เรื่อง :ณัชชานันท์ กล้าหาญ
ภาพ : ธาดา วาริช และณัชชานันท์ กล้าหาญ

จริงๆ แล้วอินโทรบทสัมภาษณ์ของ จอร์จ ธาดา วารีช ช่างภาพแฟชั่นที่ทำงานอยู่ในวงการมากกว่า ๒๐ ปีไม่ควรจะเขียนอะไรเลย แค่เอาภาพที่เขาถ่ายมาเรียงสลับกัน เรียงมั่วเรียงซั่ว ไม่ต้องจัดเป็นไทมไลน์ตามยุคที่ใช้กล้องฟิล์มจนถึงยุคดิจิทัลก็ยังได้

“หยิบมาดูได้ สวยทุกเล่ม โคตรเท่ โคตรชอบเลย” ห้องสี่เหลี่ยมบนชั้นสองของบ้าน ผนังทั้งแถบเป็นชั้นหนังสือ นิตยสาร และหนังสือแฟชั่น มีทั้ง Purple, The Face, Dutch, Numéro ฯลฯ ธาดาบอกยิ้มๆ ว่านี่คือส่วนที่คัดมาแล้ว แต่ก่อนมีเป็นคลัง หรือแม้แต่ผลงานเซ็ตแฟชั่นที่เคยถ่ายลงนิตยสารยุคก่อนๆ ในสตูดิโอก็ยังเก็บไว้ไม่หมด เขาหยิบนิตยสาร Mars ยุคแรกที่ถ่ายพลอย เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์ โพสต์ท่าเซอร์ๆ นั่งนอนในอิริยาบถที่ดูขัดกับวัฒนธรรมประเพณีไทยแล้วพูดแซวตัวเองขำๆ ทำนองว่า เออ ก็ทำไปได้นะตอนนั้น

นั่นอาจไม่ใช่ความกบฏ แต่เป็นทิศทางแปลกใหม่ที่ช่างภาพได้เรียนรู้และเล่นสนุกกับความคิดสร้างสรรค์ที่มีต่อการมองศิลปะในยุคที่นิตยสาร “อันเดอร์กราวน์” เมืองนอกก็มีให้เห็นบ้างแล้ว

ธาดาเข้าทำงานเป็นช่างภาพแฟชั่นครั้งแรกที่หนังสือวัยรุ่นชื่อ Angel ในเครือของนิตยสาร Image เจาะกลุ่มเป้าหมายคลื่นลูกใหม่ทั้งหลายในวงการ “พูดง่ายๆ ยุคนี้ก็คือ BNK48 ยุคนั้นเราเจออนันดาตั้งแต่อายุ ๑๒ ปี” หลังจากนั้น ๔ ปีเขาก็ไปเรียนต่อด้านภาษาที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ค้นหา ถ่ายภาพ บ้าพลัง สนุกสนานกับการถ่ายแฟชั่นนางแบบฝรั่งจนเก็บเป็นพอร์ตฟอลิโออยู่ ๓ ปีก็กลับมาทำงานที่เมืองไทย

ธาดา วารีช จึงเป็นเจนเนอเรชั่นที่ทำงานอยู่ระหว่างเทศกาลบอลลูนของนิตยสารแฟชั่นลอยเต็มฟ้า มาจนถึงเวลาที่บอลลูนเหล่านั้นทยอยลับหายออกไปทีละหัวสองหัว

การทำงานเป็นช่างภาพในนิตยสารแฟชั่นเดี๋ยวนี้กดถ่ายแล้วมาดูจอมอนิเตอร์ แต่ก่อนไม่ใช่ใช่ไหม
ไม่ใช่เลย สมมุติว่าถ่ายแฟชั่น ๑๐ หน้า มีฟิล์มใหญ่ให้มา ๒๐ ม้วน ซึ่งยิงได้แค่ ๑๐-๑๒ รูปแค่นั้น แต่ว่าแมกกาซีนช็อตหนึ่งที่เห็นใช้ฟิล์ม ๒ ม้วน ไม่เกิน ๒๔ รูป ก็คือไม่เกิน ๒๔ คลิกต้องได้ ๑ หน้า ดังนั้นเรื่องของงบประมาณทางหนังสือก็เกี่ยว คุณมี ๒๔ เฟรมให้กดแล้วได้รูปลงหนังสือ ๑ รูป หรือถ้า ๑๐ หน้าก็คือ ๒๔๐ เฟรม นั่นคือมากที่สุดที่คุณจะกดได้ ถ้าคุณใช้เกินหนังสือก็เจ๊ง เวลาเทสต์รูปต้องใช้โพลารอยด์ ก็มีให้แค่ ๑-๒ กล่องต่อเซ็ต ถ้าเป็นเด็กอย่างเราก็กล่องเดียว นั่นคือลิมิตจริงๆ เพราะฉะนั้นลิมิตพวกนี้ทำให้ช่างภาพยุคนั้นแม่นยำมาก ไม่ใช่ยุคนี้ที่ถ่ายเสียเทเสีย

ยุคที่ยังถ่ายด้วยกล้องฟิล์มอาจยากกว่า แต่เป็นข้อได้เปรียบใช่ไหม
ได้เปรียบสูงมาก เพราะว่าช่างภาพทุกวันนี้เขายิงแล้วดูที่มอนิเตอร์ว่าสวยไหม แต่ช่างภาพในสมัยก่อนเขาพอรู้อยู่แล้วว่าภาพจะออกมาเป็นยังไง รับรู้ไปก่อนแล้ว ๘๐-๙๐% บางรูปอาจ ๑๐๐% ด้วยซ้ำก่อนที่จะส่งฟิล์มล้าง

เรฟเฟอเรนซ์การถ่ายภาพในยุคนั้นคืออะไร
คิดภาพชีวิตที่ไม่มีกูเกิลสิ ยุคนั้นก็หาจากแมกกาซีน ต้องไปนั่งเฝ้ากันที่ร้าน Asia book รอว่าวันนี้จะมากี่เล่ม หัวไหนบ้าง จ่ายเงินค่าหนังสือนอกเยอะมากเพราะเราไม่มีทางเลือก นี่เป็นช่องทางเดียวที่จะรู้ว่าตอนนี้ทางยุโรปแฟชั่นเขาเป็นยังไง เมื่อเราชอบงานศิลปะก็ชอบฟังเพลงด้วย ยุคนั้นก็ต้องไปนั่งเฝ้าตามร้านซีดี กลายเป็นว่าทุกอย่างเสียตังค์หมดเพราะมันคือการซื้อเรฟเฟอเรนซ์น่ะ แล้วยุคนั้นคนหวงหนังสือมาก แมกกาซีนนอกราคา ๕๐๐- ๘๐๐ บาทซึ่งแพงมากนะ ใครมีหนังสือเยอะกว่าก็ได้เปรียบ

ภาพ : ณัชชานันท์ กล้าหาญ

 

นิตยสารแฟชั่นไทยในยุคนั้นอิงเทรนด์กับฝั่งยุโรปไหม
ก็นำเทรนด์มาปรับเปลี่ยน แล้วแต่ว่าคนจะชอบแบบไหน แต่ยุคนั้นยังถ่ายนางแบบนายแบบฝรั่งไม่ค่อยเยอะเท่าไหร่ ส่วนใหญ่เป็นคนไทย ยังมีดารานางแบบน้อย ตอนนั้นใครเป็นดาราก็จะดังไปเลย

เทรนด์มีผลอยู่แล้วแต่ไม่ได้ส่งผลภาพรวมชัดเจน ในแต่ละปีก็มีคนชอบไม่เหมือนกัน ต่อให้เทรนด์ดิบๆ คนที่ชอบความเนี้ยบก็จะชอบความเนี้ยบอยู่ดี อย่าง Image ช่วงที่บูมเราก็ยังไม่เข้าวงการ ตอนนั้นน่าจะเป็นแมกกาซีนเบอร์หนึ่งเลย คือไซส์ใหญ่สุดแล้วก็สวยทุกเล่ม เหมือนเป็นแนวทางใหม่ทั้งในเชิงภาพและคอนเทนต์

นิตยสารแฟชั่นให้ความสำคัญกับสัดส่วนของภาพมากน้อยแค่ไหน
มาก มากกว่าคอนเทนต์ ถือว่าภาพสำคัญมากเลย บางคนซื้อเพราะภาพ ยุคนี้เราเองก็ไม่รู้จะพูดยังไงนะ แมกกาซีนมีอยู่ไม่กี่เล่ม (หัวเราะ) คนเขาไม่ดูแมกกาซีนแล้วมั้ง กระเป๋าแอร์เมสยังซื้อออนไลน์กันเลย นับประสาอะไรจะไปแผงหนังสือ

หลังจากไปเรียนถายภาพที่นิวยอร์กกลับมา ก็เปลี่ยนแนวการถ่ายภาพไปสมบูรณ์แบบเลยไหม
กลับจากนิวยอร์กก็ไม่ได้ทำงานที่ Image แล้ว ตัดสินใจเป็นฟรีแลนซ์ สังคมแฟชั่นแมกกาซีนก็เปลี่ยนไป ล้ำสมัยขึ้น ยุคนั้นประเทศไทยเศรษฐกิจดีด้วยทำให้ทุกอย่างดีขึ้นในทุกวงการ ทุกคนทำตามใจฉัน เป็นยุคที่สะใจมาก เราก็ยังชอบงานช่างภาพไทยยุคนั้นมาก

ที่ว่าล้ำสมัยกว่าคืออย่างไร
มีความหลากหลายขึ้น ภาพดูอินเตอร์เนชันนัลมากขึ้น คือเนื้องานอาจไม่สามารถบอกได้แล้วว่าช่างภาพไทยหรือฝรั่งถ่าย สมมุติว่าอยากได้ภาพแบบนี้ (ปกแมกกาซีนนอกที่มีผู้ชายนอนเท่ๆ อยู่บนโซฟา) ช่างภาพไทยบางคนก็ถ่ายออกมาได้แบบนี้เลยนะ มีทั้งคนที่ชอบดิจิทัล เซอร์ๆ เนี้ยบๆ แบบ Vogue พอเริ่มมีแนวทางหลากหลายมากขึ้นเลยสนุก แล้วช่างภาพแต่ละคนก็เก่งๆ กันทั้งนั้น จากที่เขาเก่งกันอยู่แล้ว ในช่วงที่เศรษฐกิจดีอิสระในการทำงานก็มากขึ้นเยอะ เป็นช่วงแรกที่งานดิบๆ เซอร์ๆ เริ่มออกมาในตลาดประเทศไทย

ตัวเราก็สนุกมากขึ้นสิ ยิ่งเพิ่งกลับจากนิวยอร์กที่เป็นแหล่งรวมศิลปะด้วย
ใช่ เราโชคดีเรื่องจังหวะและเวลาที่ได้ทำงานในแนวที่ชอบพอดี ยุคนั้นถ่ายมันกว่า คือในความเข้าใจของโลก ยุคหนึ่งแฟชั่นจะต้องมาแนวทางเรียบร้อย ดูมีแพทเทิร์น ยังไม่มีใครนำเสนอลักษณะแบบดิบๆ เซอร์ๆ จนวันหนึ่งมีแนวภาพที่ฉีกออกไปแล้วคนเรียกว่าแบบนี้คืองานแฟชั่น (แบบพอร์เทรต เบลอ นัวร์ ภาพไม่ต้องคมชัด องค์ประกอบรูปไม่ต้องเป๊ะ ฟรีฟอร์ม) เราต้องคิดตามว่ามันไม่เคยมีมาก่อน แล้วก็มีคนทะลึ่งขึ้นมาทำ คนแรกเลยคือช่างภาพแฟชั่นชื่อเทอร์รี ริชาร์ดสัน ชาวอเมริกันที่ประกาศตัวว่านี่แหละแฟชั่น แล้วมันก็มีอิทธิพลกับเราซึ่งทำงานถ่ายภาพอยู่ในยุคนั้นพอดี

ภาพ : ณัชชานันท์ กล้าหาญ

ความดิบ เซอร์ที่เราเชื่อว่าสวยงามมีประเด็นที่ต้องต่อสู้กับวัฒนธรรมไทยบ้างไหม
มีๆๆ รูปเราลงไทยรัฐหน้าหนึ่งบ่อยตอนนั้น แง่ไม่ดี (หัวเราะ) ลงเยอะมาก ต้องทำความเข้าใจก่อนว่ายุคก่อนยังไม่มีงานดิบๆ เข้ามาจริงๆ

งั้นถ้าช่างภาพอยากถ่ายแนวนี้แต่ติดประเด็นเรื่องทางวัฒนธรรมสังคมก็ไปต่อยากหรือเปล่า
ไปต่อได้นะเพราะเราก็ดื้อทำ ตอนนั้นรูปเราลงไทยรัฐเลย เขียนว่าน้องดาราคนนี้เมายา คือน้องใส่กางเกงขาสั้นคล้ายๆ บ็อกเซอร์ เสื้อยืดห่วยๆ พิงกำแพงแล้วเอาผมปรกหน้า ไม่ได้โป๊เลย เพียงแต่กิริยามันขัดกับภาพจำคนไทยในสมัยนั้น น้องเขาเพิ่งเข้าวงการ เป็นนักร้องของค่ายแกรมมี่ด้วย เราก็ไปจับเขามาถ่ายในลักษณะนั้นเพราะคิดว่ามันคืองานของนักแสดง แต่เรายังเคารพขีดจำกัดของกฎหมายไทยนะ เพราะเราอยู่หนังสือแฟชั่น รู้ว่าลิมิตอยู่ที่ไหน รูปนั้นยังไม่ถึงครึ่งของลิมิตเลยเพราะมันไม่มีอะไร ปิดมิดชิดหมด ไม่มีสายเดี่ยวอะไรเลย เราอาจเป็นคนดิบๆ อยู่แล้วโดยสันดาน ถ้าถ่ายเหมือนเดิมๆ ก็รู้สึกว่าไม่ได้ไปไหนเลย แต่เราเห็นความงามของทรงผมไม่ได้เซ็ตแบบนี้

ซึ่งเซ็ตเหล่านี้ก็ลงนิตยสารด้วย
ลง ลงหมดเลย แล้วบางทีไม่ไว้หน้าบางเล่ม โดนแบลคลิสต์บ้างก็มีเพราะความดื้อของเรา นิตยสารหัวใหญ่จะมีคอนเซ็ปต์ของหนังสืออยู่แล้ว เราไม่มีสิทธิเปลี่ยน แต่เราดันถ่ายแบบนี้ แล้วก็มั่นใจด้วยนะ (หัวเราะ) ตอนนั้นยังเด็กอยู่ มารู้ตอนหลังว่ามีผลกระทบถึงเรื่องการลงโฆษณา เราเคยถ่ายนางแบบในภาพแบบเกรนแตกยับ มีนอยส์ (noise) แบบให้อภัยไม่ได้เลย

แล้วรู้สึกบ้างไหมว่าแนวทางนี้อาจจะไม่ใช่แล้ว เพราะลงหน้าหนึ่งขนาดนี้
ไม่ๆ ไม่ลังเลเพราะมั่นใจว่างานเราสวย (หัวเราะ) แค่รู้สึกว่าภาพประเภทนี้มันใหม่สำหรับประเทศไทยในยุคนั้น แต่ภาพค่อนข้างมีชีวิต ไม่นิ่ง เราก็ดื้อทำสิ ด่าก็ด่าไป

ตอนนั้นถ่ายภาพแฟชั่นลงนิตยสารกี่หัว
ค่อยๆ เริ่มทีละหัวสองหัว คิดว่าน่าจะทำครบหมดแล้วทุกหัวยกเว้น สารคดี (หัวเราะ) เล่มแรกน่าจะเป็น Lips ซึ่งกำลังมาแรงมาก ตอนกลับมาจากนิวยอร์กไม่มีเงินเลยนะ ต้องขึ้นรถเมล์ไปสมัครงาน เรามองว่าช่างภาพที่มีผลงานลงแมกกาซีนได้เนี่ยมันโดนยอมรับระดับหนึ่งแล้ว เลยตัดสินใจเริ่มทำงานแมกกาซีนก่อน ยังถ่ายฟิล์มอยู่อีกหลายปีเลย

ฐานันดรของอาชีพช่างภาพตอนนั้นเก๋อยู่ไหม
เท่มาก เราว่าเท่กว่ายุคนี้อีก มันคือซัมวันเลยนะ เพราะช่างภาพมีไม่เกินสิบคนหรอก ยุคนั้นทุกคนซื้อแมกกาซีน ช่างภาพน่าจะเป็นที่รู้จักในวงการแฟชั่น เพียงเนื้องานจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ อย่างตอนที่เรากลับมาแทบไม่ถ่ายคนไทยเลย เพราะติดถ่ายฝรั่งมาจากที่เมืองนอก รู้สึกว่าตอบโจทย์ได้ดีกว่า งานดูอินเตอร์กว่า แล้วตัดปัญหาเรื่องดูโป๊เปลือยด้วย เลยรู้สึกว่างานสไตล์นี้เหมาะกับเรา

คอนเทนต์ของนิตยสารแฟชั่นจากยุคนั้นถึงยุคนี้เปลี่ยนไปเยอะพอสมควรสิ
เปลี่ยนไป คือความน่าสนใจของผู้บริโภคเองก็เปลี่ยนไปด้วย โซเชียลมีเดียเปิดพื้นที่ให้คนแตะต้องถึงกันได้ง่ายขึ้น แต่กลายเป็นว่าความเป็นดารายังคงจับต้องยากเหมือนเดิม แล้วโลกมันเข้าสู่เทรนด์ที่ผู้บริโภคชอบอะไรที่จับต้องได้ หรือการเป็นอยู่ที่จับต้องได้ การอยู่แบบสโลว์ไลฟ์ จิบกาแฟ ใส่บูทหนังหยาบๆ หรือเสื้อเชิ้ต แต่แม่งแพงทุกชิ้น (หัวเราะ)

ยุคที่เป็นฟิล์มอาจจะยังไม่มีแนวคิดสโลว์ไลฟ์ แต่มีคอนเซ็ปต์อะไรทำนองนี้บ้างไหม
จะเป็นอีกลักษณะหนึ่งไปเลย หลังกลับจากนิวยอร์กจะมีคอนเซ็ปต์ก้าวร้าวมาก เลือดสาด ไม่มีการซอฟต์หรือผ่อนปรนใดๆ ทั้งนั้น ยิ่งหนักยิ่งเท่ ยิ่งโหดยิ่งดี อยู่ช่วงยาวๆ สักพักใหญ่เลยนะที่เมืองนอก

ในยุคนั้นนอกจากข้อจำกัดเรื่องวัฒนธรรม นางแบบ หนังสือ การถ่ายแบบที่รู้สึกสนุกที่สุด ท้าทาย หรือเป็นตัวแทนของยุคสมัยคืองานอะไร
น่าจะเป็นช่วงแรกของนิตยสาร Mars นะ คือวัฒนธรรมไทยก็ยังเป็นวัฒนธรรมไทย กลายเป็นงานดีๆ ที่เราถ่ายฝรั่งไปมากมายไม่เป็นที่พูดถึงเท่ากับการจับดารามากลิ้งกับพื้น (หัวเราะ) จริงๆ ทุกวันนี้ก็ยังทำได้ยากอยู่ พูดให้เห็นภาพคือ ถ้าคุณจะไปเอาคิมเบอร์ลี เทียมศิริ มาคลุกดินอะไรแบบนี้น่ะนะ

คอนเซ็ปต์แต่ก่อนไปได้ไกลสุดแค่ไหนในยุคที่ทุกอย่างยังแมนวล
(คิด) ก็สุดทีเดียวนะ แก้ผ้ายุคนั้นก็ได้แต่ต้องให้ถูกกฎหมาย เทียบกับยุคนี้ไม่ได้เพราะกฎหมายสื่อสิ่งพิมพ์มีเยอะกว่าสื่อโซเชียลไง พอสื่อมันอันลิมิตแล้วก็ไม่มีอะไรเยอะกว่ายุคนี้แล้วแหละ คุณถ่ายภาพออกมามันอาจดูสวยประมาณหนึ่ง จะว้าวไหม ก็อาจว้าวอยู่แป๊ปหนึ่ง แต่พอเราเลื่อนไปดูอินสตราแกรมของคนอื่น ก็มีภาพสวยๆ อีกเป็นตับ เราเลยรู้สึกว่าไม่อยากเสพงานใครแล้ว ตื่นมาก็เห็นๆๆๆ จนไม่อยากสร้างงานด้วยซ้ำ งานก็ทำไป แต่ไม่ได้อยากหาอะไรใหม่ๆ ตอนนี้เราสนุกกับการเสพงานมากกว่าสร้างงาน เช่น แค่เปิดดูรูปช่างภาพคนหนึ่งถ่ายหมีโพลาร์ที่อยู่ ก็รู้สึกแล้วว่า เจ๋งว่ะ กูมีล้านหนึ่งกูก็ทำแบบนี้ไม่ได้

ในฐานะที่เป็นหนึ่งในคนที่ทำให้นิตยสารแฟชั่นเคลื่อนต่อไป สำคัญแค่ไหนว่าต้องมีความคิด หรือถ่ายทอดมุมมองที่มีต่อสังคมลงในรูปภาพ
เรามองว่าเราเป็นเราทุกวันนี้เพราะสังคมและเพราะผู้บริโภคด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อมีกำลังที่จะช่วยสังคมในเวลาที่สั่งสมข้อมูลอะไรต่างๆ มาพอแล้วก็จะลงมือทำ อาจจะไม่สื่อสารตรงๆ แต่พยายามสอดแทรก เราเหมือนฝ่ายค้านนะ รอดูสังคมก่อน แล้วเมื่อเจออะไรที่ไม่ค่อยโอเคก็แค่ออกมาทำอะไรบ้าง เช่น เรารู้สึกว่าค่านิยมการใช้กล้องราคาสูงหมายความว่าฝีมือดี มันไม่โอเค ไม่ใช่ว่าแอนตี้เรื่องกล้องราคาสูง แต่เราเข้าใจมาโดยตลอดว่าฝีมือคือฝีมือ กล้องมีไว้สนับสนุนเรื่องการทำงาน เลยอยากกวนประสาทสังคมโดยเอากล้องพลาสติกตัวละ ๓๐๐ บาท มาถ่ายภาพ เพราะรู้สึกว่าค่านิยมการใช้กล้องราคาแพงมันเริ่มไปกันใหญ่แล้ว หูเบากันเกินไปหรือเปล่า คนที่เขาทุนน้อยแต่ฝีมือเยอะก็มี เรามองว่าตรงนั้นน่าสนใจกว่า

แล้วสำคัญแค่ไหนว่างานต้องอยู่ในนิตยสาร
ไม่จำเป็น ไม่ช้าก็เร็วอาจมีวันที่มันต้องตาย แต่ยังมีคนที่ทำอยู่บ้าง อย่างเราทำโฟโต้บุ๊กเล่ม Dark paradise ขึ้นมาก็ไม่ได้กะจะทำเงินอะไร สปอนเซอร์ก็ไม่ได้ขอเยอะ จริงๆ ไฟล์รูปในโทรศัพท์หรือในจอมันชัดกว่าอยู่แล้ว ยังไงพรินต์ก็ไม่มีทางสู้ได้ แต่เสน่ห์ของการนั่งจับนั่งดู สำหรับเรามันสำคัญหรือเปล่าไม่รู้แต่ชอบมาก ไม่งั้นไม่ทำโฟโต้บุ๊กขึ้นมาหรอก ยิ่งตอนนี้งานพรินต์ยิ่งดูเป็นงานคราฟต์กว่าเดิม กลายเป็นว่าเรารู้สึกว่าการทำโฟโต้บุ๊กหรือแมกกาซีนก็เหมือนการทำอาร์ตพีซ (art piece) นี่คือข้อดีนะ เราถึงพยายามไม่หยุดทำ

การมีอยู่ของนิตยสารยังจำเป็นอยู่ไหม
เอาจริงๆ ก็ไม่จำเป็น แต่ก็ยังรู้สึกดีทุกครั้งที่หยิบ มันมีคุณค่าในตัวอยู่ เรารู้ว่ากว่าจะผลิตแมกกาซีนออกมาหนึ่งเล่มไม่ใช่เรื่องง่าย แล้วลองคิดว่ารูปพวกนี้ที่เราดูในแมกกาซีนไปอยู่ในโทรศัพท์ ในยุคนี้เราแอบขี้เกียจสร้างงานด้วยซ้ำ เพราะสร้างแล้วมันก็ไปอยู่ในโทรศัพท์ เราเองดูแค่วิฯ เดียวก็เลื่อนผ่านแล้ว

โปรเจ็กต์ที่ทำกับแมกกาซีนแล้วฟินที่สุด
ยุคนู้นฟินกว่า เพราะเรามีส่วนร่วมทั้งกระบวนการ มันตื่นเต้นตั้งแต่ตอนถ่าย ตั้งแต่ฟิล์มมีลิมิต ตั้งแต่ยังไม่เห็นภาพออกมา มีความท้าทายและมีอะดรีนาลินหลั่งในแต่ละกระบวนการ ไม่เหมือนยุคนี้ ระหว่างคลิกกดชัตเตอร์กับที่รูปออกมากระบวนการมันสั้นไป สุนทรียะสั้นไป เราก็เลยไม่ค่อยรู้สึกตื่นเต้นกับการถ่ายดิจิทัลเท่าไหร่ ต่อให้รูปสวยก็ตาม เพราะภาพก็เป็นงานอาร์ตชนิดหนึ่ง มันจะสื่อสารกันด้วยความรู้สึก ผู้บริโภคเสพการมองภาพ ช่างภาพเสพกระบวนการทำงาน เราอาจมีความรู้สึกในช่วงระหว่างทาง ช่วงเตรียมงาน เกลางาน ทุกคนมีความสุขกับบางกระบวนการไม่เท่ากัน

“การยอมรับง่ายกว่าที่จะบอกว่าหนังสือต้องไม่ตายอย่างงู้นอย่างงี้ นิตยสารสามปีผ่านมาปิดไปยี่สิบหัว จะให้ดื้อด้านบอกว่าหนังสือยังอยู่ ใช่ เราก็ขอให้เล่มที่ยังอยู่อยู่รอดปลอดภัย แต่ก็ต้องยอมรับว่าจะดึงมันไว้ไม่ได้เพราะโลกทางวัตถุพัฒนาไปทางนี้ แต่ก็ต้องรอดูนะ เพราะอย่างการถ่ายฟิล์มก็เริ่มกลายเป็นงานคราฟต์แล้ว ในขณะที่เราก็รู้สึกว่าการทำโฟโต้บุ๊กของเราเป็นงานคราฟต์เหมือนกัน จริงๆ แมกกาซีนที่คงเหลืออยู่และอยู่ได้วันข้างหน้าอาจจะเปลี่ยนรูปแบบไปเป็นของที่เจ๋งที่สุด เป็นแรร์ไอเทมก็ได้ เพราะไม่มีใครทำได้ง่ายๆ อีกต่อไป”

จนตอนนี้ที่ดูรูปในนิตยสาร ความรู้สึกยังเหมือนเดิมไหม หรือรู้สึกว่ามันกำลังจะหายไป
สองอย่างพร้อมกัน รู้สึกดีอยู่ แต่ไม่ถึงขึ้นอยากไปหาข้อมูลว่าโลกนี้ผลิตแมกกาซีนมาเพื่ออะไร แค่รู้สึกว่าเราเคารพผู้ผลิตแล้วเขาตอบโจทย์ได้ดี จริงๆ ควรมาไตร่ตรองกันดีๆ ว่ามนุษย์ทำเกินไปหรือเปล่า โดยส่วนตัวเราคิดว่าแมกกาซีนมันแมชชิงกับสิ่งที่เรียกว่ามนุษย์ คือพอดีกับสติปัญญาหรือการโปรเซสข้อมูล เราค่อยๆ พลิกดู ค่อยๆ อ่าน ซึ่งจะไม่ได้กระบวนการแบบนี้ถ้าดูในอินเทอร์เน็ต ในขณะที่พลิกหน้ากระดาษไปเรื่อยๆ ทำให้ได้เห็นได้คิดจริงๆ ยุคที่แมกกาซีนบูมมากๆ เขาก็คิดมาแล้วว่าไซส์นี้เหมาะแก่การมอง การถือ ในขณะที่มือถือยังไม่ตอบโจทย์หรอก บางรูปดูเล็กๆ ไม่ได้ แมกกาซีนถึงได้โดนคิดมาแล้ว ทั้งเรื่องน้ำหนัก ช่วงแขนของมนุษย์ประมาณเท่านี้ๆๆ แล้วเราเคารพคนที่ทำมันขึ้นมา เราเกิดตอนปลายทางด้วยซ้ำ ตอนนี้อยู่ในยุคต้นทางของอินเทอร์เน็ต มันยังตอบโจทย์ได้ไม่ดีเท่ากับแมกกาซีน

ไม่ใช่แค่การจากไปของนิตยสารแต่ละหัว แต่ในสายช่างภาพ บริษัทฟิล์มโกดักหรือโพลารอยด์ก็เริ่มล้มตามเวลา พูดตามความเป็นจริงคือเราเองก็เห็นกราฟที่พุ่งขึ้นสูงของออนไลน์และกราฟของสิ่งพิมพ์ที่หายใจรวยริน

“การยอมรับง่ายกว่าที่จะบอกว่าหนังสือต้องไม่ตายอย่างงู้นอย่างงี้ นิตยสารสามปีผ่านมาปิดไปยี่สิบหัว จะให้ดื้อด้านบอกว่าหนังสือยังอยู่ ใช่ เราก็ขอให้เล่มที่ยังอยู่อยู่รอดปลอดภัย แต่ก็ต้องยอมรับว่าจะดึงมันไว้ไม่ได้เพราะโลกทางวัตถุพัฒนาไปทางนี้ แต่ก็ต้องรอดูนะ เพราะอย่างการถ่ายฟิล์มก็เริ่มกลายเป็นงานคราฟต์แล้ว ในขณะที่เราก็รู้สึกว่าการทำโฟโต้บุ๊กของเราเป็นงานคราฟต์เหมือนกัน จริงๆ แมกกาซีนที่คงเหลืออยู่และอยู่ได้วันข้างหน้าอาจจะเปลี่ยนรูปแบบไปเป็นของที่เจ๋งที่สุด เป็นแรร์ไอเทมก็ได้ เพราะไม่มีใครทำได้ง่ายๆ อีกต่อไป”