ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


ในจักรวาลที่มีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลาง แม้แต่พระอาทิตย์และพระจันทร์ก็ย่อมต้องโคจรรอบเขาพระสุเมรุ

“ไตรภูมิพระร่วง” อธิบายว่า “พระอาทิตย์โดยกว้างได้ ๔๐๐,๐๐๐ วา โดยปริมณฑลรอบได้ ๑,๒๐๐,๐๐๐ วาแล พระจันทร์โดยกว้างได้ ๓๙๒,๐๐๐ วาโดยปริมณฑลรอบได้ ๑,๑๗๖,๐๐๐ วาแล”

พร้อมกันนั้น “ไตรภูมิพระร่วง” กำหนดตำแหน่งแห่งที่ให้พระอาทิตย์พระจันทร์ไว้ด้วย

“แต่แดนกำแพงจักรวาลเถิงเขายุคุนธรหว่างกลางเป็นหนทางพระอาทิตย์แลพระจันทร์ แลพระนวเคราะห์ แลดารากรทั้งหลายแต่งเทียวไปมาในหนทางวิถีให้เรารู้จักว่าปีแลเดือนวันคืน”

หมายถึงว่าพระอาทิตย์พระจันทร์ ตลอดจนดาวเคราะห์ทั้งเก้า (นวเคราะห์/นพเคราะห์) และดาวอื่นๆ มีแนวการโคจรอยู่ระหว่างกำแพงจักรวาลรอบนอก เข้ามาจนถึงแนวเขายุคลธร

และเพื่ออธิบายว่าแล้วเหตุใดพระอาทิตย์แต่ละฤดูจึงมีทิศทางโคจรต่างกัน คัมภีร์จึงขยายความให้ฟัง

“แลมีหนทางอันพระอาทิตย์เดินนั้น ๓ ทาง ให้รู้จักฤดูทั้งหลาย ๓ แล ทางหนึ่งชื่อว่าโคณวิถีแล เมื่อฤดูหนาวพระอาทิตย์เดินฝ่ายกำแพงจักรวาล คือในเดือน ๑๒-๑-๒-๓ อันนี้ชื่ออชวิถีแล เมื่อฤดูร้อนเดินทางกลางคือว่าเดือน ๔-๕-๖-๗ ทางอันหนึ่งชื่อนาควิถีเมื่อฤดูฝนฝ่ายอุดรทิศคือเดือน ๘-๙-๑๐-๑๑”

จิตรกรรมฝาผนังในบางวัดจึงแสดงเส้นทางเดินของพระอาทิตย์ระหว่างสามฤดูไว้ด้วย เป็นแนวเส้นโค้งสามเส้น ทั้งทางซ้ายและทางขวาของเขาพระสุเมรุ

อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ของไทยซึ่งน้อมนำเอาอุดมคติของเขาพระสุเมรุในฐานะแกนหลักของจักรวาลมารื้อฟื้นขึ้นใช้ใหม่อีกครั้ง จึงมียอดสูงสุดคือเจดีย์ทรงปราสาทสีทองอร่าม ประดิษฐานรูปพระสยามเทวาธิราช ตั้งเป็นประธาน ณ แกนกลาง มีสถานะเป็นรูปจำลองของเขาพระสุเมรุ แล้วมีห้องประชุมทางโดมกลมใหญ่ขนาบซ้ายขวา

ห้องประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ตกแต่งภายในด้วยโทนสีเหลืองทอง ได้รับการขนานนามว่า “สุริยัน”

เราจึงคาดเดาได้ไม่ยากว่า ห้องประชุมสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อันเป็นโดมที่ย่อมลง และใช้โทนสีเทาเงิน ย่อมมีชื่อว่า “จันทรา”

การออกแบบสถาปัตยกรรมของรัฐสภาลักษณะนี้จึงเป็นการประกาศแก่ประชาคมโลก ว่าจนกระทั่งในยุคศตวรรษที่ ๒๑ สยามรัฐยังคงถือว่ามีเขาพระสุเมรุเป็นแกนกลางจักรวาล มีพระอาทิตย์พระจันทร์โคจรอยู่โดยรอบ

สมาชิกผู้แทนราษฎรจึงมีสถานะใกล้เคียงกับสมาชิกวุฒิสภา และล้วนเป็นเพียง “ตัวประกอบ” ของฉากอันอลังการยิ่งใหญ่กว่านั้นมากมายนัก