เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

 

๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๙

ประชาชนของพระราชารัชกาลที่ ๙ พร้อมใจกันมาส่งเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตลอดเส้นทางอัญเชิญพระบรมศพจากโรงพยาบาลศิริราชจนถึงพระบรมมหาราชวัง

บริเวณแยกศิริราช จุดตัดระหว่างถนนวังหลังกับถนนอรุณอมรินทร์  เด็กชายวัย ๕ ขวบยืนชูรูปกษัตริย์ภูมิพลขนาด A3 สุดสองแขน ท่ามกลางฝูงชนสวมชุดดำที่มาเฝ้ารอส่งเสด็จตามกำหนดเส้นทางเคลื่อนขบวน

และภาพนั้นก็ได้บันทึก-ปรากฏบนปกนิตยสาร สารคดี ฉบับที่ ๓๘๐ เดือนตุลาคม ๒๕๕๙

“เช้านั้นคุณแม่จอดรถที่ถนนลาดหญ้า นั่งตุ๊กตุ๊กไปกรมอู่ทหารเรือพบว่าปิดถนน จึงต่อมอเตอร์ไซค์ไปศิริราชถึงตอน ๑๐ โมงเช้า ได้รอแถวหน้าสุด คุณหมอโรงพยาบาลศิริราชกำลังแจกรูปในหลวง จึงเรียกลูกเรา
ไปรับ”

กฤษฎาพร มาปากลัด ย้อนที่มาของพระบรมฉายาลักษณ์ที่ด้านล่างพิมพ์ข้อความด้วยอักษรสีขาว

“13 ตุลาคม 2559” อีกบรรทัดมีข้อความ “ในหลวงของแผ่นดิน” บนพื้นแถบสีดำ

“เพื่อนคนหนึ่งส่งอินบ็อกซ์มาในเฟซบุ๊กว่าลูกเราได้ลงปกนิตยสาร

ซึ่งทีมงานกำลังตามหาผู้ปกครอง ก็พอเดาได้ว่าน่าจะเป็นเหตุการณ์วันที่ ๑๔

เพราะตอนนั้นมีคนถ่ายภาพน้องเยอะมาก เพื่อนจึงช่วยติดต่อทีมงาน  พอเห็นภาพน้องบนปกก็ปลื้มมาก รู้สึกเป็นเกียรติ เพราะมีคนหลักแสนที่ไปอยู่รวมกันบริเวณนั้น แต่ลูกเราเป็นคนที่ได้รับเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งบันทึกประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของประเทศ”

คุณแม่วัย ๒๘ ปีเล่าบรรยากาศว่าเธอกับลูกรอส่งเสด็จอยู่ที่เดิมทั้งวันโดยไม่ได้กินข้าวตั้งแต่เช้า อาศัยความอารีจากคุณลุงท่านหนึ่งแบ่งขนมปังให้ เมื่อเจ้าตัวเล็กปวดฉี่ก็ต้องให้ใส่ขวด พอง่วงก็งีบอยู่ตรงนั้นสลับกับตื่นมาดูยูทูบคลายเบื่อบ้าง กระทั่งถึงช่วงเวลาสำคัญ

ที่พสกนิกรต่างรอคอย หลายคนร่ำไห้ จนขบวนรถตู้สีครีมที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ตามขบวนอัญเชิญพระบรมศพผ่านไป เธอกับลูกจึงได้ถอยห่างจากฝูงชนในเวลาเกือบ ๑ ทุ่ม

“คุณแม่ชอบเล่าให้น้องฟังว่ารู้ไหมทำไมตุลย์จึงเกิดที่โรงพยาบาลศิริราช เพราะปี ๒๕๕๔ ที่ตุลย์เกิดในหลวงท่านรักษาพระองค์อยู่ที่นั่น ยังจำได้ว่าประทับอยู่ชั้น ๑๖ อาคารเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งแม่อยากมีโอกาสชื่นชมพระบารมีในหลวงสักครั้งในชีวิต จึงวางแผนไปฝากท้องกับโรงพยาบาลนั้น  แม้สุดท้ายจะไม่มีโอกาสเฝ้ารับเสด็จแต่แม่ก็ดีใจนะที่ตุลย์ได้เกิดที่โรงพยาบาลศิริราช สถานที่เดียวกับที่ในหลวงเสด็จขึ้นสวรรค์ น้องก็เข้าใจที่เราพูดนะ”

แม่เลี้ยงเดี่ยวย้อนเล่าพื้นเพชีวิตที่หล่อหลอมความรักต่อพ่อของแผ่นดิน

“ครอบครัวเราเชื้อสายมอญ นามสกุลนี้ใครเห็นก็รู้ว่าเป็นคนพระประแดง บรรพบุรุษมาพึ่งพระบารมีแผ่นดินไทยก็พลอยได้มีอาชีพ มีที่ดินปลูกข้าว ทำสวนมะพร้าว สวนผลไม้ผสมผสาน มีวังกุ้ง วังปลา เลี้ยงไก่ชน มีที่อยู่อาศัยได้ใช้ชีวิตอย่างคนไทยชนบท เป็นบุญคุณที่ชาวมอญพระประแดงสำนึกต่อกันมา  พ่อแม่เราสอนเสมอว่าในหลวงทรงทำทุกอย่างเพื่อให้คนไทยอยู่ดีกินดี เราเองก็นึกอยากตอบแทนบุญคุณแผ่นดินมาตลอด  สมัยเป็นเด็กได้เรียนหนังสือในโรงเรียนที่ปลูกฝังเรื่องความจงรักภักดีต่อในหลวง ได้รับแจกสมุดหรือเครื่องเขียนที่มีรูปในหลวง แล้วยังได้เห็นพระราชกรณียกิจของพระองค์ผ่านสื่อต่าง ๆ ก็ยิ่งซึมซับ  ถึงคราวมีลูกจึงอยากส่งต่อ เพราะเราก็ไม่รู้ว่าในอนาคตสถาบันการศึกษาที่ก้าวไกลจะยังเคร่งครัดการอบรมเรื่องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เหมือนในยุคที่เราเคยผ่านมาไหม แต่เราไม่อยากให้ลูกมองข้ามสิ่งสำคัญนี้ จึงรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ที่เราต้องเติมเต็มไว้ให้”

แม่วัยปลาย ๒๐ เล่าว่าทันทีที่รู้ข่าวจากประกาศสำนักพระราชวัง

เธอบอกให้ลูกเตรียมตัว พรุ่งนี้เช้าจะไปส่งเสด็จ  ครั้นอยู่ในบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความเศร้าโศก ทั้งรู้เด็กชายก็ยังอดสงสัยไม่ได้

“เขาร้องไห้กันทำไม ในหลวงเป็นอะไรเหรอแม่  เราก็อธิบายเหมือนเดิมว่าในหลวงเป็นเทวดา ท่านเหนื่อยมามากแล้ว ท่านไม่สบาย ถึงเวลาที่ท่านต้องกลับไปพักผ่อนบนสวรรค์แล้ว”

จากวันนั้นสองแม่-ลูกยังได้ตามไปร่วมถวายความอาลัยหน้ากำแพงพระบรมมหาราชวัง รวมถึงวันที่ประชาชนจากทั่วสารทิศมารวมพลังร้องเพลง “สรรเสริญพระบารมี” บริเวณท้องสนามหลวง เธอกับลูกยังนำข้าวเหนียวหมู และน้ำ ไปแจกให้เหล่าจิตอาสาที่มาช่วยงานรอบดึก

“แม่พาหนูไปห้าครั้งแล้ว - ไปบ่อย ๆ ก็เหนื่อย - ชอบวันแรกที่สุด ไปส่งในหลวงขึ้นสวรรค์ที่โรงพยาบาลศิริราชครับ มีคนถ่ายรูปกับสัมภาษณ์หนูด้วย - เขาร้องไห้กัน หนูไม่ร้อง แต่หนูร้อนมากกว่า -ได้โบกธง แล้วก็ได้รูปในหลวงกลับบ้านครับ แม่บอกให้เก็บไว้ไม่ให้หาย - แม่พาไปวันที่จุดเทียนด้วย แต่หนูไม่ได้จุด แม่ไปแจกข้าวกับหมู”

น้องตุลย์-เด็กชายจุลณทรัพย์ มาปากลัด พยายามทบทวนความทรงจำที่เขาได้พบเห็นตลอดหลายวันที่ผ่านมา

เวลานี้เปิดเทอมแล้วจึงนัดหมายคุณแม่มาสนทนากันที่สนามเด็กเล่นภายในโรงเรียนอนุบาลเจริญพงศ์ย่านสุขุมวิท ๑๐๗  ไม่เฉพาะเด็กชายผู้ได้ขึ้นปกสารคดี  เพื่อนวัยอนุบาลคนอื่นในโรงเรียนแห่งนี้ต่างก็สวมชุดนักเรียน ติดริบบิ้นดำไขว้ปลายเป็นรูปโบเล็ก ๆ ที่แขนเสื้อข้างซ้าย ซึ่งครูและผู้ปกครองช่วยกันทำมาแบ่งปัน

“เดี๋ยวนี้เวลาจะออกนอกบ้านไปไหนเขาจะบอกว่าแม่อย่าลืมติดริบบิ้นให้หนูนะ”

ถูกคุณแม่แซวเข้าเด็กชายวัยอนุบาล ๒ ก็อมยิ้ม พลันหนีไปสนุกผาดโผนต่อกับเครื่องเล่นสีสันสดใสในสนาม  กฤษฎาพรมองตามลูกน้อยพลางเล่าถึงการปลูกฝังที่ทำให้เด็กเล็กวัยนี้รู้จักในหลวงรัชกาลที่ ๙ จริง ๆ

“ตั้งแต่น้องตุลย์อายุ ๓ ขวบ คุณแม่จะชอบพาน้องไปจุดเทียนตามห้างที่มีจัดพิธีจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคลเนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  หรือเวลาเขามาขอเงิน พอให้ไปเขาก็จะถามว่าคนในรูปนี้เป็นใคร คุณแม่ก็จะคอยอธิบาย

ยังมีคำถามต่ออีกว่าแล้วใครคือในหลวง คุณแม่ก็จะเปรียบเทียบให้เขาฟังว่าที่โรงเรียนมีครูใหญ่เป็นผู้นำใช่ไหม ในหลวงก็คือพระมหากษัตริย์เป็นผู้นำสูงสุดของประเทศไทย น้องก็เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง  เวลาได้ยินเพลงชาติเขาก็จะชอบถามว่าร้องเพื่ออะไรเหรอแม่ ทำไมเราต้องยืนตรง ทำไมต้องทำความเคารพ  ก็จะปลูกฝังเขาไปว่าในหลวงมีบุญคุณกับคนไทยนะลูก เวลาอยู่บ้านคุณแม่ก็จะสอนให้เขาไหว้รูปในหลวงก่อนนอน จนกระทั่งไปโรงหนังแล้วต้องยืนขึ้นตอนมีเพลง ‘สรรเสริญพระบารมี’ น้องก็จะถามว่าคนนี้ในหลวงใช่ไหมแม่ หรือทำไมในมือถือแม่ต้องมีรูปในหลวง แสดงว่าเขาจดจำในหลวงได้แล้ว”

เมื่อเล่นจนเหนื่อยเด็กน้อยวิ่งกลับมานั่งพักข้างแม่ ขอดูนิตยสารที่มีรูปตัวเองบนปก พลิกกระดาษแต่ละหน้าดูภาพด้านใน  เครื่องอัดเสียงยังคงทำหน้าที่ เราปล่อยให้เขา-เธอถามตอบกันเจื้อยแจ้ว

“แม่นี่ในหลวงทำอะไร” “ในหลวงรับดอกไม้จากประชาชนครับ” / “แม่นี่ในหลวงทำอะไร” “ในหลวงขึ้นครองราชย์ครับ” “ขึ้นครองราชย์เหรอแม่” / “แม่นี่ในหลวงปลูกข้าวใช่ไหม” / “แม่ครับ หมาในหลวงชื่ออะไร” “คุณทองแดงไงครับ” / “แม่นี่ในหลวงกำลังถ่ายภาพ” / “แม่ในหลวงเสด็จสู่สวรรคาลัย” “ในหลวงรักหนู ในหลวงรักประชาชนทุกคน”

แล้วจู่ ๆ เด็กชายในชุดนักเรียนก็ปิดหนังสือชูสารคดี ขึ้นสุดสองแขน ปรากฏเป็นภาพซ้อนกับเด็กที่สวมชุดดำชูพระบรมฉายาลักษณ์

แน่นอนว่าช่างภาพนิตยสารบันทึกนาทีนั้นไว้ได้อีกครั้ง

“เรายังหวังว่าเมื่อน้องเติบโตขึ้นแล้วได้กลับมาเห็นตัวเองบนปกนิตยสารนี้ เขาจะนึกย้อนไปถึงเรื่องราวต่าง ๆ ของในหลวงที่คุณแม่ปลูกฝัง น่าจะเป็นสิ่งหนึ่งช่วยกระตุ้นให้เขาไม่หยุดเป็นคนดี”

กฤษฎาพรระบายยิ้มอ่อนโยนให้เยาวชนตัวเล็กผู้เป็นอนาคตของแผ่นดิน