เรื่อง : Josephine Reynolds
ภาพ : ปิยะวิทย์ ทองสอาด
เมื่อไปถึงสนามบิน แดเนียล ซี โรมูลเดซ ๑ สัปดาห์ภายหลังจากไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนถล่มฟิลิปปินส์เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๖ ภาพที่เห็นนั้นราวกับความฝัน เหมือนเข้าไปอยู่ในฉากถ่ายทำภาพยนตร์ เพียงแต่ว่า “นี่เป็นเรื่องจริงที่สุด”
ท่าอากาศยานภายในประเทศของเมืองทาโคลบันถูกถล่มด้วยลมที่มีความเร็ว ๑๙๕ กิโลเมตรต่อชั่วโมง และคลื่นยักษ์สูง ๔ เมตร อาคารผู้โดยสารของท่าอากาศยานและหอบังคับการบินถูกทำลายอย่างสิ้นเชิง สนามบินใช้การไม่ได้
อย่างไรก็ตามสนามบินเปิดทำการได้อีกครั้งในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ เมื่อเราลงถึงพื้นดิน สมองของเราต้องทำงานอย่างฉับพลัน พยายามดูดซับทุกเรื่องราวที่ได้พบ ไม่มีอะไรเป็นปรกติสักอย่าง
ฝูงชนผู้รอดชีวิตจากไต้ฝุ่นต่างอยากหนีออกจากเมือง พากันผลักรั้วลวดหนาม และอ้อนวอนขอให้ได้ขึ้นเครื่องบินซึ่งมีเที่ยวบินจำกัด
ผู้คนจากหลากหลายประเทศทำงานกันเหมือนมดปลวก เท่าที่เราได้เห็นทั้งทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่เอ็นจีโอจากหลายกลุ่ม และกรรมกรก่อสร้าง ต่างเหน็ดเหนื่อยและกดดันกับการจัดการและควบคุมสถานการณ์ รอบพื้นที่จัดให้มีบริเวณกางเต็นท์หลายแห่ง หนึ่งในนั้นเป็นโรงพยาบาลเคลื่อนที่ขนาดใหญ่ และเต็นท์อีกกลุ่มหนึ่งใช้เป็นสถานที่เก็บศพชั่วคราวของผู้เสียชีวิต
แม้สนามบิน “ใช้การได้” แต่เราทั้งหลายก็จำเป็นต้องช่วยเหลือตัวเอง เรื่องแรกที่เราเผชิญคือต้องพยายามหาว่ากระเป๋าและอุปกรณ์ของเราถูกนำไปไว้ที่ใดหลังจากลำเลียงออกจากเครื่องบินแล้ว ข้าวของทั้งหลายถูกนำใส่รถพ่วงขนาดยักษ์เข้าไปในอาคารผู้โดยสารที่เสียหาย และเทกองรวมกันไว้เป็นภูเขากล่องและกระเป๋า
ฝูงชนผู้เหนื่อยล้าพากันรุมล้อมรถพ่วงเพื่อค้นหาสมบัติส่วนตัวที่ทั้งมีค่าและจำเป็น แพทย์ เจ้าหน้าที่องค์กรเอกชน และนักหนังสือพิมพ์ต่างแย่งชิงพื้นที่ ค้นหากองภูเขากระเป๋าขนาดยักษ์อย่างใจร้อน เป็นภาพที่บ้าคลั่งและโกลาหลอย่างยิ่ง
และในฐานะที่เราเป็น “นักเขียนและช่างภาพสารคดีอิสระ” ที่เข้าไปในสถานการณ์พิบัติภัย มีหลายเรื่องที่อาจสร้างหรือทำลายความสำเร็จของเราได้ อย่างแรกก็คือเป็นเรื่องยากมากที่จะไปให้ถึงสถานที่เกิดเหตุ อุปสรรคแรกคือความสับสน ไปผิดทาง และขาดข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจน
อาจมีการปรับเปลี่ยนเวลาเที่ยวบินต่าง ๆ และเที่ยวบินของทหารมักถูกจับจองโดยเจ้าหน้าที่องค์กรเอกชนที่สำคัญ และนักข่าวที่มีทุนใหญ่และได้รับการสนับสนุนโดยองค์กรขนาดยักษ์ นอกจากนี้ยังมีคนพื้นเมืองจำนวนมากซึ่งอยู่นอกเมืองทาโคลบัน ต่างตกใจและเป็นห่วงบ้านเรือน พวกเขาพยายามกลับมายังบ้านที่ถูกทำลายล้าง ด้วยความหวังอันเลื่อนลอยว่าครอบครัวและเพื่อนฝูงของพวกเขาอาจยังมีชีวิตรอดอยู่ และหาตัวพบแล้ว
ปฏิกิริยาตอบสนองที่รวดเร็ว และความยืดหยุ่นต่อสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญ
เมื่อเราไปถึง เมืองทาโคลบันเพิ่งพ้นจากการฉกชิงวิ่งราวที่แผ่กระจายไปทั่ว และเพราะยังมีกลิ่นอายของอันตรายอยู่ จึงมีการประกาศกฎห้ามออกนอกสถานที่ในยามวิกาลเพื่อความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะหาห้องพักในโรงแรม เพราะโรงแรมเพียงไม่กี่แห่งที่ยังคงเหลืออยู่กลายเป็นบ้านใหม่และฐานปฏิบัติการขององค์กรเอกชน เจ้าหน้าที่สหประชาชาติ นักหนังสือพิมพ์ต่างประเทศ และองค์กรที่มีความสำคัญ อย่างเช่น องค์การแพทย์ไร้พรมแดน หรือ Médecins Sans Frontières (MSF)
ดังนั้นเราต้องหา “ตัวกลางชาวพื้นเมือง” ที่ดีเยี่ยมสักคน เขาเป็นคนสำคัญที่จะทำให้ความพยายามของเราสำเร็จหรือล้มเหลว ตัวกลางของเราเป็นนักหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นซึ่งต้องตกงานและเป็นผู้ประสบความทารุณของพายุไห่เยี่ยนโดยตรง เขาได้พบนักธุรกิจท่านหนึ่งที่เสนอห้องพักในบ้านส่วนตัวให้เราเช่า ทำให้เราไม่ต้องนอนในสวนสาธารณะ และบ้านของสุภาพบุรุษท่านนี้ก็กลายเป็นฐานปฏิบัติการของเรา
บ้านของเขารอดพ้นจากไต้ฝุ่นมาได้ มันตั้งอยู่บนยอดเขา มองลงไปเห็นเมืองที่ถูกทำลายอย่างย่อยยับ อาหารของเราเป็นการปันส่วนอาหารที่เขาเก็บไว้อย่างปลอดภัย มีปลาซาร์ดีนกระป๋องและข้าวเป็นอาหารหลัก ในบ้านมีเครื่องปั่นไฟที่ใช้ปั่นไฟในเวลาจำกัดเพียงไม่กี่ชั่วโมงในช่วงกลางวันของทุกวัน ทำให้พวกเราต้องลงพื้นที่ในตอนเช้า และรีบกลับมาให้ทันช่วงเวลาที่มีไฟฟ้าเพื่อจะติดต่อโลกภายนอกผ่านเครื่องอินเทอร์เน็ต 3G ซ้ำเสรีภาพของเรายังถูกจำกัดด้วยเวลาเคอร์ฟิว หมายความว่าเราต้องกลับมาอยู่หลังประตูบ้านที่แน่นหนาก่อนพลบค่ำ
สัปดาห์ที่ ๒ หลังจากไต้ฝุ่น มีอาหารและน้ำเพียงจำนวนจำกัด ไม่มีไฟฟ้า ทำให้เป็นภาพที่ต่างจากพิบัติภัยครั้งใหญ่ในส่วนอื่นของโลก การทำลายล้างในมาตราส่วนที่ใหญ่กว่ามาก ครอบคลุมพื้นที่ทางภูมิศาสตร์กว้างขวาง หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างถูกทำลายสิ้นซาก ไม่มีโครงสร้างพื้นฐาน ยานพาหนะ น้ำมันเชื้อเพลิง และซากสิ่งปรักหักพังกองเป็นภูเขาตัดขาดถนนหลายสาย อาหาร น้ำ ยา ความช่วยเหลือและรถบรรทุกมีเพียงจำนวนเล็กน้อยที่ส่งมาถึงบริเวณนั้น
บารังเกย์ เมืองท่าของทาโคลบันบริเวณที่มีกระท่อมเล็ก ๆ ของชาวประมงหลายพันหลัง ถูกไต้ฝุ่นทำลายลง เรือบรรทุกขนาดยักษ์จำนวนมากถูกซัดเกยตื้น สิ่งที่เราเห็นคือถนนหลายสายถูกกีดขวางด้วยภูเขาของโลหะที่ถูกบิดเป็นเกลียว ซากปรักหักพังจากไต้ฝุ่น และมีกลิ่นเหม็นจาง ๆ จากศพผู้เสียชีวิตที่รอการค้นหาและขุดค้น ในยามค่ำคืน ผู้รอดชีวิตพากันนำสิ่งของจากซากปรักหักพังมาก่อเป็นกองไฟกองเล็ก ๆ ที่ให้ทั้งแสงสว่างและใช้ทำอาหาร กลิ่นควันพิษจากกองไฟที่ลอยอยู่ในอากาศทำลายปอดของพวกเรา
ก่อนหน้าการมาเยือนของไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน ชุมชนมีการเตรียมตัวรับสถานการณ์ฉุกเฉินไม่เพียงพอ เพราะพวกเขาคุ้นชินดีกับไต้ฝุ่น
ไห่เยี่ยนก็เป็นไต้ฝุ่นลูกที่ ๓๐ ในฤดูมรสุมของปีนี้ อาหาร น้ำ เทียนไข และเวชภัณฑ์ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ถูกนำมาเก็บไว้ที่ชั้นล่างของกระท่อมหลังเล็ก ๆ หรือบ้านตึก
มีการพยากรณ์ถึงคลื่นยักษ์ และรัฐบาลก็ได้ออกประกาศเตือน แต่ข่าวสารที่มาถึงประชาชนในท้องถิ่นนั้นอยู่ในระดับต่ำมาก หากมีการเตือนว่าจะมี “สึนามิ” พวกเขาอาจเข้าใจชัดเจนมากกว่านี้ว่ากำลังจะเจอกับอะไร และนี่เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากจากการจมน้ำ
พระโรมันคาทอลิกรูปหนึ่งเล่าให้ฟังว่าท่านได้ออกไปละแวกวัด พยายามชักชวนให้ชาวบ้านเข้ามาพักพิงในโบสถ์ แต่เกือบทั้งหมดปฏิเสธ เพราะเกรงว่าทรัพย์สมบัติเพียงไม่กี่ชิ้นในบ้านไม้หลังเล็กที่มีค่าของพวกเขาจะถูกขโมย ชาวบ้านไม่เข้าใจว่า “คลื่นยักษ์” (storm surge) ที่ทางการใช้นั้นหมายความว่าอย่างไร เราได้คุยกับบาทหลวงท่านนี้ขณะที่ท่านกำลังตกอยู่ในความโศกเศร้าและหดหู่ใจ ลูกวัดของท่านเกือบทั้งหมดเสียชีวิต
เพื่อนของเราให้ความเห็นว่าในอดีตไต้ฝุ่นจะนำพาลมและความเสียหายมาให้เสมอ แต่ไม่เคยมีพลังน้ำมหาศาลขนาดนี้
ผลของโศกนาฏกรรมคร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า ๖,๐๐๐ ราย และส่งผลให้คน ๑๔ ล้านคนไร้ที่อยู่อาศัย
คนไร้ที่อยู่อาศัยส่วนมากเคยอาศัยอยู่ในบริเวณยากจนที่สุดของเมืองทาโคลบัน พาโล และเลย์ตี บ้านของพวกเขาเป็นเพียงกระท่อมไม้แผ่นบาง ๆ ผู้ตั้งถิ่นฐานชั่วคราวต่างเป็นคนหาเช้ากินค่ำ ชาวประมงและกรรมกรที่อาศัยอยู่ริมฝั่งตามทางพายุพัดผ่าน สูญเสียทุกอย่าง ทั้งครอบครัว บ้านช่อง และงาน เรือประมงและตาข่ายถูกทำลายหมดสิ้น
ตอนนี้ชุมชนกำลังอยู่ในสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะในเดือนธันวาคม ๒๕๕๖ สภาเมืองออกกฎห้ามมีสิ่งปลูกสร้างในระยะ ๔๐ เมตรจากชายฝั่ง แต่คนส่วนมากได้สร้างกระท่อมชั่วคราวตรงที่ตั้งเดิมของพวกเขาแล้ว พวกเขาไม่มีทางเลือก เพราะบริเวณที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ “ปลอดภัย” ตามที่ทางสภาเมืองเสนอให้ไปตั้งถิ่นฐานนั้นยังไม่พร้อม
งบประมาณของเมืองตึงตัวมาก และยิ่งตึงมากเพราะไต้ฝุ่น ความก้าวหน้าในพื้นที่แต่ละบริเวณจึงล่าช้ามาก
สิ่งที่ “มามา” บุคคลสำคัญหญิงในครอบครัวนักธุรกิจที่ก่อตั้งมายาวนานของเมืองทาโคลบัน กลัวมากที่สุดคือว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคตเมื่อความมั่นคงทางอาหาร อันได้แก่ อาหารกระป๋องและข้าวที่บริจาคโดยหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือยุติลง เพราะอาหารหลักของชาวฟิลิปปินส์คือ ข้าว แต่ไห่เยี่ยนได้กวาดผลผลิตไปหมดสิ้น ชาวนาสูญเสียข้าวในฤดูการผลิตเดือนธันวาคม ๒๕๕๖ ทั้งหมด และคงต้องติดกับความยากจนต่อเนื่องไปอีก เมื่อความช่วยเหลือถูกยกเลิก และไม่มีหนทางทำมาหากิน พวกเขาจะเผชิญความยากลำบากมากขึ้นขนาดไหน
อนาคตที่ไม่แน่นอนเป็นภัยพิบัติที่แท้จริงซึ่งรอเผชิญหน้าเหล่าประชาชนผู้โชคร้ายที่ยังมีชีวิตรอดหลังจากพายุพัดผ่าน