ภาพ : เริงฤทธิ์ คงเมือง, จิระศักดิ์ รังษี
เกริ่นนำ : เริงฤทธิ์ คงเมือง

หญิงชราและเด็กออกมาออกันเพื่อรอรับสิ่งของบรรเทาทุกข์ในศูนย์พักพิงชั่วคราว เมืองสะหนามไซ (สนามชัย)

บนลานทราย ต้นมะพร้าว มะขาม แลต้นไม้น้อยใหญ่ล้มเกลื่อนกลาด  เสาไฟฟ้า เสาบ้านหักเหลือเพียงตอ  มีเพียงโบสถ์และศาลาวัดที่ยังยืนหยัดอยู่ได้  คือภาพที่เราเห็นในพื้นที่ที่เคยเป็นบ้านหินลาด บ้านท่าแสงจันทร์ สองหมู่บ้านแรกที่ถูกมวลน้ำบุกเคาะประตูบ้านภายหลังคันดินของสันเขื่อนเซเปียนทรุดตัวจนเกิดรอยร้าวและน้ำในเขื่อนไหลทะลักเข้าถล่มชุมชนเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๑

แม้จะผ่านค่ำคืนฝันร้ายไปแล้ว ๓-๔ วันและน้ำลดระดับลงหมด แต่กลุ่มชาวบ้านผู้รอดชีวิตบางส่วนก็เพิ่งได้กลับเข้าไปตรวจสอบทรัพย์สินในพื้นที่หมู่บ้านที่แทบไม่หลงเหลือร่องรอยหมุดหมายใด ๆ  กลิ่นเหม็นเน่าโชยขึ้นจากใต้เนินทรายและโคลนเลนเป็นระยะช่วยยืนยันว่าที่นี่เคยเป็นชุมชนมาก่อน มีเพียงบ้านราว ๑๐ จาก ๑๐๐ กว่าหลังคาเรือนที่เหลือรอด แต่ก็ในสภาพที่ไม่สามารถเข้าพักอาศัย แทบทุกหลังเต็มไปด้วยตะกอนดินและท่อนไม้ทับถมสูงเกือบท่วมชั้น ๒

กลุ่มชาวบ้านผู้ประสบภัยป้ายแดงและผู้นำทางเราเข้าพื้นที่ต่างสาละวนกับการรื้อค้นหาข้าวของเครื่องใช้ที่รอดพ้นจากตะกอนดินฝังกลบ บางคนยังคงเดินวนเวียนอย่างไร้ทิศทางเพราะไม่สามารถจดจำที่ตั้งบ้านและที่ดินเดิมของตน แม้แต่ไร่นาแปลงใหญ่ที่พวกเขายืนยันว่าอยู่คนละฟากถนนกับกลุ่มบ้านเรือนก็ถูกโคลนเลนถมทับกลายเป็นหาดเลนกว้างไกลไม่หลงเหลือเค้านาเดิม

ในพื้นที่ปราการด่านหน้าที่ย่อยยับลงในพริบตา บ้านตะมอหยอดหมู่บ้านบนเนินที่พ้นจากวิถีการกวาดล้าง อาคารเรียนหลังคารั่วชื้นแฉะจากฝนที่ตกแทบทุกวันกลายเป็นศูนย์พักพิงชั่วคราวอันแออัด ผู้ประสบภัยทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และคนแก่ล้วนมีใบหน้าอิดโรย แทบทุกคนมีเสื้อผ้าติดตัวนับตั้งแต่คืนเกิดเหตุเพียงคนละชุด ของบริจาคเริ่มเข้าถึงแต่เครื่องนุ่งห่มยังขาดแคลนแม้ผ่านไปแล้ว ๓-๔ วันเพราะเส้นทางสัญจรหลักถูกตัดขาด

ฉากการหนีตายถูกเล่าอย่างเมามันในวันที่คืนอันน่าหวาดหวั่นผ่านพ้น หลายชีวิตรอดตายด้วยการเกาะขอนไม้ ถัง ลอยไปกับน้ำ บ้างก็ปีนขึ้นยอดไม้ บ้างหนีขึ้นหลังคาบ้าน และบ้างก็ขับเรือฝ่าเงื้อมเงามัจจุราช ขณะที่อีกนับร้อยชีวิตไม่อาจพาชีวิตถึงฝั่ง

มวลน้ำมากกว่า ๕ พันล้านลูกบาศก์เมตรสร้างความเสียหายแก่บ้านเรือนและครอบครัวชาวลาวกว่า ๖,๐๐๐ หลังคาเรือน จากหกหมู่บ้านของเมืองสะหนามไซ (สนามชัย) แขวงอัตตะปือ

มีรายงานว่าน้ำจากเขื่อนเซเปียนยังทะลักข้ามพรมแดนเข้าท่วมบ้านเรือนในจังหวัดสตึงแตรง ประเทศกัมพูชา ซึ่งอยู่ห่างออกไปราว ๖๔ กิโลเมตร ชาวบ้าน ๒.๕ หมื่นคน ต้องอพยพออกจากพื้นที่ ครัวเรือนกว่า ๑,๐๐๐ หลังคาจมอยู่ใต้น้ำสูงร่วม ๑๑ เมตร “บ่ฮู้ว่ามีเขื่อนเซเปียน” คือคำให้การ ทั้งจากผู้ประสบภัยในชุมชนต้นน้ำและฟากท้ายน้ำที่เข้าพักในศูนย์พักพิงชั่วคราว เมืองสะหนามไซ

บ้านหินลาด บ้านท่าแสงจันทร์ เมืองสะหนามไซ สองหมู่บ้านแรกที่ถูกน้ำถล่ม หลังเหตุภัยพิบัติผ่านไป ๓-๔ วัน ผู้ประสบภัยเริ่มเข้าตรวจสอบความเสียหายและเก็บหาข้าวของเครื่องใช้ที่ยังพอใช้การได้

กิจวัตรยามเช้าในศูนย์พักพิงชั่วคราวที่แออัดท่ามกลางสายฝนที่ตกลงมาจนชื้นแฉะทุก ๆ วัน

ต่อแถวรอรับสิ่งของบรรเทาทุกข์ที่ศูนย์พักพิงชั่วคราว เมืองสะหนามไซ แทบทุกคนมีเพียงเสื้อผ้าคนละหนึ่งชุดเป็นทรัพย์สินเหลือติดตัว

หลังระดับน้ำที่ท่วมเกือบมิดหลังคาบ้านลดลงเหลือไว้เพียงโคลนเลน ผู้ประสบภัยบ้านโคกก่อง เมืองสะหนามไซ เข้าจับสัตว์เลี้ยงที่รอดจากน้ำท่วมบ้านเรือนเพราะเขื่อนแตก

กลุ่มผู้ประสบภัยพิบัติเตรียมขนข้าวของขึ้นเฮลิคอปเตอร์ลำเลียงของทางการลาว ภายหลังจากเส้นทางถนนเข้าจุดเกิดเหตุ
ถูกตัดขาด


ผู้ประสบภัยพิบัติกลุ่มหนึ่งที่อพยพขึ้นไปอยู่บนเขาขนข้าวของเตรียมกลับเข้าตรวจสอบสภาพบ้านเรือน หลังมวลน้ำไหลบ่าผ่านไป

ชาวบ้านหินลาดกลับเข้าหมู่บ้านเพื่อค้นหา เก็บสิ่งของเครื่องใช้ที่ยังหลงเหลือและพอใช้งานได้ เขาแจ้งว่าทรัพย์สินของมีค่า รวมทั้งบ้านเรือนเกือบทั้งหมดหายไปกับกระแสน้ำ


เด็กชาวบ้านหินลาดรองน้ำฝนที่รั่วจากหลังคาอาคารเรียนโรงเรียนบ้านตะมอหยอดที่ใช้เป็นศูนย์พักพิงชั่วคราว

แม่ค้าชาวบ้านโคกก่อง เมืองสะหนามไซ เล่าให้ฟังว่าเพิ่งจะลงสินค้าก่อนเกิดเหตุการณ์เพียงวันเดียว สินค้าสองรถบรรทุกเสียหายเกือบทั้งหมด

ผู้ประสบภัยหลายครอบครัวพักอาศัยร่วมกันภายในอาคารเรียนโรงเรียนบ้านตะมอหยอดที่ทางราชการจัดให้เป็นศูนย์พักพิงชั่วคราว

สองพ่อลูกผู้ประสบภัยชาวเมืองสะหนามไซนำสิ่งของที่ได้รับบริจาคไปเก็บไว้ในเต็นท์ที่พักของครอบครัวที่ทางบริษัท SK Engineering & Construction นำมาจัดตั้งไว้ให้เป็นที่พักพิงชั่วคราวภายในโรงเรียนเมืองสะหนามไซ