เรื่อง : ณัฐพงศ์ อินต๊ะริด
ภาพ : ไอศูรย์ คำพันธ์ภัทร
ผลงานจากค่ายสารคดี ครั้งที่ 15

ภาพเปิด ในทุกคืนวันศุกร์เหล่าเด็กแว้นในเมืองบุรีรัมย์จะมารวมตัวกันที่สนามเพื่อที่จะได้แว้นอย่างถูกต้อง
สนามที่ใช้ในการแว้นทางตรง ขนาดความยาวกว่า 900 เมตร

“แว้น แว้น แว้นนนนนนนนนนนนนน…!!!”

เสียงท่อไอเสียดังสนั่นไปทั่วท้องถนนทำให้แสบแก้วหูไปถึงโสตประสาท “เด็กแว้น” บิดมอเตอร์ไซค์มาเป็นกลุ่มใหญ่ ขี่ปาดซ้ายขวาไปมาอย่างช่ำชอง สำนึกแรกรู้สึกไม่พอใจอย่างยิ่ง แต่เมื่อได้เห็นสีหน้าและแววตาที่แสดงออกมาด้วยรอยยิ้มแห่งความสุขปะปนกับความฮึกเหิม ผมก็สะกิดใจขึ้นมาทันทีว่า สิ่งนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของพวกเขา

ในฐานะของคนบุรีรัมย์ ผมรู้ว่ามานานแล้วว่าทุกเย็นวันศุกร์จะมีการจัดการแข่งขันมอเตอร์ไซค์ทางราบบริเวณสนามช้างอารีน่า ซึ่งตั้งอยู่ในตัวเมืองของจังหวัดบุรีรัมย์ โดยริเริ่มจากแนวความคิดของเนวิน ชิดชอบ ประธานบริหารสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ยูไนเต็ด ต้องการแก้ปัญหาเด็กแว้นประลองความเร็วบนถนนหลวง โดยให้มาแข่งขันกันในสนามตามกฎกติกา ดังนั้นทุกคืนวันศุกร์จะมีบรรดายอดนักบิดจากทั่วสารทิศมาชุมนุมกันที่นี่อย่างไม่ขาดสาย

การแข่งขันที่สนามช้างอารีน่าเปิดโอกาสให้ทุกคนประชันฝีมือกันได้อย่างเท่าเทียมโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ แต่ผมไม่ค่อยสนใจเรื่องราวของเด็กแว้นมากนักเนื่องจากไม่ชอบเรื่องเหล่านี้สักเท่าไหร่ เพียงแต่ในเวลานี้กลับเกิดคำถามมากมายขึ้นในหัวของผม ว่าอะไรที่สามารถดึงดูดให้พวกเขากล้าที่จะออกมาท้าความตายอย่างไม่เกรงกลัวต่ออำนาจของกฎหมายจราจรเช่นนี้

ผมจึงเดินทางตามเสียง “แว้น แว้น”ไปที่สนามช้างอารีน่า เพื่อเข้าไปรับชมการแข่งขันให้เห็นกับตา ว่าการขี่มอเตอร์ไซค์เสียงดังมีอะไรน่าสนใจนัก

ผู้ชมมากมายต่างให้ความสนใจ มีทั้งเด็กแว้น ประชาชนทั่วไปที่ชื่นชอบในความเร็ว รวมถึงชาวต่างชาติ
เด็กแว้นส่วนใหญ่ชอบที่จะแต่งวงล้อและท่อ โดยล้อจะต้องเล็กแล้วท่อต้องเสียงดัง

เวลาประมาณ 1 ทุ่มกว่า บรรยากาศที่สนามช้างอารีน่าดูคึกคักเป็นพิเศษ ผู้คนมากมายเดินขวักไขว่ไปมาอย่างชุลมุน ส่วนใหญ่เป็นเด็กแว้นที่ใส่กางเกงขากระบอกสีสดใส ไม่ก็กางเกงลายสกอต หรือกางเกงยีนกระบอกปลายลากพื้น พร้อมเสื้อสกรีนหรือเสื้อปัก หรือเสื้อที่มีสกรีนลายชื่อนักร้องวงต่างๆ บางรายอาจจะแสดงความมั่นใจขึ้นมาอีกระดับหนึ่งด้วยการใส่กางเกงขาสั้น ส่วนใหญ่จะใส่รองเท้าแตะเทวินทร์ หรือไม่ก็คอนเวิร์ส ดูแล้วเป็นเอกลักษณ์

เสียง “แว้น แว้น” ดังก้องกังวานไปทั่วบริเวณของสนาม เห็นแสงไฟสว่างจ้าอยู่ทางด้านหลัง ที่ตรงนั้นคือบริเวณที่มีการประชันความเร็วระหว่างนักบิด ผมรีบเดินไปอย่างไม่รีรอ

ภาพแรกที่เห็นคือการแข่งขันบนถนนทางราบ ขนาดความยาวกว่า 900 เมตร ซึ่งรายล้อมไปด้วยคนดูแนบขนาบทั้งสองข้าง ทั้งผู้ที่นั่งอยู่บนอัฒจันทร์และบริเวณอื่นโดยรอบ รวมๆ แล้วกว่า 100 ชีวิต นักบิดที่กำลังแข่งอยู่ในสนามมีอยู่ห้าคน ทั้งเด็ก คนหนุ่ม และหญิงสาว ทุกคนล้วนมีลีลาแพรวพราวโดดเด่นเฉพาะตัว ดูแล้วเพลิดเพลินไปอีกแบบ ราวกับนักบิดทุกคนคือนักเต้นระบำอยู่บน “floor” ที่เต็มไปด้วยแสงไฟอันร้อนแรง แต่ทว่า “floor” นี้คือพื้นถนนอันแข็งกระด้างและหยาบกร้านเกินกว่าที่ผิวหนังอันเปราะบางของมนุษย์จะสามารถทานทนต่อความแข็งแกร่งของมันได้

ผมอดที่จะตงิดใจไม่ได้จริงๆ ว่าหากเกิดความผิดพลาดขึ้นระหว่างแข่งขัน เมื่อคำนวณจากความเร็ว ณ จุดออกตัว แต่ละคันล้วนออกตัวด้วยความเร็วไม่ต่ำกว่า 100 แรงม้าต่อคัน ผมตะลึงงันกับภาพที่เห็นไปชั่วขณะ พร้อมกับคิดในใจว่า “นี้คือเกมกีฬาใช่ไหม?” ถ้าเช่นนั้นความสนุกของการแว้นคืออะไรกัน?

ระหว่างนั้นเหลือบมองไปเห็นเจ้าหน้าที่คอยสังเกตการณ์อยู่ในบริเวณสนามแข่งขัน สอบถามจึงรู้ชื่อ มานพ กะบินรัมย์ เป็นผู้ดูแลความปลอดภัยในการแข่งขันภายในสนามช้างอารีน่าไม่ต่ำกว่า 5 ปีมาแล้ว

มานพอธิบายให้ฟังว่า นักบิดที่จะเข้าแข่งขันที่สนามแห่งนี้จะต้องทำตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด คือห้ามก่อเหตุทะเลาะวิวาทหรือทำผิดกฎหมายโดยเด็ดขาด ห้ามแข่งหรือขับรถด้วยความเร็วหรือยกล้อนอกบริเวณแทร็ก (บริเวณสนามแข่งขัน) ให้จอดรถในบริเวณที่กำหนดให้เท่านั้น ห้ามเดินลงไปในบริเวณแทร็ก ห้ามขับรถตัดแทรกหรือย้อนศร นอกจากนั้นนักบิดควรสวมใส่รองเท้าผ้าใบและแต่งกายรัดกุมเพื่อความปลอดภัยทุกครั้งที่ลงแทร็ก ทั้งนี้หากฝ่าฝืนกฎทางผู้จัดจะไม่รับผิดชอบต่อความเสียหายใดๆ ที่เกิดขึ้น และผู้กระทำความผิดจะถูกดำเนินการตามกฎหมาย

ในเรื่องความปลอดภัย หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นกับนักบิดจะมีเจ้าหน้าที่ประจำสนามคอยปฐมพยาบาลอย่างใกล้ชิด ซึ่ง “นักบิด” จะได้รับการดูแลอย่างดี

“เราจะดูแลนักบิดเฉพาะในสนามแข่งเท่านั้น หากนักบิดเกิดอุบัติเหตุที่อื่นที่ไม่ใช่ในสนามแข่ง ทางเราจะไม่ขอรับผิดชอบ” มานพกล่าว

เมื่อคิดตามสิ่งที่มานพอธิบาย จะพบว่าสนามแข่งขันนี้มีกฎบังคับที่เคร่งครัดอยู่พอสมควร

การมีเจ้าหน้าที่ประจำการคอยดูแลความสงบเรียบร้อยต่างๆ ในระหว่างการแข่งขัน อาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ดึงดูดให้ทั้งคนดูและนักบิดมารวมตัวกันที่นี่ แต่นั่นก็ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะการแข่งขันที่มีคนดูเยอะๆ ย่อมมีรายละเอียดอื่นๆ ซุกซ่อนอยู่อีกมาก เช่น บางคนอาจมาเพราะความชอบส่วนตัว บางคนอาจมาเพราะอยากรับชมลีลาการบิดของนักบิดคนอื่นๆ หรือบางคนอาจมาเพราะต้องการโปรโมตความสามารถในการแต่งรถของตัวเอง ซึ่งรวมๆ แล้วทุกคนที่มาที่นี่ส่วนใหญ่ล้วนชอบการแต่งรถแทบจะทุกคน

แต่ละอู่ก็จะมีโลโก้เป็นของตัวเอง โดยสไตล์การทำรถก็จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับเทคนิคของช่าง
พี่แมน เจริญยนต์ เจ้าของอู่ซ่อมมอเตอร์ไซค์ “เจริญยนต์”

แมน เจริญยนต์ หรือช่างแมน เจ้าของอู่ซ่อมมอเตอร์ไซค์ “เจริญยนต์” ซึ่งเปิดกิจการอยู่ที่อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นอีกผู้หนึ่งที่ชื่นชอบการแว้นเป็นชีวิตจิตใจ เมื่อเสร็จจากการทำงานหรือธุระอื่นๆ เขาจะใช้เวลาว่างนั่งแต่งรถมอเตอร์ไซค์ หรือเอารถไปลองขับเพื่อทดสอบสมรรถภาพ แต่ต้องเป็นตอนกลางคืนเท่านั้น เพราะอากาศตอนกลางวันร้อน และไม่อยากสร้างความรำคาญแก่ผู้อื่น การมาที่สนามช้างอารีน่าทำให้เขาได้พบเพื่อน และมีเพื่อนที่ชื่นชอบความเร็วคล้ายๆ กัน แต่หากมีคนถามว่ากลัวตายไหม? ช่างแมนตอบ “กลัวตาย” แต่ชอบก็คือชอบ แม้จะกลัวตาย แต่เมื่อได้ควบคุมคันเร่งอยู่บนท้องถนนมันก็ทำให้รู้สึกสนุกจนลืมความกลัวที่มีอยู่ในใจไปหมดสิ้น

“ส่วนใหญ่เด็กแว้นชอบแต่งรถประมาณไหน” ผมถาม

ช่างแมนให้ข้อมูลว่า การแต่งรถมอเตอร์ไซค์มีทั้งแต่งเพื่อความสวยงามและแต่งเพื่อความเร็ว ซึ่งแต่ละอู่จะมีเทคนิคและวิธีการที่เป็นแบบเฉพาะของตัวเอง ซึ่งส่วนตัวแล้วเขาจะไม่บอกสูตรในการแต่งรถกับใครง่ายๆ

โดยทั่วไปเด็กแว้นส่วนใหญ่ชอบที่จะแต่งวงล้อที่มีลักษณะเป็นวงล้ออะลูมิเนียม สีที่นิยม ได้แก่ สีทอง สีเงิน สีน้ำเงิน และสีแดง ใส่เพื่อความสวยงาม อีกทั้งยังมีความทนทานต่อพื้นผิวถนน บางคนชอบแต่งเบาะ ต้องมีลักษณะเป็นเบาะปาด คือมีความบางกว่าปกติ ทำให้รถมีน้ำหนักเบา ทั้งยังช่วยเพิ่มความเท่ให้กับรถขึ้นไปอีกแบบ

สิ่งที่เด่นที่สุดในการแต่งรถคงจะเป็นการ “แต่งท่อสูตร” ต้องเป็นท่อที่ส่งเสียงดังเพราะสามารถเพิ่มความเร็วและอัตราเร่งของรถได้ ลักษณะของท่อจะมีปลายท่อเป็นอะลูมิเนียม ส่วนคอท่อจะเป็นสเตนเลส เสียงยิ่งดังยิ่งมัน ขับแล้วสะใจ! ทั้งยังช่วยให้นักบิดมีความฮึกเหิมมากขึ้นกว่าเดิม

หรือบางคนอาจจะแต่งสเตอร์ คือส่วนจานเฟืองที่ยึดติดอยู่กับโซ่ หากเป็นสเตอร์หลังจะติดอยู่กับล้อรถด้านหลัง หากเป็นสเตอร์หน้าจะอยู่บริเวณเครื่องยนต์ เป็นตัวเพิ่มความเร็วอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเบอร์ของสเตอร์ก็จะให้ความเร็วที่แตกต่างกัน ถ้าลดขนาดให้บางลงจะทำให้รู้สึกเบาและออกตัวได้ลื่นกว่า ซึ่งราคาที่ใช้ในการแต่งรถจะเริ่มต้นที่หลักหมื่นถึงหลักแสนต่อคัน

“อะไรที่ทำให้ต้องมาแข่งที่นี่” ผมถามด้วยความสงสัย

ช่างแมนยิ้มมุมปาก ราวกับผมถามคำถามที่เขารอคอย พลางตอบอย่างมั่นใจว่า “เพราะที่นี่เปิดให้บิดได้ ไม่ต้องไปบิดบนถนนหลวงให้ชาวบ้านด่า” จากนั้นก็ยิ้มร่าด้วยความชอบอกชอบใจ

ในฐานะเจ้าของอู่ซ่อมมอเตอร์ไซค์ การนำรถแต่งของตนมาวิ่งที่สนามแห่งนี้คล้ายเป็นการโฆษณาอู่ของตนไปในตัว หรือจะพูดว่าเป็นการขายของก็ยังได้ เพราะหากรถแต่งชนะการแข่งขันก็จะเป็นที่สนใจของนักบิดคนอื่นๆ ทำให้พวกเขาเกิดความอยากนำรถของตนมาแต่งที่ร้าน ซึ่งช่วยเพิ่มรายได้ให้เจ้าของอู่อีกทางหนึ่งได้

“ที่นี่มีรางวัลให้คนชนะมั้ยครับ”

“ไม่มีรางวัลใดๆ ให้นักบิด ไม่มีการพนันใดๆ ระหว่างการแข่งขัน ทุกอย่างขึ้นอยู่กับศักดิ์ศรีล้วนๆ” ช่างแมนตอบ

เวลา 2 ชั่วโมงผ่านไปอย่างรวดเร็ว การที่ผมมีโอกาสได้คลุกคลีอยู่กับบรรดาเด็กแว้นในสนามแข่งทำให้ได้เห็นมุมมองที่แปลกใหม่ แม้ว่าทางสนามแข่งจะไม่ได้มีรางวัลใดๆ ให้แก่นักบิดก็ตาม แต่บรรดานักบิดก็ยังนิยมมาแข่งที่นี่ เช่นเดียวกับแสงทอง พานทอง นักเรียนมัธยมฯ ปลาย อายุ 18 ปี จากอำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ก็เป็นอีกผู้หนึ่งซึ่งอยากลองบิดมอเตอร์ไซค์ในสนามแข่งดูสักครั้ง ก่อนหน้านั้นเธอได้คลุกคลีอยู่กับช่างแต่งรถ จากนั้นมีโอกาสติดตามช่างไปรับชมการแข่งที่สนามอื่นๆ ก็เริ่มหลงเสน่ห์ความเร็วเข้าให้ และอยากจะลองขับเช่นเดียวกับคนอื่นๆ เธอจึงเดินทางมาที่สนามช้างอารีน่าแห่งนี้เพื่อสัมผัสให้เข้าถึงอารมณ์ตอนอยู่ในสนามว่าจะตื่นเต้นเร้าใจเพียงใด

เมื่อได้ลงไปสัมผัสกับความรู้สึกตอนอยู่ในสนามจริง ทำให้แสงทองรู้สึกตื่นเต้นและเพลิดเพลินอย่างมาก ผมสังเกตเห็นว่าเธอมีสีหน้าที่ยิ้มแย้มสดใสเมื่อได้บิดคันเร่งและบังคับมอเตอร์ไซค์อยู่ในสนาม แม้ว่าเธอจะไม่ใช่ผู้ที่ชนะการแข่งขันในรอบนี้ก็ตาม

“ฉันมาที่นี่เพราะที่นี่ปลอดภัยกว่าที่อื่นๆ เวลาล้มก็จะมีคนคอยพยาบาล” แสงทอง พานทอง กล่าว

ระหว่างชมแสงทอง พานทอง บิดมอเตอร์ไซค์ในสนาม เด็กหนุ่มอีกคนหนึ่งทำให้ผมสงสัย เนื่องจากเขาจะลงแข่งแทบทุกรอบ แต่เมื่อแข่งได้รอบหรือสองรอบเขาก็จะเปลี่ยนมอเตอร์ไซค์คันใหม่ แล้วก็จะทำแบบเดียวกันอีก สิ่งสำคัญคือเด็กหนุ่มคนนี้จะเข้ารอบเป็นคนแรกๆ เสมอ นั่นแสดงว่าเขามีความสามารถในการแข่งมอเตอร์ไซค์ไม่เป็นสองรองใคร แม้จะเปลี่ยนมอเตอร์ไซค์หลายคันก็ตาม

นางสาวแสงทอง พานทอง “บอม” นักบิดหญิงที่มีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบในสนาม
นายชัยมงคล สาตะสิน “แบงค์” นักรับจ้างขับรถแข่งทางตรงให้กับอู่ต่างๆ จนได้รับการยอมรับว่าเป็นมืออาชีพในการแข่งทางตรง

สอบถามคนข้างๆ จึงรู้ว่าเด็กหนุ่มคนนั้นหารายได้จากการ “รับจ้างขับแดร็ก”

ต้องยอมรับว่าผมไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีการรับจ้างขับแดร็ก จนเมื่อได้รู้จักชัยมงคล สาตะสิน หรือแบงค์ ผู้รับจ้างขับแดร็กเป็นประจำ โดยเริ่มต้นจากการเป็นนักบิดธรรมดาทั่วไป ค่อยๆ พัฒนาฝีมือจนชำนาญ แล้วจึงรับจ้างขับแดร็กให้นักแต่งรถหรือเจ้าของอู่รถที่ทำรถมาแต่ไม่อยากขับเอง แบงค์ก็จะเป็นคนลองรถให้ ซึ่งสามารถช่วยสร้างรายได้ให้เขาได้อีกทางหนึ่ง

“การขับแดร็ก” เป็นภาษาที่ใช้ในวงการนักแข่งรถ หากจะพูดให้คนนอกวงการแข่งรถเข้าใจง่ายๆ ผมก็ขออธิบายว่ามันคือการรับจ้างขับรถหรือลองรถให้แก่นายทุนหรือเจ้าของรถที่ไม่อยากขับรถเอง

แบงค์ไม่ใช่คนเดียวที่รับจ้างขับแดร็ก ยังมีคนอื่นอีก แต่วันนี้หลายคนอาจมีธุระจึงมีคนรับจ้างขับแดร็กที่สนามช้างอารีน่าเพียงไม่กี่คน

ผมยังได้ข้อมูลที่น่าสนใจ ความจริงแล้วคำว่า “เด็กแว้น” ที่คนชอบพูดกันเป็นคำเชยและเก่าแล้ว อีกทั้งพวกเขาก็ไม่ชอบให้ใครเรียกว่า “เทพบุตรทางราบ” หรือ “สิงห์นักบิด” หรือคำพูดอะไรก็ตามที่สื่อความหมายว่าเป็นเด็กแว้น เพราะมันดูประชดมากกว่าชื่นชม

ปัจจุบันมีคำเรียกใหม่ที่ได้รับการยอมรับในหมู่เด็กแว้นด้วยกันคือคำว่า “ไบก์บอย” หรือ “ไบก์เกิร์ล” ถึงกระนั้นนักขับแดร็กก็ไม่ชอบคำพูดพวกนี้ เนื่องจากเขาอยู่ตรงกลางระหว่างคำว่า “นักบิด” กับ “นักขับ” ในฐานะที่รับจ้างขับแดร็กเขาจึงชอบว่าคำ “นักขับแดร็ก” มากกว่า เพราะฉะนั้นเขาจึงไม่ค่อยใส่ใจกับคำว่าเด็กแว้นเพราะเป็นคำที่เชยและเก่าเกินไป

แบงค์ไม่ได้รับจ้างขับแดร็กเพียงอย่างเดียว เขายังเดินสายแข่งมอเตอร์ไซค์ตามสนามต่างๆ เพื่อชิงเงินรางวัล การได้แข่งกับนักบิดคนอื่นๆ ทำให้เขาพัฒนาฝีมือขึ้นอย่างรวดเร็ว อีกไม่นานคงจะเดินตามรอยนักบิดคนก่อนหน้า ที่เริ่มต้นจากการเป็นเด็กแว้นธรรมดาๆ คนหนึ่งจนกลายเป็นนักบิดมืออาชีพได้

สีหน้าและแววตาของแบงค์ดูมุ่งมั่นตั้งใจเมื่อเขาอยู่ในสนามแข่ง ทำให้ผมรู้สึกประทับใจในตัวเขาเป็นอย่างมาก

สนามแห่งนี้ดูเผินๆ ก็เป็นแค่เพียงสนามแข่งรถธรรมดาๆ ไม่ได้มีอะไรที่วิเศษวิโสไปมากกว่าสนามแห่งอื่นเลย แต่ใครจะรู้ว่าเบื้องลึกแล้ว สนามแห่งนี้คือเบื้องหลังของผู้คนมากมายที่อยู่ในวงการนักบิด หลายๆ คนมีจุดเริ่มต้นมาจากสนามเล็กๆ แห่งนี้

เวลาล่วงเลยมาถึง 22.40 นาฬิกา เหลือเวลาเปิดสนามแค่เพียง 20 นาทีเท่านั้น

ไบก์บอยและไบก์เกิร์ลเริ่มทยอยเดินทางกลับ สิ่งที่ประทับใจที่สุดก็คือเหตุการณ์ที่ผ่านมาสงบเรียบร้อยดี ไม่มีการแหกกฎ ไม่มีการทะเลาะวิวาทใดๆ เกิดขึ้นทั้งสิ้น

ทุกคนที่ผมคุยด้วยก็ล้วนสุภาพและน่ารักกว่าที่คิด ไม่ได้ป่าเถื่อน หรือมีอารมณ์เกรี้ยวกราดหรือดุดันอย่างในจินตนาการของผมเลยแม้แต่น้อย ดูเหมือนสิ่งที่ผมคิดไว้จะผิดไปทั้งหมด

หลังจากเวลา 23.00 นาฬิกา ซึ่งเป็นเวลาปิดสนาม ทุกคนเริ่มทยอยเดินทางกลับ

ผมเริ่มเข้าใจเด็กแว้นว่าพวกเขาก็เหมือนคนทั่วไป มีทั้งคนดีและคนไม่ดี แต่สิ่งที่ทำให้พวกเขาแตกต่างจากคนทั่วไปก็คือ พวกเขาชอบความเร็ว และรักมอเตอร์ไซค์เหมือนเป็นคนในครอบครัว

พวกเขาจะดูแลเอาใจใส่รถมอเตอร์ไซค์ของตนเป็นอย่างดี ราวกับว่าหากขาดมันไปชีวิตของพวกเขาก็คงจะอยู่ด้วยความยากลำบาก

สุดท้ายนี้ผมรู้แล้ว่าทำไมเด็กแว้นจึงชอบมาแข่งที่สนามช้างอารีน่า แม้ว่าทางสนามแข่งขันจะไม่มีรางวัลใดๆ ให้แก่ผู้ชนะ แต่นั่นไม่สำคัญเลย เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับพวกเขาคือการได้มีสถานที่แสดงฝีมือ มีสถานที่ปล่อยของ หรือระบายความต้องการจากภายในออกมา แค่มีสนามให้เล่นนั่นก็เพียงพอแล้วสำหรับพวกเขา


ณัฐพงศ์ อินต๊ะริด

เป็นคนชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ตลอดเวลา ขี้สงสัย จนบางครั้งเก็บเอาไปคิดมาก แล้วยังเป็นคนชอบสังเกตุพฤติกรรมของมนุษย์ และสัตว์ ว่างๆ ก็ลองมาสังเกตุทุกสิ่ง รอบๆตัว กับเราได้นะ

ไอศูรย์ คำพันธ์ภัทร
ชอบใช้เวลาในการมองท้องฟ้า ก้อนเมฆ ความฝันคือได้ไปชิมอาหารทั่วโลกพร้อมกับการดูแสงเหนือ