1
ที่ผ่านมาชุมชนบ้านโฉลกหลำ ตำบลเกาะพะงัน อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานีประสบปัญหาเรืออวนลักลอบทำประมงผิดกฎหมาย ทำลายปะการังและแหล่งอนุบาลสัตว์ทะเล
ประเสริฐ คงขน ประมงอำเภอเกาะพะงันสะท้อนว่าสัตว์เล็กหายไปเฉลี่ยวันละ ๑๐ ตัน
“ชาวบ้านจึงทำ‘ซั้งกอ’ บ้างนำ ‘คอนกรีต’ มาทำปะการังเทียม แต่วัสดุเหล่านั้นมีอายุใช้งานสั้น กรมประมงเคยรับซื้อ ‘ซากเรืออวนรุน’ ๑๙ ลำ มาวางใต้ท้องทะเล ปลาที่เคยหายจากถิ่นก็กลับมา แต่ปะการังเทียมที่พวกเราทำก็ยังเล็ก อยากได้โครงสร้างที่ใหญ่คงทน และมีน้ำหนักมากพอจะขวางเรืออวนลากไม่ให้เข้าใกล้ชายฝั่ง”
สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยจึงร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชนจัดทำ “โครงการปะการังเทียมจากโครงสร้างเหล็ก” ช่วยแก้ไขความเดือดร้อนของชุมชนและร่วมฟื้นความอุดมสมบูรณ์แก่ท้องทะเลพะงันตั้งแต่เมื่อ ๖ ปีก่อน (๒๕๕๖)
2
“ปะการังเทียมจากโครงสร้างเหล็ก” ย่อส่วนจำลองรูปลักษณ์ของขาแท่นปิโตรเลียมต้นแบบจำนวน ๔ แท่น ใช้โครงสร้างเหล็กคาร์บอนของใหม่ทั้งหมด และส่งชิ้นส่วนโครงสร้างเหล็กไปตรวจหาค่าการผุกร่อนที่สหรัฐอเมริกาเพื่อรับรองว่าโลหะเหล็กมีอายุใช้งานได้นานนับร้อยปี ไม่ต้องกังวลเรื่องผุกร่อน
ปะการังเทียมวางบริเวณอ่าวโฉลกหลำ ทิศเหนือของเกาะพะงัน ที่ระดับความลึก ๑๘-๒๐ เมตร ห่างชายฝั่ง ๑ กิโลเมตร จัดวางสองจุด จุดละ ๒ แท่น คะเนว่าใช้พื้นที่กว้างเกือบสนามฟุตบอล
“โครงสร้างเหล็กขนาดใหญ่นี้ดักเรืออวนได้ดีมาก ตอบโจทย์ที่ชาวบ้านพยายามทำมาตลอด”
ไพทูล แพนชัยภูมิ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรทางทะเล กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งพอใจเมื่อได้เห็นว่า ๖ ปีที่ผ่านมาเกิดระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์แหล่งใหม่
“พอใต้ท้องน้ำเวิ้งว้างเกิดร่มเงา แพลงก์ตอนมาเกาะ สัตว์หน้าดินอย่างเพรียง หอย ไส้เดือน ปลิง แมลงต่างๆ ก็มา ปลาตัวน้อยมาหากินก็ชักจูงสัตว์ใหญ่ตามมา พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ต่างได้ใช้เป็นที่วางไข่”
สอดรับกับผลศึกษาอ่าวโฉลกหลำของสถาบันคอร์ซี (COREsea) ศูนย์วิจัยและอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลจากเยอรมนีปี ๒๕๖๐ พบปลา ๒๔ ชนิด อย่างปลาโนรา ปลากะพง ปลาเก๋า ปลาอินทรี ปลาหูช้าง ปลาค้างคาว ปลากบ ฯลฯ
3
ไม่ใช่แค่ประมงพื้นบ้านที่ได้ประโยชน์จากความล้นเหลือของทรัพยากรใต้น้ำ
“พะงันเป็นแหล่งดำน้ำอันดับต้นของประเทศ ยิ่งมีปะการังให้ปลามารวมตัวมากยิ่งสร้างศักยภาพท่องเที่ยว เดี๋ยวนี้มีฉลามหรือวาฬบรูด้าผ่านเข้ามาในท้องทะเลเราบ่อยขึ้น หอยมือเสือและเต่าก็เพิ่มจำนวนด้วย”
ภัทรชัย เรืองศรี ประธานกลุ่มดอกไม้ทะเลเพื่อการอนุรักษ์เกาะพะงันสะท้อนข้อดีเมื่อมีสัตว์ทะเลน้อยใหญ่เข้ามาหาถึงถิ่นก็ได้กระจายความยั่งยืนสู่อาชีพอื่นในชุมชน
นอกจากคนตัวโตจะไม่ต้องออกหากินไกลบ้าน คนตัวเล็กก็ได้มีรากฐานชีวิตมั่นคง “เยาวชนที่นี่ได้ทุนให้ฝึกอบรมจากโรงเรียนสอนดำน้ำเพื่อศึกษาเรื่องปะการัง ทำต่อเนื่องมาสองรุ่นแล้ว รุ่นละ ๒๐ คน เพื่อวันหนึ่งเขาจะได้ทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์ท้องถิ่นนำนักท่องเที่ยวชมทรัพยากรงดงามหน้าบ้านตนเอง”
พงศักดิ์ หาญกล้า ผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๗ และประธานคณะกรรมการบริหารจัดการการท่องเที่ยวชุมชนบ้านโฉลกหลำเสริมประโยชน์ของปะการังเทียมจากโครงสร้างเหล็ก
“มาถึงตอนนี้ผมแอบหวังให้บ้านเราเป็นอุทยานใต้ท้องทะเลขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศเลยด้วยซ้ำ”