เรื่อง : นัทธ์หทัย วนาเฉลิม
ภาพ : ม.ล.ตรีจักร จิตรพงศ์
ในวันนี้ที่บ้านเมืองเรามีความเจริญทัดเทียมอารยประเทศ จะวิเศษสักแค่ไหนถ้าเราได้มีโอกาสเห็นว่าในยุคบุกเบิกประเทศนั้น ผู้ที่รังสรรค์ให้กรุงเทพฯ งดงามอย่างเมืองสวรรค์นั้นท่านใช้ชีวิตอย่างไร ทำงานอย่างไร จะได้เห็นต้นฉบับภาพร่างลายฝีพระหัตถ์ของท่าน
วันนี้ฉันมีนัดพิเศษที่นั่น “บ้านปลายเนิน”
“บรรยายความตามไท้ เสด็จยาตร ยังไทรโยคประพาสพนาสัณฑ์ น้องเอย เจ้าไม่เคยเห็น
ไม้ไร่หลายพันธุ์ คละขึ้นปะปน ที่ชายชลเขาชะโงกเป็นโกรกธาร น้ำพุพุ่งซ่าน ไหลมาฉาดฉาน
เห็นตระการ มันไหลจอกโครมจอกโครม มันดังจ้อกจ้อก จ้อกจ้อก โครมโครม…”
ทันทีที่เดินเลี้ยวผ่านทางเข้าด้านหน้ามาก็แว่วเสียงเพลงเขมรไทรโยค ท่วงทำนองรื่นหู ทำหน้าที่ต้อนรับเราอย่างอ่อนหวาน
บทเพลงไทยเดิม ๓ ชั้นนี้เป็นพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ท่านเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสูติแต่พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพรรณราย
สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเป็นผู้แตกฉานในงานช่างศิลป์และการประพันธ์ จึงได้รับการถวายสมญานามว่า “นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม” ผู้ที่สนใจศึกษางานช่างศิลป์ให้ความเคารพท่านในฐานะทรงเป็น “สมเด็จครู”
เดิมทรงประทับที่วังท่าพระ จวบเมื่อประชวรด้วยโรคพระหทัยโตและหลอดลมอักเสบเรื้อรัง เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์จึงทูลเชิญให้เสด็จมาพักตากอากาศที่ตำบลคลองเตย เมื่อเสด็จมาแล้วรู้สึกทรงพระสำราญด้วยมีอากาศโปร่งบริสุทธิ์ จึงทรงหาซื้อที่นาริมคลองแปลงหนึ่ง และซื้อเรือนไทยที่เจ้ารื้อขายมาปลูกเป็นตำหนัก แล้วเสร็จเมื่อพุทธศักราช ๒๔๕๗ จึงทรงย้ายจากวังท่าพระมาประทับที่ตำหนัก ณ ตำบลคลองเตย ทรงเรียกตำหนักนี้ว่า “บ้านปลายเนิน”
ปัจจุบันสถาปัตยกรรมที่สำคัญในบ้านปลายเนิน ได้แก่ ตำหนักไทย ตำหนักตึก เรือนคุณย่า เรือนละคร และทางเสด็จพระราชดำเนินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๘ รัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ เคยเสด็จฯ มาทรงเยี่ยม “สมเด็จปู่”
ชันโรง
ความร่มเย็นของพรรณไม้รอบตำหนักไม่อาจช่วยดับความกระหายของฉันที่จะเป็นคนไทยกลุ่มแรกที่ได้เข้าชม “ตำหนักไทย” ภายหลังการปิดบูรณะตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๖๐ ได้เลย แม้ตำหนักไทยจะผ่านงานซ่อมแซมมาบ้าง แต่ครั้งนี้ถือเป็นการซ่อมครั้งใหญ่ในรอบ ๕๐ ปีทีเดียว ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แถมยังมีรายละเอียดปลีกย่อยเยอะแยะไปหมด ราวกับว่าถ้านักเรียนสถาปัตยกรรมไทยคนใดได้มาฝึกงานกับทีมสถาปนิกที่นี่อาจจะได้ประสบการณ์จนสามารถรับใบประกาศนียบัตรจบการศึกษาได้โดยไม่ต้องสอบ
ม.ล.จิตตวดี จิตรพงศ์, ดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน และ ผศ.ฐิติวุฒิ ชัยสวัสดิ์อารี ทีมสถาปนิกอนุรักษ์ เดินนำเราผ่านใต้ถุนตำหนักไทยไปยังมุมที่อยู่ของสมาชิกตัวสำคัญของตำหนัก “รังชันโรง”
ก่อนที่ความสงสัยจะขมวดเป็นปมใหญ่ไปกว่านี้ ดร.ยุวรัตน์ได้ช่วยคลี่คลาย
“แนวความคิดในการซ่อมแซมตำหนักไทย อย่างแรกเลยเราต้องรองรับผู้ใช้เดิม คือ ลูกหลานราชสกุล บุคคลภายนอกที่จะเข้ามาใช้งานสะดวก แต่เรามี user หนึ่งคือชันโรงด้วย สิ่งแรกที่ศึกษาคือดูก่อนว่าเขาอาศัยอยู่มุมไหนของตำหนักบ้าง แล้วถ้าจำเป็นต้องรื้อโครงสร้างออกก็พยายามเอาออกให้น้อยที่สุด ใช้วิธีเก็บรังของเขาไว้ ช่วงแรกอาจตื่นกลัวทิ้งรังหนีไปอยู่ตามต้นไม้ใหญ่รอบๆ แต่ไม่นานก็กลับมาอยู่รังเดิม เราปล่อยให้เขางอกรัง แล้วค่อยปิดให้เหลือทางเข้าทางเดียวในแต่ละจุด”
ทำไมชันโรงตัวเล็กๆ จึงมีความสำคัญกับบ้านปลายเนินขนาดนี้?
ความสงสัยของฉันทำหน้าที่อีกครั้ง และได้รับคำตอบว่า เป็นภูมิปัญญาของช่างไม้โบราณที่แนะนำสืบต่อกันมาว่า ชันโรงสามารถป้องกันบ้านเรือนจากปลวกได้!
ป้องกันได้อย่างไรล่ะนี่? เมื่อสืบค้นให้ลึกขึ้นจึงพบว่าชันโรงสกุล Trigona apicalis และ Trigona collina จะใช้ดินจากรังปลวกมาสร้างรังและอาศัยรังปลวกเก่า รวมทั้งมีนิสัยชอบทำความสะอาด คือจะคาบตัวหนอน ดักแด้ ออกมาทิ้งนอกรัง กลายเป็นอาหารนกอาหารไก่ไป แมลงทั้งสองจึงนับว่าเป็นศัตรูกันโดยธรรมชาติ
หลังคา
ย้อนกลับมาที่ใต้ตำหนักไทยอีกครั้ง ทีมสถาปนิกพาเราเปลี่ยนอิริยาบถไปทางอ่างบัวใต้หน้าต่าง ซึ่งเป็นจุดที่มองเห็นโครงสร้างต่างๆ ของตัวเรือนอย่างชัดเจนทั้งบนและล่าง
คุณยุวรัตน์เริ่มเล่าต่อว่า
“สิ่งแรกที่เข้ามาซ่อมคือหลังคา เป็นปัญหาหลัก มีใบไม้ลงไปอยู่ในรางน้ำ แล้วมันไม่มีทางปีนขึ้นไป เพราะฉะนั้นต้องเอารางน้ำออกให้หมดก่อน แต่ต้องมีส่วนใช้งานเชื่อมระหว่างสามเรือน ต้องคิดวิธีแก้ใหม่โดยทำหลังคาให้แบนที่สุด รับน้ำจากหลังคาเรือนไทยทั้งหมดแล้วให้มันพุ่งออก เพื่อแก้ปัญหาน้ำที่สาดเข้ามา โดยเพิ่มความเหินของหลังคาทั้งหมด”
“จุดที่เห็นชัดที่สุดจะเป็นบันไดหน้า ทุกคนจะถามว่าไม้แผ่นสุดท้ายทำไมถึงไม่อยู่ในระดับลาดเดียวกันกับหลังคา เพราะเวลาที่ฝนตกจะมีลมหอบน้ำที่ตกลงกลับเข้ามาในตัวเรือน เราทำให้เกิดองศางัดขึ้นไปนิดหนึ่ง ทำให้ระยะของน้ำวิ่งออกไปไกลจากตัวเรือนมากขึ้น เป็นของหลักการออกแบบสถาปัตยกรรมไทย” ผศ.ฐิติวุฒิกล่าวเสริมให้เราเห็นภาพชัดขึ้น
ถึงแม้จะหาทางแก้ไขเรื่องหลังคาไว้ถึงขนาดนี้ แต่ก็ใช่ว่าปัญหาจะจบลงโดยง่าย เนื่องจากวัสดุมุงหลังคาเป็นแป้นเกล็ดซึ่งอย่างไรก็มีโอกาสที่น้ำจะซึมเข้าไปได้อยู่แล้ว ทีมสถาปนิกจึงป้องกันด้วยการเจาะรูที่ฝ้าเพดานประมาณหนึ่งคืบ เจาะอันเว้นอันเพื่อให้เป็นรูระบายลดการขังของน้ำบนฝ้า ร่วมกับการใช้เทคนิคแฟลชชิ่ง (flashing) ที่ใช้สังกะสีป้องกันน้ำซึมลงฝ้า
สีส้ม
มีหลายจุดของการซ่อมแซมที่ผู้เข้าชมจะสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน เนื่องจากสีที่แตกต่างจนเห็นได้ชัด
ไม่ใช่ความไม่เนี้ยบของช่าง แต่มาจากแนวคิด “reuse material” ซึ่งเป็นแนวคิดหลักของที่นี่ ที่ทายาทของราชสกุลได้ซ่อมแซมกันมาในแต่ละยุค ทีมสถาปนิกลงความเห็นว่ามันคือความเรียบง่าย จึงนำมาเป็นแนวคิดหลักในการซ่อมแซม เลือกที่จะใช้ไม้เก่า เอาชิ้นส่วนเดิมที่ยังใช้ได้ใส่เข้าไปให้หมด
“เดิมแป้นเกล็ดถูกใช้มาแล้วรอบหนึ่งและโดนพลิกไปแล้วรอบหนึ่งด้วย เพราะฉะนั้นสิ่งที่เป็นของเก่าจริงเราจะเอาไปเก็บไว้บนยอดจั่ว ของใหม่จะไปอยู่ตรงเชิงชาย เพราะว่าความลาดเอียง ที่ชันความเสียหายจากความชื้นของวัสดุจะช้ากว่า แต่ตรงพาไลนั้นเสียหายทั้งหมดแล้ว ก็ต้องเปลี่ยนของใหม่ แล้วเอาของเก่าที่ใช้ได้กลับขึ้นมา” ผศ.ฐิติวุฒิอธิบาย
“พวกแบบที่เข้าฝ้า อย่างไม้มอบฝ้าเอามาจากไม้เก่า เราตั้งใจว่าจะอวดสีผิวไม้สักทองอายุเกิน ๑๐๐ ปี ที่ไม่มีใครเคยเห็น แต่พอขูดสีเก่าที่ทาออกก็พบว่าฝามันไม่เหมือนกันในแต่ละด้าน ปรากฏว่าไม้บางแผ่นมีร่องรอยไฟไหม้ด้วย อย่างที่บอกว่าท่านใช้ฝาเก่ามาปิด
“ส่วนในเรื่องสี ถ้าเป็นเรือนไทยปรกติพวกคิ้วพวกขอบทั้งหมดจะเป็นสีเข้มแล้วตรงหน้าจั่วจะเป็นสีอ่อน แต่หลังจากลองเทียบดูแล้ว ที่นี่ปั้นลมและเชิงชายจะเป็นสีอ่อนกว่า และหน้าจั่วจะเป็นสีเข้ม ซึ่งเป็นภาพที่คุ้นเคยกับสมาชิกในราชสกุลที่เห็นมานานแล้ว เราจึงคิดว่าจำเป็นต้องเก็บไว้ ไม่ต้องกลับไปในยุคแรก แต่จะต้องเล่าเรื่องราวของแต่ละเจเนอเรชันให้ได้
“ส่วนการจะบอกว่าอันไหนเก่าอันไหนใหม่ใช้สีส้มเป็นตัวแยก มาจากสีส้มของหม่อมเจ้ายาใจที่ใช้บูรณะครั้งที่แล้ว เราก็เอาสีนั้นไปเทียบ อย่างผนังอิฐเนี่ยจริงๆ แล้วมีเบเดียว (ช่วงเสาเดียว) ตอนนี้เราเพิ่มเป็นสองเบ (สองช่วงเสา) เราก็ทาสีส้มเพื่อให้แยกได้ว่าจุดที่มีสีส้มทั้งหมดคือจุดที่ปรับปรุงจากของเก่า” ดร.ยุวรัตน์ ชี้ให้เราดูจุดสีส้มสะดุดตา แต่มันกลับเข้ากันได้ดีกับบ้านโบราณอย่างประหลาด
……….
ยังมีลายละเอียดอีกมากที่ใช้เวลาเล่าเพียงวันเดียวคงไม่หมด ทั้งส่วนที่เสร็จไปแล้ว และส่วนที่ทางทีมสถาปนิกตั้งใจว่าจะปล่อยให้ความคิดตกผลึกเสียก่อนค่อยจัดการ อย่างห้องน้ำบนตำหนักไทยซึ่งสวยงามและจัดสัดส่วนได้ล้ำยุคแบบแนวคิดสมัยปัจจุบันได้อย่างน่าอัศจรรย์ในความอริยะของ “สมเด็จครู”
ปัจจุบันบ้านปลายเนินได้รับการบูรณะไปแล้วกว่า ๘๐%แม้จะยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานอย่างเป็นทางการ แต่คุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมของอาคารในพื้นที่ ๑๓ ไร่ ก็เปรียบเทียบได้กับสมบัติของชาติซึ่งหน้าที่ปกป้องดูแลไม่ใช่เพียงราชสกุลจิตรพงศ์แล้ว หากเป็นของคนไทยทุกคน
หมายเหตุ
ปัจจุบัน “บ้านปลายเนิน” เป็นที่อยู่อาศัยของพระทายาทและทายาทในราชสกุลจิตรพงศ์ และยังเป็นสถานที่ตั้งของมูลนิธินริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งจัดตั้งขึ้นสำหรับรางวัลนริศรานุวัดติวงศ์ เพื่อให้เกียรติและสนับสนุนค่าใช้จ่ายแก่นิสิต นักศึกษา และนักเรียนทั่วประเทศ ในการศึกษา เรียนรู้ และวิจัยศิลปะไทยทุกประเภท
บ้านปลายเนินเปิดให้เข้าชมทุกวันที่ ๒๙ เมษายน และมีพิธีมอบรางวัลนริศรานุวัดติวงศ์ในวันเดียวกัน
ขอขอบคุณวิทยากร
- หม่อมราชวงศ์จักรรถ จิตรพงศ์
- หม่อมหลวงจิตตวดี จิตรพงศ์
- หม่อมหลวงตรีจักร จิตรพงศ์
- และทีมงานกิจกรรม WALK WITH THE CLOUD 15
อ้างอิงเอกสารเพิ่มเติม
- พนัญญา พบสุข และ สาวิตรี มาไลยพันธุ์. 2550. ชีววิทยาของชันโรงสกุล Trigona และสกุล Hypotrigona ในโครงการทองผาภูมิ 72 พรรษามหาราช อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี. รายงานการวิจัยในโครงการ BRT. หน้า 327-335.
- หม่อมราชวงศ์จักรรถ จิตรพงศ์. 2547. ก้าวสู่ควอเตอร์สุดท้ายแห่งชีวิต เล่ม 1. 160 หน้า.
- เอกสารประกอบกิจกรรม บ้านปลายเนิน WAKL WITH THE CLOUD 15