ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


แม้สยามจะเปลี่ยนธงชาติใหม่ จากธงช้างเผือกบนพื้นแดง เป็นธงไตรรงค์ (สามสี) แถบสีแดง-ขาว-น้ำเงิน-ขาว-แดง มาตั้งแต่ปี ๒๔๖๐ ตามพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พ.ศ. ๒๔๖๐ แต่ธงช้างเผือกก็ยังมิได้หายสาบสูญไปจากโลกนี้เสียทีเดียว

เพราะธงไตรรงค์เก่าแก่ที่สุดผืนหนึ่งที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบันและเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ข้างๆ สนามหลวง กรุงเทพฯ ก็ยังคงมีรูปช้างเผือก

นั่นคือธงที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ พระราชทานเป็นธงชัยเฉลิมพลของกองทหารอาสาชาวสยาม ที่เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปในการพระราชสงคราม ณ ทวีปยุโรป ร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ ๑

ธงไตรรงค์ผืนนั้น ตรงกลางบนแถบสีน้ำเงิน มีวงกลมสีแดง ข้างในเป็นภาพช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น

ส่วนที่แถบสีแดงด้านบน มีคาถาภาษาบาลีเขียนด้วยอักษรไทย เป็นสีเหลือง ว่า “พาหุ สหสฺสมภินิมฺมิตสาวุธนฺตํ ครีเมขลํ อุทิตโฆรสเสนมารํ” คาถานี้มาต่อที่แถบสีแดงด้านล่างว่า “ทานาทิธมฺมวิธินา ชิตวา มุนินฺโท ตนฺเตชสา ภวตุเต ชยสิทฺธินิจฺจํ”

นี่คือคาถาพุทธชัยมงคล ๘ หรือที่เรียกกันว่า “พาหุง”

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าทรงเลือกใช้คาถาบทนี้ ด้วยทรงเปรียบฝ่ายข้าศึกว่าเป็นฝ่ายอธรรม ย่อมต้องพ่ายแพ้แก่ธรรมะ เฉกเช่นที่พญามารพ่ายแพ้แก่พระพุทธองค์เมื่อคราวทรงตรัสรู้อนุตตรสัมโพธิญาณ

ธงไตรรงค์ลักษณะคล้ายคลึงกันนี้ ยังมีปรากฏในพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พ.ศ. ๒๔๖๐ ด้วย ได้แก่ “ธงราชนาวี” สำหรับใช้ชักที่เรือและสถานที่ราชการต่างๆ ของราชนาวี

พระราชบัญญัติอธิบายไว้ว่า “เหมือนธงไตรรงค์ แต่มีดวงกลมสีแดงขอบจดแถบสีแดงของพื้นธง อยู่กลาง ภายในดวงกลมนั้น มีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นหันหน้าเข้าข้างเสา”

จนถึงปัจจุบัน เรือรบของราชนาวีไทยทุกลำตลอดจนที่ทำการของกองทัพเรือ ก็ยังคงชัก “ธงราชนาวี” อันถือเป็นธงที่มีความหมายถึงชาติหรือประเทศไทยอีกชนิดหนึ่ง นอกเหนือไปจากธงชาติ

นอกจากนั้นแล้ว ยังมีอยู่ช่วงหนึ่งระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่ “ช้างเผือก” ได้กลับมาอีกครั้งบนเครื่องบินของกองทัพอากาศไทย

เนื่องจากขณะนั้น ไทยประกาศตัวเข้าร่วมฝ่ายอักษะกับจักรวรรดิญี่ปุ่น ทว่าเครื่องหมายวงกลมสีธงชาติไทยบนปีกเครื่องบิน ดูใกล้เคียงกับเครื่องหมายบนปีกเครื่องบินอังกฤษ (ซึ่งเป็นเครื่องบินสัมพันธมิตร หรือ “ฝ่ายศัตรู”) เกินไป ไม่เอื้ออำนวยสำหรับการต่อสู้ทางอากาศที่ใช้สายตาแยกแยะเป้าหมาย

เข้าใจว่าอาจเป็นด้วยคำแนะนำของฝ่ายญี่ปุ่น เครื่องบินรบของไทยในช่วงนั้น จึงหันกลับไปเลือกใช้รูปช้างเผือกบนพื้นแดงสี่เหลี่ยมผืนผ้าอีกครั้งหนึ่ง แต่ทำเป็นช้างพลายชูงวงให้ดูมีพลังน่าเกรงขาม โดยเขียนไว้ทั้งปลายปีกสองข้างและแพนหาง

บางครั้งเขียนกันเพลินจนเป็นรูปช้างผงาด ยกขาหน้า ทำท่าเหมือนกำลังกระโดดก็มี

แต่หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลง เครื่องบินรบของไทยก็กลับมาใช้วงกลมสีธงชาติไทยเป็นสัญลักษณ์ตามเดิม