สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย ณัฐกานต์ อมาตยกุล
จากบทสัมภาษณ์
รศ.ดร. อักษรศรี พานิชสาส์น ตอบคำถามนโยบายจีนยุคสีจิ้นผิง
Belt and Road Initiative และสงครามการค้า
“การทูตกับดักหนี้” หรือโอกาสพัฒนาเศรษฐกิจ ?
จีนวางแผนอะไรกันแน่
คนไทยควรคิดและทำอย่างไร ?
โปรจีน หรือโปรอเมริกัน ?
ระหว่างที่สงครามการค้า สหรัฐฯ-จีน โต้ตอบดุเดือด หลายคนก็สัมผัสได้ถึงความผันผวนทางเศรษฐกิจ ประเทศอื่นๆ ที่ไม่ใช่คู่ขัดแย้งโดยตรงก็ยังโอดว่าตนเจ็บหนัก
แต่ยิ่งสงครามการค้าแผลงฤทธิ์ คำว่า BRI จากฟากฝั่งจีนดูจะโดดเด่นขึ้นเรื่อยๆ ในยุคที่ดูอย่างผิวเผินแล้วเป็นวิกฤตินี้
สีจิ้นผิงริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” (One Belt, One Road) เมื่อปี ค.ศ. ๒๐๑๓ เป็นข้อริเริ่มที่จีนเข้าไปจับมือกับนานาประเทศ จัดทำโครงการอย่างหลากหลายตามข้อตกลงกับแต่ละประเทศ ทั้งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เศรษฐกิจ การลงทุน ฯลฯ ก่อนจะเปลี่ยนชื่อให้ความหมายครอบคลุมยิ่งขึ้นว่า Belt and Road Initiative หรือ “ข้อริเริ่มแถบและเส้นทาง” ที่ใช้อักษรย่อว่า BRI
ในขณะที่ประธานาธิบดี นักการทูต และนักวิชาการจีน อ้าแขนประกาศว่า ความยืดหยุ่นของการเจรจาทำข้อตกลงกับแต่ละประเทศจะทำให้โครงการภายใต้ BRI นี้นำไปสู่ประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย
แต่หลายประเทศก็กังขาว่า แท้จริงแล้วนี่จะเป็น “การทูตกับดักหนี้” มัดมือประเทศเหล่านี้ไว้ ใช่หรือไม่
จีน ประเทศใหญ่ที่มีแนวโน้มแน่ชัดว่าจะขึ้นมาเป็นมหาอำนาจ บวกการแผ่ขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนในหลายประเทศที่ต้องพึ่งพาจีน จนดูเป็นมิตรที่ไม่น่าวางใจ…หรือมิใช่
และไทยเรา ในฐานะประเทศสมาชิกอาเซียน ควรวางตัวอย่างไรกับโอกาสใหม่ที่เข้ามานี้
รศ.ดร. อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน จะมาตอบคำถามเหล่านี้ให้กระจ่าง
จีนเริ่มทำ BRI ขึ้นมาเพื่ออะไร
เหตุผลมี ๔ ข้อหลัก
ข้อแรก จีนต้องการกระจายความเสี่ยง จากเดิมที่ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของจีนเยอะมาก ต้องเอาไปลงกับการซื้อพันธบัตรสหรัฐฯ ทำให้มีความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงิน ฯลฯ จีนมองว่าการลงทุนไปกับพันธบัตรสหรัฐฯ มีความไม่แน่นอน จึงต้องการเน้นการลงทุนในต่างประเทศ (FDI) ไปตั้งโรงงานและแสวงหาทรัพยากรในต่างประเทศ
ข้อ ๒ สืบเนื่องจากข้อหนึ่ง คือการแสวงหาแหล่งลงทุนใหม่ๆ แหล่งทรัพยากรใหม่ๆ จึงออกไปลงทุนทั่วโลก ไปสร้างงานให้กับบริษัทจีนในต่างประเทศ เอื้อให้คนจีนย้ายถิ่นไปทำมาหากินในต่างประเทศ สิ่งที่ผู้นำจีนชอบทำคือไปจับมือกับรัฐบาลประเทศต่างๆ เพื่อทำโครงการ บางส่วนจีนก็ให้ความช่วยเหลือ บางส่วนรัฐบาลประเทศนั้นก็ต้องกู้จากจีน เป็น soft loan ที่สร้างภาระหนี้ให้กับรัฐบาลเหล่านั้นพอสมควร ทำให้คนพูดกันว่า เอ๊ะ! BRI มันคือการทูตกับดักหนี้หรือเปล่า
ข้อ ๓ เป็นเรื่องการออกไปแสวงหาตลาดใหม่ๆ เพราะว่าการหาตลาดดั้งเดิมของจีนนั้นมีปัญหา เดิมทีจีนพึ่งตลาดสหรัฐฯ ตลาดญี่ปุ่น ตลาดสหภาพยุโรป แต่ปรากฏว่า เมื่อสหรัฐฯ เป็นตลาดสำคัญอันดับหนึ่งของจีนในสัดส่วนสูง (๑๙% ของการส่งออกทั้งหมดของจีนพึ่งพาสหรัฐฯ) ทำให้มีความเสี่ยง ล่าสุดจีนโดนบีบจากสงครามการค้า มันยิ่งเป็นตัวเร่งให้จีนต้องผลักดัน BRI ออกไปแสวงหาตลาดให้มีความหลากหลายขึ้น
ในการหาตลาดใหม่ จีนยังทำเพื่อการส่งออกเทคโนโลยีจีน จีนไม่ได้มองว่าสิ่งที่นำออกไปขายจะเป็นแค่สินค้าจับต้องได้ อย่างเครื่องมือเครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วน ฯลฯ แต่เขาต้องการส่งออกเทคโนโลยีและสินค้าแห่งอนาคต
ที่เห็นได้ชัดคือ “หัวเว่ย” แบรนด์จีนที่สามารถผงาดขึ้นมาครองตลาดสมาร์ตโฟนเป็นอันดับ ๒ ของโลกแซง Apple ของสหรัฐฯ ได้ รวมทั้งระบบปฏิบัติการทางเทคโนโลยี พวกเทคโนโลยีโซลูชันทั้งหลายของหัวเว่ยที่บุกตลาดได้ทั่วโลก และล่าสุด 5G ที่หัวเว่ยมุ่งมั่นมากว่าจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับสิทธิในการทำเทคโนโลยี 5G ไปในประเทศต่างๆ ทั่วโลก
ชัดเจนว่าจีนต้องการผงาดเป็นมหาอำนาจชั้นนำทางเทคโนโลยี จีนเป็นชาตินวัตกรรม จีนไม่ได้เป็นแค่โรงงานโลกที่ผลิตสินค้าส่งออกมูลค่าต่ำแบบเดิมแล้ว
BRI ตอบโจทย์ตรงนี้ได้ดีมาก ประเทศในยุโรปยอมรับจีนมากขึ้น ผู้นำอิตาลีจับมือกับสีจิ้นผิงลงนามในความร่วมมือ BRI กับจีน ตามมาด้วยเรื่องการค้าขาย การส่งออก และการลงทุน
ข้อ ๔ เป็นเรื่องทางการเมือง ซึ่งสำคัญมากๆ BRI ไม่ใช่แค่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่เป็นการออกไป “แสวงหาพรรคพวกและแนวร่วม” แบบเนียนๆ
จีนรู้ว่าในอนาคตจะต้องถูกท้าทาย ต้องถูกมหาอำนาจเดิมอย่างสหรัฐฯ เตะสกัดขา เพราะจีนคือดาวรุ่ง เป็นมหาอำนาจใหม่ที่จะมาท้าทายสหรัฐฯ จีนรู้ดีว่าจะโดนปิดล้อม จึงไม่รอให้ตัวเองถูกกระทำ แต่ใช้ยุทธศาสตร์ BRI ไปหาแนวร่วมไว้ก่อน และจีนทำได้สำเร็จ ตอนนี้มีมากกว่า ๗๐ ประเทศทั่วโลกที่เข้าร่วม BRI
สังเกตได้ว่าสงครามการค้ารอบนี้ กองเชียร์จีนเยอะมากเลย หลายประเทศเอียงข้างจีน อย่างกรณีประเทศไทยก็ชัดเจนมากว่า คนไทยเชียร์ใครในสงครามการค้ารอบนี้ มีแต่กระแสชื่นชมสีจิ้นผิง แล้วโจมตีทรัมป์
นี่คือสิ่งที่จีนทำสำเร็จ โดยใช้ BRI เพื่อแสวงหามิตร ผู้นำจีนเดินเกมลุ่มลึกมาก
จีนได้คาดการณ์มาล่วงหน้าหรือไม่ว่าจะเกิดสงครามการค้าขึ้น
แน่นอนค่ะ จีนเป็นประเทศที่ไม่ประมาท ไม่รอปัญหาเกิดแล้วค่อยแก้
ผู้นำมีจุดเด่นมากๆ คือ การมีวิสัยทัศน์มองไกลและไม่ประมาทในทุกเรื่อง จีนมีเตรียมแผนสำรองไว้ เขารู้ว่า ที่ผ่านมาต้องพึ่งพาสหรัฐมากเกินไป ๑๙% ของตลาดส่งออกที่ต้องพึ่งสหรัฐฯ เป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืน
การที่เขาทำ BRI ก็เพื่อเตรียมแสวงหาตลาดใหม่ๆ ลดการพึ่งพาตลาดหลักแบบเดิมๆ และเพื่อส่งออกเทคโนโลยีจีน แล้วในที่สุดสหรัฐฯ ก็ทำสงครามการค้าจริงๆ ซึ่งจีนค่อนข้างพร้อมที่จะรับศึกครั้งนี้ และยิ่งเป็นตัวเร่งให้จีนต้องผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจใหม่ให้เร็วขึ้น
ยุโรปให้การยอมรับจีนมากขึ้นเพราะเทคโนโลยีของจีนก้าวหน้าหรือเพราะจีนเป็นประเทศใหญ่
มีทั้งสองเหตุผลเลยค่ะ นอกจากจีนจะมีเทคโนโลยีที่ล้ำหน้า โดยเฉพาะเรื่อง AI จีนยังมีพลังของผู้บริโภค เป็นตลาดใหญ่ ความใหญ่ของตลาดจีนเป็นเสน่ห์ให้คนหันมาคบจีน ที่สำคัญคือมันได้ผล เพราะว่าเศรษฐกิจหลายประเทศเดี้ยง ไม่โต เพราะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่พอหันมาคบค้ากับจีน มันช่วยนะ
ชอบไม่ชอบอีกเรื่องหนึ่ง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การหันมาคบค้ากับจีนมันช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของหลายประเทศให้เดินหน้าเติบโตต่อไปได้ เศรษฐกิจไทยกระเดื้องได้บ้างเพราะนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาเที่ยวไทยเกือบ ๑๐ ล้านคน
นี่คือสิ่งที่จีนมี ใครๆ จึงต้องคบจีน จีนเป็นเครื่องยนต์หลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศ
กลไกการสร้าง soft power ของจีนในข้อสุดท้าย ริเริ่มมาพร้อมๆ กับ BRI หรือเปล่า
มันไปด้วยกันค่ะ สีจิ้นผิงมาเป็นผู้นำจีนแค่ ๕-๖ ปี เริ่มกุมบังเหียนจีนในเดือนมีนาคม ปี ค.ศ. ๒๐๑๓ เป็นผู้นำรุ่นที่ ๕ เป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง Game Changer สิ่งที่เขาทำจะลุ่มลึกกว่าผู้นำก่อนหน้านี้ หูจิ่นเทาหรือเจียงเจ๋อหมินก็ทำบ้าง ยุคนั้นก็พอมีการความช่วยเหลือต่างๆ มีประปราย แต่ผู้นำจีนในอดีตไม่ได้ทำแบบเฉียบคมอย่างสีจิ้นผิง ซึ่งทำออกมาได้ผล สัมผัสได้ เห็นเป็นรูปธรรม และเกิดผลลัพธ์เป็นที่ยอมรับได้จริง
คนชอบถามว่า “BRI มันคือรูปแบบหนึ่งของ FTA หรือเปล่า” “BRI คือการไปสร้างท่าเรือและสาธารณูปโภคเท่านั้นหรือเปล่า” รัฐบาลจีนจึงบอกว่า ไม่ใช่แค่นั้น เพราะภายใต้ BRI ประกอบไปด้วยการเชื่อมโยง ๕ ด้าน (Five Links)
ด้านแรก เรียกว่า การประสานนโยบาย (Policy Coordination) จีนเน้นไประดับนโยบาย จีนไปทำการบ้านมาก่อนว่าประเทศที่เขาจะมาชวนเป็นพวกใน BRI มีนโยบายหลักของชาติอะไรบ้าง แล้วจึงนำนโยบายนั้นมาเชื่อมโยงกับ BRI ของจีน
ยกตัวอย่างเช่น จีนรู้ว่านโยบายหลักของรัฐบาลประยุทธ์ คือ โครงการ EEC และไทยแลนด์ ๔.๐ จีนก็เชื่อมโยง BRI เข้ากับสิ่งเหล่านี้ที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญ
ด้านที่ ๒ คือ การเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน (Facilities Connectivity) ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่าจีนไปสร้างถนน ในหลายประเทศ สร้างทางรถไฟเชื่อมไปยุโรป เชื่อมโยงท่าเรือ มีรูปธรรมชัดเจนในแง่กายภาพ และก็ตั้งธนาคาร AIIB (Asian Infrastructure Investment Bank) ขึ้นมาเพื่อเป็นแหล่งปล่อยกู้ในการก่อสร้างโครงการเหล่านี้ จึงมีรูปธรรมที่ค่อนข้างชัดเจนในด้านที่สอง
ด้านที่ ๓ เรียกว่าด้านการค้าที่ไร้อุปสรรค (Unimpeded Trade) เป็นมิติที่คล้าย FTA แต่เน้นทำมากกว่า ลึกกว่า เป็นการอัพเกรด FTA เดิมที่จีนเคยทำกับประเทศต่างๆ ไว้ให้รุดหน้ามากขึ้น อย่าง RCEP ก็เป็นกลุ่ม FTA ที่กำลังจะสรุปให้ได้ในปีนี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งของกรอบ BRI ในมิตินี้
ด้านที่ ๔ เรียกว่าด้านการบูรณาการทางการเงิน (Financial Integration) ซึ่งเป็นด้านที่อาจจะไม่สำเร็จโดดเด่นมาก เพราะว่าจีนยังไม่มีรูปธรรมที่ชัดเจนว่า การบูรณาการทางการเงินคืออะไร จะทำอะไร
แม้จีนพยายามจะทำให้สกุลเงินหยวนเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ผลักดันให้คนทั่วโลกใช้เงินหยวนมากขึ้น แต่ยังไม่สำเร็จค่ะ เงินหยวนยังไม่ใช่สกุลหลักของโลก ยังเป็นรองเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เงินยูโร หรือแม้กระทั่งเงินเยน
น่าแปลกใจไหมคะ แม้จีนเป็นประเทศที่มีมูลค่าการค้าขายมากที่สุดในโลก จีนเป็นผู้ส่งออก-นำเข้าอันดับ ๑ ของโลก แต่เงินหยวนกลับไม่ใช่สกุลหลักของโลก เพราะการจะให้เงินสกุลใดเป็นสกุลหลักของโลก ไม่ง่ายค่ะ สั่งไม่ได้ค่ะ มันเป็นเรื่องของความเชื่อมั่น เป็นเรื่องของการยอมรับในระดับสากล ตอนนี้อุปสงค์-อุปทานในระดับโลกที่มีต่อเงินหยวนนั้นไม่มากพอ การที่สกุลหยวนจะผงาดขึ้นมาได้จึงเป็นเรื่องไม่ง่าย
ส่วนด้านที่ ๕ สำคัญมากคือเรื่องของการเชื่อมโยงประชาชน (People-to-People Bonds) ด้านนี้เองที่ยุคสีจิ้นผิงต่างกับยุคหูจิ่นเทาหรือเจียงเจ๋อหมิน เพราะว่าเป็นยุคที่รัฐบาลจีนเน้นแจกทุน เช่น ทุนรัฐบาลจีน Chinese Scholarship Council (CSC) แจกทุนให้คนทั่วโลกให้ไปเรียนที่เมืองจีนเยอะมาก คนไทยได้ทุนนี้เยอะมาก แล้วจีนก็ส่งครูจีนไปทั่วโลกผ่านหน่วยงานฮั่นปั้น (Hanban) หรือ สำนักงานส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีนนานาชาติ จีนยังได้ออกไปตั้งสถาบันขงจื่อมากกว่า ๕๒๕ แห่งในกว่า ๑๓๘ ประเทศทั่วโลก
นี่คือซอฟต์พาวเวอร์ คือการเชื่อมโยงผู้คน เชื่อมโยงวัฒนธรรม นอกจากการให้ทุนนักเรียนหรือส่งครูจีนไปเผยแพร่วัฒนธรรมจีนแล้ว ตอนนี้สิ่งที่สำคัญมากคือ จีนเอาใจกลุ่มสื่อมวลชน เพราะรู้ว่าสื่อจะมีอิทธิพลต่อสังคม จีนจัดให้สมาคมสื่อฯ มีการเดินทางไปดูงานในจีน จัดสอนภาษาจีนฟรีให้สื่อมวลชนด้วย ฯลฯ
จีนมักพูดถึง BRI ในแง่ที่เป็นความตกลงแบบสมประโยชน์กันสองฝ่าย (win-win) แต่จริงๆ แล้วประเทศที่ร่วมทำความตกลง BRI กับจีน มีอิสระมากน้อยแค่ไหน เมื่อพิจารณาอิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจจีน
เวลาผู้นำจีนพูดเรื่อง BRI เขาย่อมจะต้องใช้ภาษาทางการทูต พูดภาษาดอกไม้ หวานชื่น เขาต้องย้ำมันเป็นวิน-วินนะ เราได้ เธอได้
แต่ในทางปฏิบัติ เราต้องแยกแยะต้องดูของจริงว่า การเจรจากันจริงมันยากเย็นแค่ไหน ผลออกมาเป็นอย่างไร เราและเขาได้ประโยชน์จริงหรือไม่ จะไปเชื่อคำตามภาษาการทูตอย่างเดียวไม่ได้ ต้องไปดูรายละเอียด
ไปศึกษากรณีเจรจารถไฟไทย-จีนได้เลยค่ะ ทำไมยากเย็นแสนเข็น ปัญหาอยู่ที่ใครกันแน่
ในประเด็นที่ว่า คู่เจรจามีอิสระในการตอบตกลงโครงการแค่ไหน อยู่ที่ว่าคู่เจรจาคือใคร เป็นประเทศที่มีน้ำหนักหรืออำนาจต่อรองแค่ไหน
ยกตัวอย่างเช่น กรณีรถไฟจีน-ลาว คู่เจรจาของจีนคือลาว แล้วคิดว่ารัฐบาลลาวจะมีอิสระในการตอบตกลงหรือปฏิเสธมากน้อยแค่ไหนล่ะคะ !
กรณีรถไฟที่ลาว จีนบอกว่าร่วมทุน ๗๐% ลาวร่วมทุน ๓๐% ซึ่งเงินที่ลาวร่วมทุนนี้มาจากไหน ลาวมีเงินไหม ลาวก็ต้องกู้จีนมาลงขันส่วนของ ๓๐% และต้องเสียดอกเบี้ยด้วย แต่เราเป็นคนนอกจะมาบอกว่า ลาวเสียเปรียบ ก็ไม่ได้ ต้องเข้าใจลาว ต้องเข้าไปนั่งในหัวใจผู้นำลาว เขามีทางเลือกไหม
อย่าลืมว่า ลาวเป็นประเทศเล็ก ตลาดเล็ก เศรษฐกิจเล็ก เขาอาจจะไม่มีทางเลือกมากนัก อำนาจต่อรองต่ำ เขาก็ต้องยอมจีนเพราะเขาอยากได้รถไฟ เขาอยากยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อยากมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีขึ้น ถ้าลาวไปเจรจากับประเทศอื่นเช่นญี่ปุ่น เขาก็ต้องยอมตามเงื่อนไขที่ประเทศที่มีอำนาจมากกว่ากดดันมาอยู่ดี
ดังนั้น เพื่อให้แฟร์กับทุกฝ่าย เราไม่ควรพูดแบบเหมารวม ต้องแยกแยะเป็นกรณีๆ เอาใจเขามาใส่ใจเราด้วย
ถ้าในกรณีคู่เจรจากับจีน คืออินเดีย เหตุการณ์จะต่างกัน
อินเดียมีอำนาจในการต่อรองสูงมาก อินเดียคือคู่เจรจา BRI ที่ไม่ยอมใครโดยง่าย แม้ว่าช่วงที่จีนทำ BRI ใหม่ๆ ท่านผู้นำอินเดีย นายกฯ โมดี กับสีจิ้นผิง สองประเทศนี้ร่วมมือกันในเรื่อง BRI ในตอนแรกด้วยภาพโรแมนติกมาก แต่ตอนหลังกลายเป็นว่า เมื่อเจรจาโครงการร่วมกันจริงๆ สองประเทศตกลงกันไม่ได้
เนื่องจากอินเดียเป็นประเทศใหญ่ มีอำนาจต่อรอง เขาก็ไม่ได้ยอมโดยง่าย อินเดียพยายามปกป้องรักษาผลประโยชน์ประเทศตัวเองมากที่สุด ในที่สุดโครงการรถไฟเจรจากับจีนไม่สำเร็จ อินเดียหันหลังให้ แล้วไปทำรถไฟกับญี่ปุ่นแทน เพราะคุยกับจีนไม่ลงตัว
ดังนั้นในการตอบคำถามนี้ ต้องแยกแยะแต่ละกรณีแต่ละประเทศเป็นรายๆ ไปค่ะ
แล้วอาจารย์มองว่า BRI ของจีน มีแผนแอบแฝงที่จะสร้างกับดักหนี้ให้ประเทศต่างๆ จริงหรือเปล่า
ในการตอบคำถามนี้เช่นเดียวกัน เราต้องดูเป็นกรณีไป หลายคนชอบยกตัวอย่างเรื่องท่าเรือที่ศรีลังกา ที่ว่าศรีลังกาไปกู้จีนมาสร้างท่าเรือแต่โครงการใหญ่เกินไม่มีเงินใช้หนี้ ก็เลยต้องยอมให้จีนเช่า ๙๙ ปี
เรื่องนี้อยู่ที่ว่าตอนที่รัฐบาลประเทศนั้นอยากได้โครงการมากๆ พวกเขามีเงื่อนไขในการต่อรองกับจีนรัดกุมแค่ไหน ผู้นำรัฐบาลนั้นได้คำนึงถึงความสามารถของตัวเองในการรับความเสี่ยงจากการลงทุนโครงการนั้นไหม มีผลประโยชน์แอบแฝงหรือไม่
อย่างกรณีของลาว รถไฟที่จีนจะไปสร้างในลาว มีความยาวแค่ ๔๒๑ กิโลเมตร ผ่านภาคเหนือของลาวมาจนถึงเวียงจันทน์ แต่รถไฟสายนี้กลับมีมูลค่าเป็นสัดส่วนสูงเกิน ๕๐% ของจีดีพีลาว มีนักวิชาการออกมาเตือนว่า แค่รถไฟสายนี้สายเดียว ถือเป็นภาระหนี้ที่สูงมากต่อจีดีพีของประเทศลาว มันจะคุ้มหรือไม่ ต้องก่อหนี้ขนาดนี้ แต่ถามว่า รัฐบาลลาวมีทางเลือกไหม ไม่มี ถ้าเขาอยากได้รถไฟ ถ้าลาวมองว่าการได้รถไฟจะยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศเขาเอง รัฐบาลเขาก็ต้องตัดสินใจแบบนี้
ดังนั้น กรณีลาว ศรีลังกา ปากีสถาน หรือบังกลาเทศ รัฐบาลพวกเขายอมทำเมกะโปรเจกต์กับจีนแล้วต้องไปก่อหนี้ ต้องกู้ยืมจีนมามหาศาล ทำให้บริษัทจีนเข้าไปผูกขาดการก่อสร้างแล้วอยู่ยาว ปฏิเสธไม่ได้ว่าเกิดปัญหานี้จริงๆ แต่จะโทษจีนฝ่ายเดียวได้ไหม ก็คงไม่ได้ เพราะว่ารัฐบาลหรือผู้นำของประเทศเหล่านั้นก็ยอม อาจเพราะเห็นแก่ผลประโยชน์ของประเทศเขาเอง และอาจจะไม่มีทางเลือกมากนัก
ดังนั้นเราต้องคำนึงถึงบริบทความจำเป็นและสภาพการเมืองของแต่ละประเทศด้วยนะคะ
ล่าสุด สีจิ้นผิงทราบดีถึงการถูกโจมตีในเรื่องนี้และเขาพยายามบอกว่า นี่ไม่ใช่การสร้างกับดักหนี้
มีข้อสังเกตว่า ผู้นำจีนเขาจะทำการบ้าน เขาจะติดตามรับฟังว่า ประเทศอื่นมองเขาอย่างไร จะต่อต้านเขาอย่างไร จะโจมตีเขาอย่างไร แล้วถ้ามีโอกาสเขาก็จะอธิบายว่า ไม่ใช่อย่างที่ถูกกล่าวหานะ
แต่เราจะเชื่อใครดี ก็ต้องใช้กาลเวลาพิสูจน์
ตอนนี้เริ่มมีประเทศไหนของมาขัดขา BRI ของจีนแล้วบ้างหรือยัง
มีหลายประเทศคลางแคลงใจกับ BRI ของจีน ตอนนี้มีกลุ่มอินโด-แปซิฟิก ที่พยายามรวมตัวกันเพื่อเป็นทางเลือกอื่นที่ไม่ใช่แค่ BRI
ประเทศที่รวมตัวกันหลวมๆ มีทั้งสหรัฐฯ เป็นหัวหอก มีอินเดีย ญี่ปุ่น และตอนนี้ออสเตรเลียก็มีใจมาทางนี้ด้วย ต้องจับตาค่ะ กลุ่มอินโด-แปซิฟิกจะเสนอรูปแบบใดในการร่วมมือกันยังไม่ชัดเจน
คนที่ไม่ชอบจีนอาจมองว่า BRI คือการสร้างอาณานิคมผ่านทางเศรษฐกิจ BRI แตกต่างจากการขยายอิทธิพลของสหรัฐฯ ในอดีตอย่างไร
ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้นะคะ มันอคติเกินไป เป็นความเห็นที่ต่อต้านจีนเกินเลยไป
การที่จีนเข้ามามีอิทธิพลในหลายประเทศ ทำให้บางประเทศต้องฝากอนาคตทางเศรษฐกิจไว้กับจีน แต่จีนก็มีคุณูปการต่อเศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้นเช่นกัน
มันเป็นทิศทางของโลกที่ต้องเชื่อมโยงกัน โดยเฉพาะภาคการผลิต คือ Global Supply Chain รูปแบบการผลิตปัจจุบันเป็นแบบนี้ โครงข่ายการผลิตที่เกี่ยวพันโยงใยกัน
ที่จริงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับญี่ปุ่นก็มาแบบนี้ ประเทศไทยเราก็ผูกติดกับญี่ปุ่นมานาน เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ในไทยอยู่ได้เพราะผลิตชิ้นส่วนให้รถยนต์ญี่ปุ่นตั้งกี่ปีมาแล้ว ญี่ปุ่นเข้ามามีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจไทยในอดีตเช่นกัน เราเองที่ต้องสร้างสมดุล อย่าไปเอนหลังพิงประเทศไหนมากเกินไป
มีข้อสังเกตอีกเรื่องของความสัมพันธ์กับจีน จะได้ชัดว่า จีนไม่ได้ไปยุ่งหรือแทรกแซงประเด็นทางการเมืองของประเทศอื่น สังเกตว่าทุกประเทศที่จีนไป เขาก็ไปคุยเรื่องธุรกิจ ไปทำมาหากิน จีนมาไทย ก็ไม่ได้สนใจว่า รัฐบาลไทยมาจากการเลือกตั้งหรือไม่ จีนไม่ตั้งเงื่อนไขหรือไม่สนใจระบบการเมืองของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร
นี่ต่างกับสหรัฐฯ อย่างชัดเจนนะคะ
สหรัฐฯ จะเน้นอุดมการณ์ประชาธิปไตย จำได้ไหมในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สหรัฐมี “แผนการมาร์แชล” ที่ออกไปให้เงินช่วยเหลือประเทศต่างๆ หลังสงคราม แต่มีเงื่อนไขเรื่องอุดมการณ์ประชาธิปไตย จะช่วยเฉพาะรัฐบาลประเทศประชาธิปไตย จึงมีคนเปรียบเทียบแผนการมาร์แชลของสหรัฐฯ กับ BRI ของจีน ซึ่งจุดต่าง คือจีนไม่ยุ่งระบบการเมืองการปกครองของประเทศอื่น ไม่มีเงื่อนไขในการชวนมาเข้าร่วม BRI จีนสนใจแต่เรื่องค้าขายลงทุน แสวงหาทรัพยากร แสวงหาตลาด ขยายการลงทุน เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ขอย้ำเรื่องจีนออกไปแสวงหาพรรคพวกและแนวร่วมจาก BRI จีนต้องการผูกมิตรกับประเทศต่างๆ เพื่อเป็น “แนวร่วม” หมายถึงว่า ถ้ามีกรณีอะไรเกิดขึ้น เช่น เกิดความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐ จีนก็จะได้มีพรรคพวก จะได้มีประเทศที่จะมาเอียงข้างจีน มีประเทศที่จะเห็นด้วยกับสิ่งที่จีนทำ มาเป็นแนวร่วมที่เชื่อมั่นในทิศทางที่จีนตั้งใจจะขับเคลื่อน จีนพยายามสร้างมิตรกับทั่วโลก
สงครามการค้าทั้งจีน-สหรัฐฯ จะทำให้แผนใหญ่ของจีนใน BRI ทั้งหมด ต้องสะดุดลงหรือเปล่า
น่าจะเป็นตัวเร่ง ยิ่งจีนถูกกระทำจากสงครามการค้า ยิ่งเป็นตัวเร่งให้กลไก BRI ที่จีนทำไว้แล้วยิ่งเข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะการที่จีนจะลดการพึ่งพาสหรัฐ จีนจะต้องสร้าง China Supply Chain ขึ้นใหม่
จีนจะปรับรูปแบบการค้าการลงทุน และมีโอกาสที่จีนจะผันมาลงทุนในอาเซียน หรือแถวเอเชีย-แปซิฟิก โดยย้าย (re-locate) ภาคการผลิตของจีนมาที่ภูมิภาคนี้มากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพากับสหรัฐฯ ลดการพึ่งพา Supply Chain ในแบบเดิม จากที่จีนเคยไปตั้งโรงงานแถวเม็กซิโกและลาตินอเมริกาเพื่อเจาะตลาดสหรัฐฯ ตอนนี้ก็จะย้ายมาเอเชียมากขึ้น ผลิตที่นี่ ขายที่นี่ บริโภคที่นี่ ผู้บริโภคในเอเชียมีพลังซื้อมหาศาล
นี่คือโอกาส ควรมองเป็นเรื่องบวก เราต้องเตรียมพร้อม เขากำลังจะมา แล้วเราจะต่อยอดและเพิ่มมูลค่าอย่างไร
มีอะไรที่ไทยควรระวังบ้างไหมจากโอกาสที่เข้ามานี้
มีสิ่งที่ต้องระวังอย่างมากในหลายเรื่อง เพราะการที่จีนผันเข้ามาค้าขายและลงทุนกับภูมิภาคเรามากขึ้น เราต้องระมัดระวังด้วย
อย่าลืมว่า ทุนจีนมีหลากหลาย มีทั้งทุนจีนคุณภาพ และทุนจีนกำมะลอหรือคุณภาพต่ำ
อาจมีทุนจีนที่อยู่ในบ้านตัวเองไม่ได้ เพราะกฎระเบียบเข้มด้านสิ่งแวดล้อม พวกนี้มีศัพท์เรียกว่า dirty industry ก็อาจย้ายไปประเทศอื่นที่ทำมาหากินง่ายกว่าอยู่ในจีนเอง โดยเฉพาะทุนจีนขนาดเล็กหรือขนาดกลางที่คุณภาพต่ำ
ถ้าพวกนี้มาแบบแข่งขันน่ากลัว อาจจะมากระทบกับผู้ผลิตภายในประเทศ กระทบ SMEs ไทย ตรงนี้เราต้องตื่นตัว ต้องเข้มงวดในเรื่องมาตรฐานและกฎระเบียบ ไม่ใช่เปิดรับไปหมด โดยเฉพาะถ้าเขามาตั้งโรงงานที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ก็อย่าไปยอมเขาโดยง่าย
ไม่ใช่ว่า อยากได้ทุนจีนเข้ามาลงทุนเสียเหลือเกิน จนหลับหูหลับตา ยอมให้เขาเข้ามาโดยไม่ประเมินผลกระทบ ทำอย่างนี้ไม่ได้
กฎ ระเบียบ และมาตรฐานของประเทศไทยเราจะต้องเข้มกับเรื่องเหล่านี้
ยิ่งเข้มยิ่งดี จะได้ช่วยกลั่นกรองทุนจีนที่ไร้คุณภาพให้ไปที่อื่น จะได้มีแต่ทุนจีนชั้นดีมาไทย
ตอนนี้ทุนจีนคุณภาพมีมาก มีเทคโนโลยีล้ำหน้า แบบนี้ที่เราอยากได้ เราอย่าไปกลัวว่า ถ้าเราไม่ยอมแล้วจีนจะไปที่อื่น ถ้าทุนไร้คุณภาพก็ไปเลย ไม่ต้องมาบ้านเราหรอก เราขอต้อนรับเฉพาะทุนจีนคุณภาพ
มีตัวอย่างทุนจีนคุณภาพในไทยที่เข้ามาลงทุนแล้ว เช่น บริษัทผลิตยางล้อ Sentury Tire มาทำโรงงานอัจฉริยะที่ระยอง ทั้งโรงงานใช้หุ่นยนต์ระบบออโตเมชันและระบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ในอนาคต จำเป็นไหมที่อาเซียนต้องเลือกว่าจะเป็นลูกสมุนจีนหรือสหรัฐฯ
ไม่นะเราต้องไม่เป็นลูกสมุนใคร !!!
เราต้องรักษาสมดุลในด้านการต่างประเทศ เราไม่จำเป็นต้องเอียงข้างใคร แม้ว่าเรามีอาเซียนเป็นแกนกลางในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่เราไม่จำเป็นต้องเลือกข้าง
ผลประโยชน์ของชาติต้องมาก่อน เราต้องแยกแยะออกเป็นเรื่องๆ ไป (issue-based) ไม่ใช่ว่าจะเอียงข้างจีนหรือเอียงข้างสหรัฐ เราต้องดูแต่ละประเด็น เช่น ถ้าเรื่องไหนที่จีนเสนอมาเป็นเรื่องดี เราก็เห็นด้วย เช่น การพัฒนา AI technology แต่ถ้าเรื่องไหน จีนไม่เข้าท่า เราก็ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย ไม่ใช่ว่าต้องเอนเอียงแล้วพิงหลังไปกับจีนหรือสหรัฐฯ
ที่สำคัญ ถ้าไม่จำเป็น เราอย่าไปแสดงท่าทีให้ชัดว่าอยู่ข้างไหน แล้วเราจะมีเสน่ห์ค่ะ ใครๆ ก็อยากได้เราเป็นพวก เช่น หากเกิดเหตุให้มหาอำนาจเขาทะเลาะกัน เขาจะพยายามดึงเราไปเป็นพวก เขาก็จะแข่งกันเอาใจเรา แต่ถ้าเราเป็นพวกที่เลือกข้างชัดเจนไปแล้ว เราจะกลายเป็นของตาย ก็เหมือนตกลงเป็นแฟนกับใครแล้ว คนอื่นๆ ก็จะไม่มาจีบเราไม่สนใจเราแล้ว
ดังนั้น การบริหารเสน่ห์ของเราในเรื่องการต่างประเทศ มันเป็นศิลปะ เราต้องทำให้เป็น และที่สำคัญ ต้องสร้างสมดุลไม่เอียงข้างใครค่ะ