เลิศศักดิ์ ไชยแสง : เรื่อง
ณัฐชนน บางแค : ภาพ
ผลงานจากค่ายสารคดีครั้งที่ 15

“ปัญหาของผู้สูงวัยในเมืองคือเรื่องความเหงา เพื่อนไม่มี” คือประโยคบอกเล่าที่ผู้จัดกิจกรรมค้นพบจากการสัมผัสผู้สูงอายุในเมือง
ผู้ร่วมกิจกรรมใช้ช่วงเวลาก่อนเริ่มกิจกรรมแบ่งปันขนม อาหาร และของฝาก ที่แต่ละคนนำติดตัวมาจากบ้านให้แก่กันและกันโดยไม่ได้นัดหมาย

เหงาเดียวดายกับทรงจำของอดีต

ในเช้าวันศุกร์แสงแดดถูกบดบังด้วยหมู่เมฆกำลังเคลื่อนคล้อยต่ำตั้งเค้าฝน สายลมเย็นเข้าโอบกอดกายที่พัดมาจากคลองรอบๆ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ หรือสวนโมกข์กรุงเทพฯ ผนวกกับเสียงนกกาเหว่าเคล้าเคียงคู่นกกระจอกตัวน้อยที่บินผ่านไปมาบนท้องฟ้า และเหมือนกับว่าดอกสีเหลืองมลังเมลืองจากต้นนนทรีจะปลิดคว้างปลิวหล่นละล่องกลางอากาศยามเช้าขุ่นมัว

ท่ามกลางความเงียบเหงาในสวนโมกข์ผู้คนบางตา ต่างก็ตั้งหน้าตั้งตาทำกิจกรรมยามเช้าของแต่ละคน บ้างก็ให้อาหารนกพิราบบนลานกว้างด้วยขนมปัง บ้างก็วิ่งเหยาะๆ ผ่านร่มไม้ใหญ่ที่เย้าหยอกกับสายลมไหว บ้างก็นั่งนิ่งพยายามเข้าใจในแก่นสารหนังสือพุทธธรรมที่ตนอ่าน ซึ่งภาพข้างหน้าล้วนแต่เป็นเหล่าผู้สูงอายุที่ว่างเว้นจากช่วงชีวิตอันวุ่นวายในอดีต

“มันเหลือคนจะคุยด้วยน้อยลงไปทุกวัน เพื่อนมันก็ล้มหายตายจากกันไปหมด ลูกหลานก็มีชีวิตของเขา” สุรเทพ บวรโชค ชายสูงวัยอายุ 65 ปี หนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรม สวัสดีวัยสุขได้จัดขึ้นเพื่อสร้างสานสัมพันธ์ผู้สูงวัย บอกผ่านน้ำเสียงอันแผ่วเบาที่แฝงไปด้วยความเงียบเหงา

เขายังเล่าว่าเรื่องความเหงาคือส่วนหนึ่งของคนที่มีอายุมากขึ้น ซึ่งมันคือเรื่องปรกติ บางทีก็ลบล้างความเหงาของตัวเองด้วยการปลูกต้นไม้ ทำงานบ้าน อ่านหนังสือ หรือเล่นกับสัตว์ที่เลี้ยงไว้ แต่นั่นก็แค่ส่วนเล็กๆ ที่ช่วยให้เขาได้ผ่อนคลาย ไม่วายอยากติดต่อกับเพื่อนเก่าๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่

“อายุเยอะแล้ว บางครั้งก็อยากติดต่อกับเพื่อนเก่าๆ ผมลองโทรไป เขารับแต่ก็คุยกันไม่ได้นานเพราะบางทีเขาก็ทำงานอยู่ บางครั้งบอกว่าเดี๋ยวโทรกลับ รู้ว่าเป็นการปฏิเสธของเขา ” สุรเทพทิ้งช่วงหายใจก่อนจะพูดต่อด้วยรอยยิ้ม

“ลืมไปว่าเรากับเขาไม่ได้มีหน้าที่อะไรต่อกันแล้ว แม้ว่าผมจะโทรไปหาเขาอีกสองสามครั้งแล้วเขาตอบกลับมาคำเดิม เดี๋ยวโทรกลับ แต่คำตอบคือหาย ผมก็รู้แล้วว่าไม่ต้องโทรไปอีก”

ไม่เพียงแค่สุรเทพที่มีความเหงากับเรื่องราวในอดีต ยังมีหญิงสู้ชีวิตรุ่นราวคราวเดียวกับเขาที่เข้าร่วมกิจกรรมด้วยกันอย่าง พจนา วรกิตติวณิช หญิงสูงวัยที่นิยามชีวิตตัวเองว่าคือแม่ที่ดีของลูกสองคน

ในมืดมนหนทางชีวิตที่ต้องแบกลูกน้อยลำพัง พจนาไม่เคยย่อท้อต่อฟ้าฝนร้อนหนาวกับเรื่องราวครั้งอดีต “ชีวิตของแม่ลูกสองทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือน รายได้ต่อเดือนก็ไม่กี่บาท ไหนจะค่าเช่าห้อง ไหนจะเรื่องของกิน บางทีก็ถึงกับค้นหาสตางค์เพื่อจะไปซื้อปลาทูตัวเล็กๆ มากิน” เธอเล่าปนน้ำเสียงมีความสุข

“ชีวิตมันก็เหมือนนวนิยายขนาดยาวเล่มหนึ่งเลยแหละ” เธอยิ้มและเว้นห่างจังหวะพูดไปครู่หนึ่ง

“ติดค่าเช่าบ้านเขาไว้เป็นปีจนเขาจะมาไล่ออก ดิฉันก็บอกไปว่าจะให้เรานอนที่ไหน เจ้าของบ้านคงเห็นคุณงามความดีของดิฉัน คือไม่หาแฟนใหม่ เลี้ยงลูกด้วยความรักที่แม่คนหนึ่งจะให้ได้กลัวว่าลูกจะมีปม พอลูกสาวคนโตสอบชิงทุนได้ เจ้าของบ้านเขาก็เมตตาเซ็นเอกสารรับรองให้ลูกดิฉันได้เรียนต่อ ชีวิตผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะมันเลยกลายเป็นยาป้องกันไม่ให้ดิฉันเหงาได้ง่ายดาย” พจนากล่าวด้วยน้ำเสียงตื้นตันใจและระบายรอยยิ้มสุขผ่านกรอบแว่นสีน้ำตาลบนใบหน้า

เสียงหวีดหวิวของสายลมพัดมาอีกครั้ง ท้องฟ้ายามเช้าเริ่มสดใส หมู่เมฆเคลื่อนตัวกระจาย แสงอาทิตย์เรืองรองระยิบระยับกระทบกับผืนน้ำนิ่ง สมาชิกในกิจกรรมก็เริ่มมะงุมมะงาหราเข้ามาพร้อมกับโปรยรอยยิ้มทักทายกัน กับอาหารกลางวันได้ห่อเตรียมมาแบ่งปันให้ชวนชิม หากใครถึงก่อนก็นั่งคุยกันในเรื่องราวสัพเพเหระ ด้วยอยากแบ่งปันความสุขในเช้าวันศุกร์ที่สดใสให้กันและกันได้รับรู้ ก่อนจะถึงเวลาเช็กอินเข้าร่วมกิจกรรม

“การเช็กอิน” คือจุดเริ่มต้นของกิจกรรมสวัสดีวัยสุข ทุกคนจะได้เล่าสู่กันฟังถึงเรื่องราวที่พบเจอมาและอยู่ในความสนใจ โดยตลอดกระบวนการนี้เรื่องราวของผู้พูดจะได้รับการรับฟังอย่างตั้งใจจากสมาชิกในวง
การเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมสนทนาทุกคนได้พูดอย่างอิสระโดยไม่ตัดสิน ไม่ขัดจังหวะ และรับฟังกันด้วยใจ คือสิ่งที่ทำให้ผู้ร่วมกิจกรรมรู้สึกปลอดภัยและยินดีเปิดใจบอกเล่าเรื่องราว ความรู้สึก ให้คนอื่นๆ ฟัง
ชัยฤทธิ์ อิ่มเจริญ ผู้ก่อตั้งกิจกรรม (คนขวา) สรุปประเด็นสำคัญ หลังจากสมาชิกแลกเปลี่ยนความคิดในการออกแบบกิจกรรมครั้งต่อๆ ไป ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่เขาเคยบอกเราว่า สิ่งที่อยากเห็นคือการที่ผู้สูงวัยสามารถออกแบบและขับเคลื่อนกิจกรรมนี้ได้ด้วยตัวเอง

รอยยิ้มในวงล้อม

ท่ามกลางสายลมยังคงพัดมาเรื่อยระรื่น พร้อมกับเสียงนกสารพัดชนิดที่ยังขับร้องเพลงอยู่ ชัยฤทธิ์ อิ่มเจริญ ชายหนุ่มผู้ซึ่งเป็นหัวหลักในกิจกรรมสวัสดีวัยสุข อยู่ในแวดวงช่วยเหลือสังคมมา 10 กว่าปีผ่านโครงการฟาร์มสุขไอศกรีม ให้กับเด็กผู้หญิงที่ถูกกระทำรุนแรงที่พักในสถานสงเคราะห์ อีกทั้งเป็นส่วนหนึ่งของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. เล่าถึงความสำคัญของกิจกรรมให้ฟัง

“กิจกรรมสวัสดีวัยสุขจะเน้นเรื่องพูดคุยเป็นหัวใจสำคัญ เน้นเรื่องความสัมพันธ์ ความเข้าอกเข้าใจกัน ซึ่งมันก็ไปสอดคล้องกับโครงการทางรัฐที่ชื่อ ธนาคารเวลา เป็นโครงการใหม่ที่คนไม่ค่อยรู้จัก ซึ่งผู้สูงอายุจะดูแลเกื้อกูลกัน เขาจะดูแลความรู้สึกของกันและกันผ่านการฝึกพูดและเปิดใจฟังในสิ่งที่อีกฝ่ายพูดเพื่อให้เกิดความเข้าใจ มันก็เลยสอดคล้องในทางจิตวิญญาณและหลักธรรมศีลห้าที่ไม่ต้องโกหก เป็นการพัฒนาความสุขด้านจิตใจ” ชัยฤทธิ์กล่าวพร้อมกับรอยยิ้มและความมุ่งมั่นที่จะสร้างสัมพันธ์ให้กับผู้สูงวัย

สวัสดีวัยสุข เริ่มขึ้นพร้อมรอยยิ้มและเสียงหัวเราะขณะกำลังเข้าที่ล้อมกันเป็นวงกลม บ้างยังคงกล่าวทักทายกัน กิจกรรมเช็กอินเริ่มขึ้นด้วยถุงทุเรียนอบแห้งแบ่งปันกันรอบวงพร้อมกับเสียงหัวเราะและอาการขบเคี้ยวอาหารประทังความโหยหาผาสุกที่เว้นช่วงพบหน้า ซึ่งจะได้เจอกันก็เพียงอาทิตย์ที่ 1 และ 3 ของเดือน

เมื่อทุกคนพร้อม กล่าวทักทายกันอีกครั้งแล้วยื่นไมค์สลับแลกเปลี่ยนเล่าเรื่องของตนเองให้ทุกคนในกลุ่มทั้ง 15 คนได้รับรู้ในช่วงที่ห่างหายกันไป

เริ่มด้วยการแนะนำตัวพร้อมกับบอกว่าวันนี้เป็นอย่างไรบ้าง มีความสุขขนาดไหน บ้างก็ว่าตื่นมายามเช้ามืดเพื่อทำกับข้าวกับปลาที่จะนำมาแลกเปลี่ยนกันในช่วงเที่ยง พร้อมกับบอกสูตรอาหารเลิศรสด้วยน้ำเสียงชวนหิว บ้างก็พูดถึงเรื่องราวสุขภาพร่างกายของตนที่ไม่ค่อยสู้ดี เจ็บนิดหน่อยก็ปวดร้าวไปทั้งตัว บ้างก็บอกความรู้ที่ตนเองไปอ่านมาแบ่งปัน ทั้งเรื่องสุขภาพ เรื่องอาหาร รวมไปถึงคำสอนพระพุทธเจ้าที่เพิ่งค้นพบได้ว่าแทรกอยู่ในการดำรงชีวิตของมนุษย์เราทุกคน

ความสุขอันเปี่ยมล้นผ่านรอยยิ้มของผู้สูงวัยเป็นตัวลบล้างละลายความเงียบเหงาในใจไปเกือบทั้งหมด ก่อนจะตามด้วยกิจกรรมเกมการ์ดสร้างความสัมพันธ์ จับกลุ่มแบ่งกันไปตามแต่ต้องการ บ้างกลุ่มละสามคน บ้างกลุ่มละสองคน

เมื่อรวมกลุ่มเสร็จจับการ์ดขึ้นมาสามถึงหกใบ ซึ่งคำถามจะอยู่ข้างในตัวการ์ดนั้น รูปแบบตัวคำถามของแต่ละคนที่ได้ขึ้นอยู่กับว่าอีกฝ่ายจะยื่นคำถามให้กับคนไหนในกลุ่ม หรือจะเป็นเขาเองที่ต้องการตอบคำถามนั้น คำตอบที่ออกมาคล้ายเป็นการปลดเปลื้องความเป็นตัวเองของคนคนนั้นให้อีกฝ่ายได้รับรู้เรื่องราวในคำถาม เป็นสิ่งที่สร้างความสัมพันธ์ผ่านการรับฟังและบอกเล่าเรื่องราวภายในจิตใจ

แสงแดดสาดสะท้อนระอุร้อนในเที่ยงวันถึงยามพักกลางวันร่วมกินข้าวที่ได้จัดเตรียมมา พร้อมด้วยรอยยิ้มของวัยชราที่มีให้กันตั้งแต่ยามเช้ายังคงกระจ่างแจ้งให้เห็นอยู่ไม่ขาด เสียงไวโอลินใต้ตึกหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ พรมเคล้าเคียงกับเสียงเปียโนที่กำลังบรรเลงเพลง “ฉันจะฝันถึงเธอ” ของสุภัทรา อินทรภักดี หวานชื่นรื่นระคนในสายลม

ผู้ร่วมกิจกรรมรวมกลุ่มเล่นการ์ดเกม “Happiness Explorer คู่มือสำรวจความสุขฉบับพกพา” ซึ่งเป็นหนึ่งในสื่อกลางสำหรับแลกเปลี่ยนเรื่องราว สร้างความสัมพันธ์ และฝึกการรับฟังด้วยใจ
การ์ดเกม “Happiness Explorer” บรรจุคำถามไว้แปดหมวด ได้แก่ ความสัมพันธ์ จิตใจ ร่างกาย ความคิด การงาน การเงิน บรรยากาศ และจิตวิญญาณ เป็นตัวช่วยให้ผู้เล่นได้สำรวจความสุขที่ซุกซ่อนอยู่ในชีวิตประจำวัน
สิ่งที่ฉายชัดออกมาอย่างเป็นธรรมชาติจากผู้ร่วมกิจกรรมสวัสดีวัยสุข คือ ความใจดี แววตาที่สดใส เสียงหัวเราะ และรอยยิ้ม

ความสุขคนต่างวัย

แม้กิจกรรมสวัสดีวัยสุขจะมุ่งเน้นสร้างความสัมพันธ์ให้ผู้สูงวัย แต่คนรุ่นใหม่กับคนที่สนใจก็มีอยู่ไม่น้อย ซึ่งกิจกรรมก็เปิดโอกาสให้กับคนใหม่ๆ ได้ร่วมอยู่เรื่อยๆ และบางครั้งคนรุ่นใหม่ก็มาพร้อมกับพ่อแม่ของตน บางครั้งก็มากับปู่ย่าตายาย หรือบางครั้งก็เป็นการเชื้อเชิญคนที่รู้จักกันของสมาชิกผู้สูงวัยในกลุ่มพามา แต่คนที่ร่วมกิจกรรมส่วนใหญ่เห็นจะเป็นสมาชิกเดิม สมาชิกใหม่ๆ ที่มาร่วมก็มาเพียงสองถึงสามครั้ง อาจด้วยเหตุผลประกอบหลายๆ อย่าง แต่หญิงสาววัย 30 ปีผู้หลงรักกิจกรรมจิตอาสาที่เข้ามาอยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุเล่าว่า

“ปรกติเราเป็นคนชอบทำกิจกรรมจิตอาสา เห็นประชาสัมพันธ์น่าสนใจ แต่เราไม่รู้ว่ากิจกรรมมันเป็นรูปแบบไหน เราอ่านเงื่อนไขกิจกรรมแล้วก็ทำให้เรามองไม่เห็นหนทางที่ได้มาร่วมกิจกรรมนี้ได้เลย อายุเราก็น้อย ตรงนี้ก็เป็นตัวกั้นเรา” ศุจิกา วงศ์พิมลพร หนึ่งในสมาชิกที่อายุน้อยที่สุดในกิจกรรมสวัสดีวัยสุข เล่าให้ฟังพร้อมกับรอยยิ้มอันสดใสและน้ำเสียงที่มุ่งมั่น

เธอยังเล่าว่าการเป็นแม่บ้านดูแลครอบครัวคือเรื่องที่ทำให้เธอมีความสุข แต่ความสุขสำหรับเธอที่แท้จริงแล้วคือการได้ทำจิตอาสา ได้ทำงานที่ไม่ได้รับผลตอบแทนและทางครอบครัวก็สนับสนุนเธออย่างเต็มที่ ฟ้าดินเป็นใจให้ศุจิกาได้รับโอกาสจากชัยฤทธิ์ หัวหน้ากิจกรรมสวัสดีวัยสุข ในการเข้าร่วมกิจกรรมผ่านคนรู้จัก จึงทำให้เธอได้พบกับความสุขที่เธอต้องการ

ส่วนชายหญิงสูงวัยสองคนอย่างพจนาและสุรเทพผู้เคยมีความเหงาเข้ามากัดกิน ยังเห็นพ้องร่วมกันว่าความสุขของทั้งคู่คือการได้อยู่กับครอบครัว ทำกับข้าวกับปลาให้ลูกหลาน ร่วมโต๊ะแบ่งปันรอยยิ้มพูดคุยเรื่องราวในแต่ละวันฟังร่วมกัน ผ่านอาหารที่ออกมาจากความตั้งใจของผู้เป็นพ่อและแม่ รวมถึงเรื่องสวดมนต์ไหว้พระ และการได้พบปะกับเพื่อนๆ ในการทำกิจกรรม

“การเข้าร่วมกิจกรรมสวัสดีวัยสุขนี้มันเป็นประสบการณ์ที่ได้อยู่ในสังคม ได้เจอเพื่อนๆ ในวัยเดียวกัน ได้รับความรู้แตกต่าง ได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน และก็เรียนรู้จากอาจารย์ชัยฤทธิ์แบบใจสู่ใจ มีการไว้เนื้อเชื่อใจกัน ถ้าไม่ถึงจุดตรงนั้นเราก็ร่วมกลุ่มเฮฮากันไม่ได้อย่างที่เห็น” พจนาอมยิ้มเผยความสุขในใจผ่านน้ำเสียงสดใส

“สำหรับเราแล้วมันไม่ได้เหงา แต่มันว่าง มันเหมือนมีอะไรบางอย่างในใจที่หายไปของคนวัย 30 มันไม่ได้เป็นความเหงาที่ต้องการเพื่อนสักคน แต่มันเป็นความว่างที่เรารู้สึกว่าอยากได้บางอย่างเข้ามาเติมเต็ม แล้วพอเข้ามาทำกิจกรรมนี้แล้วเรารู้สึกว่าบางอย่างที่ว่ามันเข้ามาเติมเต็มในใจเราตรงนั้นแล้วจริงๆ ซึ่งตอนนี้เราก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร แต่มันทำให้เรามีความสุข…” ศุจิกาเล่าผ่านรอยยิ้มที่ออกมาจากใจ

กิจกรรมสวัสดีวัยสุขจบสิ้นไปอีกวัน เหล่าผู้สูงวัยต่างโบกมืออำลากันด้วยรอยยิ้ม พร้อมกับสัญญาว่าหากมีข่าวสารน่าสนใจให้ส่งลงไปในกลุ่มไลน์ครอบครัว ก่อนจะหันหลังแล้วแยกย้ายกันกลับบ้านท่ามกลางแสงแดดยามบ่ายคล้อยที่ส่องแสงระยิบระยับกับผิวน้ำนิ่ง ผนวกกับเสียงนกกาเหว่าและนกกระจอกคอยฮัมเพลงส่งท้าย และอีกครั้งที่ดอกนนทรีสีเหลืองมลังเมลืองจะปลิดคว้างปลิวหล่นเย้าหยอกในสายลมระรื่นเย็น


เลิศศักดิ์ ไชยแสง
ขอเพียงแค่ตื่นขึ้นมาแล้วยังพบว่าตัวเองมีลมหายใจ สามารถนั่งจิบกาแฟท่ามกลางแสงแดดโปรยอ่อนพร้อมกับสายลมระรื่นเย็นจากที่ไหนสักแห่ง ได้อยู่ฟังเพลงเศร้าขมขื่นสักเพลงสลับกับหมอลำที่ชื่นชอบเคล้าคลอเคียงเสียงนกจากที่ไหนสักที่แล้วเหม่อมองดูฟ้าเกือบขุ่นมัวเช้าหรือดึกก่อนจะก้มหน้าลงอ่านหนังสือที่อยากอ่านสักเล่มจบสิ้นก็พรมนิ้วละเลงเขียนเรื่องราวที่อยากจดจำและไม่อยากจดจำลงในทรงจำกระท่อนกระแท่นเปราะบาง ยิ้มแลระบายให้กับโลกจริงผ่านจินตนาการ แค่นี้ก็ดีใจ…

ณัฐชนน บางแค
ช่างภาพฝึกหัดที่กำลังสนใจเรื่องความสัมพันธ์และการเจริญสติ ชอบฟังมากกว่าชอบพูด ชอบเล่าเรื่องด้วยภาพพอๆ กับชอบเขียน