เก็บตก บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี..จากการลงพื้นที่ภาคสนาม


 

ช่วงเวลาไม่นานที่ผู้เขียนติดตามพระบิณฑบาต พบว่าการตักบาตรเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่สร้างปัญหาขยะพลาสติกมากที่สุด (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมพระบวชใหม่ที่รู้จักกันมาตั้งแต่ยังเด็ก เพื่อนสนิทคนนี้ตัดสินใจบวชเรียนที่วัดป่าเล็กๆ แห่งหนึ่งทางภาคอีสาน ตั้งใจปฏิบัติธรรมกลางป่าเขาที่ผู้คนไม่พลุกพล่าน ภายในหมู่บ้านอันห่างไกล

รุ่งขึ้นราวตีห้าครึ่ง ผู้เขียนนัดหมายพระบวชใหม่เพื่อเดินตามบิณฑบาตในฐานะลูกศิษย์ ตั้งใจช่วยถือข้าวปลาอาหาร และถือโอกาสเที่ยวชมหมู่บ้านไปในตัว หลังเดินตามพระออกบิณฑบาต สังเกตการใส่บาตรของชาวบ้าน ก็เกิดคำถามตามมาว่า “หรือการตักบาตรจะเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่สร้างปัญหาขยะพลาสติกมากที่สุด ?”

ภายในเวลาชั่วโมงกว่าๆ ระยะทางประมาณ ๗ กิโลเมตร มีถุงพลาสติกที่ใช้ใส่กับข้าวถูกส่งต่อจากญาติโยมด้วยจิตบริสุทธิ์มายังพระสงฆ์ไม่ต่ำกว่า ๓๐-๔๐ ถุงต่อรูป ไม่นับรวมน้ำดื่มบรรจุแก้วพลาสติกและหลอดเล็กๆ อีกมากมาย

แดง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านซึ่งรับหน้าที่เป็นลูกศิษย์ตามพระบิณฑบาตมานานร่วมสี่ปีเล่าว่า ทุกๆ เช้าตนเองจะขับมอเตอร์ไซด์ไปดักรอพบพระตามจุดต่างๆ เพื่อขนถ่ายอาหาร ไม่ให้พระต้องถือของหนักมากจนเกินไป
น้าแดงให้คำตอบเกี่ยวกับจำนวนคนตักบาตรในแต่ละวันว่าพระรูปหนึ่งจะรับของใส่บาตรจากชาวบ้านประมาณ ๑๐-๒๐ ครอบครัว แต่ละครอบครัวจะตักข้าวสวยใส่ลงบาตรก่อน ตามด้วยถุงแกงและกับข้าวชนิดต่างๆ อีก ๑-๒ ถุง

“กลับถึงวัดข้าวสวยทั้งหมดน่าจะหนัก ๑๐-๑๕ กิโลได้ กับข้าวนี่ก็มากมาย เวลาข้าวสวยใกล้เต็มบาตร เราก็จะเทข้าวจากบาตรใส่กล่องพลาสติกท้ายมอเตอร์ไซด์ ส่วนกับข้าวบางวันชาวบ้านถึงขนาดให้ยืมถุงย่ามใส่กับข้าวกลับวัดเลยก็มี” น้าแดงให้รายละเอียดเกี่ยวกับหมู่บ้านชายป่าที่มีวัดอยู่สองวัด แบ่งเป็นวัดป่ากับวัดบ้าน มีพระรวมกัน ๕-๖ รูป

ผู้เขียนสังเกตว่าการตักข้าวสวยนั้นไม่ต้องพึ่งพาถุงพลาสติกแต่อย่างใด ญาติโยมจะตักข้าวจากขันหรือหม้อใส่ลงไปในบาตร แตกต่างจากกับข้าวที่สิ้นเปลืองถุงพลาสติกมาก ทั้งถุงร้อนและถุงพลาสติกแบบหูหิ้ว เกือบทุกชิ้นถูกใช้ครั้งเดียวทิ้ง เนื่องจากเปื้อนไขมันและคราบอาหาร

ตักบาตรข้าวสวยไม่สร้างปัญหาขยะพลาสติกนัก ญาติโยมจะตักข้าวจากขันหรือหม้อใส่ลงบาตร แตกต่างจากกับข้าวที่ใช้ถุงพลาสติกมากทั้งถุงร้อนและถุงพลาสติกแบบหูหิ้ว (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

ตักบาตรข้าวสวยไม่สร้างปัญหาขยะพลาสติกนัก ญาติโยมจะตักข้าวจากขันหรือหม้อใส่ลงบาตร แตกต่างจากกับข้าวที่ใช้ถุงพลาสติกมากทั้งถุงร้อนและถุงพลาสติกแบบหูหิ้ว (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

วัดหลายแห่งโดยเฉพาะวัดในเขตเมืองกำลังเผชิญปัญหาการจัดการขยะพลาสติกที่มาจากกระแสสังคมที่นิยมความสะดวกสบาย พุทธศาสนิกชนนิยมตักบาตรหรือถวายอาหารสำเร็จรูปที่บรรจุอยู่ในถุงพลาสติกใสและถุงพลาสติกหูหิ้ว ถวายเครื่องสังฆทานสำเร็จรูปที่ห่อหุ้มด้วยพลาสติก ไปจนถึงการใช้พวงหรีดดอกไม้สดที่ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้

การจัดงานต่างๆ ไม่ว่างานบุญ งานบวช งานศพ นิยมใช้ภาชนะพลาสติกชนิดครั้งเดียวทิ้ง เช่น แก้วพลาสติก หลอดพลาสติก ช้อนและส้อมพลาสติก ที่ไม่ต้องเสียเวลาล้างทำความสะอาด เลิกใช้งานก็โยนทิ้งทันที พฤติกรรมเหล่านี้ก่อให้เกิดขยะพลาสติกจำนวนมาก เป็นภาระต่อพระและวัดที่ต้องกำจัดทำลาย รวมทั้งเป็นภาระต่อโลก

ที่ผ่านมาหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ได้นิ่งนอนใจ รณรงค์เชิญชวนให้คนไทย “ทำบุญให้ได้บุญ ทำบุญลดขยะพลาสติก” สนับสนุนให้คนไทยลดใช้ถุงพลาสติกในการทำบุญตักบาตร และเตรียมรับมือเทศกาลทำบุญใหญ่ปลายปีคือวันออกพรรษาที่กำลังจะมาถึง ซึ่งจะมีการตักบาตรเทโวอันเป็นการตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง รวมทั้งการทำบุญทอดกฐินอันเป็นงานบุญใหญ่ประจำปีของวัด

เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๖๒ กองส่งเสริมและเผยแพร่ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เผยแพร่คำสัมภาษณ์ของ รัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมว่า “ขอให้คำนึงถึงการทำบุญที่ไม่สร้างภาระทางสิ่งแวดล้อมให้กับวัด ช่วยลดปริมาณขยะและขยะพลาสติก เลือกใช้ภาชนะบรรจุอาหารที่สามารถล้างทำความสะอาดและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เช่น ปิ่นโต กล่องใส่อาหาร เลือกใช้วัสดุธรรมชาติ เช่น ใบตอง ใบบัว แทนการใช้ถุงพลาสติกและกล่องโฟม รวมถึงการใช้ถุงผ้า ตะกร้าใส่ของไปทำบุญ หรือใช้เป็นภาชนะสำหรับใส่จตุปัจจัย เครื่องไทยธรรม ไทยทาน ถวายพระสงฆ์ เพื่อให้การทำบุญใส่บาตรของพุทธศาสนิกชนชาวไทยนับจากนี้ไปเป็นการทำบุญที่ได้บุญอย่างแท้จริง ไม่ก่อภาระทางสิ่งแวดล้อม”

จากข้อมูลของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ปัจจุบันทั่วประเทศมีวัดมากกว่า ๔๐,๐๐๐ วัด เป็นวัดในเขตกรุงเทพมหานครกว่า ๔๐๐ วัด หากแต่ละวัดมีปริมาณขยะเฉลี่ยในแต่ละวัน ๕๐-๖๐ กิโลกรัม อ้างอิงตามข้อมูลปริมาณขยะเฉลี่ยต่อวันของวัด อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ เท่ากับว่าใน ๑ วันจะมีปริมาณขยะในวัดเฉพาะเขตกรุงเทพมหานครสูงถึง ๒๐,๐๐๐-๒๔,๐๐๐ กิโลกรัมต่อวัน หากจัดงานหรือการจัดกิจกรรมในวัดปริมาณขยะจะเพิ่มขึ้นอีกเป็นเท่าตัว หรือสูงถึงประมาณ ๑๐๐ กิโลกรัมต่อวัน

ปัจจุบันวัดหลายแห่งเริ่มตระหนักและให้ความสำคัญกับการจัดการสิ่งแวดล้อมภายในวัด โดยเฉพาะการจัดการขยะ วัดหลายแห่งคัดแยกขยะเพื่อนำขยะที่ยังมีประโยชน์กลับมาใช้ใหม่ เช่น ขยะเศษอาหารนำไปทำปุ๋ยหมักบำรุงต้นไม้ คัดแยกขวดน้ำพลาสติกเพื่อนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ส่งเสริมพวงหรีดทางเลือกเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อ

ทั้งนี้ ผลประเมินการจัดการสิ่งแวดล้อมภายในวัด เมื่อปี ๒๕๖๑ มีวัดที่ผ่านเกณฑ์การจัดการสิ่งแวดล้อมมากกว่า ๑๑๒ วัด แบ่งเป็นวัดที่อยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยมกว่า ๔๓ วัด อาทิ วัดศรีคำชมภู อ.สารภี จ.เชียงใหม่ วัดศรีประทุมวนาราม อ.บ้านฝาง จ.ขอนแก่น

นอกจากการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว การควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อมทั้งคุณภาพอากาศ น้ำ เสียง ก็เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญที่ต้องจัดการให้มีคุณภาพอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

ทุกวันนี้พุทธศาสนิกชนนิยมตักบาตรหรือถวายอาหารสำเร็จรูปที่บรรจุอยู่ในถุงหรือกล่องพลาสติก วัดหลายแห่งกำลังเผชิญปัญหาการจัดการขยะพลาสติกที่มาจากกระแสสังคมที่นิยมความสะดวกสบาย (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

เมื่อถึงเวลาฉัน ข้าวปลาอาหารทั้งหมดถูกวางรวมกันบนโต๊ะ ลูกศิษย์ประเคนอาหารทั้งหมดแล้วพระเลือกตักอาหารที่จะฉัน ตักใส่บาตรรวมกันทั้งข้าวสวย กับข้าว ขนมหวาน ผลไม้ (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

เมื่อถึงเวลาฉัน ข้าวปลาอาหารทั้งหมดถูกวางรวมกันบนโต๊ะ ลูกศิษย์ประเคนอาหารทั้งหมดแล้วพระเลือกตักอาหารที่จะฉัน ตักใส่บาตรรวมกันทั้งข้าวสวย กับข้าว ขนมหวาน ผลไม้ (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

หลังกลับจากบิณฑบาต ตามระเบียบของวัด พระจะนำข้าวปลาอาหารที่ได้ทั้งหมดมารวมกันบนโต๊ะ ข้าวสวยเทรวมในกล่องพลาสติกใบโต กับข้าวมีทั้งเทใส่จานและยังอยู่ในถุงพลาสติก ลูกศิษย์จะประเคนอาหารทั้งหมด พระเลือกตักอาหารที่ฉัน ใส่บาตรปนกันทั้งข้าวสวย กับข้าว ขนมหวาน ผลไม้ พระจะฉันอาหารที่อยู่รวมกันในบาตร

พระบวชใหม่เพื่อนของผู้เขียนยอมรับว่า การตักบาตรเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่สร้างปัญหาขยะพลาสติกมากที่สุด

“อาตมาเองตอนอยู่กรุงเทพฯ เป็นคนไม่ใช้พลาสติก ไม่ใช้ขวดพลาสติก ใช้ถุงผ้า อาหารที่ใส่อยู่ในพลาสติกก็ไม่ซื้อ แต่พอบวชเป็นพระก็ไม่มีทางเลือก ถึงไม่เห็นด้วยที่ขยะเยอะ แต่ก็ยังคิดวิธีไม่ได้ เราเป็นพระบวชใหม่ ไม่ใช่เข้ามาแล้วจะเปลี่ยน เปลี่ยน จะบอกให้ใส่ปิ่นโต ลดพลาสติกมันก็คงยังไม่ใช่”

พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตอย่างน่าสนใจ “สมัยก่อนญาติโยมคงนำอาหารใส่หม้อมาแล้วตักบาตร เดี๋ยวนี้ถ้าทำอย่างนั้นจะรบกวนญาติโยมหรือเปล่า มันจะสร้างความลำบากให้ผู้คนมั๊ย สมมุตว่าให้ทำกับข้าวใส่ปิ่นโต พระมาถึงแล้วก็เท เดือดร้อนกันถ้วนหน้า ทั้งคนใส่บาตรทั้งพระ จากเดิมเขาอาจจะรู้สึกว่าตักบาตรแค่ ๕ นาทีก็จบงาน หรือแม้แต่พระเองถ้าให้ถือปิ่นโตเดินบิณบาต มีกับข้าวก็ถ่ายใส่ปิ่นโต มันอุดมคติในยุคนี้มาก”
อย่างไรก็ตาม พระเพื่อนของผู้เขียนคิดว่าข้อดีที่มีอยู่บ้างคือถ้าหากฉันไม่หมด อาหารที่เหลือจะง่ายต่อการถูกส่งต่อ ส่วนใหญ่จะกระจายให้คนยากคนจนหรือคนงานก่อสร้าง

หลายคนคงทราบดีว่าขยะพลาสติกเป็นขยะย่อยสลายยาก บางชนิดใช้เวลาย่อยสลายมากกว่า ๔๕๐ ปี ปัญหานี้กำลังสะท้อนให้เห็นผลกระทบที่รุนแรง ทั้งการเล็ดลอดออกไปสู่ทะเลจนกลายเป็นแพขยะปริมาณมหาศาลกลางมหาสมุทร การเป็นสาเหตุของการคร่าชีวิตสัตว์ทะเลหายาก ไม่ว่าวาฬ เต่าทะเล หรือพะยูนที่คิดว่าขยะพลาสติกเป็นอาหารแล้วกินเข้าไป การแตกตัวของพลาสติกบางชนิดกลายเป็นไมโครพลาสติกที่มีขนาดเล็กมากจนสามารถปนเปื้อนอยู่ในสัตว์ทะเล ดิน น้ำ อากาศ ที่ย้อนกลับมาสู่เราทุกคน

เมื่อพบว่าสถานที่แห่งหนึ่งที่กำลังประสบกับปัญหาขยะพลาสติกมากที่สุด คือ วัด กิจกรรมที่สร้างขยะพลาสติกมากที่สุด คือ ตักบาตร

ถึงเวลาหรือยังที่เราจะหันมาตระหนักอย่างจริงจังว่า การทำบุญของเรากำลังสร้างบาปต่อโลก ?