เรื่อง : บุษกร รุ่งสว่าง
ภาพ : เพจ “จืด เข็มทอง
ภาพช้างตกเหว : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

“จืด” เข็มทอง โมราษฏร์

เป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มเด็กรักป่าเมื่อปี 2532 จนถึงตอนนี้เป็นเวลา 30 ปีแล้ว ที่เขาเป็น “ครู” ผู้สอนให้เด็กเยาวชนรักและเคารพธรรมชาติ และก็เป็นเวลากว่า 30 ปีแล้วที่เขาเป็น “นักเคลื่อนไหวประเด็นสิ่งแวดล้อม”
นับตั้งแต่การคัดค้านเขื่อนน้ำโจน เรื่องช้างป่าตกเหวนรกปี 2535 เรื่อยมาจนถึงวันนี้ ที่เขาตัดสินใจเดินหน้าต่อสู้อย่างสุดแรงอีกครั้งในฐานะคนรักช้าง ซึ่งเห็นปัญหาการอยู่ร่วมกันของคนกับช้างในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มาอย่างยาวนาน

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2535 เกิดเหตุการณ์ช้างตกเหวนรก 8 ตัว และอีกนับครั้งไม่ถ้วนทั้งก่อนหน้าหรือหลังจากนั้น รวมยอดออกมาไม่ต่ำกว่า 30 ตัว ตั้งแต่จัดตั้งอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

จนเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่อุทยานชาติเขาใหญ่ได้สรุปยอดการตายของช้างป่าครั้งล่าสุดเป็น 11 ตัว

การตายของช้างป่าที่เกินรับไหวเป็นแรงกระตุ้นให้จืด เข็มทอง โพสต์เรื่องร้องเรียนถึง นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สรุปเป็นสองประหลักคือ

1. การบกพร่องต่อหน้าของเจ้าหน้าที่ ที่ไม่มีเวรยามป้องกันในจุดอันตราย
2. การสร้างจุดบริการนักท่องเที่ยวที่ทับเส้นทางเดินดั้งเดิมของช้างป่า

จึงเกิดเป็นข้อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่อุทยานฯ เข้มงวดกับการสกัดกั้นช้างป่าให้พ้นจากแนวอันตราย และเร่งรื้อถอนจุดบริการนักท่องเที่ยวเพื่อคืนทางเดินดั้งเดิมแก่เหล่าช้างป่า

โพสต์ดังกล่าวเกิดเป็นกระแสไปทั่วโลกโซเซียล ทำให้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ต้องออกมาแถลงการณ์ตอบข้อร้องเรียนของจืด เข็มทอง เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา โดยสรุปคือ

1. ทางอุทยานฯ ปรับลดจำนวนเจ้าหน้าที่ดูแลในจุดอันตรายลง เนื่องจากพฤติกรรมของช้างป่าที่เดินเข้าเส้นทางน้ำตกเหวนรกมีจำนวนน้อยลง
2. น้ำตกเหวนรกเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมสูงในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ การก่อสร้างร้านอาหาร ลานจอดรถ ห้องน้ำ ศาลาพัก ร้านขายของที่ระลึก เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกและให้บริการแก่นักท่องเที่ยว เพื่อมุ่งเน้นให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับธรรมชาติ สร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ขณะที่บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ขญ.20 (เหวนรก) เป็นจุดปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในส่วนงานป้องกันและปราบการกระทำผิดกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ จึงเป็นสิ่งปลูกสร้างที่มีความสำคัญและไม่ได้มีมากจนเกินความจำเป็น ทั้งยังกลมกลืนกับภูมิประเทศ จนสัตว์ป่าคุ้นชิน ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตอยู่ของสัตว์ป่าแต่อย่างใด

ขณะ “สารคดี” โทรสัมภาษณ์ จืด เข็มทอง เมื่อบ่ายวานนี้ (10/10/2562) ในเรื่องที่เกิดขึ้นพร้อมเล่าถึงคำชี้แจงของอุทยานฯ ซึ่งขณะนั้นตัวเขาเองยังไม่ทราบเรื่องด้วยตนเอง แต่เท่าที่ฟังจากที่ “สารคดี” ถ่ายทอด เขาบอกว่าดีใจที่อย่างน้อยเรื่องที่เขาผลักดันนั้นเป็นประเด็นให้ทางอุทยานฯ ได้คิด

“ผมอยากตั้งคำถามกับกรรมการบริหารเขาใหญ่ต่อว่า แต่ละปีที่ผ่านมาได้พูดถึงข้อตกลงที่มีร่วมกันเกี่ยวกับการจัดเวรยามระหว่างต้นฝนไปถึงปลายฝนที่จุดสกัดตรงเหวนรกหรือเปล่า จริงๆ ปัญหานี้มีมานานแล้ว ที่ผ่านมาใช้เจ้าหน้าที่ไม่เยอะเลย และเจ้าหน้าที่ที่ใช้อยู่ตรงจุดสกัดนั้นจะเป็นเวลากลางคืน ไปดูรายการทุ่งแสงตะวันตอนช้างตกเหวนรก เขาใช้เจ้าหน้าที่ดูแลจุดนั้นแค่คนเดียว”

จืดเล่าต่อว่าเมื่อครั้งที่เกิดเหตุการณ์ช้างตกเหวนรกเมื่อปี 2535 ได้มีการยื่นข้อเสนอให้ทางอุทยานฯ ดูแลจุดสกัดเส้นทางการเดินของช้างไม่ให้เข้าใกล้จุดเสี่ยงอันตรายในเขตพื้นที่ใกล้เหวนรก แต่เมื่อเวลาผ่านไปเกิดการเปลี่ยนบุคลากรต่างๆ ตรงนี้เองที่อาจเป็นช่องโหว่ในการป้องกันพื้นที่

ทางออกเดียวในสายตาของจืดจึงเป็นการจัดระเบียบพื้นที่ตรงจุดนั้นใหม่ เพื่อเปิดช่องทางให้ช้างได้เดินบนเส้นทางดั้งเดิมซึ่งถูกทับด้วยสิ่งปลูกสร้างอันอำนวยความสะดวกสบายต่างๆ แก่นักท่องเที่ยว

“ถ้ามันไม่ข้ามตรงนั้น ปัญหาก็ไม่เกิด แล้วเราจะกั้นยังไงไม่ให้มันข้ามตรงนั้น เราขยับให้มันกว้างขึ้นได้ไหม? ทำพื้นที่กันชนระหว่างจุดอันตรายกับจุดปลอดภัยขึ้นมา เหมือนเป็นพื้นที่สีแดง สีเหลือง สีเขียว ตอนนี้มีแต่พื้นที่สีแดง สำหรับช้างตัวใหญ่นั้นไม่มีปัญหา แต่ว่าช้างตัวเล็กนี่สิ เพราะว่าลูกช้างตกก่อน ตายก่อน แต่ว่าสังคมช้างเขาช่วยเหลือกัน มันเป็นสายใยความรักความผูกพัน”

แต่หากอุทยานฯ ยืนยันว่าสิ่งปลูกสร้างไม่ใช่ปัญหา จืดคิดจะทำยังไงต่อ ?

“จะเอาคนอย่างเดียว ไม่เอาช้างเหรอ ? ถ้าจะเอาทั้งคนทั้งช้าง ทั้งนักท่องเที่ยวทั้งธรรมชาติ ก็จะต้องหาจุดร่วมกัน ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม หรือทำประชาพิจารณ์ อย่างกรณีทางลอดเขาใหญ่-ทับลาน อันนั้นคือการมีส่วนร่วม คือความเป็นประชาธิปไตย”

ในความเห็นของจืด เขายืนยันว่า เริ่มแรกสิ่งที่ต้องทำแน่ ๆ คือการรื้อสิ่งปลูกสร้าง เพราะคือปัญหา การที่อยากให้คนใกล้ชิดธรรมชาติ ได้เข้าไปศึกษาเรียนรู้เพื่อปลูกฝังการอนุรักษ์นั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่ทุกอย่างคงต้องมีขอบเขต

ความเคารพต่อธรรมชาติเป็นสิ่งสำคัญ คนที่จะเข้าไปต้องเข้าใจตรงนี้ก่อน

ความสะดวกสบายของนักท่องเที่ยวไม่ควรเป็นข้ออ้างในการทำลายธรรมชาติ หากย้ายจุดบริการนักท่องเที่ยวไปตั้งทางเขาสมอปูน ซึ่งห่างจากจุดบริการเดิมเพียง 50 เมตร ให้นักท่องเที่ยวเดินเพิ่มอีกหน่อย เพื่อเปิดทางเดินดั้งเดิมให้ช้าง ก็เป็นความลำบากที่ควรแลก

จืดคิดว่าคนที่มาเที่ยวและมีใจอนุรักษ์จริง ๆ จะเห็นด้วยอย่างแน่นอน

ขณะนี้จืดตัดสินใจส่งเสียงถึงผู้มีอำนาจในการจัดการเรื่องราวทั้งหมดด้วยวิธีของเขาเอง

คือการปักหลักประท้วงด้วยสันติวิธี อดข้าวอดน้ำ เพื่อรอฟังข้อสรุปว่าจะรื้อถอนจุดบริการนักท่องเที่ยวในบริเวณที่ทับเส้นทางเดินขอช้างหรือไม่

กับคนที่ตัดสินใจแน่วแน่เยี่ยงนี้แล้ว น่ารู้ว่าธรรมชาติสำหรับเขาคืออะไร ?

“ในความรู้สึกของผม ธรรมชาติคือศาสนา คือพ่อของทุกศาสนา ไม่มีศาสดาคนใดที่เกิดมาแล้วอยู่ได้โดยไม่อาศัยธรรมชาติ ธรรมชาติคือวิวัฒนาการ มันสร้างสิ่งต่างๆ ขึ้นมา สุดท้ายจุดกำเนิดก็คือธรรมชาติ ไม่ว่าจะใครต่อใคร ควรที่จะเคารพและศรัทธาธรรมชาติ ไม่ควรที่จะย่ำยี

“แต่ธรรมชาติยังได้รับการคุ้มครองด้วยกฎหมายต่ำ คนยังรับรู้กันแล้วเฉยๆ ไม่มี action เคาะคีย์บอร์ดพูดอะไรยังไงได้หมด แต่ว่ายังไม่มีอะไรที่เป็นรูปธรรม”

ก่อนวางสายกันไปจืดเน้นย้ำกับ “สารคดี” ด้วยน้ำเสียงมุ่งมั่น

“ผมรับประกันครับ ภายใน 11 วัน ต้องมีมติ และ สอง ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการหาทางออก”

แสดงว่าจะดับเครื่องชนเลย ?

“ที่ผ่านมาผมประท้วงคนเดียวตลอด คนอื่นหากเขาเห็นดีด้วยเขาก็ตามมาเอง อย่างที่หน้าผาเดียวดายผมก็ทำมาแล้ว”

จืดตอบกลับหนักแน่น แม้ไม่ได้เห็นแววในตาเขา แต่ก็รู้ได้จากน้ำเสียงว่าเขาเอาจริง เหมือนกับครั้งที่ผ่าน ๆ มา

ปลายทางของเรื่องนี้จะเป็นไปตามที่จืดคาดหวังไว้ไหม

ยังเป็นข้อขบคิดที่เราทุกคนควรให้ความสำคัญ

ปัญหาช้างตกเหวนรกที่เขาใหญ่อาจเป็นเพียงหนึ่งจิ๊กซอว์ที่สะท้อนปัญหาอื่นๆ ของงานอนุรักษ์บ้านเรา ซึ่งก่อนจะเกิดการป้องกันที่เข้มแข็งก็มักมีโศกนาฏกรรมความสูญเสียมาก่อน

จะเป็นไปได้ไหมที่เราจะตระหนักถึงความสำคัญของธรรมชาติ และหาทางป้องกันอย่างจริงจัง ก่อนความสูญเสียจะเกิดขึ้นอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่าในอนาคต

และเราทั้งหมดต้องมานั่งรู้สึกสลดใจกันอีกครา