ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


นโยบายที่เริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยุคสงครามโลก ถูกรื้อฟื้นขึ้นอีกครั้งหนึ่งโดยรัฐบาล “หอย” ที่มาจากการรัฐประหารของกองทัพ โดยอ้างเหตุความวุ่นวายจากกรณีจลาจล ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙

รัฐบาลเผด็จการพลเรือนยุคต้นทศวรรษ ๒๕๒๐ พยายามสร้าง “ความมั่นคงของชาติ” ด้วยนโยบายเนื่องด้วยธงชาติ

การเคารพธงชาติในเวลาชักธงขึ้นแปดโมงเช้า และเชิญธงลงตอนหกโมงเย็น ซึ่งริเริ่มมาตั้งแต่หลายสิบปีก่อนหน้าแล้วซบเซากันไป ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง จนกลายเป็นนโยบายสำคัญอย่างยิ่งยวด (สืบเนื่องมาจนบัดนี้)

หนังสือเรียนทุกเล่มทุกระดับชั้น ต้องพิมพ์รูปธงไตรรงค์และเนื้อร้องเพลงชาติไว้ตั้งแต่หน้าต้นๆ

ฯพณฯ รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการในรัฐบาลนั้น ถึงกับมีนโยบายให้ทุกโรงเรียนสร้างเสาธงขนาดใหญ่ ให้แลเห็นเด่นเป็นสง่ามากที่สุด จำได้ว่าท่านเคยเสนอความคิดที่จะให้สร้างเสาธงหน้ากระทรวงศึกษาฯ ให้สูงที่สุดในประเทศไทยด้วยซ้ำ จนมีผู้ล้อเลียนกันว่า นามสกุลของท่านคือ “เสาธง”

ปรากฏการณ์ความสัมพันธ์ระหว่าง ธง เสาธง กับการสร้างเสริมอำนาจของรัฐ พบเห็นได้เสมอมาในประวัติศาสตร์

ตามสถิติปัจจุบัน เสาธงที่สูงที่สุดในโลก มีความสูง ๑๗๐ เมตร (เท่าตึก ๔๐-๕๐ ชั้น) ตั้งอยู่ที่นครญิดดะฮ์ (Jeddah) ราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย หนึ่งในรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์แห่งท้ายๆ ของโลก

อันดับถัดลงมาส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศเกิดใหม่ที่แยกตัวจากอดีตสหภาพโซเวียต ได้แก่ อันดับ ๒ คือเสาธงในกรุงดูชานเบ เมืองหลวงของสาธารณรัฐทาจิกิสถาน อันดับ ๓ อยู่ที่กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน อันดับ ๔ เสาธงปันมุนจอม ที่กิจงดอง หมู่บ้านโฆษณาชวนเชื่อของเกาหลีเหนือ ติดชายแดนเกาหลีใต้ ที่นี่เคยได้ตำแหน่งเสาธงที่สูงที่สุดในโลกมาหลายสิบปี ก่อนจะถูกเสาธงรุ่นหลังทำลายสถิติไป

ส่วนเสาธงที่สูงเป็นอันดับที่ ๕ ของโลก ตั้งอยู่ที่กรุงอาชกาบัด สาธารณรัฐเติร์กเมนิสถาน

ความเกี่ยวเนื่องกันระหว่างอำนาจรัฐ กับธง และเสาธงทำนองนี้ อาจมีที่มาอันลึกซึ้งถึงก้นบึ้งของจิตมนุษย์

แม่ทองอยู่ รักษาพล (๒๔๓๖ – ๒๕๒๘) แม่เพลงชาวนครนายก เคยว่าเพลงฉ่อย “ตับธง” ให้เอนก นาวิกมูล บันทึกไว้ เพลงนี้คงมีที่มาจากยุคสงครามอินโดจีน (๒๔๘๓ – ๒๔๘๔) เมื่อไทยรบกับฝรั่งเศส ซึ่งมีกองกำลังหลักเป็นทหารญวนและทหารแอฟริกันจากมอรอคโคที่เป็นอาณานิคม

แม่ทองอยู่เล่าว่า หลังจาก “ประ” คือปะทะคารมกันนิดหน่อยแล้ว ฝ่ายชายเขาออกปากฝากว่า

“ตัวพี่ไม่ใช่จีนลาว หรือจะมาเอา อะไร
ไม่ใช่แขกมอรอคโคริมแม่น้ำโขง แต่จะขอปักคันธง ประเทศไทย”

(เอ่ชา เอ้ชา ชาฉะฉ่าชา หน่อยแม่)

มาไม้นี้ เลยโดนแม่ทองอยู่สวนเข้าให้

“เสียแรงแกแบกคันธง บอกกะพี่ตรงๆ ออกไป
ให้เอากลับไปถิ่นไปฐาน กลับไปคืนบ้าน ละก็ พี่ชาย
ไปแจกพวกพ้องพี่น้องเอ็งปัก ปักแล้วจะได้ชักธงให้”

(เอ่ชา เอ้ชา ชาฉะฉ่าชา หน่อยแม่)

แม้ว่าแม่ทองอยู่คงไม่เคยรู้จักกับซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud 1856 – 1939) หากแต่เสาธง (คันธง) ในที่นี้ก็ถูกใช้ในนัยขององค์แห่งเพศชายอย่างชัดเจน

ตรงกันเป๊ะกับทฤษฎีของนายแพทย์ชาวออสเตรียผู้นั้น !