เมื่อวันจันทร์ที่ ๒ กันยายน ๒๕๖๒ ชาวตำบลท่าถ่านและตำบลบ้านซ่อง อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ในนาม “กลุ่มรักษ์ท่าถ่าน-บ้านซ่อง” ประมาณห้าสิบคนได้เดินทางมายังกระทรวงอุตสาหกรรม ถนนพระราม ๖ เพื่อยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เรียกร้องให้ตรวจสอบและยกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมสองแห่งในพื้นที่ อ้างว่าทำให้เกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อม
กลุ่มรักษ์ท่าถ่าน-บ้านซ่องอ้างว่าโรงงานทั้งสองเป็นสาเหตุของการปนเปื้อนสารพิษในแหล่งน้ำและพื้นดิน ที่สำคัญคือทำให้บ่อน้ำตื้นที่ใช้ประโยชน์มานานเพื่อการอุปโภคและบริโภคใช้การไม่ได้ เนื่องจากตรวจพบสารพิษเกินค่ามาตรฐาน
ธมนวรรณ วรรณพิรุณ ชาวบ้านโคกหัวข้าว หมู่ 3 ตำบลท่าถ่าน กล่าวว่า “พวกเราร้องเรียนมานานร่วมสองปี ต้องทนรับความล่าช้าของหน่วยงานรัฐที่ไม่กล้าจัดการปิดโรงงาน ถึงแม้จะอ้างว่าสั่งยกเลิกใบอนุญาตแล้ว” พร้อมแสดงเอกสารที่ตั้งใจนำมายื่นถึงรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่าโรงงานแห่งแรกเป็นโรงงานประกอบกิจการรีไซเคิลด้วยวิธีนำของเสียจากอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มาผ่านกรรมวิธีบดย่อย โรงงานแห่งที่สองมีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ๒ โรงงาน คือ กิจการคัดแยกวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่ไม่เป็นของเสียอันตราย และกิจการรีไซเคิลด้วยวิธีนำน้ำมันและตัวทำละลายที่ใช้แล้วมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงทดแทน เชื้อเพลิงผสม รวมถึงนำกรดและด่างที่ใช้แล้วมาผ่านกรรมวิธีทางอุตสาหกรรมเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่
รายละเอียดตามเอกสารยังระบุว่า โรงงานแห่งแรกได้เทกองวัตถุดิบจำพวกสายไฟและเศษอิเล็กทรอนิกส์กลางแจ้งโดยไม่มีสิ่งปกคลุม ต่อท่อระบายน้ำจากบ่อบำบัดน้ำเสียออกนอกบริเวณโรงงาน ขยายโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต และลักลอบประกอบกิจการโดยการจงใจฝ่าฝืนคำสั่งของปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ถึงแม้ว่าทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทราจะมีบันทึกข้อความถึงปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมขอให้ปิดโรงงานนี้ตามมาตรา ๓๙ วรรค ๓ แต่ยังคงไม่ปฏิบัติตาม
ขณะที่โรงงานแห่งที่สองนับตั้งแต่เปิดดำเนินกิจการไม่มีบ่อสังเกตการณ์น้ำใต้ดิน กระทั่งช่วงเดือนธันวาคม ๒๕๖๑ ชาวบ้านทราบว่าอุตสาหกรรมจังหวัดกำหนดให้โรงงานขุดเจาะบ่อสังเกตการณ์และเฝ้าระวังน้ำบาดาล วันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๖๑ มีการเก็บตัวอย่างน้ำในบ่อสังเกตการณ์จำนวน ๓ บ่อไปตรวจวิเคราะห์ โดย ๔ หน่วยงาน ได้แก่ ๑. บริษัทที่ปรึกษาของโรงงาน ๒. สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา ๓. ศูนย์ควบคุมมลพิษระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก จังหวัดระยอง และ ๔. มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH)
ผลการวิเคราะห์สารปนเปื้อนในน้ำใต้ดินของบริษัทที่ปรึกษาไม่พบการปนเปื้อนแต่อย่างใด สวนทางกับอีกสามหน่วยงานพบการปนเปื้อนของโลหะหนักเกินค่ามาตรฐาน ได้แก่ สังกะสี แมงกานิส นิกเกิล สารปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอน
ธมนวรรณให้ความเห็นว่าการตรวจสอบครั้งนี้บ่งชี้ว่าแหล่งน้ำใต้ดินบริเวณโรงงานมีการปนเปื้อนสารพิษ และมีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้น้ำใต้ดินภายนอกโรงงานเกิดการปนเปื้อนตามทิศทางการไหลจากโรงงานไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือซึ่งเป็นพื้นที่อยู่อาศัย หลายครอบครัวยังใช้บ่อน้ำตื้นเพื่อการอุปโภคและบริโภค
เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ซึ่งเดินทางมายื่นหนังสือสนับสนุนข้อเรียกร้องของกลุ่มรักษ์ท่าถ่าน-บ้านซ่อง ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า “มูลนิธิฯ ตรวจพบว่า บ่อน้ำตื้นบ้าน อุไร อนันตภูมิ ตั้งอยู่ห่างจากโรงงานประมาณ ๑๗๐ เมตร มีสารโลหะหนักบางชนิดสูงเกินเกณฑ์มาตรฐาน และมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบของสารปนเปื้อนจากบริเวณโรงงาน สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค ๑๓ (ชลบุรี) ก็ตรวจสอบพบว่า บ่อน้ำตื้นของบ้านอุไรมีสารโลหะหนักหลายชนิดสูงแตกต่างจากบ่อน้ำตื้นของเพื่อนบ้านอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเหล็ก แมงกานีส นิกเกิล แบเรียม
“ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงและมีความเสี่ยงที่จะขยายขอบเขต ทุกวันนี้เจ้าของบ้านไม่สามารถใช้บ่อน้ำตื้นเพื่อการอุปโภคบริโภค ถ้าหากยังปล่อยให้โรงงานประกอบกิจการต่อไป หน่วยงานที่กำกับดูแลและทางโรงงานอาจต้องรับผิดชอบภาระค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูและเยียวยาความเสียหายที่สูงมากในอนาคต”
ทั้งนี้ มูลนิธิบูรณนิเวศ (EARTH) มีข้อเสนอในการแก้ไขปัญหา ได้แก่
๑. ยกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานทั้งสองโรงงาน เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการอนุญาตประกอบกิจการ และก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชน
๒. ในการแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนในแหล่งน้ำใต้ดิน หน่วยงานที่กำกับดูแลควรต้องตรวจสอบการฝังกลบของเสียภายในโรงงาน และตรวจสอบการแพร่กระจายของสารมลพิษเพื่อเร่งจำกัดขอบเขตการปนเปื้อน รวมถึงฟื้นฟูในส่วนที่ควรต้องเร่งฟื้นฟู
๓. ควบคุมการขยายกิจการโรงงานเกี่ยวกับการคัดแยกและการรีไซเคิลของเสียทุกประเภท โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับชาติ ระดับจังหวัด และระดับท้องถิ่น ควบคุมการออกใบอนุญาตให้เหมาะสมและจำกัดการขยายกิจการในพื้นที่ทางการเกษตร แหล่งน้ำสำคัญของท้องถิ่น
ดร.จุลพงษ์ ทวีศรี ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งลงมารับหนังสือและข้อร้องเรียนจากชาวบ้าน ให้ข้อมูลว่าตนเคยลงพื้นที่ตรวจราชการโรงงานทั้งสองแห่ง
“เมื่อวันที่ผมไปตรวจ ผมนำอุตสาหกรรมจังหวัด ๔-๕ จังหวัดไปช่วยกันอายัดถึงสามสองทุ่ม เมื่ออายัดเสร็จแล้วก็สั่งการกับทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทราว่าพวกคุณต้องเข้ามาตรวจบ่อยๆ นะ และเวลาตรวจให้ชวนทางอำเภอมาด้วย การเคลื่อนย้ายสิ่งของที่ถูกอายัดแล้วมีโทษทางอาญา เราติดใบเตือนไว้เรียบร้อย ปรากฏว่ารอบสองที่ไปมีของหายบางส่วน ผมทำการบันทึกไว้เรียบร้อยแล้ว แล้วให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทราไปแจ้งความ อีกแห่งวันที่เข้าไปตรวจไม่มีการทำงาน พอจะเห็นปัญหาคือด้านหลังโรงงานเหมือนเป็นบ่อดิน เอาของเสียใส่ไว้ในบ่อแล้วคงรั่วไหล เรื่องลอบฝังกลบเคยสอบถามก็ได้รับคำตอบว่าไม่ได้ฝัง แต่เอาไปกองไว้ในบ่อดินและเคลื่อนย้ายไปหมดแล้ว”
ทั้งนี้ ดร.จุลพงษ์ ชี้แจงว่ากลุ่มเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาตรวจสอบเหตุการณ์นี้มีหลายหน่วยงาน
“ผมเข้าใจว่าเมื่อไม่นานมานี้ก็เจ้าหน้าที่ไปตรวจอีก ส่วนชาวบ้านที่เดินทางมาวันนี้ต้องการยื่นหนังสือถึงท่านรัฐมนตรีหรือปลัด แต่ไม่มีใครอยู่ ผมขอรับแทนในฐานะหัวหน้าผู้ตรจราชการรับผิดชอบพื้นที่แถบนั้น และได้เชิญกรมโรงงานในฐานะผู้ออกใบอนุญาตมารับฟังปัญหาของทุกท่าน ทั้งนี้การเพิกถอนไม่ใช่ว่าทำไม่ได้ สามารถทำได้ แต่ต้องมีเหตุผลเพียงพอ”
หลังรับหนังสือและข้อร้องเรียนจากชาวบ้านกลุ่มรักษ์ท่าถ่าน-บ้านซ่อง ดร.จุลพงษ์ ชี้แจงว่าจะรวบรวมเหตุการณ์ เพื่อนำเสนอแนวทางแก้ไข และจะมีหนังสือตอบกลับเป็นลำดับต่อไปภายในเวลา ๑ เดือน