เรื่องและภาพ วิศรุต แสนคำ

“รุ่ง” จากจังหวัดชัยภูมิ เก็บชุดทหารเข้าที่ทันทีหลังจากหมดคิวแสดง เพื่อรักษาชุดให้สะอาดที่สุด

บริเวณหลังม่านเวที งิ้ว

“ฮอดคิวแล้ว…ฮอดคิวแล้วรุ่ง” เสียงเรียกจากหญิงสาวในชุดประดับแสงระยิบระยับที่คุ้นเคยจากละครจีนในทีวีวัยเด็ก เธอพยายามมองซ้ายขวา พลางเรียก “อ้ายรุ่ง อ้ายรุ่ง”

หนุ่มอีสานวิ่งมาพร้อมถุงน้ำอัดลมสีเขียว แดง และดำ หลากสีไม่ต่างจากใบหน้าเขาที่ถูกละเลงด้วยสีขาวและแดง

“เอ้าขอโทษหลาย ๆ เมื่อกี้ไปซื้อของมา” ชายหนุ่มรีบแจกถุงน้ำอัดลมให้บรรดาตัวแสดงงิ้วคนอื่น ๆ พร้อมทั้งรีบไปสวมชุดทหารจีนโบราณ พอได้เวลาเขาก็พุ่งออกไปหน้าเวทีตวัดทวนไม้สู้กับตัวแสดงอีกคนท่ามกลางสายตาของผู้ชม

ว่ากันว่าการแสดงงิ้วเกิดขึ้นมานานกว่า ๑,๓๐๐ ปีแล้ว และถึงจุดเฟื่องฟูสูงสุดในยุคสมัยของซูสีไทเฮาที่โปรดการแสดงนี้เป็นอย่างมาก ก่อนที่ต่อมาจะแพร่หลายตามลูกหลานจีนที่อพยพไปอาศัยในประเทศต่าง ๆ  สำหรับประเทศไทย ทุกปีชุมชนเชื้อสายจีนตามศาลเจ้าพ่อ จะนำการแสดงงิ้วมาเฉลิมฉลองเพื่อแสดงความขอบคุณและสักการบูชาเจ้าพ่อที่คอยช่วยปกปักรักษาชุมชนมาตลอด

“คนอีสานในคณะงิ้วมีมานาน ตั้งแต่ ๔๐-๕๐ ปีแล้ว” เถ้าแก่เจ้าของคณะเต้เกี่ยอี่ไล่ซุนเล่าให้ฟังอีกว่า คนอีสานคือคนไทยกลุ่มแรก ๆ ที่เข้ามาทำงานในคณะงิ้ว ส่วนใหญ่จะได้รับการฝึกสอนให้แสดงบทตัวประกอบในบางฉาก เช่น ทหาร ทำให้มีเวลาว่างเหลือค่อนข้างมาก บางคนจึงต้องควบหน้าที่หลายตำแหน่ง ทั้งตีฆ้อง เตรียมอาหาร จัดฉาก ซึ่งบางครั้งอาจถูกเรียกว่า ฮี้เกี้ยหรือลูกงิ้ว ด้วยเป็นคนบริการหลังโรงงิ้ว

เถ้าแก่เล่าต่อว่า เพิ่งมาทำคณะงิ้วได้ ๒ ปีกว่า ๆ เท่านั้น หลังจากเป็นลูกน้องในคณะงิ้วของคนอื่นมา ๓๐ กว่าปี  คณะนี้มีนักแสดงกว่า ๓๐ ชีวิต ถือว่าเป็นคณะใหญ่เมื่อเทียบกับคณะอื่นซึ่งมักมี ๑๐-๒๐ เท่านั้น  “เวลาคนจะจ้างเขาเลือกจากจำนวนคนแสดงด้วย ยิ่งมีคนเยอะ โอกาสก็ยิ่งเยอะ”

งานแสดงส่วนใหญ่ของคณะงิ้วมักอยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม ถือเป็นไฮซีซันสำหรับวงการงิ้วเลยก็ว่าได้ เพราะแต่ละเดือนจะมีงานแสดงไม่ต่ำกว่า ๒๐ วัน ขณะที่เดือนอื่น ๆ มีแค่ ๕-๖ วัน

“เดี๋ยวนี้การทำคณะงิ้วลำบากกว่าเมื่อก่อนมาก ไม่ใช่เพราะไม่มีงาน แต่เพราะไม่มีคนมาแสดง รุ่นเด็ก ๆ เขาก็อยากเรียนหนังสือ ไม่ก็ทำงานอย่างอื่นที่ได้เงินดีกว่ากันหมดแล้ว หลายคณะที่หาคนไม่ได้ก็ต้องทยอยเลิกไป  เราจึงต้องอาศัยคนอีสานมาแสดงด้วย ค่อย ๆ ฝึกกันไป” เถ้าแก่เล่าปัญหาของวงการงิ้วก่อนจะลุกไปหยิบหมวกสวมให้เปาบุ้นจิ้นที่รอคิวออกอยู่หลังม่าน

พนาวรรณ เดิมเป็นคนจังหวัดศรีสะเกษกับคนรัก ไพโรจน์ (ขวา) กำลังแต่งหน้าเตรียมตัวขึ้นแสดง

นักแสดงชาวอีสาน (ขวาสุด) กำลังซ้อมบทบู๊กับนักแสดงงิ้วชาวจีน ขณะที่คนอื่นๆ ถือโอกาสพักผ่อน

นักแสดงจากอีสานจะใช้การจดบทพูดจีนเป็นอักษรไทยแบบคาราโอเกะ ง่ายต่อการท่องจำและฝึกฝน

ลูกงิ้วหรือคนงานในโรงงิ้วของคณะเต้เกี่ยอี่ไล่ซุนกำลังติดตั้งและทดสอบไมค์ก่อนเริ่มแสดงในงานงิ้วประจำปีที่ถนนเพชรบุรี ซอย ๑๐

“เรย์” (ซ้าย) และ “คิง” นักแสดงงิ้วกำลังกินอาหารอีสานอย่างเอร็ดอร่อย

เหล่านักแสดงใช้เวลาตอนกลางวันพักผ่อนหลังจากการแสดงในช่วงกลางคืน

บรรยากาศหน้าเวทีในตลาดสดซอยเพชรบุรี ๑๐ ช่วงกลางวันที่ยังไม่ถึงเวลาการแสดง

ขณะนักแสดงงิ้วเตรียมตัวก่อนขึ้นเวที แม่ค้าในตลาดสดก็ยังขายของตามปรกติ

ด้านหลังเวที หญิงสาวที่สวมชุดเปล่งประกายคนนั้นบอกว่าชื่อ แนน อายุ ๒๓ ปี เกิดที่ภาคอีสานในจังหวัดศรีสะเกษ แต่มาอยู่กรุงเทพฯ ตามพ่อแม่ที่มาขายแรงงาน  แนนเริ่มเล่นงิ้วมาประมาณ ๓ เดือนแล้ว จากที่อยู่ในคณะงิ้วช่วยยกของทำความสะอาดมาหลายปี เธอเริ่มหัดแสดงด้วยวิธีครูพักลักจำ มีเถ้าแก่มาสอนบ้างในช่วงใกล้วันงานแสดง  ในส่วนบทพูดต้องท่องจำ และซ้อมเตรียมกับนักแสดงรุ่นใหญ่ ว่าถ้าร้องคำนี้ก็ให้ร้องตอบด้วยคำไหน

ถึงแม้การเล่นงิ้วจะเป็นเรื่องยากเพราะใช้ภาษาจีนทั้งหมด ซึ่งเธอยอมรับว่าภาษาจีนของเธอนั้นไม่กระดิกเลยสักนิด แต่เธอก็ชอบการแสดงในคณะงิ้วนี้ เพราะคนในคณะให้ความช่วยเหลือเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน  “ถึงแม้จะเป็นแค่นายจ้างและลูกน้อง แต่เราอยู่กันอย่างครอบครัวจริง ๆ” เธอย้ำ

ลูกอีสานอีกคนในคณะคือ รุ่ง อายุ ๒๔ ปี เป็นคนชัยภูมิโดยกำเนิด เข้าคณะนี้มากว่า ๓ ปีแล้ว แต่เคยอยู่คณะงิ้วอื่นมาตั้งแต่อายุ ๑๖  รุ่งเล่าย้อนประสบการณ์วัยเด็กที่ชอบไปดูงิ้วที่ศาลเจ้าในจังหวัดชัยภูมิว่า หลงรักตั้งแต่แรกเห็น นับจากปีนั้นก็ไปดูงิ้วทุกปีติดกันถึง ๔ ปี  พอปีที่ ๕ พ่อแม่ก็เลยพามาฝากกับเถ้าแก่ เขาจึงได้เข้าวงการงิ้วมาตั้งแต่ตอนนั้น

รุ่งเล่าว่าตอนเริ่มฝึกใหม่ ๆ ลำบากเรื่องภาษามากเพราะฟังไม่ออกเลย ยิ่งพูดแทบไม่มีทาง แต่เขาอาศัยการท่องจำบทและคอยจับจังหวะสายตาเป็นตัวบอกว่าถึงคิวเอ่ยปากแล้ว  บทที่เขาเล่นตอนนี้เป็นทหารเสียส่วนมากจึงไม่จำเป็นต้องพูดอะไรยาว  “ตอนนี้ผมก็ชอบเล่นงิ้วนะครับ มีเหนื่อยหน่อยก็ตรงวันตั้งเวทีและเก็บเวที  คิดว่าจะเล่นงิ้วต่อไปเรื่อย ๆ” รุ่งบอก ก่อนเถ้าแก่จะเรียก “ทหาร !!” ซึ่งเป็นสัญญาณบอกว่าถึงคิวเขาออกม่านอีกครั้งแล้ว

ทั้งรุ่งและแนน ลูกอีสานบนเวทีงิ้ว ต่างเปรียบเสมือนกิ่งไม้ที่ถูกต่อกิ่งไว้บนต้นไม้ต่างพันธุ์ ถึงแม้จะไม่ได้มีรากเหง้าเดียวกับต้นเดิม แต่พวกเขาก็ยังเติบโตงอกงามต่อไปได้

นักแสดงที่ฟังภาษาจีนไม่เข้าใจจะรู้จังหวะต่อบทจากการสังเกตท่าทางหรือการกะพริบตาที่ได้เตรียมกันก่อนขึ้นแสดง

ป้ายประกาศการแสดงงิ้วประจำปีที่ปากซอย

แม้จะไม่เข้าใจคำพูดของนักแสดง แต่เด็กๆ ก็ถูกดึงดูดจากเครื่องแต่งกายสีสดและเสียงดนตรี