท์กำหนดให้ใช้คำ “สวรรคต” โดยรูปคำเอง สวรรคตก็มิได้แปลว่าตาย หากแต่แปลว่า “ไปสู่สวรรค์”