วิชาสารคดี ๑๐๑ ศาสตร์ ศิลป์ เคล็ดวิธี ว่าด้วยการเขียนสารคดี


ภาพ : 123rf
ภาพ : เพ็ญศรี​ พานิช

สารคดีท่องเที่ยว บันทึกการเดินทาง หรือขยายความให้กว้างถึงการออกไปสัมผัสพื้นที่จริงแล้วนำมาแปรเป็นงานเขียน ถือเป็นสายหนึ่งของงานสารคดีที่นิยมเขียนกันมากตั้งแต่ยุคบุกเบิก เรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้

ในยุคปัจจุบันที่ตัวหนังสือพากันย้ายพื้นที่ไปอยู่ในสื่อออนไลน์ หน้าเพจที่ได้รับความนิยมสูงส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องของการเดินทางออกไปเก็บเกี่ยวเรื่องราวมาเล่าคนอ่าน

นักศึกษาปริญญาตรี หลักสูตรอาเซียน​ศึกษา​ สำนักวิชาศิลปศาสตร์​ มหาวิทยาลัย​วลัย​ลักษณ์ ชั้นปีที่ ๔ มีรายวิชาที่ต้องเดินทางไปเก็บข้อมูลอยู่ในประเทศที่เลือกเป็นเวลา ๑๐ เดือน เพื่อทำโครงงานอาเซียนศึกษา กลุ่มหนึ่งเลือกนำเสนอผ่านรูปแบบงานเขียนสารคดี

โดยเป้าหมายไม่ได้มีข้อบังคับว่าต้องเป็นหนังสือเล่มหรือเพจออนไลน์ แต่ความเข้าใจเรื่องพื้นฐานสารคดีท่องเที่ยว คงตอบโจทย์เบื้องต้นให้นักเขียนมือใหม่ได้บ้างไม่มากก็น้อย

ภาพ : นฤมล​ กล้าทุกวัน

อย่างแรกคือการเข้าใจความหมาย สารคดีท่องเที่ยวคือ งานสารคดีที่เล่าการเดินทางซึ่งมักเชื่อมโยงกับสถานที่ มักมีการบรรยายภาพ ความรู้สึก ประสบการณ์ที่ผู้เขียนได้สัมผัส จะเข้าใจและเห็นภาพชัดขึ้นหากลองหาดูตัวอย่างจากหน้าสื่อออนไลน์ ตามนิตยสารแนวท่องเที่ยว หรือบนชั้นหนังสือหมวดท่องเที่ยวในร้านหนังสือ

สำหรับหนังสือเล่มที่เป็นถือเป็นต้นแบบก็หาอ่านได้จากงานของ ธีรภาพ โลหิตกุล หลายๆ เล่มไล่มาแต่ชุด สายน้ำและความทรงจำ โทษ(ส)ถานที่อยากไป จีนจับใจ ที่ผู้เขียนเรียกในอีกนิยามว่า “สารคดีสัญจร” รวมถึงงานเขียนเล่มเปิดตัวของ นิ้วกลม โตเกียวไม่ขา จนถึง หิมาลัยไม่มีจริง และโดยเฉพาะสารคดีประสบการณ์เดินทาง รถเที่ยวสุดท้ายจากตองยี ของสมบูรณ์ วรพงศ์ ก็นับว่าเป็นสารคดีท่องเที่ยวคลาสสิคเล่มหนึ่ง

ภาพ : เพ็ญศรี​ พานิช

การเรียนรู้เรื่องงานเขียนต้องควบคู่ไปกับการปฏิบัติจริง ในการอบรมการเขียนสารคดีที่มหาวิทยาลัย เมื่อต้นเดือนสิงหาคม ๒๕๖๒ ผมจึงชวนพวกเขาทดลองเขียนงานจากประสบการณ์ คนละชิ้นในชั่วโมงเรียน เพื่อผมจะได้อ่านและให้คำแนะนำในการไปทำต่อได้

จากผลงานราว ๔๐ เรื่อง ลองหยิบบางชิ้นบางตอนมาให้อ่านกันในที่นี้

แม้ยังถือว่าเป็นงานเขียนร่างแรกระหว่างทางการเรียนรู้ แต่ก็เอามาปันกันอ่าน เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านประสบการณ์งานเขียนร่วมกัน

ภาพ : เพ็ญศรี​ พานิช

แท็กซี่ในบริเวณเมืองไฮฟ่องหาง่ายมาก ไม่ต้องรอนาน จากในเมืองไปบิ๊กซีไม่ไกลมาก นั่งแท็กซี่ประมาณ ๑๐ นาทีเท่านั้น เมื่อไปถึงเราสังเกตเห็นว่าการออกแบบอาคารไม่เหมือนกันกับที่ไทยเลย

บิ๊กซีที่เวียดนามจะเป็นตึกทรงสี่เหลี่ยมเหมือนอาคารสำนักงาน ไม่ได้มีรูปแบบเป็นเอกลักษณ์เหมือนบิ๊กซีที่ไทย แต่ภายในมี ๒ ชั้นเหมือนกัน ชั้นล่างเป็นบูธขายเสื้อผ้าเด็ก สตรี และบุรุษ มีร้านไอศกรีม ร้าน KFC โซนเครื่องเล่นสำหรับเด็ก ส่วนชั้นบนเป็นโซนขายขนมปัง และสินค้าทุกรายการเหมือนกับที่ประเทศไทย

(บางตอนจาก “ตะลอนห้างกลางเมืองไฮฟ่อง” โดย วรัญญา จันทร์เกิด

เราถูกบังคับเรื่องของเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด และต้องรีบตัดสินใจให้เร็วที่สุดก่อนที่จะตกรถ เพราะหากไม่ทันพวกเราคงต้องนั่งรถรับจ้างอื่นไปยังที่พัก ไม่ต้องพูดถึงเรื่องราคาเพราะแพงมาก จนฉันอดคิดเสียดายเงินไม่ได้

ฉันก้มมองนาฬิกาข้อมือ ตอนนั้นประมาณ ๑๐.๐๐ น. แล้ว ในที่สุดพวกเราก็ตัดสินใจงัดเอาความรู้ที่อาจารย์เคยสอนสั่งก่อนที่จะไปเรียนแลกเปลี่ยน เพียงภาษามาลายูขั้นพื้นฐาน

ใช่แล้ว! ตอนนี้เราอยู่ที่ประเทศมาเลเซีย และนี่ก็เป็นครั้งแรกที่ฉันเคยนั่งรถไฟฟ้า
ที่ตื่นเต้นคือฉันกำลังจะตกรถไฟขบวนสุดท้าย!

……

“เห้อ โล่งออกไปที่ นึกว่าจะตกรถเสียแล้ว” เพื่อนฉันกล่าวอย่างโล่งใจ เมื่อได้ขึ้นอยู่บนขวบรถไฟแล้ว

ฟูกที่เบาะรองนั่งยุบตัวลงอย่างช้าๆ ผิดกับขบวนรถไฟฟ้าที่วิ่งเร็วจนฉันกับเพื่อนเซไปเซมา สังเกตผู้คนที่มากับรถขบวนเดียวกัน มีคนมากหน้าหลายตา ทั้งคนมาเลเซียพื้นเมือง ที่ส่วนใหญ่นั่งกดโทรศัพท์ พร้อมกับหูฟังที่ถูกเสียบพร้อมใช้งาน

เสียงรถไฟกระทบกับรางดังฉึกฉักดังสนั่นในความมืดมิด แต่มีเสียงที่ดังกว่ากำลังสนทนากันอย่างเมามัน ฉันไม่รู้ว่าที่เขสพูดกันอยู่นั้นเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร แต่ที่รู้คือเขาเป็นคนอินเดีย เพราะนอกจากการแต่งกายแล้ว ยังมีกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ

(บางตอนจาก “รถไฟขบวนสุดท้าย” โดย พิมพ์ชนก ลีอร่าม)