ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต
“พระอาทิตย์อยู่ในวิมานแก้วผลิกรัตนะ รัศมีพระอาทิตย์ประดุจด้วยวิมานนั้นแล ร้อนยิ่งร้อน…”
ไตรภูมิกถา หรือ ไตรภูมิพระร่วง
ว่าตามความในคัมภีร์ “ไตรภูมิกถา” หรือ “ไตรภูมิพระร่วง” ดูเหมือนว่าแม้พระอาทิตย์จะมีวิถีโคจรไปรอบเขาพระสุเมรุ ผ่านมหาทวีปทั้งสี่ ซึ่งคัมภีร์ใช้เนื้อที่อธิบายเรื่องนี้ยืดยาว แต่ก็มิได้บอกตรงไหนว่าแล้วพระอาทิตย์เดินทางไปอย่างไร ข้อความที่ยกมาข้างต้นก็เหมือนบอกเพียงว่าพระอาทิตย์อาศัยอยู่ในวิมานแก้วผลึก ซึ่งคงลอยไปลอยมา อย่างที่ในภาษาอังกฤษแปลคำว่า “วิมาน” ในภาษาแขกว่าเป็น flying palace (ปราสาทเหาะได้)
แต่เนื่องจากดวงอาทิตย์ในประสบการณ์ของมนุษย์เดินทางเคลื่อนที่ผ่านไปในท้องฟ้า จินตภาพของมนุษย์ตั้งแต่ในอารยธรรมโบราณจึงมักคิดทำนองว่า ท่านคงต้องอาศัยยานพาหนะ คือ “รถ”
พระอาทิตย์ หรือ “สูรยะ” ถือเป็นเทพองค์สำคัญที่พบในศาสนาโบราณทั่วโลก คนมักนับถือว่าพระอาทิตย์คือ “เทพ” คือ “ความสว่าง” และ “ความรู้แจ้ง” ซึ่งมาขับไล่ “ปีศาจ” “ราตรี” และ “ความชั่วร้าย” ออกไป
ในอินเดียโบราณยุคศาสนาพระเวท พระอาทิตย์เป็นเทพเจ้าสูงสุดหนึ่งในสาม ร่วมกับพระอัคนี (ไฟ) และพระอินทร์หรือพระพาย (ลม) ต้นทางของคติเรื่องสุริยเทพนี้คงเข้ามาจากดินแดนทางตะวันตกของอินเดีย เช่นพวกซิเถียนในเปอร์เซีย เทวปฏิมารูปพระอาทิตย์ของอินเดียจึงยังคงรักษารูปร่างลักษณะไว้ตาม “ต้นฉบับ” ดั้งเดิม คือเป็นบุรุษมีหนวดเครา สวมหมวกทรงกรวย ทรงฉลองพระองค์เสื้อคลุมตัวยาวคลุมเข่า พร้อมฉลองพระบาท (รองเท้า) บู้ต
ที่สำคัญคือพระองค์ประทับมาบนรถม้า อันเป็นเทคโนโลยี “สุดล้ำ” แห่งยุค เพราะทั้งการประดิษฐ์ล้อ สร้างเป็นยานพาหนะ แล้วใช้แรงงานสัตว์มาเทียมลากให้มนุษย์เคลื่อนที่ไปโดยไม่ต้องออกแรงเอง ถือเป็น “จุดเปลี่ยน” สำคัญในประวัติศาสตร์อารยธรรมโลก
ที่เมืองโกนาร์ก หรือโกนารัก ในรัฐโอริสสาทางตะวันออกของอินเดีย ยังมีเทวสถานมหึมาของพระอาทิตย์ สร้างขึ้นเมื่อประมาณ ๘๐๐ ปีมาแล้ว (ก่อนสมัยสุโขทัยเล็กน้อย) เรียกในภาษาอังกฤษว่า Sun Temple
เทวสถานองค์นี้ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในมรดกโลก ประดิษฐานรูปพระอาทิตย์เป็นเทพเจ้าประธาน และสร้างให้ตัวเทวาลัยเป็นประดุจราชรถของพระองค์ โดยสลักวงล้อขนาดใหญ่เรียงแถวไว้ด้านละ ๑๒ ล้อ หมายถึงเดือนทั้ง ๑๒ แต่ละล้อมีกำแปดซี่ หมายถึงชั่วยามทั้งแปดในรอบวัน พร้อมกับมีภาพสลักฝูงม้าเจ็ดตัว ซึ่งหมายถึงเจ็ดสีของรุ้ง หรือวันทั้งเจ็ดในสัปดาห์ กำลังชักลากฉุดรถพระอาทิตย์ไว้ทางด้านหน้าด้วย
พระอาทิตย์ตามคติบุรุษมีหนวดเคราขับรถม้ายังถูกส่งผ่านศิลปะอินเดียมาถึงดินแดนประเทศไทยยุคดึกดำบรรพ์ด้วย เราเคยพบรูปพระอาทิตย์แบบนี้ ที่ทำเป็นเทพบุรุษ มีหนวดมีเครา สวมหมวกทรงกระบอก พร้อมเสื้อคลุมตัวยาว หลายองค์ เช่นที่เมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์
น่าเสียดายว่ามีองค์หนึ่งเสด็จไปประทับ ณ พิพิธภัณฑสถานในสหรัฐอเมริกาหลายสิบปีแล้ว แต่คงมิได้ไปด้วยราชรถเทียมม้าตามธรรมเนียม สงสัยว่าอาจทรงโดยสารเครื่องบินแทน