สัมภาษณ์และเรียบเรียง : สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ และ อัญชนา อัศวาณิชย์
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
สาวผมบลอนด์ นัยน์ตาสีฟ้า จมูกโด่งรับกับใบหน้าเรียวยาว เธอสวมเชิ้ตแขนสั้นสีน้ำตาล ทอดแขนยื่นมือมาข้างหน้า สายตาอ่อนโยนกำลังมองไปยังชิมแปนซีที่ยื่นมือและแขนอันเต็มไปด้วยขนสีดำกลับมาหาเธอเช่นกัน
นี่คือภาพถ่ายที่ผู้คนทั่วโลกจดจำเกี่ยวกับเธอ – เจน กูดัล (Jane Goodall)
“มองตาฉัน การมองตากันนั้นสำคัญมาก”
ผมได้ยินเสียงเธอเรียก เมื่อการสัมภาษณ์ที่ใช้เวลาราว ๔๐ นาทีผ่านไปอย่างรวดเร็ว
ผมมองเข้าไปในนัยน์ตาสีฟ้าอ่อนของเธอ มันเปล่งประกาย และเต็มไปด้วยพลังชีวิต แม้ใบหน้านั้นจะไม่ใช่สาวในวัยอ่อนเยาว์ดังภาพ แต่เป็นหญิงผมสีเทาในวัย ๘๔ ทว่าความอบอุ่นเป็นมิตร และความมีชีวิตชีวานั้นฉายบนใบหน้าจนลบเลือนร่องรอยแห่งเวลานั้นให้ไร้ความหมาย
ผมไม่แน่ใจว่าเธอเห็นอะไรในนัยน์ตาผม แต่คิดว่าคงไม่ลึกซึ้งเท่าดวงตาของสมาชิกในฝูงชิมแปนซีที่เธอได้ใช้ชีวิตอยู่ด้วยที่เขตสงวนลำธารกอมเบ (Gombe Stream Game Reserve, ปัจจุบันเป็นอุทยานแห่งชาติ) ริมทะเลสาบแทนกานยิกา (Tanganyika) ประเทศแทนซาเนีย
แต่ชิมป์ (คำเรียกสั้นๆ ของชิมแปนซี) ตัวแรกที่เจนรู้จัก คือตุ๊กตาชิมแปนซีที่เธอได้รับเป็นของขวัญตอนอายุหนึ่งขวบ
เจนเติบโตเป็นเด็กที่สนใจใคร่รู้อย่างมากในชีวิตของสัตว์ต่างๆ ครั้งหนึ่งเธอแอบหนีไปเฝ้าดูแม่ไก่วางไข่ หายตัวไปนานถึงห้าชั่วโมงจนพ่อแม่ต้องแจ้งตำรวจให้ช่วยตามหา เมื่ออายุเพียง ๘ ขวบ เด็กสาวชาวเมืองลอนดอนก็ตัดสินใจว่าเมื่อโตขึ้นเธอจะต้องไปแอฟริกาและใช้ชีวิตอยู่กับสัตว์ป่า และแทนที่จะเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย เธอมุ่งมั่นทำงานเก็บเงินสะสมเพื่อทำตามความฝัน จนในที่สุดก็มีโอกาสเดินทางไปประเทศเคนยาในปี ค.ศ. ๑๙๕๗ ได้พบกับ ดร. หลุยส์ ลีกกี (Dr. Louis Leaky) นักมานุษยวิทยาและนักบรรพชีวินวิทยาคนสำคัญของโลกที่สำรวจซากดึกดำบรรพ์ของบรรพบุรุษมนุษย์ในแอฟริกา เขาเป็นผู้มอบโอกาสให้เธอได้เป็นผู้ศึกษาพฤติกรรรมของฝูงชิมแปนซีในปี ค.ศ. ๑๙๖๐ โดยแม่ของเจนซึ่งเป็นผู้ให้กำลังใจเธอมาตลอด ต้องมาพำนักเป็นเพื่อนที่แคมป์ด้วยนานหลายเดือน เพราะไม่เคยมีการอนุญาตให้นักวิจัยผู้หญิงอยู่ในป่าคนเดียวมาก่อนในแทนซาเนีย
เจนออกเดินติดตามฝูงชิมแปนซีตั้งแต่เช้าตรู่ทุกวันเป็นเวลานานกว่าครึ่งปี แต่ทุกครั้งที่พยายามเข้าใกล้ ฝูงชิมแปนซีก็มักหนีเธอไปด้วยความหวาดระแวง จนกระทั่งเย็นวันหนึ่งพวกมันก็เปิดใจยอมรับสิ่งมีชีวิตที่ดูคล้ายกับพวกมัน และนับจากนั้นมิตรภาพของคนกับสัตว์ – เจนกับชิมแปนซี ก็กลายเป็นสิ่งที่คนทั่วโลกให้ความสนใจ เธอบันทึกประสบการณ์ช่วงนี้ไว้ในหนังสือ In the Shadow of Man ซึ่งผู้ที่สนใจยังหาซื้อมาอ่านได้ เพราะเป็นหนังสือที่ได้รับการตีพิมพ์ซ้ำมาอย่างต่อเนื่อง
จากการศึกษาพฤติกรรมชิมแปนซีนานหลายปี เจนพบหลักฐานว่า ไม่ใช่มนุษย์เท่านั้นที่รู้จักใช้เครื่องมือ ชิมแปนซีก็ใช้เครื่องมือง่ายๆ ช่วยจับสัตว์มากินเป็นอาหาร พวกมันยังแสดงอารมณ์ผ่านทางสีหน้าและท่าทาง เลี้ยงดูและแสดงความรักต่อลูกน้อย มีการจัดลำดับชั้นทางสังคมในฝูง ไม่ต่างจากมนุษย์
การค้นพบนี้สั่นสะเทือนความเชื่อเมื่อ ๕๐-๖๐ ปีก่อน ซึ่งเข้าใจกันว่ามีเพียงมนุษย์ที่ครอบครองสติปัญญาและพิเศษกว่าสัตว์ทุกชนิด แต่เจนท้าทายความเชื่อนั้นด้วยความคิดใหม่ว่า สัตว์ก็มีสติปัญญาและมีความสามารถต่างๆ เช่นเดียวกับมนุษย์ เพียงแต่มนุษย์มีดีกรีที่สูงกว่าเท่านั้น
ยิ่งกว่านั้น สาระสำคัญอันทรงพลังจากการที่เจนได้เฝ้าดูชิมแปนซีแต่ละตัว รวมทั้งสุนัขตัวโปรดของเธอชื่อ รัสตี และเป็นสิ่งที่เธอกล่าวย้ำอยู่เสมอคือ
“เราต้องคิดถึงสัตว์ทั้งหลายว่า สัตว์แต่ละตัวมีความเป็นปัจเจก แต่ละตัวมีนิสัยแตกต่างกัน เหมือนกับมนุษย์แต่ละคนที่แตกต่างกัน”
เป็นเวลาหลายสิบปีแล้วในท่ามกลางการทำลายล้างสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติอย่างรุนแรงทั่วโลก เจน กูดัล เดินทางไปในประเทศต่างๆ หลายทวีป เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้มนุษย์อยู่ร่วมกันกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน และให้ความเคารพต่อสิ่งมีชีวิตอื่นอย่างเท่าเทียม เธอจัดทำโปรแกรมที่เรียกว่า Roots&Shoots ส่งเสริมให้เยาวชนในประเทศต่างๆ ดูแลสิ่งแวดล้อม สัตว์ป่า และผู้คน
ด้วยความเคารพในปัจเจก เจนจึงเชื่อมั่นและมีความหวังในพลังของคนแต่ละคน
“แต่ละคนมีความสำคัญ แต่ละคนมีบทบาท และแต่ละคนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลง”
……..
เดือนตุลาคม ๒๕๖๑ เจน กูดัล เดินทางมาประเทศไทยเป็นครั้งแรก เพื่อเข้าร่วมในงานประชุมประจำปีสมาคมสวนสัตว์และอะควาเรียมโลก ครั้งที่ ๗๓ หรือ WAZA 2018 ซึ่งปีนี้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดยองค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ (อสส.)
หลังจากเราสบตากันก็ถึงเวลาที่ผมต้องร่ำลา เจนบอกผมว่า เธอหวังว่าสิ่งที่เธอสื่อสารจะได้รับการเผยแพร่ถึงคนอ่าน
และผมก็หวังว่าจะสามารถส่งมอบเรื่องราวที่เจนเล่าต่อไปนี้ให้เป็นพลังแก่ผู้อ่านแต่ละคนเช่นกัน
ขอขอบคุณ
นายสัตว์แพทย์ บริพัตร ศิริอรุณรัตน์
องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ (อสส.)
ผมอ่านมาว่าคุณบอกว่าความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับชิมแปนซีไม่ใช่เพื่อน แต่เป็นความเคารพที่เท่าเทียมกัน
ใช่ ให้ความเคารพกันและกัน (mutual respect) ถึงแม้ว่าชิมแปนซีบางตัวจะไม่เคารพเราเลยก็ตาม (หัวเราะ) มีตัวหนึ่งชื่อ โฟรโด น่าเสียใจที่ตอนนี้เขาตายไปแล้ว เขาแข็งแรงกว่าฉันสักสิบเท่าได้ เขาหยาบคายกับชิมป์ตัวอื่นด้วยเช่นกัน เขาก้าวร้าว ฉุนเฉียว แต่บางครั้งเขาจะอ่อนโยนมากกับทารก และโปรยเสน่ห์กับสาวๆ แต่โดยปกติแล้วเขาจะก้าวร้าว
สิ่งที่เราพบคือเมื่อชิมแปนซีเพศผู้แยกกันอยู่สักพัก เมื่อมาเจอกันอีกครั้งก็มักจะสู้กันเพื่อหาว่าใครจะอยู่เหนือกว่า และอย่างที่คุณรู้ ฉันเดินทางกลับไปที่กอมเบสองครั้งต่อปีในเวลาสั้นๆ ฉันเจอโฟรโดที่รู้จักกันดีตั้งแต่สมัยที่เขายังเป็นทารก สิ่งที่เขาพยายามทำคือการพิสูจน์ว่าเขาเป็นผู้มีอำนาจเหนือกว่า ฉันบอกว่า โฟรโด ฉันรู้หรอกว่านายมีอำนาจเหนือฉัน ไม่ต้องมาข่มขู่ ชกฉัน ฉุดกระชาก หรือกระทืบเท้าใส่ฉันหรอก แต่เขาก็ยังทำอย่างนั้น แล้วเขาก็ยังคว่ำเจ้าหน้าที่ภาคสนามหลายคนด้วย เขาไม่ได้ทำให้เราบาดเจ็บ เพียงแค่แสดงออกความเหนือกว่าเท่านั้น
มีหลายครั้งที่ช่างภาพวิดีโอกับฉันตกอยู่ในสถานการณ์ที่โฟรโดทำอย่างที่เขามักทำ คือพุ่งเข้ามาชนเราล้ม และเราอาจถูกฆ่าได้ง่ายๆ ถ้าเขาอยากทำ เพราะว่าเราอยู่ตรงริมเหวสูงชัน แต่เขาก็ไม่ได้ทำ
คุณรู้สึกกลัวไหม
ตอนเกิดเหตุ ฉันรู้สึกว่าอย่าทำอย่างนี้น่า ออกจะรู้สึกโกรธมากกว่า แต่หลังจากผ่านไปแล้วก็รู้สึกแข้งขาสั่น เพราะเขาแข็งแรงมาก
เคยได้ยินมาว่าคุณมีปัญหาเรื่องการจดจำใบหน้า
ใช่ แต่ก็ไม่ได้เป็นรุนแรง เมื่อฉันรู้จักใครแล้วฉันก็จะจำเขาได้ เหมือนกับที่จำพวกชิมป์ได้ แต่บางคนจดจำใบหน้าไม่ได้เลย (face blindness) แม้แต่เพื่อนสนิท ฉันไม่ได้เป็นหนักขนาดนั้น แต่ตอนที่ฉันพบชิมแปนซีและพยายามจดจำพวกมันแต่ละตัว ฉันก็ต้องใช้เวลามากกว่าการจำหน้าคน
แล้วคุณสร้างความสัมพันธ์กับชิมแปนซีได้อย่างไร
โดยอยู่เงียบๆ โดยสวมเสื้อสีเดิมทุกวัน และโดยไม่พยายามเข้าใกล้เขาเร็วเกินไป พวกเขาก็ค่อยๆ เข้าใจว่า ฉันไม่เป็นอันตรายต่อพวกเขา ในตอนแรกพวกมันไม่ทำอะไรเลยนอกจากวิ่งหนี ซึ่งเป็นเรื่องน่าหดหู่และเป็นอยู่นานเลยทีเดียว
ชิมแปนซีที่ชื่อ “เดวิด เกรย์เบียร์ด” (David Greybeard) เป็นตัวแรกที่ต้อนรับคุณ
เดวิด เกรย์เบียร์ด เป็นตัวแรกที่ก้าวข้ามความกลัว เขาเดินเข้ามาที่ต้นปาล์มในแคมป์ของฉัน จริงๆ ฉันว่าเขาคงเคยมาก่อนหน้านั้นแล้ว คนครัวบอกฉันเมื่อกลับมาแคมป์ในตอนเย็นว่า มีชิมแปนซีตัวผู้มากินผลไม้ที่ต้นนั้น พรุ่งนี้ก็คงมาอีก วันต่อมาฉันเลยอยู่ที่แคมป์เพื่อรอเขา แทนที่จะเดินขึ้นภูเขาตอนหกโมงเช้าเหมือนทุกวัน แล้ว เดวิด เกรย์เบียร์ด ก็เดินมา ฉันจำเขาได้ทันที เพราะว่าเขามีเคราสีขาว
วันหนึ่งเขาพบกล้วยของฉัน แล้วเขาก็มาเด็ดไป ดังนั้นเมื่อฮิวโก (Hugo Van Lawick) จากเนชั่นแนลจีโอกราฟิก มาถ่ายรูป และเขากำลังสิ้นหวังเพราะการถ่ายรูปในป่ายากมาก เราก็เลยเอากล้วยออกมาเพื่อดึงดูดเหล่าชิมป์ให้มาที่แคมป์ ซึ่งถ้าเป็นเดี๋ยวนี้ เราจะไม่ทำ เพราะมันเป็นการรบกวนพฤติกรรมปรกติของพวกชิมป์ แต่เพราะฉันสนใจพฤติกรรมของสัตว์แต่ละตัวเสมอ ฉันเหมือนแม่ที่สนใจเฝ้าดูว่าในสถานการณ์เดียวกันนั้น ชิมป์แต่ละตัวมีพฤติกรรมที่แตกต่างกันอย่างไร
ตอนนั้นพวกเราไม่ตระหนักด้วยซ้ำว่าชิมป์สามารถติดเชื้อโรคจากเราด้วย ไม่มีใครรู้เลยว่า ดีเอ็นเอของเรากับชิมป์นั้นคล้ายกันมาก แตกต่างกันแค่ร้อยละ ๑.๘ เท่านั้น อีก ๙๘.๒ เหมือนกัน
คุณคิดว่าความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูก เป็นความสัมพันธ์ที่พิเศษและสำคัญสำหรับสิ่งมีชีวิต
แน่นอนที่สุด สำคัญมากๆ ฉันเป็นฉันทุกวันนี้ได้เพราะแม่ แม่เป็นคนสนับสนุนฉันทั้งนั้น ทั้งความรักของฉันที่มีต่อสัตว์ และความฝันที่จะไปแอฟริกา และเราก็พบความสำคัญของความสัมพันธ์นี้ในชิมแปนซีด้วย ถ้าย้อนดูประวัติของตัวผู้ที่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดในลำดับชั้นทางสังคม จะมีแม่ที่คอยสนับสนุนเสมอ ตัวเมียที่มีความเป็นแม่ที่ดีที่สุดจะให้การสนับสนุนลูกของเธอดีที่สุด
คุณบอกว่าสัตว์มีความเป็นปัจเจก คุณหมายถึงสัตว์ทุกๆ ชนิดเลยหรือ
ใช่ มนุษย์แต่ละคนเป็นปัจเจกใช่ไหม ทุกๆ คนมีความคิด มีพฤติกรรมที่แตกต่างกัน สัตว์ก็เหมือนกันเลย
แม้แต่ นก แมลง แต่ละตัวก็มีความเป็นปัจเจกด้วยหรือ
ใช่ แม้แต่แมลง คนที่ศึกษาแมลงเขาก็บอกเช่นนั้น แม้จะไม่ง่ายนักในการศึกษา แต่เราก็พบว่ามดบางตัวมีลักษณะแตกต่างจากตัวอื่น เช่น ก้าวร้าวดุร้ายกว่าตัวอื่น หรือมดคนละสายพันธุ์ (traits) ก็มีลักษณะเฉพาะต่างกัน แต่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและนกจะเห็นชัดเจนกว่า
สัตว์ทุกตัวมีความปัจเจก มีความพิเศษ มีเอกลักษณ์ของแต่ละตัวแตกต่างกันไป
คุณคิดไหมว่าสักวันหนึ่งเราจะคุยกับสัตว์รู้เรื่อง และสื่อสารกันได้
อืม ฉันก็ไม่ได้คิดถึงขั้นนั้น ชิมป์เรียนรู้ภาษากายได้ และเรียนรู้คำมากมาย นกแก้วก็เช่นกัน ฉันรู้จักนกแก้วตัวหนึ่งที่รู้ศัพท์มากถึง ๑,๕๐๐ คำ นี่เป็นการนับคำจากคำที่มันใช้อย่างเป็นธรรมชาติและถูกต้องตามบริบทด้วย
นกแก้วตัวนี้ชื่อคิซซี่ ผู้หญิงชื่อ จูเวล่า ได้นกมาเลี้ยงตอนที่มันอายุ ๔ เดือน ปรกติเธอเป็นคนรักนกแก้วมาก ที่จริงเราไม่ควรเลี้ยงนกแก้วแบบสัตว์เลี้ยง ไม่ควรเลย แต่เธอได้นกแก้วมาเลี้ยงเมื่อ ๘ ปีที่แล้ว เธอบอกกับตัวเองว่าเมื่อคุณเลี้ยงเด็กทารก เราจะไม่สอนเด็กโดยหยิบหนังสือขึ้นมาให้เด็กดู มองหน้าเด็กแล้วพูดว่า “หนังสือ” และถ้าเด็กพูดตามได้ว่า “หนังสือ” เราก็ให้รางวัล เราไม่ทำแบบนั้นกับเด็กทารก เพราะฉะนั้นเราก็ไม่ควรทำเช่นนั้นกับนกแก้ว เธอก็เลยคุยกับเขาแทน
เมื่อตอนที่นกตัวนี้ยังเล็กอายุ ๔-๕ ปี เขาชอบของเล่นไฟฟ้าและชอบวิ่งไล่มันบนพื้น แล้วเขาก็มีบอร์ดคำที่เมื่อเลือกอักษร A ก็จะมีเสียงว่า apple เธอบอกว่ามันช่วยทำให้เขาเรียนรู้ได้เร็วขึ้น และเขาก็สนุกด้วย เธอจะทิ้งบอร์ดนี้ไว้บนพื้น วันหนึ่งเอมีซึ่งเป็นเพื่อนกับจูเวล่า เธอชอบสัตว์มาก เธอช่วยกิ้งก่ายักษ์มาจากร้านขายสัตว์ แต่มันก็ตาย เธอเป็นคนที่มีจิตใจอ่อนโยนมาก เธอใส่มันในกล่องเพื่อเตรียมฝัง จุดเทียน แล้วเธอก็ร้องไห้ คิซซี่ก็เข้ามามองดูว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วก็พูดว่า “ลองเปลี่ยนถ่านดูสิ” คุณเห็นไหมว่าเกิดอะไรขึ้น คิซซี่พูดกับเธอได้
ตอนที่ฉันอยากไปเจอนกแก้วน่ามหัศจรรย์ตัวนี้ เขาเอารูปฉันและวิดีโอของฉันให้คิซซี่ดูก่อนฉันไป และเมื่อฉันเดินเข้าประตูไปก็รู้สึกงุนงงเล็กน้อย เพราะกรงที่เป็นบ้านของคิซซี่ใหญ่มากๆ แต่เขาคงไม่ชอบอยู่ในนั้นเท่าไร เขาจึงไปเกาะอยู่ตรงบนสุดของกรง ฉันแหงนหน้ามองเขาและพูดว่า “โอ คิซซี่ ฉันได้ยินเรื่องของเธอมากมาย ดีใจจังที่ได้พบเธอ” และเจ้านกน้อยตัวนี้ก็มองลงมา และพูดว่า “นั่นคือเจน เธออยู่กับชิมป์” คุณเห็นไหม เรื่องเหลือเชื่อแบบนี้ละที่เขาถึงผู้คน
ในแอฟริกาใต้มีผู้หญิงคนหนึ่ง เธอเป็นศิลปิน เธอมักช่วยชีวิตสัตว์จากฟาร์ม เธอมีเขตอนุรักษ์สัตว์เล็กๆ และเธอช่วยชีวิตหมูไว้ตัวหนึ่ง แล้วเธอก็พบว่าเจ้าหมูนี้หลงใหลการวาดรูป วันหนึ่งเธอตั้งกระดานวาดรูปแล้วให้แปรงจุ่มสีกับเจ้าหมู เจ้าหมูตรงดิ่งไปที่กระดาษ และเริ่มวาดรูป เธอขายภาพนี้ได้ในราคา ๕๐๐ ดอลลาร์ คุณลองกูเกิลคำว่า Pigcasso หาวิดีโอดูสิ มันเอาปากคาบแปรงจุ่มสี และระบายสีบนกระดาษจนสีหมด แล้ววิ่งกลับไปจุ่มสีใหม่ มันรักการวาดรูปมากๆ
เวลาฉันเล่าเรื่องนี้จะมีคนเข้ามาพูดกับฉันว่า “เจน ฉันเกลียดเธอจริงๆ เธอทำให้ฉันกินเบคอนไม่ได้อีกแล้ว” (หัวเราะ) ใช่ นี่ก็เป็นความตั้งใจของฉันอย่างหนึ่ง
คุณเคยพูดว่าเราควรจะเลิกประหลาดใจเสียทีกับความชาญฉลาดของสัตว์
มีหนูป่ายักษ์ในแทนซาเนีย พวกมันมีจมูกดมกลิ่นยอดเยี่ยมมาก มีผู้ชายคนหนึ่งที่ฉันรู้จัก เขาเป็นชาวเบลเยี่ยมที่นับถือศาสนาพุทธ เขามีความคิดจะฝึกหนูพวกนี้ เขาฝึกให้พวกมันดมกลิ่นค้นหากับระเบิดที่ฝังอยู่ใต้ดิน แม้ว่ามันจะถูกฝังอยู่ลึกมาก เขาใช้ชิ้นส่วนของจริงและฝึกมัน เมื่อหาเจอก็จะให้รางวัลเล็กๆ
ตอนนี้มันถูกฝึกให้ค้นหาสัญญาณเริ่มต้นของวัณโรคในคน และยังถูกฝึกให้ค้นหางาช้าง นอแรด เกล็ดตัวนิ่ม พวกมันได้เปรียบกว่าหมาเพราะมันมุดเข้าไปในพื้นที่เล็กๆ ได้ เราสามารถฝึกพวกหนูเหล่านี้ มันสะอาดและก็ฉลาดอย่างที่สุดด้วย
ผู้คนมักนำสุนัขไปทดสอบความฉลาด โดยสุนัขต้องเชื่อฟังทำตามคำสั่งหรือภาษาท่าทาง ให้มันปีนสิ่งกีดขวางขึ้นไปแล้วลงอีกด้าน ขึ้นสิ่งกีดขวางอีกอัน เดินวนรอบเสา ลอดอุโมงค์ และต้องทำทุกอย่างตามลำดับให้ถูกต้องด้วย หนูเรียนรู้ได้เร็วกว่าสุนัขนะ มีผู้ชายคนหนึ่งเขามีหนูหกตัว ทุกตัวทำอย่างนี้ได้หมดเลย มันน่ามหัศจรรย์มากตอนที่เฝ้าดูพวกมัน
คุณคิดว่าสัตว์มีจิตวิญญาณไหม
โดยส่วนตัวแล้วฉันคิดว่าสิ่งมีชีวิตทุกชีวิต มี “ประกาย” (spark) เล็กๆ ฉันก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะเรียกว่าอะไร แต่ส่วนตัวฉันเองมีความเชื่ออย่างแรงกล้าในเรื่องพลังแห่งจิตวิญญาน (spiritual power) ฉันได้ความเข้มแข็งจากสิ่งนี้ และเพราะว่าเรามีคำเรียกสิ่งต่างๆ เราอาจเรียกมันว่า ประกาย หรือวิญญาณ (soul) ก็ได้ ถ้าเช่นนั้น ฉันคิดว่าสัตว์ก็มีวิญญาณเหมือนกัน
คุณหมายความว่าอย่างไรที่บอกว่าได้ความเข้มแข็งจากพลังแห่งจิตวิญญาน
บางครั้งฉันรู้สึกเหนื่อยล้ามากๆ และไม่สามารถทำอะไรต่อได้ บางครั้งที่รู้สึกว่าหมดเรี่ยวแรงอย่างสิ้นเชิง เช่นหลังจากฉันได้ตั้งใจกล่าวเล็กเชอร์ที่ดีที่สุดจนฉันหมดแรง ฉันจะทำให้ใจว่างเปล่า แล้วฉันจะรู้สึกเหมือนมีพลังความเข้มแข็งเข้ามาในตัวฉัน
นี่เหมือนการทำสมาธิไหม
ไม่ ฉันไม่ทำสมาธิ แต่มันเหมือนกับเวลาที่คุณเดินเข้าไปในป่า ความจริงฉันรักทุกแห่งที่เป็นธรรมชาติ แต่สถานที่ที่พิเศษสุดสำหรับฉันคือป่า ฉันรักป่า ฉันรักที่จะอยู่ในป่าคนเดียว ป่าเหมือนกับบ้านแห่งจิตวิญญานของฉัน
ตอนนี้ผู้คนกำลังออกห่างจากธรรมชาติ คุณจะบอกพวกเขา หรือให้คำแนะนำอย่างไรให้เขากลับสู่ธรรมชาติ
เราต้องเริ่มต้นใหม่กับเด็ก โปรแกรม Roots&Shoots ของเราสนับสนุนให้เด็กๆ ออกไปหาธรรมชาติ จะเป็นสวนเล็กๆ ก็ได้ หรือถ้าเป็นไปไม่ได้ในเมือง คุณก็อาจเพียงนำต้นไม้เข้ามาในห้องเรียน พวกเขาจะได้เฝ้ามองเมล็ดเล็กๆ ค่อยๆ เติบโต ออกดอก หรืออาจเป็นอาหารที่พวกเขากินได้ เพื่อนำพาเขาให้เข้าใกล้ธรรมชาติมากขึ้น
โปรแกรม Roots&Shoots มีจุดประสงค์เพื่อช่วยคน ช่วยสัตว์ และช่วยสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้นเด็กๆ จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมด้วยการปลูกพืชต่างๆ หรือเรียนรู้เรื่องก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ พวกเขาเลือกทำโครงการของตัวเองตั้งแต่เขายังเป็นเด็กเล็กๆ
มันน่าตื่นเต้นมากที่ได้เห็นว่าเยาวชนทำอะไรได้บ้าง ยิ่งเราสร้างความร่วมมือกัน ทุกอย่างก็จะยิ่งดีขึ้น เราไม่ควรทำสิ่งต่างๆ โดยลำพัง เราต้องเดินไปด้วยกัน รวมพลังเป็นหนึ่งเดียวกัน (solidarity)
คุณใช้คำว่า Roots&Shoots มันมีความหมายอย่างไร
ลองจินตนาการดู (เจนหันไปชี้ให้เรามองดูตึกสูงนอกหน้าต่าง) อาคารทั้งหลายสร้างด้วยซีเมนต์เหล่านี้ น่าขยะแขยงมาก (หัวเราะ) ถ้าเรานั่งอยู่ที่นี่เมื่อหลายสิบปีก่อน ตอนนั้นอาจจะยังไม่มีอาคารเหล่านี้สักหลัง ตรงบริเวณนี้คงมีแต่ต้นไม้ที่สวยงาม มีนก มีผึ้ง มีผีเสื้อ แล้วดูเดี๋ยวนี้สิ มีแต่คอนกรีต
ถ้าเราย้อนเวลากลับไปได้ เราอาจจะได้เห็นต้นไม้ใหญ่เริ่มต้นชีวิตของมันจากเมล็ดพืชเล็กๆ และเมื่อมันโตขึ้นก็เริ่มมีรากเล็กๆ แทงลงดิน แล้วก็มีต้นอ่อนเล็กๆ ชูยอดขึ้น ถ้าคุณหยิบมันขึ้นมาดูก็จะเห็นว่ามันบอบบางและอ่อนแอ
แต่สำหรับฉัน มันมีเวทมนตร์อยู่ในเมล็ดพืชนั้น
มันคือพลังชีวิต (life force) เป็นพลังที่มีอำนาจมาก รากจะค่อยๆ ยืดยาวพยายามลงไปหาน้ำ ถ้าเจอหินก็จะผลักให้พ้นทาง ส่วนต้นอ่อนก็พยายามยืดตัวเข้าหาดวงอาทิตย์ มันอาจแทรกตัวผ่านรอยแยกของก้อนอิฐและทำให้อิฐพังลงมา ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นก้อนหิน โลก และปัญหาต่างๆ ที่มนุษย์เราสร้างขึ้น ไม่เฉพาะต่อสิ่งแวดล้อม หรือสังคม โปรแกรม Roots&Shoots ซึ่งมีโครงการเป็นแสนโครงการทั่วโลกก็คล้ายกับรากและต้นอ่อนของเยาวชนทั่วโลกที่กำลังสร้างสิ่งใหม่ๆ เพื่อฟันฝ่าอุปสรรคและสร้างโลกที่ดีกว่าสำหรับทุกคน
นี่คือสัญลักษณ์เบื้องหลังของคำว่า Roots&Shoots ฉันชอบนัยที่ซ่อนอยู่นี้อย่างมาก
เมื่อตอนที่คุณเริ่มโปรแกรมนี้ มีความยากลำบากใดๆ บ้างไหม
ไม่เลย ทุกอย่างดำเนินไปได้อย่างดี มีเด็กมัธยมศึกษาตอนปลาย ๑๒ คนจากแปดโรงเรียนในแทนซาเนีย พวกเขากังวลว่าทำไมรัฐบาลถึงให้มีการล่าสัตว์ป่า ทำไมรัฐไม่ทำอะไรกับการใช้ระเบิดจับปลาซึ่งเป็นสิ่งผิดกฎหมายและทำลายแนวปะการัง ทำไมมีการใช้ความรุนแรงกับสุนัขและแมวตามท้องถนน ทำไมจึงมีเด็กไร้บ้านจำนวนมากแต่กลับไม่มีใครใส่ใจ พวกเขามีความกังวลมากมาย ฉันก็เลยบอกพวกเขาว่าไปลองหาเพื่อนๆ ที่เป็นห่วงเรื่องเหล่านี้เหมือนกัน แล้วเราจะมารวมตัวกันดูว่าจะทำอะไร
ในตอนเริ่มต้นเราใช้ชื่อว่า Jane Goodall’s Young Naturalist สาระสำคัญที่เราต้องการบอกตั้งแต่แรกเลย คือแต่ละคนล้วนมีบทบาทของตัวเอง แม้ว่าเขาอาจจะยังไม่รู้ว่าบทบาทนั้นคืออะไร
คนทุกคนมีความสำคัญ และคนหนึ่งคนต่างสร้างผลกระทบบางอย่างให้แก่โลกในทุกๆ วัน
ถ้าเพียงแต่เราจะคิดถึงผลกระทบที่ตามมา แม้จะเป็นแค่สิ่งเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับสิ่งที่เราเลือก เราซื้ออะไร เรากินอะไร เราสวมใส่อะไร เรามีปฏิสัมพันธ์ต่อคนอื่นๆ และต่อสิ่งแวดล้อม เราพยายามมีชีวิตที่จะทิ้งรอยเท้าแก่สิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด
ดังนั้นตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ เราตกลงใจว่าให้เด็กแต่ละกลุ่มเลือกโครงงานของเขาเอง เราจะไม่สั่งว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ พวกเขาจะเลือกโครงงานที่ตนเองหลงใหลหรือสนใจอย่างลึกซึ้ง มีกฎข้อเดียวคือทุกกลุ่มต้องทำทั้งหมดสามโครงงาน แบ่งเป็นโครงงานเพื่อช่วยคนอื่น ช่วยสัตว์ และช่วยสิ่งแวดล้อม
ตอนนี้มีโปรแกรม Roots&Shoots อยู่ใน ๘๐ ประเทศแล้ว เด็กอนุบาลหรือแม้แต่เด็กก่อนวัยเรียนก็สามารถเลือกโครงงานของเขาได้ พวกเขาเป็นเด็กเล็กๆ ที่รักสัตว์ และใส่ใจในผู้คน เรามีกลุ่มอยู่ ๑๕๐,๐๐๐ กลุ่มที่กำลังทำโครงงานอยู่ และก็มีกลุ่มที่ทำงานจนจบโครงงานแล้ว พวกเขาได้รับปรัชญาการเรียนรู้ที่จะมีชีวิตกลมกลืนกับธรรมชาติ เรียนรู้ที่จะเคารพซึ่งกันและกัน และเคารพสิ่งมีชีวิตอื่นๆ นั่นคือปรัชญาของเรา
ตอนนี้เยาวชนเหล่านี้เริ่มก้าวออกไปเป็นครู เจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น รัฐมนตรีกระทรวงด้านสัตว์ป่าของแทนซาเนียเมื่อตอนเด็กเคยอยู่ในโครงการ Roots&Shoots รัฐมนตรีกระทรวงด้านสัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อมของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกก็เคยเป็น Roots&Shoots ในเมืองจีนมีคนเดินเข้ามาทักและบอกฉันว่าสาเหตุที่เขาใส่ใจกับสิ่งแวดล้อมและรักสัตว์ เพราะได้ร่วมโครงการ Roots&Shoots ตั้งแต่เมื่อสมัยที่เขาเรียนชั้นประถมศึกษา
เป้าหมายของเรา คือเยาวชนทั่วโลกที่มีจำนวนมากพอที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง และเป็นเยาวชนที่มีความเข้าใจว่า แน่ล่ะ เราต้องการเงินเพื่อมีชีวิตอยู่ แต่สิ่งที่มันเริ่มผิดเพี้ยน คือการคิดว่าเรามีชีวิตอยู่เพื่อหาเงิน
มีเหตุผลเดียวที่ดีพอในการมีชีวิตเพื่อหาเงิน คือเพราะเราต้องใช้เงินเพื่อทำให้โลกดีขึ้น และอย่าลืมแบ่งมาให้โครงการของฉันบ้างล่ะ (หัวเราะ) เพราะเราต้องดูแลเขตรักษาพันธุ์ชิมแปนซีขนาดใหญ่สองแห่งในแอฟริกา เรามีโครงการคืนถิ่นที่อยู่อาศัยของชิมแปนซีในเจ็ดประเทศของแอฟริกา และเรายังทำ Roots&Shoots ด้วย ดังนั้นเราจึงต้องการเงินสนับสนุน
โครงการทั้งหมดสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองหรือเปล่า
สถาบันเจนกูดัลมีอยู่ใน ๓๔ ประเทศ ที่ใหญ่ที่สุดอยู่ในสหรัฐอเมริกา รองลงมาที่แคนาดา แล้วก็จีน ในแต่ละประเทศเขาจะหาทุนสนับสนุนของตัวเอง แต่ตอนนี้เรามี Jane Goodall Institute Global ที่กำลังหาเงินสนับสนุนเพื่อจ้างพนักงานกลุ่มเล็กๆ มาทำงานเพื่อให้แน่ใจว่าสถาบันเจนกูดัล และโครงการ Roots&Shoots ในที่ต่างๆ ยังคงดำเนินงานตามจุดมุ่งหมาย และไม่ขัดกับปรัชญาของเรา
คุณคิดว่าอะไรที่ทำให้มนุษย์มีเอกลักษณ์ต่างจากสัตว์ชนิดอื่น
ฉันคิดว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้เรามีเอกลักษณ์ คือการระเบิดของพัฒนาการทางสติปัญญาของมนุษย์ ลองดูชิมแปนซี มันเป็นสัตว์ที่ใกล้เคียงกับเรามากที่สุด พวกมันฉลาดมาก ใช้คอมพิวเตอร์ทำอะไรได้หลายอย่าง เรียนภาษากายหรือภาษามือได้ (sign language) แต่พวกมันยังไม่ได้พัฒนาวิธีการสื่อสาร แต่เราสามารถสื่อสารกันด้วยคำพูด และด้วยคำพูดทำให้เราพูดถึงอดีต สอนเด็กๆ ของเรา ส่งต่อสิ่งต่างๆ ให้เขา แต่ชิมป์เด็กๆ นั้นเรียนรู้จากการดูตัวอย่างและการเลียนแบบเท่านั้น
แล้วจากภาษาพูดก็มาสู่ภาษาเขียน ซึ่งเปิดวิถีใหม่ของการเรียนรู้ ด้วยภาษาเราสามารถแลกเปลี่ยนกับคนอื่นๆ ที่มีความรู้ต่างกัน สามารถถกเถียงปัญหา และพยายามหาคำตอบ ฉันคิดว่าสิ่งนี้ทำให้เราสามารถขยายขอบเขตของสติปัญญา
เราส่งจรวดไปดาวอังคารได้ มีหุ่นยนต์ตัวเล็กๆ ถ่ายรูปกลับมา แต่ถ้าคุณเห็นรูปพวกนั้น คุณก็คงไม่อยากไปอยู่บนดาวอังคารแน่ ความพิลึกพิลั่นคือสัตว์ที่ฉลาดที่สุดที่เคยอยู่บนดาวดวงนั้น กลับทำลายบ้านหลังเดียวของพวกเขาเอง พวกเราก็เช่นกัน เรามีดาวเคราะห์ที่ล้ำค่า แต่เรากลับทำลายโลกของเราอย่างรวดเร็ว เพราะประชากรมนุษย์ที่เพิ่มมากขึ้น เราใช้ชีวิตแบบไม่ยั่งยืน และก็เพราะความยากจนด้วย
ถ้าคุณจนมากๆ คุณก็อาจตัดต้นไม้ต้นสุดท้ายเพื่อเอาที่ดินมาเพาะปลูก หรือหาเงินจากการตัดต้นไม้ทำถ่าน แล้วลองนึกภาพว่า ถ้าคุณอยู่ในชนบทและจนมากๆ คุณก็ต้องหาซื้ออาหารถูกที่สุด เสื้อผ้าถูกที่สุดเพื่อจะมีชีวิตรอด คุณไม่อาจเลือกว่าสิ่งเหล่านั้นมาจากไหน ทำร้ายสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ทำลายสัตว์อื่นๆ หรือไม่ ของนี่ราคาถูกเพราะใช้แรงงานเยี่ยงทาสหรือเปล่า คุณต้องซื้อของถูกที่สุดเพื่อจะยังชีพอยู่ให้ได้ ดังนั้นเพื่อจะกำจัดความยากจน เราต้องเปลี่ยนวิธีคิดของเรา
คุณกล้าบอกตัวเองอย่างซื่อสัตย์ได้ไหมว่า คุณไม่มีของเกินกว่าความจำเป็น
ฉันเองไม่กล้าพูดเช่นนั้น เพราะฉันมีของมากกว่าที่ฉันจำเป็นต้องมี คนบางคนที่อยู่ระดับบนของสังคม มีรถยนต์สามคัน เครื่องบินส่วนตัว เรือยอร์ช วิถีชีวิตแบบนี้ไม่ยั่งยืน
เมื่อคนจำนวนมากเป็นห่วงเรื่องการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลก เขากังวลเรื่องการสูญเสียผืนป่า กังวลเรื่องการสร้างมลภาวะให้มหาสมุทร แต่สิ่งที่คนส่วนใหญ่ลืมไป คือการสร้างผลกระทบอย่างมหันต์ต่อสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ขนาดใหญ่ เพราะเมื่อมีคนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ต้องกินเนื้อสัตว์มากขึ้นเรื่อยๆ เกิดการล่าสัตว์ป่าเพื่อการค้า เกิดฟาร์มโรงงานเลี้ยงสัตว์ และเพื่อจะเลี้ยงสัตว์นับพันล้านตัว เราจึงต้องทำลายสภาพแวดล้อมเพื่อเพาะปลูกธัญพืช
คุณรู้ไหมว่าทุกวันนี้เราปลูกธัญพืชและถั่วเหลืองมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อเลี้ยงสัตว์ มากกว่าเพื่อมนุษย์เราเสียอีก เราใช้พื้นที่มหาศาลเพื่อปลูกธัญพืชสำหรับเลี้ยงสัตว์ แล้วสัตว์ก็ไปสู่โรงฆ่าสัตว์ จากนั้นเนื้อก็อยู่บนโต๊ะอาหาร มันเป็นกระบวนการที่ทำให้สูญเสียน้ำปริมาณมหาศาลเพื่อเปลี่ยนจากผักเป็นโปรตีนเนื้อสัตว์ ทุกคนรู้ดีว่าการเลี้ยงวัวยังปล่อยมีเทนมหาศาลสู่สิ่งแวดล้อม
นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้คุณเป็นมังสวิรัติใช่ไหม
ใช่ ทันทีที่ฉันได้รู้เรื่องการเลี้ยงสัตว์อย่างเข้มข้น ได้รู้เรื่องความโหดร้าย ฉันรู้สึกช็อก และตัดสินใจเป็นมังสวิรัติ เพราะเมื่อฉันมองที่จานอาหาร ฉันคิดว่าเนื้อชิ้นนี้คือสัญลักษณ์ของ (พูดเน้นทีละคำ)
ความกลัว
ความเจ็บปวด
และความตาย
ฉันไม่ต้องการกิน ความกลัว ความเจ็บปวด และความตาย นั่นเป็นช่วงสิ้นทศวรรษที่ ๖๐ ประมาณปี ๑๙๖๘-๖๙ ฉันได้อ่านหนังสือเรื่อง การปลดแอกของสัตว์ (Animal Liberation) ทำให้ฉันเรียนรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ และเมื่อตอนที่ฉันไปถึงกอมเบก็เริ่มมีการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ไปทุกหนทุกแห่ง
คุณเดินทางไปมาหลายประเทศทั่วโลก คุณคิดว่าอะไรเป็นปัญหาระดับวิกฤติของทุกประเทศ
ทุกๆ ประเทศกำลังทำลายสิ่งแวดล้อมของประเทศตัวเอง บางประเทศมีปัญหาด้านการเมืองอย่างรุนแรง บางครั้งการทำลายเกิดขึ้นอย่างหนักหน่วง เพราะนักการเมืองอยากเอาใจอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ มากกว่าคิดจะใช้พลังงานสะอาด
เราทำอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ เราทำลายสิ่งแวดล้อม เพราะความละโมบของเรา เราสูญเสีย เรามีปัญหาความรุนแรงทั้งต่อธรรมชาติและต่อคน เช่น การค้าเด็ก การทารุณสัตว์ เราปลูกพืชด้วยยาพิษและสารเคมี และเราก็แปลกใจว่าเราพบเด็กจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่มีปัญหาทางจิต
ปัญหาในประเทศพัฒนา ด้อยพัฒนา หรือกำลังพัฒนา แตกต่างกันไหม
บางประเทศที่เรียกตัวเองว่าประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา คณะรัฐมนตรีของทรัมป์เพิ่งลงมติเพิ่มค่าการปล่อยสารปรอท คุณรู้ใช่ไหมว่าสารปรอทอันตรายแค่ไหนถ้ามันรั่วไหล โดยเฉพาะกับเด็กๆ มันจึงต้องมีกฎหมายที่เข้มงวดมากๆ ว่าปริมาณเท่าไรของขยะปรอทที่ปล่อยออกมาได้ แต่ตอนนี้ทรัมป์เพิ่มค่านี้ให้สูงขึ้น
เรารู้ว่าการเผาถ่านหินก่อให้เกิดปัญหาการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่เขา (ทรัมป์) ก็เพิ่งเปิดเหมืองถ่านหินใหม่
สหราชอาณาจักรกำลังขุดเจาะก๊าซแนวนอนซึ่งสร้างมลภาวะให้พื้นดินและแหล่งน้ำ ทำให้คนเป็นโรคหอบหืด และยังมีเรื่องของจีเอ็มโอ (GMO) ซึ่งมีอันตรายสูงมาก มอนซานโตถูกฟ้องร้องและแพ้คดี ซึ่งไม่มีใครคิดเลยว่าจะเป็นไปได้
นี่คงเป็นคำถามสุดท้าย อะไรคือความลับของคุณที่ทำให้มีพลังทำงานอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าคุณจะอายุเท่านี้แล้ว
เหตุผลที่ทำให้ฉันยังคงทำงานไหว ก็เพราะฉันทำงานวันต่อวัน ทำให้จบในแต่ละวัน
อย่างที่สองคือ การที่เราอายุมากขึ้น เราก็ยิ่งเข้าใกล้วาระสุดท้าย ใน ๑๐ ปี ๒๐ ปี หรืออาจเป็นแค่ ๕ ปี ไม่มีใครรู้ได้ แต่เพราะฉันกำลังจะ ๘๕ แล้ว ฉันจึงเข้าใกล้จุดนั้นมาก ไม่นับเรื่องเครื่องบินตกตอนที่ฉันอายุ ๒๐ ดังนั้นฉันต้องรีบทำล่ะ และเหตุผลที่ฉันทำ ก็เพราะเมื่อฉันพูด ซึ่งส่วนมากเกี่ยวกับเหตุผลที่เราควรมี “ความหวัง” และมันช่วยเปลี่ยนความคิดของคน ทำให้ฉันยิ่งต้องรีบทำให้เร็วขึ้นๆ เพราะยังมีหลายประเทศ หลายสถานที่ และผู้คนอีกมากที่ฉันอยากไปพบและปลูกฝังโปรแกรม Roots&Shoots
มีอะไรที่ทำให้ฉันทำงานต่อไปได้อีกหรือ
พลังแห่งจิตวิญญาณนั่นละที่ช่วยฉัน และก็ความจริงว่าสิ่งที่ฉันทำนั้นก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
มันเหมือนเป็นพันธกิจที่ฉันเกิดมาในโลกนี้เพื่อทำสิ่งที่ทำอยู่
ทุกๆ ก้าวตลอดทางที่เดินมา การตัดสินใจทุกๆ ครั้ง ซึ่งฉันคิดว่าตัดสินใจถูกต้องโดยไม่ได้รู้ล่วงหน้า การตัดสินใจทำนี่ทำนั่นล้วนสร้างความก้าวหน้าขึ้นทีละขั้นให้ฉันเป็นอย่างที่เป็นอยู่ตรงนี้ในวันนี้
คุณคิดว่านี่เป็นโชคชะตาของคุณหรือเปล่า
ใช่ มันเป็นโชคชะตาของฉัน
เด็กๆ ถามว่าอะไรเป็นการผจญภัยครั้งต่อไปของคุณ ฉันตอบว่า การตายไง เพราะเมื่อคุณตายก็กลายเป็นความว่างเปล่า หรืออาจจะเป็นอย่างอื่นก็ได้
ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร มันคงจะเป็นการผจญภัยที่น่าอัศจรรย์จริงๆ