เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : เฮียล่ำ

NO HARD FEELINGS

เธอไร้ขา แต่พาชีวิตก้าวไปข้างหน้าเร็วรี่ชนิดที่คนปรกติยังอิจฉา

อัศจรรย์กว่าคือร่างกายเพียง “ครึ่งตัว” นั้นตั้งครรภ์ ๙ เดือน

คล้ายหุ่นคนท้องครึ่งตัวที่จัดวางอยู่แผนกเสื้อผ้า แต่มีชีวิต

พ้นจากท้องกลมโตก็มีเพียงสะโพกและต้นขาข้างซ้ายยาวคืบหนึ่ง เธอขับเคลื่อนชีวิตตน-ทารกในครรภ์บนสเกตบอร์ดอย่างอิสระด้วยแรงถีบของสองแขน จะเปลี่ยนอิริยาบถก็ใช้แขนคล่องแคล่วคู่นั้นยันตนขึ้นจากข้อจำกัดร่างกาย

วันนี้เธอก้าวสู่บทบาทคุณแม่เต็มขั้นและเลี้ยงลูกน้อยที่มีร่างกายครบ ๓๒ อย่างเต็มกำลัง

ใช้ความเป็นมนุษย์พิสูจน์ถ้อยความที่ใครๆ ปรามาส โง่มาก พิการยังปล่อยให้ท้อง, เชื่อเถอะถ้าลูกออกมาก็เป็นภาระสังคมอีก, เดี๋ยวก็ประกาศขอรับบริจาคนู่นนี่ ฯลฯ

แต่เหตุผลสำคัญที่ทำให้เรื่องราวของเธอมีคุณค่าเหนือแม่พิการตั้งท้อง

คือน้ำเนื้อชีวิตที่ก้าวผ่านมีความเข้มข้น ลุ่มลึก หลายเหตุการณ์สะท้อนฉากหลังสังคมอันล้มเหลว บ้างท้าทายโชคชะตา ซึ่งล้วนเจาะลึกถึงก้นบึ้งจิตใต้สำนึกคน ถึงอย่างนั้นชีวิตก็ไม่ได้หม่นเศร้า-เคร่งเครียด กลับเป็นความบันเทิงรูปแบบหนึ่งที่มองว่าใครๆ ต่างก็มีความไม่สมบูรณ์ทางกาย-ใจด้วยกันทั้งนั้น

ในวันแรกที่เราพบกัน ฟ้า-วิญธัชชา ถุนนอก สวมเสื้อยืดพื้นขาวพิมพ์ข้อความสีดำบนอก

NO HARD FEELINGS

นางฟ้าไร้ขาของแม่

หากทารกแรกเกิดควรหนัก ๒-๕ กิโลกรัม และมีความยาวสัก ๕๐ เซนติเมตร

เธอก็ผิดปรกติอย่างไม่ต้องสงสัย ด้วยหนักและยาวเพียงครึ่งเพราะไม่มีท่อนล่าง

“ฟ้าพิการตั้งแต่เกิดจากความผิดปรกติที่มดลูกของแม่ หลังจากมีลูกสองคนแม่ก็ทำหมัน แต่ ๗-๘ ปีต่อมาหมันหลุดและท้องไม่รู้ตัว มดลูกแม่หดรัดตัวไม่ดี เข้าเดือนที่ ๔-๕ จึงเพิ่งรู้ว่าตั้งท้องเพราะมีเลือดออกทางช่องคลอดมาก หมอพบเนื้อเยื่อที่มดลูกพยายามบีบให้หลุดจุกอยู่ที่ปากมดลูก แต่เกิดแท้งเป็นบางส่วนทำให้ทารกยังไม่หลุดทั้งหมด ซึ่งหมอไม่แน่ใจว่าชิ้นส่วนที่หลุดคืออวัยวะใด”

ฟ้า-วิญธัชชา เล่าตามที่ฟังจากแม่ว่าสมัยนั้นการตรวจครรภ์ในโรงพยาบาลต่างจังหวัดไม่มีอัลตราซาวนด์ หมอเพียงให้ทำใจว่าทารกจะต้องเสียอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งแน่

“วันที่คลอดหลายคนบอกให้ทิ้งลูกไว้ที่โรงพยาบาล ไม่ก็ยกให้สถานสงเคราะห์ แต่แม่ยืนยันจะเลี้ยงเองและให้เหตุผลกับยายว่าขนาดหมายังรักลูกตัวเอง แม่กับยายจึงช่วยกันเลี้ยงตามมีตามเกิด”
เธอเติบโตที่บ้านในจังหวัดเพชรบูรณ์จนอายุ ๒-๓ ขวบ พ่อกับแม่ก็แยกทาง

เด็กหญิงผู้มีร่างกายเพียงครึ่งบนจำต้องผจญโลกแห่งเสียงสนุกปากของชาวบ้าน บางคนล้อว่าเป็นตัวประหลาด เสนอให้เอาไปปล่อยวัด ให้ช่วยเลี้ยงไก่อยู่บ้าน ไม่ต้องให้เรียนเพราะโตไปก็ไม่ได้ใช้ทำอะไร

“คำพูดพวกนั้นเสียดแทงใจมาตลอดจน ๕-๖ ขวบ เห็นเด็กคนอื่นสวมชุดนักเรียน สะพายเป้ เลยบอกแม่ว่าอยากไปโรงเรียน อยากใส่ชุดแบบนั้นบ้าง ทำไมฟ้าถึงไม่มีสิทธิ์เหมือนคนอื่น”

แม่จึงพยายามหาที่เรียนให้ แต่ไปที่ใดก็ถูกปฏิเสธเพราะเจ้าตัวเล็กไม่เหมือนเด็กปรกติ ร้ายกว่านั้นคือการถูกขยี้โชคชะตาโดยหลอกลวงให้จ่ายเงินจำนวนหนึ่งเพื่อแลกกับการได้เข้าเรียน แม่เพียรทำงานหนักเพื่อซื้ออนาคตให้ลูกน้อย แต่แล้วก็สูญเปล่าทั้งเงินและความหวังจากเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

กระทั่งลูกสาวคนหนึ่งต้องเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ แม่จำเป็นต้องพาลูกที่เหลือย้ายที่อยู่และยังคงเสาะหาที่เรียนให้ลูกคนสุดท้องไปด้วย เริ่มจากโรงเรียนศรีสังวาลย์ของมูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีที่จังหวัดนนทบุรี ทว่ายุคนั้นยังเปิดโอกาสเพียงเด็กพิการทางร่างกายเนื่องจากสมอง แต่เมื่อเห็นค่าว่าการศึกษาคือต้นทุนชีวิตที่ลูกจำเป็นต้องมีติดตัวจึงไม่ละความพยายาม ในที่สุดเด็กหญิงผู้เป็นดั่ง “นางฟ้า” ตัวน้อยของแม่ก็ได้เริ่มชั้นอนุบาล ๓ ที่โรงเรียนย่านมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเปิดสอนเด็กปรกติตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ ๖

“ฟ้าชอบที่ได้ใส่เสื้อนักเรียนสีขาวสวมเอี๊ยมกระโปรงแดง กระโปรงสั้นกว่าใครแต่ก็สวยสำหรับเรา แม่ให้ไปโรงเรียนด้วยรถรับส่งสองแถวคันใหญ่เพราะไม่มีเวลาดูแลเอง ต้องขายอาหารตามสั่งหน้าโรงงานย่านมหาชัยนั่นละ คนขับจะตระเวนรับ-ส่งเด็กในละแวกนั้นไปโรงเรียน ๒-๓ แห่ง มีพี่ ม.๖ คนหนึ่งอยู่คนละโรงเรียนเขาช่วยอุ้มฟ้าขึ้น-ลงรถทุกวัน หลังเลิกเรียนฟ้าจะไปรอแม่ตรงลานกว้างหน้าโรงงานที่แม่ขายของ มีสนามหญ้า ฝูงหมาแถวนั้นชอบเข้ามาเลียหน้า มาเล่นด้วยจนมอมแมม แรกๆ ฟ้าก็กลัวแต่หมาไม่ได้ทำร้ายเรา อาจเห็นเราเป็นเพื่อนก็ได้เพราะตัวเท่ากัน”

แม้จะถูกดุเสมอที่ทำเสื้อผ้าเปรอะเปื้อนให้แม่ต้องเหนื่อยเพิ่มขึ้นทุกวัน แต่ตุ๊กตามีชีวิตก็ได้รับการฝึกหัดจากแม่ให้ใช้มือดูแลตัวเองตั้งแต่จำความได้ ไม่ว่าจะขึ้นบันได ป่ายปีนต้นไม้ หรือวิ่งเล่นกับเพื่อนตามลานหน้าบ้าน เมื่อถึงเวลาไปโรงเรียนเธอจึงเพียงสวมมือในรองเท้าก็เดินปร๋อ

“ภาพจำของการไปโรงเรียนครั้งแรกคือฟ้าโดนเพื่อนล้อว่าไอ้ด้วน! ไอ้ขาขาดมาแล้ว! บางคนก็มาดึงผม แย่งของของเรา ฟ้ากลับบ้านร้องไห้ทุกวัน แม่คอยปลอบว่าเขาอาจเห็นเราสวยแต่ชมไม่เป็นหรือแค่อยากหยอก สอนให้ทำตัวสบายๆ ใครมาแกล้งก็บอกเขาไปดีๆ ว่าเราเจ็บ อย่าทำเรา แต่ฟ้ายังเด็กให้มานั่งคุยดีๆ ก็ทำไม่เป็น เลยสู้ ใครดึงผมก็ดึงคืน พอครูเล่าให้แม่ฟังแม่ก็เตือนว่าอย่าโต้ตอบเพื่อนแบบนั้น แต่ฟ้าไม่เห็นด้วย ถึงเราจะมีร่างกายไม่สมบูรณ์แต่ถ้าเขามาแกล้งก็ไม่ควรจะยอมสิ”

แทนที่จะอ่อนใจ แม่กลับเสนอสารพัดวิธีให้เธอพยายามปรับตัวเข้ากับคนอื่น ที่สุดแล้วเมื่อผ่านไป ๑ เดือนเจ้าลูกสาวใจแข็งก็เริ่มมีเพื่อนคุย กินข้าว ใช้ชีวิตร่วมกับเด็กอื่นโดยไม่ถูกมองว่าแตกต่างอีก

“ฟ้าชอบไปโรงเรียน ดีใจที่ได้ท่อง ก ไก่ ข ไข่ เวลาเรียนหนังสือเหมือนเราจะลืมขีดจำกัดของตัวเองว่าไม่มีขา กระทั่ง ป.๓ ที่โรงเรียนมีกิจกรรมเกี่ยวกับคนพิการให้เข้าร่วม ตอนนั้นมีครูท่านหนึ่งมาจากโรงเรียนศรีสังวาลย์ ขอนแก่น ชวนให้ไปเรียนต่อที่นั่นเนื่องจากเปิดรับเด็กพิการทางร่างกายแขน-ขาและเป็นโรงเรียนประจำด้วย แม่สนใจมากเพราะจะไม่ต้องเป็นห่วงเราเรื่องการเดินทางอีก พอโรงเรียนเดิมปิดเทอมแม่จึงพาไปสมัคร โรงเรียนใหม่ค่อนข้างใหญ่ มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ มีทางลาดให้รถเข็น พอครูใหญ่เห็นเราคลานมาก็จัดหาวีลแชร์ให้ทันที นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ฟ้าใช้วีลแชร์จนถึงทุกวันนี้”

ไม่ง่ายที่จะละจากก้อนเนื้อที่ฟูมฟัก แต่ความรักคือการมอบโอกาสชีวิตให้ลูกได้เรียนรู้

ว่าวันที่แม่ไม่อยู่…พึ่งคนอื่นพึ่งได้แค่ชั่วคราว ถ้าต้องการที่พึ่งระยะยาวต้องพึ่งตนเอง

โลกเติมเต็มของนักเรียนบกพร่อง

แม้โรงเรียนใหม่จะเป็นสถานศึกษาสำหรับนักเรียนที่บกพร่องทางร่างกาย

แต่ให้โอกาสเด็กปรกติในจังหวัดขอนแก่นที่มีปัญหาครอบครัวเข้าเรียนด้วย

“เป็นนโยบายที่ดีมากเลยเพราะในสังคมมีเด็กจำนวนมากที่พ่อแม่แยกกันอยู่หรือมีปัญหาการเงิน ทำให้พวกเขาพลาดโอกาสทางการศึกษา นอกจากเด็กพิการจะเรียนรู้การใช้ชีวิตร่วมกับคนปรกติแล้วเด็กปรกติก็จะได้เข้าใจสังคมของผู้พิการ ได้รับการสอนให้ช่วยเหลือดูแลเพื่อน เพราะที่นั่นไม่มีใครบกพร่องหรือสมบูรณ์กว่าใคร ฝ่ายหนึ่งบกพร่องด้านครอบครัว อีกฝ่ายด้อยกว่าทางร่างกาย ช่วยเติมเต็มกัน”

ศิษย์เก่าศรีสังวาลย์ขอนแก่นเล่าถึงหลักสูตรในโรงเรียนการศึกษาพิเศษว่าเหมือนโรงเรียนทั่วไปเพียง ๕๐ เปอร์เซ็นต์ อีกครึ่งจะเน้นสอนด้านวิชาชีพ อย่างงานช่างเ ย็บปักถักร้อย คอมพิวเตอร์ ฯลฯ ขณะที่โรงเรียนทั่วไปอาจเลิกเรียนบ่าย ๓ โมงเย็น แต่โรงเรียนนี้เลิกช้าไปอีก ๑ ชั่วโมง เพื่อฝึกทักษะการช่วยเหลือตนเอง กิจกรรมแต่ละวันจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ บางวันเก็บขยะ ล้างจาน ฯลฯ และความที่เป็นโรงเรียนประจำนักเรียนทุกคนจึงต้องรู้จักดูแลตนเอง อาบน้ำแปรงฟันเอง เปลี่ยนและสวมเสื้อผ้าเอง

“เด็กบางคนเข้ามาใหม่ๆ ทำอะไรไม่เป็นเลยเพราะที่ผ่านมามีพ่อแม่คอยดูแลมีคนรอบข้างคอยช่วยเหลือ แต่เมื่อมาอยู่นี่รุ่นพี่มีหน้าที่สอนน้องใหม่จนเขาทำเองเป็น ฟ้าโชคดีมีแม่สอนมาตลอด ซักผ้าก็เป็น เพราะแม่อยากให้ฟ้าดูแลตัวเองได้ในวันหนึ่งที่ไม่มีแม่แล้ว”

ครั้นเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ทางโรงเรียนมักแนะนำให้ศึกษาต่อตามสถาบันฝึกอาชีพ อย่างที่ศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการพระประแดง หรือโรงเรียนอาชีวพระมหาไถ่ พัทยา

“แต่ฟ้ารู้ว่าตัวเองไม่เหมาะกับสายอาชีพ อยากเรียนต่อ ม.ปลาย แม้ครูจะเตือนว่าหลักสูตรวิชาการของโรงเรียนเราไม่แน่นเหมือนโรงเรียนอื่น อาจสอบแข่งขันสู้ใครไม่ได้ แต่ฟ้ากับเพื่อนบางส่วนไม่คิดแบบนั้น ไม่เห็นด้วยที่เด็กพิการถูกจำกัดให้เรียนวิชาการแค่นี้แล้วต้องไปต่อสายอาชีพเท่านั้น จึงพากันไปสอบที่โรงเรียนขามแก่นนครในจังหวัดขอนแก่น ขอให้คุณครูเป็นผู้ปกครองแทนแม่ซึ่งอยู่กรุงเทพฯ ปรากฏว่าฟ้ากับเพื่อนอีกคนสอบติดสายวิทย์-คณิตจึงไปเรียนด้วยกัน โดย ผอ. โรงเรียนศรีสังวาลย์ ยังคงสนับสนุนที่พักและจัดรถรับ-ส่งให้พวกเราได้กลับมานอนที่โรงเรียนเดิม ส่วน ผอ.คนใหม่ก็ใจดีมากแนะนำเราให้นักเรียนทุกชั้นตั้งแต่ ม.๑ ถึง ม.๖ รู้จักเพื่อจะได้คอยให้ความช่วยเหลือหากเราต้องการ คนส่วนใหญ่ใจดีกับเรามาก จะมีเพียงครูบางคนที่ดูเหมือนไม่เต็มใจดูแล แต่เราก็ไม่สนใจเขาเช่นกันเพราะครูที่สอนเขาดีกับเรา การใช้ชีวิตร่วมกับคนปรกติมันทำให้เห็นโลกที่เป็นจริงหลายอย่าง”

โลกที่คละผู้คนใจกว้างและหักหาญความรู้สึก

โลกที่ยังหลงแบ่งแยกความแตกต่างจากสิ่งที่เลือกเกิดและเป็นไม่ได้

ที่นั่นมีเพียงเธอกับเพื่อนอีกคนที่นั่งรถเข็น และในเวลาต่อมาก็กลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ให้โรงเรียนของเด็กปรกติแห่งนี้ได้ต้อนรับเพื่อนนักเรียนที่มีร่างกายบกพร่อง

“ตอนฟ้าเรียน ม.๖ มีรุ่นน้องคนหนึ่งหน้าตาสวย เป็นดาวโรงเรียน กำลังขึ้น ม.๔ กลับเกิดอุบัติเหตุจนทำให้เดินไม่ได้อีก เขาไม่ยอมไปโรงเรียนอยู่ ๒-๓ เดือน ครูแนะแนวจึงขอให้ฟ้าช่วยคุย ฟ้าไปหาเขาที่บ้านทุกอาทิตย์ แสดงให้เห็นว่าอุบัติเหตุไม่ใช่การสูญเสียทุกอย่างในชีวิต วันหนึ่งเขาก็ยอมลุกขึ้นสู้ นั่งวีลแชร์ไปโรงเรียนอีกครั้ง หลังจบ ม.ปลาย เขาสอบติด ม.ธรรมศาสตร์ มีอาชีพที่ดี เราก็ดีใจ”

และเด็กหญิงชมพู่-ภัทราวรรณ พานิชชา ที่เธอมีส่วนช่วยเปลี่ยนชีวิตให้ในวันนั้นก็ได้รับตำแหน่ง“มิสวีลแชร์ไทยแลนด์ปี ๒๕๕๕” กลายเป็นผู้ส่งต่อแรงบันดาลใจให้คนอื่นบ้าง

ส่วนวิญธัชชาเมื่อเรียนจบมัธยมฯ ปลายเธอสอบผ่านเข้าทั้งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่เหมือนชีวิตครึ่งร่างนี้ได้ประทับตราอนาคตจากสวรรค์แล้วว่าจะไปไกลกว่าที่เป็นอยู่ เมื่อถึงเวลาเหมาะสมผู้อำนวยการโรงเรียนศรีสังวาลย์ขอนแก่นจึงหยิบยื่นใบสมัครสอบชิงทุนการศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างประเทศให้

“ตอนแรกฟ้าลังเลเพราะใจอยากเรียนสถาปัตย์-ธรรมศาสตร์ จนวันหนึ่งขณะกำลังจะเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว ฟ้าไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลในขอนแก่น เห็นผู้พิการคนหนึ่งกำลังต้องการความช่วยเหลืออะไรสักอย่างที่หน้าโรงพยาบาลแต่เขาไม่ได้รับโอกาสนั้น ฟ้าไม่เคยรับรู้ปัญหาเรื่องสิทธิการรักษาของผู้พิการทั่วไป เพราะที่ผ่านมาตัวเองได้สวัสดิการฐานะนักเรียนโรงเรียนศรีสังวาลย์จึงรักษาฟรีทั้งในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลขอนแก่นตลอดมา วันนั้นเห็นญาติเขาโวยวาย ร้องไห้ ก็รู้สึกสะเทือนใจ เป็นจุดเปลี่ยนความคิดให้กลับไปหา ผอ.โรงเรียนศรีสังวาลย์ ซึ่งท่านเป็นผู้พิการที่นั่งวีลแชร์เหมือนกัน ปรึกษาท่านว่าในอนาคตเราอยากเป็นกระบอกเสียงเรียกร้องสิทธิต่างๆ ให้คนพิการ”

ในที่สุดเธอจึงนำเอกสารสมัครสอบชิงทุนการศึกษาของคนพิการในระดับปริญญาของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) มาอ่านรายละเอียดอีกครั้งและตัดสินใจฝากผู้อำนวยการส่งใบสมัครให้ทันวันปิดรับพอดี เหมือนชะตากำหนดให้ผ่านมาถึงรอบคัดเลือกเหลือ ๕ คนสุดท้าย

“นอกจากสอบสัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษ กรรมการจะทดสอบการใช้ชีวิตว่าเราจะดูแลตัวเองได้ดีไหม มีความมั่นใจแค่ไหน เพราะเมื่อไปอยู่ต่างประเทศเราต้องใช้ชีวิตลำพัง ฟ้าโชคดีที่เกิดเป็นลูกของแม่ผู้มองชีวิตเป็นบวก ไม่ได้มองว่าความพิการเป็นปมด้อยแล้วเลี้ยงลูกให้อยู่แต่ในบ้าน ตีกรอบสังคมเป็นแค่จอทีวีสี่เหลี่ยมเล็กๆ เพราะคิดว่าการออกนอกบ้านไปเจอคนอื่นเป็นเรื่องน่าอายหรือลำบาก อยากไปไหนต้องรอให้มีคนพาไปจึงไม่ได้เรียนรู้การทำอะไรเหมือนคนอื่น ที่สุดแล้วก็กลายเป็นปัญหาสังคมจริงๆ ตรงกันข้ามแม่เป็นผู้เริ่มทำลายกรอบและสอนให้ฟ้ารู้จักช่วยเหลือตัวเอง อยากไปเที่ยวแม่ก็พาไปหัดขึ้นรถทัวร์หนึ่งครั้ง เพื่อสอนให้เราพับเก็บรถเข็นเอง พึ่งตนเองให้มากที่สุด เหลือบ่ากว่าแรงก็ให้กล้าที่จะขอความช่วยเหลือจากคนอื่น และครั้งต่อมาแม่ก็ให้ฟ้าเดินทางเอง เพราะต่อให้สังคมมีสวัสดิการแก่ผู้พิการมากมายอย่างไร การเริ่มต้นโอกาสที่แท้จริงก็ต้องมาจากตัวเอง ถามว่ากลัวไหม…กลัว แต่เมื่อผ่านมาได้เราก็แกร่งขึ้นมาก ตอนปิดเทอม ม.ปลาย ฟ้าจึงไปหาแม่ที่กรุงเทพฯ แล้วนั่งรถบัสจากกรุงเทพฯ กลับขอนแก่นเองคนเดียวได้”

เมื่อเด็กสาวไร้ขาอวดศักยภาพให้ผู้ฟังเชื่อมั่นสำเร็จ ว่าภูมิคุ้มกันชีวิตที่เธอมีอยู่เต็มเปี่ยมนั้นพร้อมเปิดรับโอกาสเผชิญโลกกว้างร่วมกับคนแปลกหน้าในสังคมใหม่ด้วยความมั่นใจ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์

คณะกรรมการฯ จึงให้ผ่านอย่างไร้ข้อกังขา

ชีวิตในจักรวรรดิที่พระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน

กระบอกเสียงเพื่อสิทธิผู้พิการคือภาพร่างงานอนาคต

ในบรรดาทุนศึกษาต่อหลักสูตรปริญญาตรี ๓ ปี จากประเทศที่มีให้เลือก ได้แก่ เครือรัฐออสเตรเลียสหรัฐอเมริกา และประเทศอังกฤษ วิญธัชชาจึงเลือกสาขาสังคมและอาชญากรรม ภาควิชาสังคมศาสตร์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ

“ก่อนหน้านั้นต้องเรียนภาษาและเตรียมความพร้อม ๒ ปีถึงจะเริ่มเรียนปริญญาตรี ช่วง ๕ ปีที่อยู่อังกฤษได้เรียนรู้การใช้ชีวิตเยอะมาก สัปดาห์แรกยังปรับตัวไม่ได้ทั้งเรื่องอาหารฝรั่งที่ไม่ถูกลิ้นเลย ให้กินมาม่าทุกวันยังดีกว่า และเรามาจากเขตอบอุ่นพอเจออากาศติดลบก็หนาวจนปวดกระดูก ยังต้องมาเจอวัฒนธรรมที่ต่างคนต่างเรียนต่างคนต่างอยู่ ทุกอย่างรุมเร้าจนเหงามาก โทรฯ หาแม่ก็ร้องไห้ทุกวัน อยากกลับบ้าน แม่คอยปลอบให้นึกถึงเป้าหมายที่ฝันไว้ พอนึกถึงสิทธิที่คนพิการอีกหลายชีวิตจะได้รับเมื่อเราทำสำเร็จก็เป็นแรงบันดาลใจให้เริ่มปรับตัว จะว่าไปสังคมอังกฤษออกแบบการใช้ชีวิตให้คนปรกติกับคนพิการได้อยู่ร่วมกันอย่างดีมาก ทุกหนแห่งมีทางลาดสำหรับวีลแชร์ไม่เว้นแม้แต่รถไฟและรถบัส ทุกอาคารมีลิฟต์ สวัสดิการต่างๆ ที่คนปรกติได้รับคนพิการก็ได้เหมือนกัน วัฒนธรรมของผู้คนก็ไม่มีการเหยียด คนปรกติเจอคนพิการจะยิ้มให้ ยกนิ้วโป้งให้ ชื่นชมในการกล้าออกมาใช้ชีวิตภายนอก”

หมายรวมไปถึงหอพักในมหาวิทยาลัยที่เธออยู่ก็ได้รับการออกแบบอย่างเป็นธรรม

“เราไม่มีรูมเมต ต้องทำอาหารเอง ซักผ้าเอง และแบ่งเวรทำความสะอาดส่วนกลาง อย่างห้องครัว ห้องน้ำ ห้องน้ำสำหรับคนพิการจะกว้างกว่าปรกติเพราะคำนวณให้เหมาะต่อการเคลื่อนที่ของวีลแชร์ แต่ไม่มีการแบ่งเพศ ฟ้าจึงใช้ร่วมกับชายชาวอิสราเอลอีกคน เขาเก่งมากนะ ทั้งที่ร่างกายใช้ได้เพียงปาก”

เพราะนั่นไม่ใช่ปัญหาเมื่อประเทศอังกฤษให้ความสำคัญและสนับสนุนด้านการศึกษาของผู้พิการอย่างเต็มที่ ผู้พิการในระดับมหาวิทยาลัยจึงไม่เพียงขอทุนการศึกษาจากมหาวิทยาลัยและรัฐบาลได้ แต่ละมหาวิทยาลัยยังมีการจัดการหลากหลาย มีศูนย์สำหรับนักศึกษาพิการที่ให้คำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ให้คำแนะนำเรื่องค่าใช้จ่าย การใช้ชีวิตในหอพัก การเรียน สุขภาพ แนะแนวอาชีพ และการจ้างงาน รวมถึงมีกลยุทธ์การเรียนการสอนเพื่อเอื้อประโยชน์ให้เข้าถึงผู้พิการมากที่สุด

“อย่างมหาวิทยาลัยที่ฟ้าเรียนจะมีสวัสดิการหนึ่งเรียกว่า ‘ซับพอร์ตเวิร์กเกอร์’ (support worker) เป็นผู้ช่วยทำสิ่งต่างๆ แทนผู้พิการที่มีปัญหาด้านการเรียนรู้และปัญหาสุขภาพ เช่น การอาบน้ำ การเรียน ฯลฯ อย่างชาวอิสราเอลคนนี้เวลาไปเรียนเขาเลกเชอร์เองไม่ได้ก็จะมีซับพอร์ตเวิร์กเกอร์ช่วยจดบันทึกให้ แต่จะไม่ทำแทนทั้งหมดเพราะความคิดต้องเป็นของเขาเอง ถ้าไม่มีจิตอาสาว่างมาช่วยทางมหาวิทยาลัยก็ออกทุนจ้างซับพอร์ตเวิร์กเกอร์อาชีพจากข้างนอกให้ ผู้พิการเพียงแจ้งความประสงค์กับทางมหาวิทยาลัยเท่านั้น”

การดูแลนักศึกษาพิการไม่ได้กำหนดขอบเขตแค่ในรั้วมหาวิทยาลัยหรือในเวลาราชการ

“มีครั้งหนึ่งวีลแชร์ฟ้าเกิดยางแบนตอนไปซื้อของใช้ในเมือง คนที่เดินผ่านมาเห็นก็เข้ามาถามว่าต้องการให้ช่วยอะไรไหม พอรู้ว่าเป็นนักศึกษาจากที่ไหนเขาก็ช่วยโทรฯ แจ้งทางมหาวิทยาลัยให้ ครึ่งชั่วโมงก็มีรถมารับเราไปส่งที่หอพักพร้อมมีคนมาซ่อมรถให้ โดยที่มหาวิทยาลัยซับพอร์ตให้ทุกอย่าง”

เมื่อชีวิตประจำเริ่มคุ้นชินกับสภาพบ้านเมืองใหม่ เด็กสาวร่างบางจากเอเชียก็ต้องเผชิญกับสภาพเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย เช่นเดียวกับที่คนไทยจำนวนมากมักพบเมื่อต้องเปลี่ยนรสนิยมเป็นอาหารพลังงานสูงเพื่อทำให้ร่างกายอบอุ่น สอดรับกับภูมิอากาศแถบเมืองหนาวเ

แต่สำหรับผู้พิการทางกาย กฎเหล็กเคร่งครัดคือห้ามสะสมไขมันส่วนเกิน!

“ตอนนั้นฟ้าสูง ๑๑๕ เซนติเมตร หนัก ๔๐ กิโลกรัม ตัวใหญ่คับรถเข็นเลย หมอบอกให้ลดน้ำหนักเพราะถ้าอ้วนกว่านี้จะช่วยเหลือตัวเองลำบาก จากที่กินฟาสต์ฟู้ดทุกวันจึงต้องลดพวกของทอดแล้วออกกำลังกายก็ได้คลายหนาวไปด้วย ฟิตเนสที่อังกฤษมีคาร์ดิโอสำหรับผู้พิการ อย่างจักรยานก็มีแบบขนาดกะทัดรัดเคลื่อนย้ายสะดวกและเหมาะกับพื้นที่บริเวณน้อย ใช้ได้ทุกวัยทั้งผู้ป่วยที่ไม่มีแรงแขนขาหรือผู้สูงอายุ ฟ้าไม่มีขาก็ใช้มือปั่น ปรับแรงปั่นได้ บางทีก็สลับไปยกดัมเบลบ้าง หลังออกกำลังกายอยู่ครึ่งปีน้ำหนักก็ลดลงเหลือ ๓๐ กิโลกรัม”

เรื่องการใส่ใจสิทธิและความเท่าเทียมแก่เพื่อนมนุษย์ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในอังกฤษ หลายประเทศที่เอาจริงเอาจังกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรต่างมีนโยบายให้ความสำคัญ สหรัฐอเมริกาโดดเด่นด้านการออกแบบสถานที่สาธารณะสำหรับผู้บกพร่อง ไม่เพียงอาคารส่วนใหญ่จะคำนึงถึงทางลาดสำหรับรถเข็น ยังมีศูนย์อำนวยความสะดวกให้ผู้พิการที่ต้องการความช่วยเหลือ เปิดโอกาสให้ผู้พิการมีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่างๆ ทั้งการเข้าชมการแข่งขันกีฬา จัดที่นั่งสำหรับดูละครเวที ออกแบบสวนสาธารณะให้มีพื้นที่ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับคนทั่วไปแ ละมีพิพิธภัณฑ์ที่มุ่งให้ผู้คนปรกติได้เข้าใจผู้พิการมากขึ้น

ครั้นจบการศึกษาปริญญาตรี ถึงเวลาทำตามข้อผูกพันที่ต้องกลับประเทศไทยมารับราชการในส่วนที่ ก.พ. กำหนดไม่น้อยกว่า ๒ เท่าของระยะเวลาที่ได้รับทุน นักเรียนนอกจึงเก็บกระเป๋าบอกลา “จักรวรรดิที่พระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน” มุ่งนำแบบอย่างของแสงสว่างในสังคมแห่งความทัดเทียมกลับมาพัฒนาบ้านเกิด

และเธอไม่ลืมซื้อจักรยานออกกำลังกายขนาดเล็กสำหรับผู้พิการกลับมาใช้ส่วนตัวที่บ้าน

เพราะรู้ว่าห้องออกกําลังกายในร่มตามพื้นที่สาธารณะในเมืองไทย แม้เพียบพร้อมด้วยเครื่องกีฬาทันสมัย มีโปรแกรมออกกำลังกายที่ดีที่สุดพร้อมบริการแบบครบวงจร

แต่ยังไม่มีพื้นที่เล็กๆ และอุปกรณ์จำเป็นสำหรับผู้พิการ

เสี่ยงรักด้วยกาย-ใจกล้าหาญ

กรุงเทพฯ…ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว

ดั่งสโลแกนหวานอมขมกลืนประจำเมืองศูนย์กลางประเทศไทย

“ตอนกลับเมืองไทยแม่กับพี่สาวย้ายไปทำงานที่จังหวัดชลบุรีแล้ว เราเพิ่งเรียนจบก็อยากเที่ยวเล่นพักสมองจึงมาหาเพื่อนที่กรุงเทพฯ การเดินทางโดยรถบัสบ้านเราไม่สะดวกเหมือนเมืองนอก แท็กซี่ก็ไม่อยากรับ ฟ้าเคยโบก ๒๐ คัน คันที่รับเราเป็นคนแก่ ทำให้มั่นใจว่าต้องเอาความรู้ที่เรียนมาเป็นกระบอกเสียงให้คนพิการสักที แต่เอาเข้าจริงเรายังไม่รู้ว่าระบบของประเทศไทยเป็นอย่างไรเพราะที่เรียนมาเป็นสภาพสังคมคนละวัฒนธรรม ต้องไปหาเพื่อนที่ทำงานอยู่ตามมูลนิธิที่เกี่ยวข้องกับคนพิการแล้วศึกษาดูงานจึงได้รู้ว่าคนพิการที่ทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ ขึ้นรถไฟฟ้าฟรีก็จริงแต่บางสถานีมีแต่บันไดเลื่อน ไม่มีลิฟต์ คนที่ใช้วีลแชร์จะลำบาก และเป็นไปไม่ได้เลยที่มนุษย์เงินเดือนจะนั่งแท็กซี่ไปทำงานทุกวัน บางคนจึงพึ่งแท็กซี่ครึ่งทางไปสถานีที่มีลิฟต์เพื่อต่อรถไฟฟ้า”

นักเรียนนอกไม่เสียเวลาฟูมฟายกับระบบสาธารณูปโภคอันจำกัด

เมื่อบริการสาธารณะอำนวยประโยชน์แก่ประชาชนไม่ทั่วทุกกลุ่มเธอจึงออกแบบความเป็นอยู่ให้สอดรับกับสิ่งอุปโภคที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต สำคัญคือเรื่องสุขภาพที่ต้องเข้มงวดกับตนเอง

“กลับเมืองไทยก็ยังเล่นฟิตเนสจนลดน้ำหนักเหลือ ๒๕-๒๖ กิโลกรัม ที่นี่ไม่มีคาดิโอสำหรับผู้พิการเราก็ต้องปรับตัวให้ใช้ร่วมกับคนปรกติ เลือกเฉพาะที่เล่นได้ ค่อยกลับมาปั่นจักรยานที่บ้าน”

ไม่ใช่ความรับรู้ใหม่ว่าบ้านเรามีคนพิการเล่นกีฬาได้เกือบทุกประเภท เพียงปรับอุปกรณ์ให้เอื้อต่อการออกกำลัง เราจึงเห็นการจัดกรีฑาคนตาบอดเกิดขึ้นมากมายโดยมีคนตาปรกติเป็นบัดดี้ กีฬาที่ผู้พิการไทยเก่งมากคือประเภทล้อ พวกเขามีใจฝึกฝนจริงจังแม้มีข้อจำกัดเรื่องความไม่พร้อม ซึ่งผลแข่งขันที่ผู้พิการไทยชนะเลิศระดับนานาชาติก็มีปรากฏนักต่อนัก เพราะความมานะอดทนเกินขีดสมบูรณ์

ภาพทรหดบึกบึนเหล่านั้นชินตา เราจึงตื่นใจกว่าเมื่อเห็นสาวร่างครึ่งตัวในมุมเซ็กซี่

เธอเลือกเข้าฟิตเนส บางวันใส่เสื้อกล้ามครึ่งตัวอย่างที่สาวเมืองนิยมสวมออกกำลัง

ขึ้นม้านั่งบริหารร่างกายปรับระดับยกดัมเบล ฯลฯ มีเพื่อนนักกีฬาเพาะกายที่พิการและนั่งวีลแชร์เหมือนกันแนะนำว่าควรบริหารอย่างไรให้สมส่วน ที่เหลือคือดัดแปลงไปตามแต่อุปกรณ์จะมี

“ตั้งแต่อยู่เมืองนอกแล้ว เวลาเข้าฟิตเนสฟ้าจะถ่ายรูปโพสต์เฟซบุ๊กและอินสตราแกรม พอเพื่อนคนนั้นเห็นเราโพสต์ก็ชอบแชร์ แล้วจะมีเพื่อนๆ ของเขาตามมาแอดเฟรนด์หรือติดตามเราอีกที”

โดยไม่รู้ตัว ว่าวันหนึ่งใครบางคนที่กำลังติดตามอยู่จะกลายเป็นคู่ชีวิต

“พอเข้าฟิตเนสที่ไทยก็ได้เจอเขาซึ่งอยู่ชมรมนักเพาะกายเดียวกับเพื่อนที่แนะนำเรื่องออกกำลัง เขามาเล่นฟิตเนสเหมือนกันเพราะบ้านเขาและบ้านเพื่อนที่ฟ้ามาขออาศัยอยู่ด้วยบังเอิญใกล้กัน แรกๆ ก็ต่างคนต่างเล่น ฟ้าจำไม่ได้ว่าเคยคุยกับเขาในเฟซบุ๊กตั้งแต่อยู่อังกฤษ ที่ผ่านมาฟ้าให้ความสำคัญแต่เรื่องเรียน ไม่มีใครมาจีบ ไม่ได้ชอบใคร และยังไม่อยากมีแฟน ฟ้ามีเพื่อนเยอะ พอเห็นเพื่อนทะเลาะกับแฟนแล้วฟูมฟายในเรื่องไร้สาระก็จะคิดว่าเราเองพิการอยู่แล้วถ้ามีเรื่องวุ่นวายคงไม่ดี ขอสนุกกับชีวิตส่วนตัวให้เต็มที่ดีกว่า และเรามั่นใจว่าดูแลตัวเองได้ อยากทำอะไรหรือไปเที่ยวไหนก็ไปเองคนเดียวมาตลอด จนวันหนึ่งเขาก็เริ่มมาช่วยเรายกเครื่องออกกำลังกายบ้าง จึงได้คุยกัน”

ความสัมพันธ์พัฒนาผ่านกิจกรรมในห้องฟิตเนสและสนทนาในเฟซบุ๊ก-ไลน์

“ช่วงแรกไม่แน่ใจในความรัก เพราะเขาหล่อ รูปร่างดี สูง กลัวเขารับสภาพเป็นอยู่เราไม่ได้ พิสูจน์ใจเขาหลายอย่าง จากที่แค่เจอในฟิตเนสและคุยกันผ่านโซเชียลก็ชวนนั่งแท็กซี่ไปดูหนัง-กินข้าวที่ห้างใกล้บ้าน สังเกตว่าเขามีท่าทีอย่างไร อายคนอื่นไหม แรกๆ เขาประหม่าเพราะยังดูแลเราไม่เป็น ไม่รู้จะเข็นรถอย่างไร แต่ไม่ได้อายใคร กินข้าวก็จับมือเรา อุ้มเข้าโรงหนัง เก็บรถให้ พาไปเที่ยวสถานที่ที่เราไม่เคยไป พาไปรู้จักกลุ่มเพื่อน ไปไหว้พ่อแม่เขา มันไม่ใช่แค่สร้างความรู้สึกประทับใจแต่เหมือนเขาเข้ามาเติมเต็มความบกพร่องให้ชีวิตเรา ศึกษา ๓-๔ เดือนจึงตัดสินใจเป็นแฟนและอยู่ด้วยกันโดยไม่มีการแต่งงาน”

ช่วงที่ความรักผลิบานเต็มที่นำมาสู่เหตุการณ์เกินคาดฝัน เมื่อเพื่อนที่วิญธัชชาอาศัยอยู่ด้วยชอบบันทึกภาพความสุขเวลาที่หนุ่ม-สาวดูแลกัน จับมือกัน แล้วเลือกจังหวะที่อบอุ่นโพสต์ลงโซเชียล

เรื่องของสองคนจึงกลายเป็นเรื่องของสังคม

“กลายเป็นกระแสทันที ไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคกี่สมัยสังคมไทยก็ยังไม่เปิดรับความแตกต่าง เห็นคนปรกติคบหากับคนพิการก็มองเป็นเรื่องผลประโยชน์ เป็นข่าวดังจนได้รับเชิญไปออกรายการตีสิบ”
ท่ามกลางความยินดีและความเห็นที่แตกต่าง

ครอบครัววิญธัชชาก็เป็นอีกเสียงที่ไม่เชื่อในรัก

“แม่กังวลว่าเขาหน้าตาและรูปร่างดี น่าจะมีโอกาสเจอคนที่ดีกว่า แต่แม่ก็ยังให้ฟ้าเลือกทางเดินชีวิตของตัวเอง ส่วนฟ้าตัดสินใจคบในวันที่ตัวเองโตแล้ว เชื่อว่ามีวุฒิภาวะพอจะใช้ชีวิตด้วยสติและเหตุผล”
ซึ่งก็เป็นได้ ว่ารักแรกที่เริ่มต้นในกรุงเทพฯ อาจเป็นชีวิตดีๆ ที่ลงตัว

ในวันที่พบกันสามีของเธอก็อยู่แต่เราตรองมาแล้วว่าจะไม่ชวนเขาสนทนา แม้ความคิด-ความรู้สึกของชายผู้มีร่างกายสมบูรณ์ หน้าที่การงานมั่นคงจะน่าสนใจอย่างไร เพราะการเชื่อว่าความรักสามารถยอมรับทุกสิ่งได้น่าจะดีกว่าตั้งข้อสงสัยในความจริงใจ

วิญธัชชาปรายยิ้มขณะสบตา บอกให้เราผ่อนคลายกับชีวิต

“ต่อให้อนาคตเขาไม่ใช่เนื้อคู่ เราก็ได้เรียนรู้ชีวิตอีกมุมหนึ่ง”

ซ่อมแซมสุขที่สึกหรอ

พรหมลิขิตนำทางให้พบคนที่ใช่ ที่เหลือคือหน้าที่เธอและเขาต้องสานต่อ

สังคมจึงตะลึงอีกครั้ง เมื่อปรากฏภาพหญิงสาวไร้ขาตั้งครรภ์ ๙ เดือน

“อยู่ด้วยกันปีกว่าเขาก็บอกว่าอยากสร้างครอบครัวจริงจัง อยากมีลูก”

สาวมั่นที่ขับเคลื่อนชีวิตด้วยความรู้และเหตุผลเผยความเปราะบางที่ซ่อนอยู่

“ฟ้าไม่เคยมีเรื่องนี้อยู่ในหัว แม้จะรู้ว่าความพิการของเราไม่ได้เกิดจากโรคหรือพันธุกรรมแต่ก็แอบกังวลว่าลูกจะออกมาเหมือนเรา ที่ผ่านมาตั้งแต่เล็กจนโตฟ้าฝ่าฟันมาเยอะมาก ไม่อยากให้ลูกเกิดมามีชีวิตแบบเดียวกัน แต่อีกใจก็อยากสร้างครอบครัวกับสามี จึงปรึกษาหมอ พอหมอยืนยันความปลอดภัยเราก็เริ่มวางแผนการตั้งครรภ์ ฟ้าบำรุงดูแลตัวเองเป็นอย่างดี ดีที่สุดเท่าที่ตลอดชีวิตเคยทำมา”

แต่กลับลืมนึกถึงสิ่งสำคัญในอนาคตอันใกล้ว่าน้ำหนักคือเรื่องใหญ่

“เพราะที่ผ่านมาฟ้าใช้ชีวิตแบบลืมไปเลยว่าตัวเองไม่มีขา ช่วงแรกยังอยู่กับครอบครัวสามี พอตั้งท้องจึงย้ายไปเช่าบ้านชั้นเดียวในละแวกเดิมเพราะบ้านแม่สามีไม่สะดวกตรงมีบันไดเยอะ เข้าสู่เดือนที่ ๓ ท้องเริ่มโตและแพ้ท้องหนัก เข้าห้องน้ำเองไม่ได้ ต้องให้สามีอุ้ม ถึงได้เริ่มคิดว่าถ้าท้องโตกว่านี้จะใช้ชีวิตอย่างไร ก่อนหน้านั้นฟ้าเคยลดน้ำหนักจนเหลือ ๒๐ กิโลกรัม พอมีลูกก็เพิ่มอีกสิบกว่ากิโลกรัม กว่าจะถึงวันคลอดไม่รู้จะเพิ่มอีกเท่าไร ต้องช่วยเหลือตัวเองไม่ได้แน่”

แต่การมีลูกคือโอกาสสำคัญที่ต้องรักษาเพราะอาจเป็นโอกาสเดียวในชีวิต

ว่าที่คุณพ่อจึงค้นข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตดูคนไร้ขาชาติอื่นใช้ชีวิตขณะตั้งครรภ์

“เจอคุณแม่คนหนึ่งมีร่างกายเหมือนฟ้าเลย อุ้มท้องใช้ชีวิตโดยสเกตบอร์ด สามีจึงทำแบบสี่เหลี่ยมให้ฟ้า จนท้องเดือนที่ ๗ ฟ้าก็ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้จริงๆ ท้องหนักมาก จะเข้าห้องน้ำสามีต้องหิ้วปีก ตอนเขาไปทำงานฟ้าอยู่บ้านคนเดียวจะใช้กระโถนแทน จนช่วงท้องแก่แม่สามีจึงมาอยู่เป็นเพื่อน”

สิ่งที่ยากไม่ใช่การอุ้มท้องที่หนักกว่าน้ำหนักตัวเกือบเท่าหนึ่ง แต่คือการเหยียดจากสังคมไม่รู้กี่เท่า

“เวลาไปกินข้าวนอกบ้าน ดูหนัง เที่ยวห้างมีสายตาคนมองและซุบซิบ เราไม่รู้ว่าเขาพูดอะไร จนครั้งหนึ่งเพื่อนขอถ่ายรูปฟ้าแล้วโพสต์ลงโซเชียล มีคนแสดงความเห็นเยอะมากทำนองว่า ‘โง่มาก พิการยังปล่อยให้ท้อง เชื่อเถอะถ้าลูกออกมาก็เป็นภาระสังคมอีก เดี๋ยวก็ประกาศขอรับบริจาคนู่นนี่’ ฟ้าเลื่อนอ่านแต่ละข้อความด้วยความรู้สึกน้ำตาตกใน คนท้องมีอารมณ์แปรปรวนอยู่มาเจอวิจารณ์อย่างนี้อีกยิ่งรู้สึกแย่ ส่วนหนึ่งอาจเพราะฟ้าอยู่ต่างประเทศหลายปี คนที่นั่นปฏิบัติกับผู้พิการดีมาก ให้เกียรติ แต่คนไทยไม่ใช่ มีแต่ความคิดเหยียด มองภาพคนพิการเป็นภาระก่อนเสมอ เหตุการณ์นั้นทำให้ฟ้าบอกกับตัวเองและลูกในท้องว่าฟ้าจะทำให้ทุกคนเห็นว่าคนพิการเลี้ยงลูกให้ดีได้โดยไม่ต้องเป็นภาระสังคม”

แล้วปฏิบัติการซ่อมแซมสุขที่สึกหรอก็เริ่มต้น

“ฟ้าถ่ายรูปตัวเองตอนท้องแก่ในห้องนอนและโพสต์ลงโซเชียลพร้อมข้อความทำนองว่าคนพิการก็มีหัวใจ เรามีความสามารถหลายอย่าง ดูแลตัวเองได้ ทำไมต้องจำกัดให้อยู่แต่ในบ้าน พอมีคนแชร์เยอะก็กลายเป็นข่าวดังอีก มีสื่อมาสัมภาษณ์และนำเสนอเรื่องราว”

ปีนั้นชื่อของ วิญธัชชา ถุนนอก ร่วมปรากฏในฐานะเจ้าของรางวัล MThai Top Talk-About Lady 2016 ซึ่งเป็นการมอบรางวัลแก่บุคคลสำคัญทั้งเบื้องหน้า-เบื้องหลังที่เป็นกระแสสังคม โดยวัดผลจากการแสดงความคิดเห็นและการเข้าชมในเว็บไชต์ MThai.com

ยิ่งใกล้ถึงกำหนดคลอดสังคมก็ยิ่งติดตาม รวมถึงรายการโทรทัศน์ประเภทวาไรตี้ทอล์กโชว์ที่เธอเคยออกอากาศก็ติดต่อมาอีกเพื่อเพิ่มเติมสถานการณ์

“เขาอยากรู้เรื่องราวของคู่เราจากวันที่คบเป็นแฟนจนตั้งท้องโต แต่ก็ต้องยกเลิกนัดฉับพลันเพราะฟ้าดันจะคลอดก่อนกำหนด ตอนนั้นไม่มีอาการจะคลอดเลย แค่ไปโรงพยาบาลตามที่หมอนัดตรวจก่อนถึงวันคลอด ปรากฏว่าปากมดลูกเปิด ๔ เซนติเมตร หมอจึงให้ผ่าเลย ตกใจสิ! ยังไม่ได้เตรียมใจจะเป็นแม่คนในวันนี้ แต่ถ้าไม่ผ่าเด็กจะดันมดลูกออกมาแล้ว”

ว่าที่คุณแม่ยังสาวแอบเสียดายที่ไม่ได้ลองคลอดด้วยวิธีธรรมชาติอย่างตั้งใจ

“หมอแนะนำให้ผ่าเพราะมีปัญหาอุ้งเชิงกรานแคบลูกจะคลอดยากหรืออาจคลอดไม่ได้เลย เสี่ยงเสียชีวิตทั้งแม่และลูก และกรณีของฟ้าต้องวางยาสลบเพราะกระดูกสันหลังไม่ดี ลูกถ่วงให้ท้องทิ้งน้ำหนัก ยิ่งไม่มีขาช่วยรองรับน้ำหนักเหมือนคนอื่นหลังจึงถูกดึงลงมามากและลูกก็แบ่งแคลเซียมไปเยอะ เรามีร่างกายแค่ครึ่งตัวซึ่งเป็นต้นทุนที่ต่ำกว่าแม่คนอื่น แต่ลูกเราเป็นเด็กปรกติจึงดึงแคลเซียมไปใช้ในปริมาณเดียวกับเด็กคนอื่น แม้หมอจะให้เสริมยาบำรุงแคลเซียมทั้งกินและฉีดแต่การตั้งครรภ์ก็ยังส่งผลให้กระดูกสันหลังคดเป็นตัวซี จึงบล็อกหลังไม่ได้”

เป็นเหตุให้ตลอดชีวิตนี้เธอไม่ควรตั้งครรภ์อีก

ถึงอย่างนั้นสิ่งที่สูญเสียก็คุ้มค่ายิ่งนักเมื่อแลกกับความสุขที่อยู่ตรงหน้าแล้ว

นางฟ้าของแม่ไร้ขา

ตื่นเต้น ลุ้น คล้ายการแกะกล่องของขวัญ

หากทารกแรกเกิดควรหนัก ๒-๕ กิโลกรัม และมีความยาวสัก ๕๐ เซนติเมตร

เด็กหญิงที่คลอดก่อนกำหนดก็ปรกติ ด้วยน้ำหนัก ๒,๔๐๐ กรัม ไม่ต้องเข้าตู้อบ

“ตอนพยาบาลอุ้มลูกมา เขาตัวสีแดง หนาวสั่น ฟ้าเปิดผ้าดูก่อนเลยว่ามีขาไหม”

แม้ตลอดระยะตั้งครรภ์หมอจะยืนยันความสมบูรณ์ทั้ง ๓๒ ประการด้วยผลตรวจอัลตราซาวด์ ชี้ให้เธอมั่นใจว่าทารกมีอวัยวะระหว่างสะโพกถึงปลายเท้าเพื่อรับน้ำหนักร่างกายและใช้เคลื่อนที่ได้แน่นอน

“ลึกๆ ในใจเรากังวล วิทยาศาสตร์อาจคลาดเคลื่อนก็ได้นี่ ต่อเมื่อได้สัมผัสของจริงแล้วนั่นล่ะถึงโล่งอก บอกไม่ถูกว่าวินาทีที่ได้เป็นแม่กับได้เห็นขาลูกอย่างไหนดีใจมากกว่ากัน”
ปาฏิหาริย์ทำหน้าที่ของมันจบแล้ว การประคองชีวิตลูกน้อยเป็นหน้าที่ของแม่ต่อ

“คนปรกติเวลาให้นมสามารถวางลูกบนขาได้ ฟ้าไม่มีขาจึงต้องใช้หมอนรองสำหรับให้นมทารกที่เป็นรูปตัวซี วางลูกบนนั้น อยู่โรงพยาบาล ๓ วันหมอก็อนุญาตให้กลับบ้าน จากนั้นจึงเริ่มแบ่งหน้าที่กับสามี เขาเป็นคนอาบน้ำให้ลูก ล้างก้นเวลาอึ ซักผ้า ส่วนฟ้ามีหน้าที่ให้นมลูก ช่วยใส่เสื้อผ้า คอยอยู่ใกล้ลูกตลอดเวลา ช่วงที่สามีต้องไปทำงานแม่สามีจะมาช่วยดูแลบ้าง”
ทารกหญิงผู้เป็นดั่ง “นางฟ้า” ตัวน้อยของแม่ได้ชื่อ “ฮาเล่ย์” สะท้อนสิ่งที่พ่อลุ่มหลง

“สิ่งที่เคยกังวลล่วงหน้าว่าการเลี้ยงลูกต้องลำบากแน่ แม่อย่างเราจะทำได้เหมือนคนปรกติไหม เอาเข้าจริงไม่ได้ลำบากอะไรเลย และความเป็นแม่ก็ไม่มีคำว่าเป็นไปไม่ได้ อย่างไรก็ต้องทำให้ได้”
เพราะเชื่อว่าทุกคนเกิดมาด้วยศักยภาพ ถึงปากกัดตีนถีบอย่างไรก็จะดิ้นรนจนอยู่ได้

“วันที่ฟ้าเกิดจนเติบโตแม่น่าจะเลี้ยงลูกพิการยากลำบากกว่านี้มาก ยิ่งในยุคนั้นไม่มีใครให้ปรึกษาขอข้อมูล และตระกูลเราไม่เคยมีใครพิการเลยแม่ก็ยังผ่านมาได้ สมัยนี้เกิดปัญหาอะไรก็ค้นคว้าหาความรู้ได้ง่ายมาก และลูกเราก็เป็นเด็กปรกติเหมือนเด็กคนอื่นจึงไม่มีอะไรยากเย็น เพียงแต่ฟ้าจะเหนื่อยกว่าแม่ทั่วไปหลายเท่า”

อนาคตจะเป็นอย่างไรพักความคิดไว้ก่อน ปัจจุบันคือเธอมีคู่ชีวิตที่พร้อมร่วมทุกข์สุข

แสดงให้เห็นว่าความแหว่งวิ่นของร่างกายไม่ส่งผลต่อความรักที่คนทั่วไปตั้งคำถาม

ความจริงใจของพ่อเป็นส่วนเติมเต็มความสมบูรณ์ให้แม่และลูกมีสิ่งเพียบพร้อม

“ตอนนี้ฮาเล่ย์อายุ ๒ ขวบครึ่ง เดิน วิ่ง ซุกซนตามวัย เข้าเนอร์สเซอรีแล้ว ฟ้าตั้งใจไว้เลยว่าเมื่อมีได้แค่คนเดียวก็จะเลี้ยงคนนี้ให้ดีที่สุด ไม่ให้เป็นภาระสังคมแน่นอน”

บางวันเราเห็นในเฟซบุ๊กแสดงภาพหญิงสาวผู้มีร่างกายเพียงสะโพกถัดลงมาสักคืบก็เป็นเท้าซ้ายทันที ซึ่งมีลักษณะเป็นติ่งเนื้อก้อนหนึ่ง และนิ้วเท้าที่มีไม่ครบจำนวนนั้นก็หงิกงอเกินใช้การ เธอไม่เคยต้องสวมรองเท้าให้ตนเอง ขณะที่กำลังตั้งใจสวมถุงเท้า-รองเท้านักเรียนให้ลูก

เป็นความสบายใจที่ได้เห็นร่างกายเล็กๆ ตรงหน้าเจริญเติบโตสมส่วนตามวัย

ไม่ใช่แค่ขา เพราะทุกส่วนไม่เว้นแม้เส้นผมล้วนมาจากการทะนุถนอมจากแม่

“ถ้าไม่ติดธุระอะไร ฟ้าจะไปส่งและรับลูกที่โรงเรียนเอง”

บางวันจึงได้เห็นภาพคุณพ่อนักฟิตเนสอุ้มแม่ด้วยแขนขวา อุ้มลูกด้วยแขนซ้าย กระเตงกันไปไหนต่อไหนด้วยกัน บางคราวก็เป็นเจ้าหนูผมแกละฝึกเข็นวีลแชร์ให้แม่ผู้มีร่างกายเพียงครึ่ง

วันผ่านวัน คืนผ่านคืน เมื่อหลายอย่างเข้าที่เข้าทาง เด็กหญิงในบ้านพอดูแลตัวเองได้ก็ประจวบเหมาะกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ที่เธอเคยรับทุนการศึกษาติดต่อกลับมาว่ามีตำแหน่งว่างในงานที่เธอแสดงความจำนงไว้ ภารกิจที่เคยมุ่งมั่นจะเป็นกระบอกเสียงให้ผู้พิการจึงเริ่มต้นคู่ขนานไปกับความเป็นแม่

คล้ายเส้นทางชีวิตกำลังราบรื่น แบบทดสอบหัวใจบทใหม่ก็เข้ามา เมื่อกลับจากโรงพยาบาลพร้อมฟิล์มเอกซเรย์กระดูกสันหลังที่ยิ่งคดงอกว่าเดิมซึ่งแพทย์ไม่แนะนำให้ผ่าตัด เพราะการดัดกระดูกในวัย ๓๔ ปีที่สภาพกายมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตนั้นหากรอดก็อาจเป็นอัมพาต สิ่งควรทำคือเลี่ยงกิจกรรมต่างๆ ที่หนักและไม่นั่งทำงานนานเกินไปเพื่อประคับประคองไม่ให้กระดูกสันหลังคดไปกว่านี้

แม้ไม่ใช่เรื่องหม่นเศร้า เมื่อใครก็มีความไม่สมบูรณ์ทางกาย-ใจด้วยกันทั้งนั้น

ความพร่องทางกายอาจชวนให้กังวลว่านางฟ้าน้อยจะอยู่อย่างไรหากขาดแม่

แต่หัวใจนักสู้ที่สมบูรณ์มาตลอดชีวิตยังน่าเชื่อว่า…NO HARD FEELINGS