ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต
ตามเทวตำนานของแขก พระอรุณ สารถีไร้เพศของพระอาทิตย์ จะคอยถือธนูแผลงศรขับไล่ “ความมืด” อยู่ด้านหน้ารถ นั่นจึงเป็นสาเหตุให้เราได้เห็นท้องฟ้าแดงฉานฉ่ำเลือดทุกเช้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้น ส่วนในคติไทยๆ สารถีของพระอาทิตย์ก็เรียกว่า “พระอรุณ” แต่เป็นเพศชาย คือเป็นเทพบุตร ในงานช่างบางทีก็จะแสดงรูปอรุณเทพบุตรด้วยเทวดาถือช่อหางนกยูงสองมือ งานช่างฝีพระหัตถ์ “สมเด็จครู” สมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ที่ทำภาพอรุณเทพบุตรในลักษณะนี้ก็มีให้เห็นหลายชิ้น ทั้งในตาลปัตร เหรียญที่ระลึก และจิตรกรรมฝาผนัง ช่อหางนกยูงในที่นี้ อาจมีความสืบเนื่องกับภาพนกยูงที่มีความหมายถึงพระอาทิตย์ อย่างในตราสุริยมณฑลของสมเด็จเจ้าพระยาฯ ท้ายรถพระอาทิตย์ก็มีนกยูงเกาะอยู่ตัวหนึ่ง รวมถึงเรามักพบในภาพจิตรกรรมไทยหลายแห่งที่แสดงภาพพระอาทิตย์ด้วยนกยูงรำแพน (คือแผ่ขนหาง) อยู่กลางวงกลมสีแดง คตินี้อาจเริ่มต้นมาจากทางฝั่งพม่าก่อน เช่นมักพบภาพนกยูงในวงกลมที่หมายถึงพระอาทิตย์ ประดับอยู่คู่กับรูปกระต่ายในวงกลมที่หมายถึงพระจันทร์ ขนาบข้างพระแท่นเสด็จออกขุนนางของกษัตริย์พม่ายุคโบราณ ซึ่งคงมีความหมายว่ากษัตริย์เปรียบประดุจพระอินทร์ผู้ประทับบนยอดเขาพระสุเมรุ มีพระอาทิตย์พระจันทร์โคจรอยู่โดยรอบ หรือตามวัดอย่างพม่าที่เป็นไม้แกะสลักทั้งหลัง ก็มีสลักไว้สองข้างประตู ก็มี แต่ “นกยูง” มาจากไหน ? สันนิษฐานว่าอาจมีที่มาจาก “มหาโมรชาดก” นิบาตชาดกที่กล่าวถึงเมื่อครั้งพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญานกยูงทอง ผู้ประพฤติพรหมจรรย์และสวดพระปริตรเป็นคำสรรเสริญพระอาทิตย์ทุกเช้าเย็น จึงรอดพ้นภยันตรายต่างๆ ได้ด้วยอานุภาพแห่งพรหมจรรย์และคาถานั้น มีหน้าบันอุโบสถรุ่นอยุธยาหลายแห่งที่ปั้นภาพประธานไว้เป็นรูปนกยูง เช่นอุโบสถ วัดไผ่ล้อม จังหวัดเพชรบุรี และอุโบสถ วัดภุมรินทรราชปักษี กรุงเทพฯ ที่เดี๋ยวนี้ถูกผนวกรวมไปกับวัดดุสิดารามแล้ว อยู่ตรงเชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าฝั่งธนบุรี-ซึ่งทั้งหมดนี้ ถ้าให้เดา ก็คิดว่าน่าจะมีความหมายถึงพระอาทิตย์เช่นกัน ส่วนคติเรื่องอรุณเทพบุตร สารถีของรถพระอาทิตย์ ผู้ถือช่อหางนกยูง ยังปรากฏต่อมาแม้แต่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งสร้างขึ้นต้นทศวรรษ ๒๔๘๐ ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยทำเป็นรูปเทวดาถือช่อหางนกยูง อยู่เหนือประตูทั้งหกของป้อมตรงกลางซึ่งรองรับพานแว่นฟ้าประดิษฐานรัฐธรรมนูญ ความหมายคงตั้งใจให้เหมือนกับว่า นี่คืออรุณรุ่งแห่ง “สยามใหม่” สยามที่เป็นประชาธิปไตย แต่อาจเพราะมีมากถึงหกองค์ ท่านเลยมัวแต่เกี่ยงกันว่าใครคือ “ตัวจริง” กันแน่ จนอีกแค่สิบกว่าปี ระบอบประชาธิปไตยในประเทศนี้จะอายุครบศตวรรษแล้ว แต่ยังคงมีคนดีอีกมากที่กู่ร้องว่า “คนไทยยังไม่พร้อมๆๆๆ” อรุณรุ่งแห่งประชาธิปไตยจึงดูเหมือนว่าเกือบมาถึงอยู่เสมอ ก่อนหันเหียนกลับไปสู่ความมืดมนอนธการใหม่อีกครั้ง ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ตามเทวตำนานของแขก พระอรุณ สารถีไร้เพศของพระอาทิตย์ จะคอยถือธนูแผลงศรขับไล่ “ความมืด” อยู่ด้านหน้ารถ นั่นจึงเป็นสาเหตุให้เราได้เห็นท้องฟ้าแดงฉานฉ่ำเลือดทุกเช้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้น ส่วนในคติไทยๆ สารถีของพระอาทิตย์ก็เรียกว่า “พระอรุณ” แต่เป็นเพศชาย คือเป็นเทพบุตร ในงานช่างบางทีก็จะแสดงรูปอรุณเทพบุตรด้วยเทวดาถือช่อหางนกยูงสองมือ งานช่างฝีพระหัตถ์ “สมเด็จครู” สมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ที่ทำภาพอรุณเทพบุตรในลักษณะนี้ก็มีให้เห็นหลายชิ้น ทั้งในตาลปัตร เหรียญที่ระลึก และจิตรกรรมฝาผนัง ช่อหางนกยูงในที่นี้ อาจมีความสืบเนื่องกับภาพนกยูงที่มีความหมายถึงพระอาทิตย์ อย่างในตราสุริยมณฑลของสมเด็จเจ้าพระยาฯ ท้ายรถพระอาทิตย์ก็มีนกยูงเกาะอยู่ตัวหนึ่ง รวมถึงเรามักพบในภาพจิตรกรรมไทยหลายแห่งที่แสดงภาพพระอาทิตย์ด้วยนกยูงรำแพน (คือแผ่ขนหาง) อยู่กลางวงกลมสีแดง คตินี้อาจเริ่มต้นมาจากทางฝั่งพม่าก่อน เช่นมักพบภาพนกยูงในวงกลมที่หมายถึงพระอาทิตย์ ประดับอยู่คู่กับรูปกระต่ายในวงกลมที่หมายถึงพระจันทร์ ขนาบข้างพระแท่นเสด็จออกขุนนางของกษัตริย์พม่ายุคโบราณ ซึ่งคงมีความหมายว่ากษัตริย์เปรียบประดุจพระอินทร์ผู้ประทับบนยอดเขาพระสุเมรุ มีพระอาทิตย์พระจันทร์โคจรอยู่โดยรอบ หรือตามวัดอย่างพม่าที่เป็นไม้แกะสลักทั้งหลัง ก็มีสลักไว้สองข้างประตู ก็มี แต่ “นกยูง” มาจากไหน ? สันนิษฐานว่าอาจมีที่มาจาก “มหาโมรชาดก” นิบาตชาดกที่กล่าวถึงเมื่อครั้งพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญานกยูงทอง ผู้ประพฤติพรหมจรรย์และสวดพระปริตรเป็นคำสรรเสริญพระอาทิตย์ทุกเช้าเย็น จึงรอดพ้นภยันตรายต่างๆ ได้ด้วยอานุภาพแห่งพรหมจรรย์และคาถานั้น มีหน้าบันอุโบสถรุ่นอยุธยาหลายแห่งที่ปั้นภาพประธานไว้เป็นรูปนกยูง เช่นอุโบสถ วัดไผ่ล้อม จังหวัดเพชรบุรี และอุโบสถ วัดภุมรินทรราชปักษี กรุงเทพฯ ที่เดี๋ยวนี้ถูกผนวกรวมไปกับวัดดุสิดารามแล้ว อยู่ตรงเชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าฝั่งธนบุรี-ซึ่งทั้งหมดนี้ ถ้าให้เดา ก็คิดว่าน่าจะมีความหมายถึงพระอาทิตย์เช่นกัน ส่วนคติเรื่องอรุณเทพบุตร สารถีของรถพระอาทิตย์ ผู้ถือช่อหางนกยูง ยังปรากฏต่อมาแม้แต่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งสร้างขึ้นต้นทศวรรษ ๒๔๘๐ ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยทำเป็นรูปเทวดาถือช่อหางนกยูง อยู่เหนือประตูทั้งหกของป้อมตรงกลางซึ่งรองรับพานแว่นฟ้าประดิษฐานรัฐธรรมนูญ ความหมายคงตั้งใจให้เหมือนกับว่า นี่คืออรุณรุ่งแห่ง “สยามใหม่” สยามที่เป็นประชาธิปไตย แต่อาจเพราะมีมากถึงหกองค์ ท่านเลยมัวแต่เกี่ยงกันว่าใครคือ “ตัวจริง” กันแน่ จนอีกแค่สิบกว่าปี ระบอบประชาธิปไตยในประเทศนี้จะอายุครบศตวรรษแล้ว แต่ยังคงมีคนดีอีกมากที่กู่ร้องว่า “คนไทยยังไม่พร้อมๆๆๆ” อรุณรุ่งแห่งประชาธิปไตยจึงดูเหมือนว่าเกือบมาถึงอยู่เสมอ ก่อนหันเหียนกลับไปสู่ความมืดมนอนธการใหม่อีกครั้ง ซ้ำแล้วซ้ำเล่า