เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
“ผมเกิดที่กรุงย่างกุ้งเมื่อปี ค.ศ.๑๙๘๑ สมัยนั้นย่างกุ้งยังเป็นเมืองหลวง พม่าตอนนั้นปกครองด้วยระบบเผด็จการ มีพรรคโครงการสังคมนิยมพม่า (Burma Socialist Programme Party-BSPP) ครองอำนาจ คุณพ่อผมเป็นวิศวกร คุณแม่ทำงานในวิทยาลัยแพทย์ โดยพื้นฐานครอบครัวเราเป็นคนชั้นกลางที่มีจำนวนน้อยในพม่า และแทบไม่มีปัจจัยที่จะทำให้สนใจการเมืองเลยผมรู้จักการเมืองครั้งแรกตอนเรียนเกรด ๒ (ประถมศึกษาปีที่ ๒) เมื่อได้เห็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ ๘๘๘๘ (การเดินขบวนต่อต้านเผด็จการทหารพม่าซึ่งถึงจุดสูงสุดในวันที่ ๘ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๘๘) คือมีคนจำนวนมากออกมาบนท้องถนน ด้วยความที่ที่ทำงานแม่กับโรงเรียนผมอยู่ติดกันและห่างจากบ้านแค่สามป้ายรถประจำทาง เราไม่ได้เห็นการนองเลือด แต่ที่ผมจำได้ดีที่สุดคือวันที่ ๒๖ สิงหาคม ผมตามผู้ใหญ่ไปฟังอองซานซูจีกล่าวปราศรัยกับฝูงชนใกล้กับเจดีย์ชเวดากอง
“ หลังเหตุการณ์ ๘๘๘๘ ที่มีการปราบปรามประชาชน รัฐบาลทหารปิดโรงเรียนทุกแห่งในพม่าประมาณ ๑ ปี ช่วงนั้นผมย้ายไปอยู่บ้านปู่ทางด้านเหนือของย่างกุ้ง ป้าผมที่อยู่ที่นั่นเป็นคนชอบอ่านหนังสือเลยมีตู้หนังสือใหญ่มาก ผมได้อ่านหนังสือหลายประเภท เช่น ชีวประวัติ วรรณกรรมคลาสสิกของพม่า ผมเห็นปู่เล่นการเมืองท้องถิ่นด้วย
“ตอนเรียนมหาวิทยาลัยผมเรียนเกี่ยวกับภาษาและวรรณคดีพม่าในระบบที่คล้ายๆ กับการศึกษาทางไกลในเมืองไทย เพราะรัฐบาลทหารจัดการย้ายการศึกษาระดับปริญญาตรีออกนอกตัวเมือง สร้างมหาวิทยาลัยไว้นอกเมืองส่วนมากต้องข้ามแม่น้ำหลายสายไปนี่เป็นนโยบายในการควบคุมพลังนักศึกษาของรัฐ ที่ผมเรียนเป็นระบบศึกษาทางไกลเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Yangon University of Distance Education (YUDE) อาศัยสถานที่ที่มหาวิทยาลัยดากอน (Dagon University) เช่าไว้อีกทีหนึ่งเพื่อเปิดชั้นเรียนรวมขนาดใหญ่เวลาใกล้สอบนอกนั้นคือการมอบหมายงานและให้อ่านหนังสือด้วยตัวเอง ทุกปีจะมีการเรียนทั้งหมดสองรุ่น รุ่นละหกเดือน จำได้ว่าวันสอบวันสุดท้ายมีคนสอบพร้อมกันเป็นแสนๆ คนตามสถานที่ต่างๆ รัฐบาลควบคุมอย่างเข้มงวดด้วยการจัดรถบรรทุกคล้ายรถสองแถวมารับไปกลับ กิจกรรมตอนเรียนมหาวิทยาลัยมีอย่างเดียวคือการไหว้ครู นอกนั้นผมไปเรียนภาษาอังกฤษที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ดำเนินการ ความตั้งใจตอนนั้นคืออยากเป็นครู
“พอเรียนจบก็ออกมาทำงานกับเอ็นจีโอที่รณรงค์เรื่องเกี่ยวกับโรคเอดส์ในลักษณะของการฝึกงาน หลังจากนั้นก็ร่วมเป็นทีมงานก่อตั้งหนังสือพิมพ์ The Voiceทีมก่อตั้งมีสายสัมพันธ์อันดีกับคนในรัฐบาลทหาร ผมทราบดีถึงข้อจำกัดในการนำเสนอข่าวที่ต้องผ่านระบบเซ็นเซอร์ ตอนนั้นคิดกันว่าอย่างน้อยจะหาทางใช้สิทธิพิเศษบางอย่างเปลี่ยนวิธีคิดของรัฐบาลทหารบ้าง หลายครั้งที่ต้องเขียนข่าวอ้อมๆ เช่น รายงานเรื่องราคาเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่สูงขึ้น เพราะคนย่างกุ้งขาดแคลนไฟฟ้ามาก ตลาดเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในย่างกุ้งจึงสะท้อนอะไรหลายอย่างเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานของรัฐหรือการรายงานว่ามีการปิดกั้นฟรีอีเมลอย่างgmailในปี ๒๐๐๓ นี่คือการพูดถึงประเด็นที่ละเอียดอ่อนอย่างอ้อมๆ เพื่อลุ้นให้ผ่านการเซ็นเซอร์โดยทางกอง บก. จะต้องเตรียมข่าวสำรองไว้ประมาณร้อยละ ๑๐ ของข่าวที่ลงในวันนั้น
“โอกาสที่จะผ่านเซ็นเซอร์นั้นมีเพราะมีแค่ระดับหัวหน้าที่ขึ้นตรงกับทหาร แต่เจ้าหน้าที่ส่วนมากยังเป็นพลเรือน หลายเรื่องพวกเขาก็ปล่อยให้เราส่งสารสู่สาธารณะได้ แต่ก็มีบางครั้งที่ต้องแก้ใหม่ทั้งหมดจนเกิดความเสียหายมาก
“ผมทำงานที่นั่นปีเดียว หลังจากนั้นได้ทุนมาเรียนรัฐศาสตร์หลักสูตรนานาชาติที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี ๒๐๐๕ ในเมืองไทยผมพบนักกิจกรรมพม่าที่มาลี้ภัยหลายคน ส่วนหัวข้อที่ผมทำในระดับปริญญาโทก็เกี่ยวกับท่าทีของสหภาพยุโรปในการช่วยเหลือผู้อพยพลี้ภัยจากพม่าและนโยบายต่อพม่า ชีวิตในเมืองไทยของผมเป็นไปด้วยดี ทราบดีว่ามีคนไทยหลายคนไม่ชอบพม่าเพราะเรื่องเสียกรุงในปี ๑๗๖๗ (๒๓๑๐) เรื่องนี้ อูนุ อดีตนายกรัฐมนตรีของพม่าเคยขอโทษและพยายามเยียวยาแล้วครั้งหนึ่ง ส่วนตัวผมคิดว่าเสียใจมากกว่าที่เรื่องแบบนี้ยังทำให้คนไทยกับพม่าไม่เข้าใจกัน เรื่องนี้ก็ยังมีครั้งหนึ่งที่นักเขียนพม่าเขียนเกี่ยวกับพระนเรศวรและวิจารณ์ไทยทำให้สถานเอกอัครราชทูตไทยไม่พอใจมาก
“หลังจากนั้นผมเป็นนักวิจัยอิสระอยู่สามปี ไปเยี่ยมแม่ที่มาเลเซีย ไปเรียนหลักสูตรระยะสั้นในเยอรมนีพักหนึ่ง ก่อนกลับมาเรียนปริญญาเอกที่บรูไนแต่ปรากฏว่าอาจารย์ที่ปรึกษาโดนข้อหาเป็นสายลับต่างชาติ การเรียนที่นั่นจึงต้องล้มเลิกไป ตอนนี้ผมเรียนปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore-NUS) เรื่องที่ทำวิทยานิพนธ์อยู่คือ Xenophobic Nationalism(ชาตินิยมที่อาศัยความเกลียดกลัวคนต่างชาติ) ผมพยายามหาที่มาและการทำงานของระบบคิดนี้ในพม่า
“ไม่ว่าจะเป็นกรณีของโรฮิงญา การจับกุมนักข่าว ฯลฯ แสดงให้เห็นว่าประชาธิปไตยที่แท้จริงยังไม่เกิดขึ้นในพม่า ไม่ปฏิเสธว่าหลายอย่างดีขึ้น ผมไม่ต้องลบข้อมูลในฮาร์ดดิสก์หรือทำลายเอกสารบางอย่างเมื่อต้องกลับบ้าน หรือสามารถคุยกันเรื่องการเมืองในที่สาธารณะได้แต่ในภาพรวมเราก็ยังมองไม่เห็นอนาคต บางทีผมเสนอเรื่องการอยู่ร่วมกับชาวโรฮิงญาอย่างสันติกลับถูกกล่าวหาว่าเป็นมุสลิมก็มี ผมคิดว่าพม่าพ้นช่วงเวลาที่จะทำให้คนหลากเผ่าพันธุ์มองคนอื่นในฐานะพลเมืองชาติเดียวกันมานานแล้วและเรากำลังถอยหลังมากขึ้น ไม่ต้องกล่าวถึงองค์กรอย่างอาเซียนที่แทบทำอะไรไม่ได้ และจริงๆ ผมเองก็ตั้งคำถามกับระบบสหพันธรัฐว่าจะช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งกับชนกลุ่มน้อยได้จริงหรือไม่เพราะระบบคิดของแกนนำชนกลุ่มน้อยบางกลุ่มในพม่าก็ยังคงเน้นการสืบทอดอำนาจผ่านสายตระกูลไม่ว่าพวกเขาจะได้รับการศึกษาสูงแค่ไหน สำหรับผม อย่างไรก็ดี ผมอยากเห็นพม่าเป็นประเทศพัฒนาแล้วและมีสันติภาพ จะเป็นสหพันธรัฐหรือไม่ก็ไม่เป็นไร”
* นักศึกษาปริญญาเอก ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์