ลูกๆ ของพ่อ – จดหมายเหตุงานพระบรมศพรัชกาลที่ ๙ ฉบับประชาชน

ลูกๆ ของพ่อ - จดหมายเหตุงานพระบรมศพรัชกาลที่ ๙ ฉบับประชาชน

ร้อยรักนักประณีตศิลป์

 

เรียบเรียง : สุชาดา ลิมป์
สัมภาษณ์และภาพ : สุนันท์ คุณากรไพบูลย์ศิริ

จะมีสักกี่งานที่จัดโดยคนไทยทุกเพศวัยหลายสิบล้านคน

อาจเป็นวาระเดียวในชีวิตที่คนรุ่นปัจจุบันจะได้เห็นการระดมกำลังศาสตร์-ศิลป์ที่เป็นภูมิปัญญาของบรรพชน โดยช่างฝีมือแขนงต่าง ๆ จากหลายสถาบัน ร่วมเนรมิตจนปรากฏสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศอันทรงคุณค่า สุดแสนประณีต ละเอียดอ่อน และสมบูรณ์แบบ ภายในระยะเวลาไม่ถึงปี

หนึ่งในนั้นคือ “กลุ่มประณีตศิลป์ สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร” รับผิดชอบงานประติมากรรมประดับพระเมรุมาศ เช่นฉัตร จิตรกรรมฉากบังเพลิง และจิตรกรรมโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริภายในพระที่นั่งทรงธรรม จัดสร้างพระโกศจันทน์และพระโกศพระบรมอัฐิ บูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ จัดทำธงสามชายงอนราชรถ รวมถึงออกแบบเครื่องสังเค็ด ฯลฯ

ซึ่งทั้งหมดไม่อาจรังสรรค์ขึ้นได้ด้วยลำพังฝีมือช่างชั้นบรมครู

“ตั้งแต่สำนักช่างสิบหมู่เปิดรับอาสาสมัครก็ตั้งใจว่าหากมีส่วนใดพอช่วยได้ก็ขอทำหมด พอรู้ว่าได้ช่วยในส่วนซ่อมราชรถ

และสร้างเครื่องประกอบราชยาน เราก็พยายามหาความรู้เพิ่ม

เจ้าหน้าที่คอยสอนงานที่เราไม่เคยทำมาก่อน อย่างลงรัก ปิดทอง ประดับกระจก ปักผ้า ทุกคนทุ่มเทสุดหัวใจให้ออกมาอย่างสมพระเกียรติ แม้เทียบไม่ได้กับความเหน็ดเหนื่อยตลอด ๗๐ ปีที่พระองค์ทรงทุ่มเทพระวรกายทำเพื่อพสกนิกร แต่นับเป็นความภูมิใจที่เราได้ทำอะไรตอบแทนพระองค์บ้าง”

ความรู้สึกของ จารุณี นุชสุดสวาท ไม่ต่างจากจิตอาสากลุ่มประณีตศิลป์ฯ รายอื่น บางคนอาจได้รับผิดชอบเพียงงานผ้าระบายต่าง ๆ ทว่าใช้ประกอบชั้นฉัตรของพระมหาพิชัยราชรถก็ถือเป็นบุญชีวิต

“เราได้มีส่วนร่วมในการบูรณะลงรักปิดทองพระที่นั่งราเชน-ทรยานและพระที่นั่งราเชนทรยานน้อยองค์ใหม่ ถือเป็นบุญมากที่ได้มีส่วนทำอะไรเพื่อพระองค์บ้าง แม้จะเป็นส่วนงานเล็ก ๆ ก็ตาม”

ที่สุดของความภูมิใจคือ อุไรวรรณ สิงคารวานิช ไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะได้ใช้วิชาปิดทองที่ครั้งหนึ่งเธอร่ำเรียนมาเพื่อปิดทองในห้องพระบ้านตนเอง เช่นเดียวกับเพื่อนอาสาสมัครอีกหลายรายที่นำความรู้ทางศิลปะ-งานช่างมาร่วมกันติดตั้งประดับล้อ เขียนลายรดน้ำ แกะสลัก งานไม้ งานโลหะ งานศิราภรณ์ ปั้นปูน ฯลฯ เพื่อให้ได้ประติมากรรมชิ้นเอกทุกชิ้นประดับพระเมรุมาศ

“เป็นเรื่องดีมากเลยที่กรมศิลป์ให้ประชาชนได้ช่วยงานในส่วนต่าง ๆ แต่แรกเราหวังเพียงว่าให้สำเร็จออกมางดงามที่สุดก็รู้สึกภูมิใจมากแล้ว แต่สิ่งที่ตามมากลับยิ่งใหญ่กว่าที่คาดฝัน เมื่อผลงานได้รับการเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปได้เห็นการสืบสานศิลปะที่เป็นดั่งสมบัติของชาติจนเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก นับว่าเป็นโอกาสล้ำค่าที่สุดแล้ว แม้พระองค์จะไม่ทรงรับรู้ แต่พสกนิกรทุกคนรู้ว่าพวกเราทำเพื่อใคร”

นัยนา ศุภพันธุ์ภิญโญ สะท้อนความสำเร็จเกินประเมินค่าจากพลังสองมือของจิตอาสาที่ผ่านการหลอมรวมองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งต่อให้ไม่ใช้เงินหลวงสักบาท เชื่อว่าประชาชนก็จะรวมพลังจัดงานพระราชพิธีให้เกิดขึ้นอย่างสมพระเกียรติจงได้ ด้วยเป็นโอกาสที่จะได้ทดแทนบุญคุณพ่อหลวงของแผ่นดิน

แล้วเมื่อถึงวันที่ริ้วขบวนอัญเชิญพระบรมอัฐิและพระบรมราชสรีรางคารด้วยพระที่นั่งราเชนทรยานและพระที่นั่งราเชนทรยานน้อยเคลื่อนผ่าน หรือเมื่อพระเมรุมาศเปิดให้ประชาชนเข้าชม คงมิได้มีเพียงพวกเขา-คนเบื้องหลังกลุ่มประณีตศิลป์ฯ ที่ตั้งตารอชมผลงานศิลปกรรมอันตระการ

วาระแห่งความเศร้าโศก คนทั้งโลกจะได้ประจักษ์ความยิ่งใหญ่ในศิลปะทุกแขนงของไทย

อันเกิดจาก “ความรักแสนประณีต” ที่คนไทยตั้งใจถวายกษัตริย์ผู้เป็นที่เทิดทูนเหนือชีวิต

อาสาพยาบาล

เรื่อง : สุภัชญา เตชะชูเชิด
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช

ตลอดระยะเวลาเกือบ ๑ ปีที่เปิดให้ประชาชนเข้ากราบถวายบังคมพระบรมศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง นอกจากเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และอาสาสมัคร ที่คอยอำนวยความสะดวกแล้วยังมีทีมพยาบาลชุดขาวใจดี ทั้งหมดล้วนเป็นอาสาสมัครที่ตั้งใจใช้วันหยุดมาทำหน้าที่นี้

“เขาให้ลงชื่อไปค่ะ พยาบาลทุกคนก็อยากไปนะ อยากเป็นพยาบาลของพระราชา คอยดูแลประชาชน มีคนลงชื่ออาสากัน คิวยาวเป็นปีเลย”

“เดียร์” สุรีย์พร โพธิ์ช่วย พยาบาลวิชาชีพ หนึ่งในทีมอาสาสมัครเล่าให้ฟัง ก่อนเสริมว่า

“ดีใจมากที่ได้ไปอาสาที่สนามหลวงเพราะว่ามีโอกาสน้อย  พยาบาลเวลาอยู่ในโรงพยาบาลก็ได้ดูแลคนป่วย แต่ไปตรงนั้นก็เป็นประสบการณ์หนึ่งที่เราได้ใช้วิชาชีพให้เป็นประโยชน์กับสังคม”

พยาบาลอาสาสมัครมีหน้าที่ดูแลงานบริบาลในกรณีฉุกเฉิน เช่น มีผู้ได้รับบาดเจ็บ เป็นลม ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพ และยังบริการขนม เครื่องดื่ม หรือให้ความอบอุ่นใจแก่ประชาชนที่ต้องรอเข้ากราบถวายบังคมพระบรมศพเป็นเวลานาน ๆในฐานะศิษย์เก่าศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เดียร์จึงเคยมีโอกาสรับเสด็จในหลวงรัชกาลที่ ๙ ด้วย

“วันนั้นในหลวงท่านเสด็จฯ ไปเปิดคลอง (คลองลัดโพธิ์) แล้วเสด็จฯ กลับมาทางเรือ  พอพวกเราเรียนเสร็จแล้วเดินผ่านไป เจ้าหน้าที่เขาเห็นว่าเป็นนักศึกษาเลยให้นั่งแถวหน้าเลย เราเลยได้มีโอกาสรับเสด็จใกล้มาก”

เธอย้ำชัดถ้อยชัดคำว่านี่คือหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่สุดในชีวิต

“เราประทับใจมาก รู้สึกมีบุญที่ได้เจอและรู้สึกตื้นตันจริง ๆ จนไม่รู้จะบรรยายอย่างไร ถ้าเราไม่ได้เรียนที่นี่ ถ้าเราไม่ได้เป็นพยาบาล เราคงไม่ได้มีโอกาสไปนั่งอยู่ตรงนั้น”

๑๓ ตุลาคม ๒๕๖๐

เรื่อง : สุภัชญา เตชะชูเชิด
ภาพ : ภาณุรุจ พงษ์วะสา

หนึ่งปีนับจากวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โรงพยาบาลศิริราชอันเป็นสถานที่พำนักแห่งสุดท้ายของพระองค์เนืองแน่นไปด้วยผู้คนที่มาร่วมรำลึกและถวายความอาลัยในงาน “ศิระกรานพระภูบาลนวมินทร์”

ตั้งแต่เช้าตรู่มีพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ ๑๙๙ รูป ก่อนที่ฝนจะตกลงมาในช่วงสาย

“ฟ้าร้องไห้ใหญ่เลย” คุณน้าที่นั่งใกล้ ๆ เปรยขึ้นมา

ยิ่งบ่ายผู้คนยิ่งทยอยมามากขึ้นเรื่อย ๆ ราวกับพื้นที่ “ลานพระราชบิดา” จะสามารถรองรับคนได้ไม่จำกัด  แม้จะต้องเบียดเสียดกันจนแทบไม่มีที่ยืนท่ามกลางอากาศร้อนอบอ้าว แต่ทุกคนยังยิ้มแย้มและยินดีกับผู้มาใหม่เสมอ  พัดและยาดมถูกหยิบยื่นให้แก่กันระหว่างที่เฝ้ารอช่วงเวลาสำคัญ

เมื่อถึงเวลาเสด็จสวรรคต ๑๕.๕๒ น. หลายพันคน ณ ที่นั้นร่วมกันยืนสงบนิ่งเป็นเวลา ๙ นาที เพื่อรำลึกถึง “พ่อ”  ฉันหลับตาลง ร้อยเรียงเรื่องราวและความทรงจำต่าง ๆ และเมื่อแหงนหน้าขึ้นมองอาคารเฉลิมพระเกียรติอีกครั้ง พลันน้ำตาก็ไหลอาบสองแก้ม เสียงสะอื้นไห้ลอยอยู่ในอากาศ

“คิดถึงพ่อเหลือเกิน”

ทุกคนคงนึกอย่างเดียวกัน

แล้วฝนก็ปรอยลงมาอีกครั้ง วงดุริยางค์ราชนาวีเริ่มบรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์

ปิ่นประภา วินสน สาวน้อยผู้ขับร้องเพลงพระราชนิพนธ์ “แสงเทียน” กล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า “รู้สึกตื้นตันมาก เหมือนแบบว่าเราร้องแทนคนรอบ ๆ ร้องแทนประชาชนคนไทย”

ถึงยามพลบค่ำจึงมีพิธีศิระกรานพระภูบาลนวมินทร์ ตัวแทนเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่าง ๆ ของโรงพยาบาลศิริราชจำนวน ๘๙ คนร่วมร้องประสานเสียงในบทเพลงพระราชนิพนธ์ “ความฝันอันสูงสุด”

สุนันทา ปกป้อง หรือ “แนน” หนึ่งในตัวแทนพยาบาล เล่าให้เราฟังเกี่ยวกับการฝึกซ้อม

“รู้สึกดีมากกับการที่เราได้ทำสิ่งที่เรารักเพื่อคนที่เรารัก ถึงแม้ว่าจะเหนื่อยมาก ทำงานทุกวันก็เหนื่อยอยู่แล้ว เมื่อยขามากก็ต้องไปซ้อมต่อ ตั้งแต่ลงเวรประมาณ ๔ โมงครึ่ง ซ้อมต่อถึงทุ่มหนึ่ง”

แนนยังเสริมความประทับใจจากการร่วมร้องเพลงครั้งนี้อีกว่า “สิ่งที่เราเห็นก็คือเวลาเราร้องเพลง แล้วเขาเหล่านั้นจะเอารูปในหลวงขึ้นมาวางบนศีรษะ บางคนก็เอารูปขึ้นมาถือ เราเห็นจริง ๆ ว่าเขาฟังเรา… มันคือความภูมิใจที่สุดแล้ว”

คืนเดียวกันนั้นที่พระบรมมหาราชวังยังคงมีประชาชนต่อแถวยาวถือดอกไม้ธูปเทียนรอเข้าไปไหว้พ่อ บ้างขอเพียงได้พนมมือกราบแล้วถวายดอกไม้ไว้ริมกำแพงวัง เพราะอย่างน้อยก็รู้ว่า “พ่อ” ยังอยู่ที่นี่

และฉันเชื่อว่าพระองค์จะสถิตในดวงใจของเราตลอดไป

จากใจใส่จาน ที่สุดแห่งโรงทานระดับโรงแรม

เรื่อง : ชัยลภัส จารุณาคร
ภาพ : ณัฐพล สุวรรณภักดี

คงไม่มีโรงทานในงานใดยิ่งใหญ่กว่างานนี้

ด้วยเป็น “โรงจัดเลี้ยงพระราชทาน” ที่ทันสมัยสุดเพียบพร้อมด้วยอุปกรณ์เครื่องครัวมาตรฐาน คัดสรรวัตถุดิบสดใหม่ทุกวัน ปรุงรสโดยเชฟโรงแรมทั้งชาวไทยและต่างชาติเกือบ ๑๖๐ คนจากสมาคมเชฟประเทศไทยและเชฟเยาวชนทีมชาติ

ยังมีสุดยอดแม่ครัวอีกเกือบพันชีวิตที่อาสามาร่วมแรงให้อาหาร

ทุกจานพร้อมเสิร์ฟในระยะเวลาที่ควันร้อนไม่ทันลาเตา

“ตลอดช่วงงานพระราชพิธีเห็นจิตอาสาทำอาหารแจกประชาชนเยอะมาก บางรายทำจากบ้านตั้งแต่เช้า กว่าจะได้กินก็ผ่านไป ๔-๕ ชั่วโมง บางคนจึงท้องเสียจากอาหารเป็นพิษ เราเห็นใจคนที่ต่อคิวอยู่ในพื้นที่เป็นเวลานานซึ่งโดยมากไม่อยากออกจากแถว สุขภาพของพวกเขาจึงสำคัญ สมาคมฯ จึงมีแนวคิดว่าอาหารที่ออกจากครัวนี้ต้องเป็นอาหารปรุงสด เสิร์ฟถึงประชาชนขณะที่ยังร้อน และทิ้งไว้ไม่เกิน ๑ ชั่วโมง เพื่อรักษาคุณภาพอาหารให้คงความสดสะอาด ถูกสุขอนามัย”

นี่คือเหตุผลที่ สมศักดิ์ รารองคำ นายกสมาคมเชฟ-ประเทศไทย จำลองครัวระดับโรงแรมมาตั้งไว้ที่ลานวัดเทพธิดารามวรวิหาร โดยตั้งเต็นท์ห้องเย็น พร้อมตู้เย็นขนาดเล็ก ๑๐ ตู้ เตาอบลมร้อน (convection oven) ๑๐ เครื่อง ตู้นึ่งข้าวขนาดใหญ่ ๓ ตู้ ยังไม่นับอุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ แบบจัดเต็ม รวมมูลค่าเกิน ๑๐ ล้านบาท เพื่อให้สมพระเกียรติ “อาหารพระราชทาน” โดยได้รับอนุญาตจากสำนักพระราชวัง สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร และกรุงเทพมหานคร

รายการพิเศษสุดด้วย “เมนูสูตรพระราชทาน” อย่างข้าวหน้าเป็ด ซาลาเปาไส้เป็ดพะโล้ บะหมี่เป็ดย่าง สปาเกตตีโบโลเนส ไก่ผัดขิง (ดัดแปลงจากไก่ผัดเล่าปี่) ฯลฯ ซึ่งพิถีพิถันรูป-รสชาติจนเป็นเลิศ

“เราคัดสรรเฉพาะวัตถุดิบเกรดดีที่สุด สดใหม่ ใช้ให้หมดวันต่อวัน อย่างบะหมี่ ๓ หมื่นก้อน เส้นสปาเกตตี ๑.๓ ตัน เป็ดพะโล้และเป็ดย่าง ๓ ตัน ไก่สด ๒ ตัน และของสดอีกจำนวนมาก กำลังการผลิตนับแสนกล่อง เพื่อให้เพียงพอสำหรับบริการในช่วง ๒๒-๒๗ ตุลาคม ตลอด ๒๔ ชั่วโมง”

สุริยันต์ ศรีอำไพ เลขานุการสมาคมเชฟประเทศไทย เสริมว่า โรงจัดเลี้ยงแห่งนี้ครบเครื่องอาหารคาว-หวานและเครื่องดื่ม

ชื่นใจด้วยพลังของอีกสี่พันธมิตร ได้แก่ กลุ่มอาสาดุสิต บริษัทไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) สมาคมสหพันธ์การกุศล “เต๊กก่า” แห่งประเทศไทย และกลุ่ม ๙ ในดวงใจ

“โจทย์ใหญ่ของจิตอาสากลุ่มเล็ก ๆ อย่างพวกเราคือต้องทำอาหารวันละ ๕ หมื่นชุดต่อวัน ตอนแรกรู้สึกหนักใจเพราะลองคำนวณว่าถ้าต้นทุนชุดละ ๒๐ บาท ก็เป็นเงินหลักล้านแล้ว จึงขอแรงพันธมิตรที่เคยทำอาหารแจกด้วยกันตั้งแต่ที่สนามหลวง

ทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวว่าทำเลย ไม่มีปัญหา และพวกเขาจะตั้งใจทำให้ดีที่สุด เราจึงแบ่งงานกัน โดยทีมอาสาดุสิตรับผิดชอบด้านเครื่องดื่ม เต๊กก่าทำอาหารเจ กลุ่ม ๙ ในดวงใจทำข้าวต้มรวมถึงอาหารทั่วไป และไทยออยล์ช่วยแจกน้ำดื่มอีกทั้งสนับสนุนภาชนะย่อยสลายได้”

ปิยาภรณ์ วงษ์บัณฑูรย์ แกนนำกลุ่มอาสาดุสิต กล่าวในนามตัวแทนเพื่อนพันธมิตรที่เหลือเชื่อว่าพลังน้ำใจที่ผลักดันให้เกิดโรงจัดเลี้ยงพระราชทานแห่งนี้ขึ้นได้เพราะเป็นงานของ “พ่อ” ผู้เป็นศูนย์รวมดวงใจทั้งแผ่นดิน เชฟ-กุ๊กทุกคนจึงอวดฝีมือสุดหัวใจถวายเป็นพระราชกุศลและตระหนักว่า ต้องเสิร์ฟอาหารอย่างดีที่สุดแก่ประชาชนผู้มาร่วมงานพระบรมศพ

ดั่ง…แขกของพระราชา

น้ำใจอาสาเปิดบ้านแบ่งปันอาหาร

เรื่อง : ชัยลภัส จารุณาคร
ภาพ : กัญญารัตน์ ชัยชิตาทร

อาภาวินี อินทะรังสี เติบโตมาในบ้าน “วรรณโกวิท” ถนนราชดำเนินกลาง บนที่ดินพระราชทานสมัยรัชกาลที่ ๖

เธอเล่าว่าตั้งแต่ยังเป็นเด็กได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ แทบทุกครั้งที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินผ่าน ด้วยความจงรักภักดีเป็นอย่างยิ่ง

เมื่อเห็นผู้ที่มาปักหลักเฝ้ารอเข้าจุดคัดกรองบริเวณโรงแรมรัตนโกสินทร์กระทั่งปลายแถวล้นมาถึงหน้าบ้าน แม้เธอไม่ได้เป็นจิตอาสาเฉพาะกิจในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ แต่ในฐานะเพื่อนมนุษย์และพสกนิกรคนหนึ่งของพระราชาผู้เป็นที่เทิดทูนเหนือชีวิต เธอจึงนำอาหารและเครื่องดื่มมาแจกจ่ายแบ่งปันให้แก่ประชาชนที่มาเข้าแถวกันอยู่หน้าบ้าน ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ เรื่อยไปจนกว่าของหลายร้อยชุดที่ตั้งใจเตรียมไว้จะหมด

“เราต้องดูแลคนที่รักในหลวงให้ดีที่สุด ตามกำลังที่เราทำได้” เธอให้เหตุผล

คริสเตียนรวมใจ

เรื่องและภาพ : สุภัชญา เตชะชูเชิด

“พิธีจุดเทียนในวันนี้ นอกจากเป็นสัญลักษณ์เพื่อแสดงความอาลัยแล้ว ยังเป็นเหมือนคำมั่นสัญญาว่าเราจะทำความดี สืบสานปณิธาน และต่อแสงเทียนของพ่อให้สว่างไสวต่อไป”

ศาสนาจารย์ธงชัย ประดับชนานุรัตน์ ประธานสหคริสตจักรแบ๊บติสต์ในประเทศไทย กล่าวในพิธีน้อมแสดงความอาลัย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ณ คริสตจักรสาธร ช่วงหัวค่ำของคืนวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๐

พิธีในโบสถ์เป็นไปอย่างเรียบง่าย มีการขับร้องบทสวด สลับกับการอธิษฐานขอพระพรจากพระผู้เป็นเจ้าแด่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ และขอพระพรเพื่อให้ประเทศไทยเดินหน้าไปอย่างสงบสุขร่มเย็น

เพลง “สรรเสริญพระบารมี” ดังกึกก้องโบสถ์ถวายพระองค์…เป็นครั้งสุดท้าย

พ่อคนเดียวกัน

เรื่อง : เสาวลักษณ์ เชื้อคำ
ภาพ : กาญจนา สุระประพันธ์

เจ็ดโมงเช้าที่แยกผ่านฟ้าลีลาศ กลุ่มจิตอาสาซึ่งเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนในเขตกรุงเทพมหานคร กำลังรับฟังคำชี้แจงรายละเอียดงาน ก่อนออกปฏิบัติหน้าที่แจกจ่ายยาสามัญให้ผู้เข้าร่วมพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

ยาแก้ปวด ยาแก้ไข้ ยาลดน้ำมูก ยาแก้วิงเวียนศีรษะ ถูกบรรจุในซองขนาดเล็ก พร้อมส่งต่อให้แก่ผู้ต้องการ ยาเหล่านี้จำเป็นมาก โดยเฉพาะสำหรับประชาชนที่เดินทางมาล่วงหน้า หลายคนต้องผ่านมาทั้งพายุฝนและแสงแดดจัด ซึ่งล้วนเป็นสภาพอากาศที่อาจส่งผลต่อสุขภาพร่างกายได้

นายแพทย์พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ผู้ทำหน้าที่ควบคุมดูแลน้อง ๆ จิตอาสาวัยมัธยมฯ เหล่านี้ เล่าถึงความเป็นมาของการนำจิตอาสาจากโครงการ To Be Number One มาร่วมดูแลประชาชน ณ บริเวณโดยรอบมณฑลพิธีท้องสนามหลวง ว่า

“ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดีมีพระดำรัสอยู่เสมอว่า เรามีพ่อหลวงคนเดียวกัน พ่อคนเดียวกับฉันเลย”

รูปบนเหรียญ

เรื่องและภาพ : อัมพร ทรงกลด

สมาชิกของ “อาทิตย์เพื่อสุขภาพ” (Healthy Sun) กลุ่มขี่จักรยานเพื่อสุขภาพในวันอาทิตย์ ร่วมกันทำกิจกรรมพิเศษในวันถวายพระเพลิงพระบรมศพ ด้วยการนำถุงผ้าใบเล็ก ๆ แบบที่เคยใช้บรรจุ “ข้าวพอเพียง” มอบแก่ประชาชนที่เข้าไปถวายบังคมพระบรมศพเมื่อปี ๒๕๕๙ แต่อยู่ในสภาพชำรุด กลับมารีไซเคิลซ่อมแซม แล้วใส่เหรียญ ๑ บาท ที่มีพระบรมสาทิสลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ ๙ แจกจ่ายให้ผู้เข้าร่วมงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๐ เพื่อเป็นที่ระลึก ปราณี หมื่นศักดา หรือแหม่ม หนึ่งในแกนนำกลุ่ม บอกกับ สารคดี ว่า

“เราเสียดาย เพราะนี่เป็นภาษีประชาชน จึงขอนำถุงที่ต้องถูกทำลายเหล่านี้กลับมาทำกิจกรรม แจกคืนให้แก่ ‘ประชาชนของพระราชา’

“เราได้ยินคำว่า ‘ครั้งสุดท้าย’ บ่อยครั้งจากหลายสำนักข่าว รู้สึกสะท้อนใจ

“นี่อาจเป็นครั้งสุดท้ายจริง ๆ ในชีวิตของพวกเราทุกคนที่จะได้ทำอะไรเพื่อพระองค์”

ในหลวงของคนปะโอ 

เรื่องและภาพ : แทนไท นามเสน

เสื้อผ้าสีน้ำเงินเข้ม โพกผ้ารอบศีรษะหลากหลาย แสดงอัตลักษณ์กลุ่มชาติพันธุ์ปะโอ (ตองสู) ซึ่งอาศัยอยู่แถบจังหวัดแม่ฮ่องสอน ลำปาง และเชียงใหม่

พวกเขากว่า ๒๐๐ ชีวิตเดินทางไกลหลายร้อยกิโลเมตร มุ่งหน้าสู่กรุงเทพมหานคร เพื่อร่วมส่งเสด็จพระมหากษัตริย์ผู้เป็นที่รักยิ่งเป็นครั้งสุดท้าย

ขิน จองนัน หนุ่มปะโอวัย ๔๕ ปี ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์ปะโอ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เล่าว่า

“เราชาวปะโอเคยเดินทางมากราบพระบรมศพเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว พร้อมกลุ่มชาติพันธุ์อีกหลายกลุ่ม

“เราตัดสินใจเดินทางมาอีกครั้งเพื่อส่งเสด็จในหลวงของเราเป็นครั้งสุดท้าย ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อชาวปะโอ และกลุ่มชาติพันธุ์มากมายในแผ่นดินนี้”

จดหมายถึงในหลวง

เรื่อง : เสาวลักษณ์ เชื้อคำ
ภาพ : ไลลา ตาเฮ

ประณต จงเรืองฤทธิ์ ชาวจังหวัดพิจิตร อายุ ๓๕ ปี ออกเดินทางมาจากบ้านตั้งแต่ตี ๓ พร้อมกับพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล-อดุลยเดช และจดหมายหนึ่งฉบับเมื่อปี ๒๕๕๓ เขาตัดสินใจส่งจดหมายจ่าหน้าถึงในหลวงรัชกาลที่ ๙ เพื่อขอให้พระองค์ทรงรับบุตรสาวของตนที่ป่วยด้วยโรคข้อสะโพกหลุดแต่กำเนิด เข้าเป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์

“ตอนเขียนก็จ่าหน้าถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครับ ส่งถึงพระบรมมหาราชวัง”

เขาเล่าถึงที่มาของจดหมายฉบับที่ถือในมือ

เพียงเดือนเศษนับจากวันที่เขาส่งจดหมาย ประณตก็ได้รับจดหมายตอบกลับฉบับนี้

การรักษาที่ดีขึ้น แม้ไม่อาจยื้อชีวิตของบุตรสาววัย ๑ ขวบ ๒ เดือนของเขาไว้ได้ แต่ก็ทำให้ช่วงสุดท้ายของชีวิตน้อย ๆ ไม่เจ็บปวดทรมานมากนัก พระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ยังคงท่วมท้นอยู่ในหัวใจของเขาจวบจนถึงวันนี้

เจ็ดปีให้หลัง ประณตได้นำพาซองจดหมายตอบกลับฉบับนั้นที่เขาเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี กลับมาเพื่อให้ใกล้ชิดต้นทางที่ถูกส่งออกไปให้มากที่สุด เท่าที่สุขภาพร่างกายของเขาจะเอื้ออำนวย

“ใกล้สุดได้เท่านี้แล้วครับ เดินไกล ๆ อย่างคนอื่นไม่ไหว”

ประณตพูดพร้อมกับขยับไม้เท้าคู่กายให้ดู

แม้เขาตระหนักดีตั้งแต่ก่อนออกเดินทางมาแล้วว่าจะไม่มีโอกาสได้ชมริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศด้วยตัวเอง แต่เขาก็ยังเดินทางมา ณ ที่นี้ ด้วยเหตุผลเดียวกับประชาชนคนไทยอีกนับแสนนับล้าน

นั่นคือเพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยทุกคน

ฝนตกแต่ไม่ถอย

เรื่องและภาพ : อัมพร ทรงกลด

“ทำงานอยู่สถาบันอาหาร ใกล้ ๆ ซุ้มถวายดอกไม้จันทน์ใต้สะพานพระราม ๘ รู้สึกประทับใจในพระราชกรณียกิจที่ทำให้คนไทยอยู่ดีกินดีตลอดมา เราต่อแถวตอนบ่ายโมงครึ่ง พอ ๒ ชั่วโมงผ่านไปฝนตกแรง แต่ไม่มีใครถอย น้ำตาไหล เข้าใจว่าทุกคนจะรอถวายให้ได้เหมือนที่เราก็ตั้งใจอย่างนั้น”

นฤมล คงทน
ประชาชนที่มาถวายดอกไม้จันทน์

จากชาวเขาสู่ชาวเรา

เรื่องและภาพ : กิตติธัช โพธิวิจิตร

ใจกลางหุบเขาอินทนนท์ เช้าวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๐

ลานกว้างแลดูคับแคบลงเมื่อชาวม้งและชาวปกาเกอะญอกว่าพันคนเต็มใจเดินทางจากหมู่บ้านหลายชั่วโมง มารวมตัวกันที่นี่-สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ ณ บริเวณบ้านขุนกลาง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่

วันนั้นเมื่อ ๕๐ ปีก่อน ป่าต้นน้ำอินทนนท์โล่งเตียน แดดร้อนเผาดินดอกฝิ่นบานสะพรั่ง เห็นหย่อมหมอกควันจากไฟป่าตลอดทั้งวัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชประสงค์จะช่วยเหลือชาวเขาให้มีพื้นที่ทำกินเป็นหลักแหล่งและให้ความรู้ทางการเกษตรแผนใหม่ ด้านไม้ดอก ไม้ประดับ พืชผักและไม้ผลเพื่อสร้างรายได้และฐานะของคนในพื้นที่ให้ดีขึ้น

จึงเป็นที่มาของ “สถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์” เมื่อปี ๒๕๒๒ และ “สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์” ในปี ๒๕๕๐

วันนี้ชาวม้งและชาวปกาเกอะญอในเครื่องแต่งกายประจำชาติพันธุ์ติดริบบิ้นสีดำเหนืออกข้างขวา พร้อมใจกันมาถวายความอาลัยเป็นครั้งสุดท้ายแด่ “พ่อหลวง” ผู้สร้างชีวิตใหม่ และเปลี่ยน “ชาวเขา” ให้เป็น “ชาวเรา”

ไม่ว่าจะเป็นในหุบเขาหรือทุ่งราบ ในป่าหรือกลางเมือง

ทุกคนล้วนมีใจดวงเดียวกัน…

ความหวังอันสูงสุดของยาย

เรื่อง : พรไพลิน จิระอดุลย์วงค์
ภาพ : ณัฐพล สุวรรณภักดี

แววตาเต็มเปี่ยมไปด้วยความภาคภูมิใจและมุ่งมั่นกับพระบรมฉายาลักษณ์องค์เล็กและเหรียญที่ระลึกที่ตั้งใจประดิดประดอย

อายุหรือแขนขวาที่ลีบเล็กกว่าปรกติไม่ได้ทำให้แรงกายแรงใจของหญิงชราลดถอยลงแม้แต่น้อย

“บ้านยายอยู่แถววัดตรีฯ เรียกยายว่ายายหลงก็ได้ ก็หลง ๆ ลืม ๆ มากแล้ว”

ตั้งแต่เมื่อในหลวงรัชกาลที่ ๙ ประทับที่โรงพยาบาลศิริราช คุณยายไปร่วมลงนามถวายพระพรแทบทุกวัน

“พระองค์ทอดพระเนตรทุก ๆ รายนาม ท่านทอดพระเนตรประชาชนของพระองค์เสมอ”

จิตอาสาหลายคนที่ผ่านมาทักทายคุณยายอย่างคุ้นเคย

“ยาย กินข้าวหรือยัง ?”
“กินแล้ว อันนี้ยายแจก นี่รูป นี่เหรียญในหลวง”

ความหวังอันสูงสุดของหญิงชราในวันนี้ คือการได้มีโอกาสร่วมวางดอกไม้จันทน์ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๐

ครั้งสุดท้ายแล้วที่จะได้ใกล้ชิดพระองค์

เรื่อง : สโรชา ถาวรศิลสุระกุล
ภาพ : ณัฐพล สุวรรณภักดี

“เขาให้มาตอนลุงไปถวายดอกไม้จันทน์”

ชายชราร่างผอมบนเก้าอี้ริมคลองข้างวัดราชบพิธฯ บรรจงเอาผ้าห่อพระเครื่ององค์เล็ก ๆ สีขาวอย่างเบามือ

ลุงขยับตัวเชื่องช้า พูดพลางยิ้ม

ลุงจอม วัย ๗๗ ปี ย้ายจากสิงห์บุรีมาอยู่สมุทรปราการ

ตั้งแต่หนุ่ม ๆ เคยเห็นในหลวงผ่านโทรทัศน์ และเคยมีโอกาสรับเสด็จ

“ถ้าได้ข่าวว่าในหลวงจะมา ลุงก็จะเฝ้ารอรับเสด็จพระองค์ทุกครั้ง”

แม้แววตาของลุงจะไม่สดใสดั่งหนุ่มสาว หากแต่ฉายความรู้สึกปลาบปลื้ม

“วันนี้ให้ลูกหลานพามา ลุงเข้าไปไม่ไหวหรอก แต่ก็อยากมา เป็นครั้งสุดท้ายแล้วที่จะได้ใกล้ชิดพระองค์”

สนามหลวงทางนี้

เรื่องและภาพ : ธนัชพร รัตนธรรม

“พ่อจ๋า แม่จ๋า สนามหลวงทางนี้ทางเดียวเลยครับ”

จากฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ประชาชนที่ตั้งใจเดินทางมาร่วมงานพระราชพิธีที่ท้องสนามหลวง ต่างต้องมาลงรถที่หน้าห้าง พาต้า แล้วเดินต่อไปข้ามสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า

ที่นี่จึงเป็นทั้งจุดบริการห้องน้ำ แจกจ่ายอาหาร และเครื่องดื่มโดยมีอาสาสมัครของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งคอยดูแล และบอกทางด้วย ถ้อยคำซ้ำๆ ให้ได้ยินอยู่ตลอดเวลา

ไม่สงสัยในภักดี

เรื่อง : อธิวัฒน์ อุต้น
ภาพ : เมราณี สมัยวิจิตรกร

ใต้อุณหภูมิแตะระดับ ๔๐ องศาฯ ขณะริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศยาตราผ่าน

ฉันเหลือบเห็นชายคนหนึ่งแต่งเครื่องแบบแขนยาวสีเขียว นั่งพนมมือหลับตาตั้งสตินิ่งกลางแดดไร้ร่มเงา

ตลอดวันมีทั้งแดดทั้งฝน เขาอดทนได้อย่างไรกัน ฉันคิดในใจฉัน และแอบบันทึกภาพประทับใจเก็บไว้

ฉันเดินมาเจอเขาอีกครั้งจึงเข้าไปถามไถ่พูดคุยและอวดรูปที่แอบถ่ายไว้ให้ดู

จ่าสิบโท สุวรรณ รัตนยั่งยืนยงค์ สังกัดกองร้อยทหารพราน เดินทางมาจากจังหวัดนราธิวาสเพียงลำพังเมื่อ ๒ วันก่อน มุ่งหน้ามายังบริเวณที่ใกล้พระราชาที่เขาเคารพรักที่สุด

“ภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาส่งเสด็จในครั้งนี้ พระองค์ทรงงานหนักมาก การมานั่งรอด้วยความยากลำบากแค่นี้เทียบไม่ได้เลยสักนิด” เขาเล่าด้วยเสียงสั่นเล็กน้อย

ตอนนี้ฉันเข้าใจเหตุผลที่เขาเดินทางมาไกลขนาดนี้โดยไม่มีข้อสงสัย

สมุดภาพของพ่อ

เรื่อง : พรไพลิน จิระอดุลย์วงค์
ภาพ : ณัฐพล สุวรรณภักดี

ชายไทยเชื้อสายจีนสูงวัยนั่งเก้าอี้พลางแจก “สมุดภาพของพ่อ” ท่ามกลางหมู่มวลประชาชนที่มารอรับ

เขาตั้งใจหยิบสมุดภาพทุกเล่มส่งให้กับมือผู้รับด้วยตัวเอง อย่างที่โรงพิมพ์แห่งหนึ่งจะส่งต่อความดีเพื่อพ่อได้

วันนี้กิจการโรงพิมพ์อุดมศึกษาของครอบครัวกลับมาเปิดทำการชั่วคราวในย่านเมืองเก่าอีกครั้ง

“ไม่ต้องบันทึกหรอกว่าผมเป็นใคร”

ชายร่างท้วมผมสีดอกเลายืนยัน แล้วหยิบสมุดภาพพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ ๙ เล่มแล้วเล่มเล่าส่งต่ออย่างไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อย

ไกลก็เหมือนใกล้

เรื่อง : สโรชา ถาวรศิลสุระกุล
ภาพ : ณัฐพล สุวรรณภักดี

“ผัดหมี่ร้อน ๆ ไหมครับ”

ยินเสียงเบา ๆ ร้องเรียกอย่างเก้อเขิน

เมื่อเดินผ่านแยกบางขุนพรหม รอยยิ้มของชายตรงหน้าทำให้ไม่อาจปฏิเสธ

ผัดหมี่ห่อนั้นร้อนจริงอย่างที่เขาบอก…

ตุ้ย วัย ๓๙ ปี และครอบครัว เดินทางจากจังหวัดนครราชสีมาตั้งแต่วันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๖๐

ขอพำนักในวัดอินทรวิหาร โดยนำอุปกรณ์ประกอบอาหารติดตัวมาจากโคราช มาผัดหมี่ร้อน ๆ แจกจ่ายประหนึ่งโรงทาน

“เข้าไปข้างในมาหรือยังคะ ?”

“ยังเลย เราคงไม่มีโอกาสเข้าไปหรอก”

ตุ้ยยิ้มเศร้า ๆ พลางบอกว่าเขายินดีที่ได้ทำหน้าที่นี้ และได้เป็นส่วนหนึ่งในเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ เหตุการณ์ที่คนไทยทุกคนไม่อาจลืมเลือนไปจนชั่วชีวิต

ยิ้มสู้ฝน

เรื่องและภาพ : ณัฐริยา โสสีทา

บ่ายนี้ที่เชียงใหม่

สายลมพัดไอเย็นเจือกลิ่นดินชื้น หมู่เมฆปุยหนาเกาะกลุ่มมาส่งสัญญาณ

ไม่นานนักสายฝนก็ตามมา

เสื้อผ้าฉ่ำน้ำ

สายฝนยังไม่มีทีท่าว่าจะบอกลา

พวกเรายังคงหยัดยืนเข้าแถว

ร่วมถวายดอกไม้จันทน์

ด้วยรอยยิ้ม

และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้

พ่อเดียวกัน

เรื่องและภาพ : สายพร

กลุ่มชาติพันธุ์ม้งบ้านดอยปุย บ้านขุนช่างเคี่ยน และบ้านดอยสุเทพ ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ กว่า ๕๐๐ คน

เดินจากดอยปุยเข้ามาร่วมพิธีถวายดอกไม้จันทน์ ณ พระเมรุมาศจำลอง ในบริเวณศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ ๗ รอบ พระชนมพรรษา ร่วมกับประชาชน
จากทั่วจังหวัดเชียงใหม่

บรรยากาศในช่วงเช้ามีแดดจัด ส่วนช่วงบ่ายฝนตกอย่างหนัก แต่ทุกคนยังเข้าแถวเรียงรายยาวสุดสายตาเพื่อร่วมส่ง “พ่อ” เป็นครั้งสุดท้าย ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้

ลูกไม้ใต้ต้น

เรื่อง : พรรณภา แสงยะรักษ์
ภาพ : กาญจนา สุระประพันธ์

“ลูกไม้ใต้ต้น” ตัวหนังสือสีเหลืองเด่นกลางเสื้อดำของ ภาณี หลุยเจริญ

เธอเป็นนักเขียน แต่ตัวหนังสือนั่นไม่ใช่นามปากกาของเธอ

หากมีความหมายว่า เธอเป็นหนึ่งในบรรดาลูกไม้ใต้ต้นไม้พันธุ์ดี คือในหลวงรัชกาลที่ ๙

ย้อนไปเมื่อ ๑๕ ปีก่อน เมื่อภาณีสมัครเข้าร่วมโครงการเขียนเรื่องสั้น “ทำดีถวายในหลวง” เธอได้อ่านหนังสือแจกฟรีเล่มหนึ่ง ชื่อ มหาราชายอดกตัญญู ซึ่งมีข้อความว่า “การทำดีที่ดีที่สุด คือการเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่”

“อ่านแล้วรู้สึกว่าในหลวงท่านทรงทำมาโดยตลอด แม้พระองค์จะทรงงานหนักขนาดไหนก็ยังดูแลแม่ของพระองค์ได้อย่างไม่มีข้อบกพร่อง” เธอเล่าด้วยน้ำเสียงตื้นตัน

ข้อความนั้นนำไปสู่การเขียนเรื่องสั้นว่าด้วยความกตัญญู ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศ

นับเป็นจุดเริ่มต้นของอาชีพนักเขียนที่เธอรัก และนามปากกา “กานท์ชญา”

“มาที่นี่เพราะคิดว่าต้องทำอะไรเพื่อท่านบ้าง” เธอกล่าว

ทิ้งท้ายพร้อมรอยยิ้ม ก่อนจะหันไปหยิบยื่นยาดมและลูกอมให้แก่ผู้ที่มาร่วมงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพบริเวณถนนราชดำเนิน

“จิตอาสาด้านงานแพทย์” ต้องพร้อมที่สุด !

เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช

สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าดูแลความปลอดภัย คือรักษาสุขภาพประชาชน

วรวรรณา เพ็ชรกิจ ตัวแทนกลุ่มประสานงานจิตอาสา ผู้ปฏิบัติงานพื้นที่เขตพระนคร เล่าว่าเธอเคยเป็นพยาบาลอาชีพอยู่ ๗ ปี จึงใช้วุฒิเดิมสมัครดูแลมวลชนที่ตั้งใจมาถวายความจงรักภักดี

“หน้าที่ของเราคือลาดตระเวนเป็นกำลังเสริมให้ทีมจิตอาสาเฉพาะกิจ สังเกตว่าตรงไหนเกิดปัญหาก็ช่วยปฐมพยาบาล ตั้งแต่เดินแจกแอมโมเนียไปจนทำแผลขนาดเล็ก

ถ้าพบผู้ป่วยมีโรคประจำตัวก็ติดต่อเต็นท์หน่วยแพทย์อาสา จะมีทีมพยาบาลและรถบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินคอยดูแลอีกที”

บนรถมีอุปกรณ์ช่วยฟื้นคืนชีพอย่างอุปกรณ์ขนย้ายลำเลียง อุปกรณ์เพื่อการตรวจวินิจฉัย อุปกรณ์ปฐมพยาบาลและทำแผล อุปกรณ์ช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน ไปจนถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์เฉพาะด้านอย่างเครื่องช็อกหัวใจด้วยกระแสไฟฟ้า ถังออกซิเจนและอุปกรณ์ทางเดินหายใจ น้ำเกลือ อุปกรณ์ช่วยเหลือเกี่ยวกับกระดูก และยาจำเป็นระดับสูงอย่างอะดรีนาลิน อะโทรปีน แคลเซียมคลอไรด์ มอร์ฟีน ฯลฯ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้แก้สถานการณ์เฉพาะหน้าก่อนส่งผู้ป่วยถึงโรงพยาบาลให้แพทย์รักษาได้อย่างต่อเนื่อง

หนึ่งในเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ปฏิบัติงานในเต็นท์หน่วยแพทย์อาสา วัดตรีทศเทพ เสริมว่า ทีมแพทย์จำเป็นต้องร่วมมือหลายฝ่าย ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน โดยมีแพทย์ด้านฉุกเฉินคอยประจำหน่วย ส่วนหน่วยย่อยที่วัดตรีทศเทพจะมีเฉพาะพยาบาลสี่คน แล้วมีนักศึกษาแพทย์ช่วย ซึ่งให้การรักษาได้เพียงจ่ายยาสามัญบรรเทาอาการเบื้องต้น เช่น วิงเวียน ปวดหัว เป็นไข้หรือทำแผลขนาดเล็ก

“อย่างวันนี้เป็นลมสองราย ตรวจร่างกายแล้วปรกติจึงให้นอนพักที่ห้องพยาบาลของโรงเรียนวัดตรีทศเทพสักครึ่งชั่วโมงค่อยกลับ ก่อนหน้าเคยเจอผู้ป่วยเดินทางมาจากต่างจังหวัด มีอาการหอบกำเริบจากโรคประจำตัว พอมาเจอสภาพอากาศอบอ้าว แออัด หัวใจที่ไม่แข็งแรงอยู่แล้วจึงหยุดเต้นกะทันหัน ทีมพยาบาลต้องช่วยปั๊มหัวใจแล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล เช่นเดียวกับผู้ป่วยอีกรายที่สอบประวัติพบว่ามีโรคประจำตัว ทั้งความดัน เส้นเลือดสมองตีบ และหัวใจ เขาเพิ่งรับการผ่าตัดจากโรงพยาบาลวชิรพยาบาล เพื่อความปลอดภัยของตัวผู้ป่วยเราจึงดูแลเบื้องต้นให้ ๑๐ นาที จนอาการดีขึ้นจึงส่งตัวไปยังโรงพยาบาลที่มีประวัติการรักษาอยู่ ให้แพทย์ตรวจละเอียดอีกทีค่อยอนุญาตให้กลับมาเข้าคิวร่วมพิธีต่อ”

ไม่เฉพาะบุคลากรชุดขาว ทีมจิตอาสาด้านงานแพทย์ยังหมายรวมถึงเจ้าหน้าที่จากมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งและมูลนิธิร่วมกตัญญูซึ่งกระจายกำลังไปอยู่ร่วมเต็นท์หน่วยแพทย์อาสาตามจุดต่าง ๆ

“ผมเป็นอาสาสมัครของป่อเต็กตึ๊งอยู่ที่ สน. ชนะสงคราม-นางเลิ้ง เข้าร่วมเป็นจิตอาสาด้านงานแพทย์มาตลอด ๑ ปี นับจากพระองค์เสด็จสวรรคต คอยช่วยเหลือประชาชนที่เจ็บป่วย ทีมของผมมีหกคน ช่วงถวายพระเพลิงพระบรมศพจะประจำอยู่ที่วัดตรีทศเทพ ใครว่างจากงานประจำก็จะผลัดมาเข้าเวร ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่เช้าจนถึงเที่ยงคืนของทุกวันเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับกรณีฉุกเฉิน”

มารุต โสมนรินทร วัย ๒๕ ปี คือหนึ่งในผู้ใช้เวลาว่างมาบำเพ็ญประโยชน์เป็นจิตอาสาด้านงานแพทย์ ด้วยประสบการณ์อาสาสมัครมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งนานถึง ๘ ปี

สำหรับทีมจิตอาสาด้านงานแพทย์ผู้เป็นที่พึ่งทางกายของมวลชนที่ยังคงหลั่งไหลจากทั่วสารทิศมาร่วมงานพระราชพิธีไม่ขาดสายและมีใจอุตสาหะต่อแถวกันอย่างล้นหลามข้ามวันข้ามคืน ตระหนักดีว่าแม้จะมีช่วงเวลาผลัดเวร แต่ไม่มีการหยุดพักหากประชาชนยังไม่หมดจากขบวนแถว

เพราะไม่อาจรู้เลยว่าจะมีใครเจ็บป่วยขึ้นเมื่อไร

รู้เพียงเมื่อนั้น “จิตอาสาด้านงานแพทย์” ต้องพร้อมที่สุด !

“หมวกฟ้า-ผ้าพันคอเหลือง” ภาพจำ “จิตอาสาเฉพาะกิจฯ”

เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

นับแต่ ๗-๑๒ ตุลาคม ๒๕๖๐ ที่เปิดให้ “ประชาชนจิตอาสา” รับสิ่งของพระราชทาน

ทั้งบัตรประจำตัวจิตอาสา “เราทำความดีด้วยหัวใจ” บัตรประจำตัว “จิตอาสาเฉพาะกิจงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ” (แบ่งสีตามประเภทของงาน) รวมถึงเสื้อโปโลสีดำ พิมพ์ข้อความ “ธ สถิตในดวงใจไทยนิรันดร์” หมวกสีฟ้า ผ้าพันคอสีเหลือง และปลอกแขนไว้ทุกข์

เป็นอันรู้กันว่าช่วง ๑๘-๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๐ ใครสวมคนนั้นคือ “จิตอาสาเฉพาะกิจฯ” ซึ่งเป็นการสานต่อจากพระราชดำริโครงการจิตอาสาที่เปิดให้ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ เอกชน และประชาชนทุกกลุ่มวัย ทำความดีร่วมกับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวงรัชกาลที่ ๙

“เราสมัครผ่านกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่มารอคิววางดอกไม้จันทน์หน้ากระทรวงฯ เรามารับเวรช่วงเที่ยงถึง ๕ โมงเย็น เมื่อยล้าขาอยู่เหมือนกันเพราะต้องยืนนานหลายชั่วโมง แต่คงเทียบไม่ได้กับคนที่มาต่อคิวอย่างตั้งใจ ตากแดด ตากฝน แม้ฝนจะตกหนักจนน้ำขังบริเวณที่นั่งรอ พวกเขาก็ยังอดทนอยู่ตรงนั้น ใช้วิธียกขาหนีน้ำเอา ครั้นฝนหยุดก็เป็นช่วง ๔ โมงเย็นที่มีกำหนดให้พักการวางดอกไม้จันทน์อีก เราจึงแนะนำให้พวกเขาไปนั่งรอที่จุดพักอื่นก่อน จะได้กินอาหารที่ทางกระทรวงฯ จัดเตรียมให้ เจ้าหน้าที่ก็จะได้ทำความสะอาดบริเวณนั้นสะดวก พอพวกเราดูแลดีพวกเขาก็ชื่นชมกลับมา เป็นการทำงานที่เหนื่อย แต่รู้สึกดีมาก”

วรวรรณ วงษ์สุวรรณ พนักงานจ้างเหมาบริการ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เล่าว่า แต่แรกเธอได้บัตรจิตอาสาสีเหลือง สำหรับงานประเภท “บริการประชาชน” สนับสนุนด้านบริการอาหาร น้ำดื่ม และช่วยประสานความเรียบร้อยในพื้นที่พักคอยของประชาชน

ครั้นพื้นที่ปฏิบัติงานได้เป็นซุ้มถวายดอกไม้จันทน์ด้วย จึงต้องช่วยจิตอาสากลุ่ม “งานดอกไม้จันทน์” บัตรสีม่วง จัดระเบียบแถวให้ประชาชนเข้าถวายดอกไม้จันทน์ โดยไม่เกี่ยงว่าเป็นหน้าที่หลักหรือหน้าที่รอง
ด้วยล้วนเป็นงานที่รวมพลังความรักอันมีค่าและพลังน้ำใจไร้ขีดจำกัดของปวงชนชาวไทย

“หนูเห็นข่าวในพระราชสำนักว่าเปิดรับจิตอาสาเฉพาะกิจฯ ก่อนปิดรับแค่วันเดียว ซึ่งหนูก็ว่างงานอยู่ แต่พอชวนเพื่อนเขาบอกติดเรียน ถามตัวเองว่าถ้าไม่มีเพื่อนยังอยากทำไหม วันรุ่งขึ้นจึงไปสมัคร หลังฟังพี่ทหารอธิบายลักษณะงานแต่ละประเภทจึงเลือก ‘งานขนส่งเพื่อความปลอดภัยของประชาชน’ ทีแรกคิดว่าจะได้ใช้มอเตอร์ไซค์ตัวเองทำประโยชน์ด้วย พอปฐมนิเทศวันแรกจึงรู้ว่ามีระเบียบห้ามใช้รถส่วนตัว จะมีรถของหน่วยงานราชการเตรียมไว้ให้ ในบรรดาพื้นที่ปฏิบัติงานตามจุดพระเมรุมาศจำลอง หนูเลือกลานคนเมืองเพราะรู้จักตรอกซอกซอยแถวนี้ดี ช่วงแรกที่ไม่ค่อยมีประชาชนให้บริการ พวกเราก็จะคอยแจ้งข่าว ประชุมวางแผนเส้นทาง ทำแผนที่แนะนำทางมาพื้นที่จัดงาน พวกเราต้องเตรียมพร้อม ๒๔ ชั่วโมง จึงต้องแบ่งเวรกันสามรอบ คือ ๖ โมงเช้าถึงบ่าย ๒ บ่าย ๒ ถึง ๔ ทุ่ม และ ๔ ทุ่มถึง ๖ โมงเช้าอีกวัน หนูเลือกทำสองรอบแรก รู้สึกเหนื่อยมาก แต่ก็สนุกมาก ๆ ได้เรียนรู้การทำงานกับคนหมู่มาก ได้เห็นพลังความรักของคนที่เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ เห็นมวลความเศร้าและความอบอุ่นเกิดขึ้นตลอดเวลา”

วันที่ ไอยลดา วิจักษณ์ประเสริฐ ย้อนเรื่องราวให้ฟัง ผ่านพ้นงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว แต่ชีวิตปรกติเธอยังคงขี่มอเตอร์ไซค์ผ่านละแวกนั้นเสมอ ด้วยความรู้สึกที่ไม่เหมือนเดิม

ซึ่งคงไม่ต่างจากจิตอาสาประเภทอื่น ๆ ทั้งงานประชาสัมพันธ์ งานโยธา งานแพทย์ งานรักษาความปลอดภัย หรืองานจราจร ที่เมื่อผ่านเยือนสถานที่ในช่วงวาระแห่งประวัติศาสตร์ของแผ่นดินอีกครั้ง ย่อมหวนนึกถึงบรรยากาศในวันที่ตนได้สวม “เครื่องแต่งกายพระราชทาน”

และแม้คนทั่วไปก็คงจดจำภาพกลุ่มคนที่สวม “หมวกฟ้า-ผ้าพันคอเหลือง” ได้ติดตาด้วยปฏิบัติหน้าที่สมเกียรติ “จิตอาสาเฉพาะกิจฯ” ผู้อุทิศตนเพื่อประชาชนของพระราชา

วันที่ “ดอกไม้จันทน์” ผลิความอาลัยไปทั่วโลก

เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : ณัฐณิชา คงคติกำจร

๐๙.๐๐ นาฬิกาของวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๐

ดอกไม้จันทน์หลากรูปแบบ ทั้งดารารัตน์ กล้วยไม้ พุดตาน กุหลาบ ฯลฯ ก็ถึงเวลาใช้แสดงความอาลัย

“ทีแรกจะไปลานคนเมืองหรือวัดบวรฯ แต่หางแถวยาวมาก จึงมารอคิวที่วัดตรีทศเทพ แม้จะมีฝนตกหนัก แถวขยับช้า แต่ก็ตั้งใจรอ ถึงคิวเราเกือบ ๒ ทุ่ม ตอนวางดอกไม้จันทน์ยังรู้สึกใจหาย ไม่อยากให้เผาเลย”

กัญญารัตน์ ชัยชิตาทร หนึ่งในประชาชนที่ไม่อาจเข้าถึงพระเมรุมาศจำลอง จึงเลือกซุ้มถวายดอกไม้จันทน์แทน เช่นเดียวกับประชาชนอีกจำนวนมหาศาลที่จำเป็นต้องกระจายไปยัง ๕๐ เขตทั่วกรุงเทพฯ

แม้จะมีพระเมรุมาศจำลองในแต่ละจังหวัด รวมถึงซุ้มถวายดอกไม้จันทน์ตามแต่ละอำเภออีกกว่า ๘๐๐ แห่งทั่วประเทศ แต่ดูเหมือนในวันสำคัญของแผ่นดินเช่นนี้ เท่าไรก็ไม่เพียงพอต่อพสกนิกรของพระราชา

“ผมอยู่ใกล้วัดบัวขวัญ ทีแรกมารอบเช้า คนเนืองแน่นจนแถวล้นวนรอบวัด แถมนิ่งสนิทท่ามกลางแดดจัด จิตอาสาเฉพาะกิจฯ ช่วยตัดแถวใหม่ให้ แต่จัดการไม่ดี จึงถูกคนที่มาก่อนต่อว่าเรื่องแซงคิว บางคนสละสิทธิ์ค่อยมาใหม่ช่วงหัวค่ำ แม้คนจะน้อยลงก็ยังต้องเข้าแถวรอถึง ๒ ชั่วโมง จึงได้ถวายดอกไม้จันทน์”

พิศาล พูนศักดิ์สร้อย ชาวนนทบุรี เล่าว่า แม้ล่วงสู่ ๒๒ นาฬิกาก็ยังไม่มีทีท่าว่าแถวจะหมดลง

ที่สุดแล้วคณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ กองอำนวยการร่วมพระราชพิธี จึงประกาศขยายเวลาวางดอกไม้จันทน์โดยไม่มีกำหนดปิด ให้ประชาชนทั่วประเทศได้ร่วมถวายอาลัยด้วยความเคารพสูงสุดสมดังตั้งใจ
แม้ว่าจะมีการถวายพระเพลิงพระบรมศพไปแล้วตั้งแต่เมื่อเวลาประมาณ ๒๒.๓๐ นาฬิกา โดยมีกลุ่มควันลอยเอื่อยจากพระเมรุมาศท้องสนามหลวง เป็นสักขีพยานก็ตาม

ไม่เพียงเป็นวันประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ในอีกหลายประเทศก็มีการร่วมจัดพิธีอย่างสมพระเกียรติให้คนไทยไกลบ้านได้แสดงความอาลัยต่อพ่อของแผ่นดินเกิดเป็นครั้งสุดท้าย ในเวลาพร้อมไล่เลี่ยกันทั่วโลก

“ขนาดฝนตกผู้คนยังต่อแถวล้นออกนอกวัดพุทธปทีป และไม่ได้มีแต่คนไทยวัยผู้ใหญ่ มีชาวต่างชาติและวัยรุ่นมาวางดอกไม้จันทน์ด้วย บรรยากาศที่นี่ยิ่งทำให้คิดถึงในหลวง วางดอกไม้จันทน์กันทั้งน้ำตา”

ความรู้สึกของ จุฑาวรรณ ภู่พากรนพรัตน์ ชาวไทยในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ไม่ต่างจาก ณัฐกาญจน์ แหวนทอง ผู้ร่วมพิธีที่สวนสาธารณะขนาดใหญ่ที่สุดในนครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย

“เรารู้ว่าท่านมีพระชนมายุมาก แต่ไม่เคยคิดว่าวันนี้จะมาถึง ดีใจเมื่อรู้ว่าที่สวน Birrarung Marr จัดพิธีวางดอกไม้จันทน์ แม้จะดึกแล้วก็ยังมีผู้มาสมทบเรื่อย ๆ รู้สึกเศร้านะที่แผ่นดินไทยจะไม่มีพระองค์อีกแล้ว”
แม้ระเบียบปฏิบัติในต่างแดนจะไม่เข้มงวดเท่าในไทย แต่ทุกคนต้องผ่านจุดคัดกรองเครื่องแต่งกาย เรียนรู้ธรรมเนียมถือดอกไม้จันทน์ และถวายความเคารพพระบรมศพไม่ต่างกัน

ดังที่ จุมพิตตรา สิบต๊ะ เล่าบรรยากาศจากลานพิธีในเมืองหลวงของไต้หวัน

“ทุกคนเคร่งครัดตามเจ้าหน้าที่บอก งานจึงดำเนินไปอย่างราบรื่น ที่สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย ไทเป จัดนิทรรศการพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของพระองค์ให้ชมด้วย ยิ่งซาบซึ้งเมื่อมองไปรอบตัว เห็นทุกคนตั้งใจมาถวายดอกไม้จันทน์ บางคนมาจากต่างเมือง ทำให้เรารู้สึกว่าแม้จะได้คิวที่ ๗๐๐ กว่าก็จะรอ”

ในจำนวนผู้วางดอกไม้จันทน์ทั่วโลก หลายคนเป็นเพียงนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เคยเยือนเมืองไทย

พวกเขารู้สึกประทับใจความรักที่คนไทยมีต่อในหลวงของแผ่นดิน

๓๗ ชั่วโมงที่สนามหลวง

เรื่องและภาพ : เอื้อการย์ เบ็ญจคุ้ม

เราอาสาเข้าร่วมบันทึกภาพกับนิตยสาร สารคดี

แต่ครั้งนี้ไม่ขอใช้สิทธิ์สื่อมวลชนใด ๆ ทำตัวเหมือนประชาชนคนอื่น ๆ

ช่วงสายของวันพุธที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๐ เราพยายามหาเส้นทางเพื่อเข้าไปในบริเวณสนามหลวงให้ได้

โชคเข้าข้าง เดินอ้อมปากคลองตลาดไปทางท่าเตียน คนไม่เยอะนัก ไม่ถึง ๒ ชั่วโมงก็ผ่านจุดคัดกรองได้

เจ้าหน้าที่ตรวจเข้มมาก ไม่ให้เอากล้องใหญ่เข้า เรารอดมาได้เพราะกล้องเล็กใส่เลนส์ฟิกซ์ (ซูมไม่ได้)

ไม่ต้องมีอุปกรณ์เลิศหรู ขอให้ถ่ายด้วยความตั้งใจและพยายามอย่างที่มันควรจะเป็น

พี่ ๆ และเพื่อน ๆ ช่างภาพส่งไลน์มาถามไถ่ให้กำลังใจ ทุกคนอยากให้เราได้ที่นั่งปลอดภัยตลอดคืน

เราเลือกหามุมนั่งใต้ร่มไม้แถวสวนสราญรมย์ ตั้งใจว่าจะนอนแถวนี้

คุณป้าชาวพม่าที่มีสามีเป็นคนไทยแบ่งน้ำแบ่งขนมให้ ให้นั่งเสื่อผืนเดียวกัน

วันนี้มีคนเอาข้าวเอาน้ำมาแจกตลอดทุกครึ่งชั่วโมง สารพัดเมนูต่างคนต่างช่วยเหลือกัน ดีใจลึก ๆ นะ

ใกล้ ๔ ทุ่ม เริ่มง่วง แต่หลับไม่ค่อยลง คนเยอะ เสียงค่อนข้างดัง

พื้นที่ไม่พอเลยเอาเสื้อกันฝนมาปูนอน กระเป๋าเป้แทนหมอน อากาศไม่ร้อนนะ แต่ยุงเยอะมาก ดีที่ป้าข้าง ๆ ให้ยาทากันยุง ระหว่างเดินไปเข้าห้องน้ำฝั่งท่าเตียน เห็นคนนอนเรียงรายข้าง ๆ กำแพงวัง บางคนมีเสื่อหมอนมาพร้อม กางเต็นท์ก็มี ต่างปักหลักรอชมริ้วขบวนวันพรุ่งนี้

กลับมานอนได้ราว ๒ ชั่วโมง พอตี ๒ คนเริ่มหนาตาขึ้นอีก

คราวนี้นอนไม่หลับแล้ว ล้างหน้าแล้วเดินหามุมจนราวตี ๔ ได้มุมด้านหน้าสุด ปักหลักเลยแล้วกัน

ใกล้ตี ๕ พระมหาพิชัยราชรถเคลื่อนมาเตรียมความพร้อม

ได้เห็นความงามสีทองอร่ามในความมืด

เห็นกลุ่มหมอกจาง ๆ ปกคลุมพระเมรุมาศและบริเวณรอบ ๆ

กระทั่งราว ๗ โมงเช้า แดดส่องฟ้าพาดผ่านไปยังกำแพงวัง

ผู้คนริมกำแพงเริ่มร้อน แต่ก็เฝ้ารออย่างใจจดใจจ่อ

เกือบ ๘ โมงเสียงดนตรีดังขึ้น เพลงมา พระราชพิธีเริ่มขึ้นแล้ว

ความงดงามของริ้วขบวนเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่ ๙ ตรึงตาตรึงใจ

พระมหาพิชัยราชรถผ่านหน้าเราไป เสียงสะอื้นปนร่ำไห้ดังรอบตัว

เป็นความรู้สึกที่บรรยายออกมาเป็นตัวอักษรแทบไม่ได้

จากที่เคยแค่รู้ว่าหลายคนรักพระองค์สุดหัวใจ

วันนี้เราเข้าใจแล้ว

เราก้มกราบโดยมิคลางแคลงสงสัยอะไรใด ๆ เลยในวินาทีนั้น

เราใช้เวลารอบ ๆ ท้องสนามหลวง กิน นอน ทำงาน อยู่ทั้งสิ้น ๓๗ ชั่วโมง !!!

ยกกล้องที มองดูเจ้าหน้าที่ที ถ้าเขาห้ามก็เก็บ

เราตั้งใจลงพื้นที่ ต้องสัมผัสว่าคนที่เขามารอจริง ๆ รู้สึกอย่างไร ลำบากอย่างไร

เวลาทำอะไรแล้วจงตั้งใจ ทำให้ได้ ทำให้ดี เหมือนอย่างที่พระองค์ทำ

อย่ามัวแต่พูด จงลงมือทำ นี่คือคำสอนที่เราคิดว่าได้มากที่สุดจากพระองค์

พระองค์จากไป แต่คุณงามความดีจะยังคงอยู่ตราบนิรันดร์

Q&A“บัตรเชิญ” และ“หนังสือที่ระลึก” ในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ ๙

ศรัณย์ ทองปาน : รวบรวม

Q : ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๐ มีการออก “การ์ดเชิญ” หรือมี “หนังสืองานศพ” หรือไม่

A : ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีการจัดทำทั้งบัตรเชิญและหนังสือที่ระลึก เช่นเดียวกับในประเพณีงานศพของคนไทยทั่วไป บัตรเชิญแขกผู้มีเกียรติฉบับภาษาไทย จัดพิมพ์จำนวน ๕,๐๐๐ ใบ บรรจุในเล่มปกแข็ง หน้าปกเป็นภาพลายเส้นพระเมรุมาศบนพื้นสีเทา มีข้อความ “พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร” ส่วนปกหลังเป็นตราสัญลักษณ์สำนักนายกรัฐมนตรี

ภายในบรรจุบัตรเชิญซึ่งมีข้อความว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในวันพฤหัสบดี
ที่ ๒๖ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐ ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ขอกราบทูล/ทูล/เชิญ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ในเวลา ๑๖.๓๐ น.”

ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมงานภายในบริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวงจะได้รับหนังสือที่ระลึก บรมกษัตริย์วัฒนสถาน ซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพิมพ์พระราชทานเป็นที่ระลึก หนังสือเล่มนี้เป็น ๑ ในจำนวน ๑๑ เรื่องที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์ ดังปรากฏในคำนำของหนังสือระบุว่า บัดนี้ ถึงวาระที่จะถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง จึงมีพระราชโองการให้จัดการพระราชกุศลนี้โดยถวายพระเกียรติสูงสุดตามโบราณราชประเพณี และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพิมพ์หนังสือขึ้น ๑๑ เรื่อง สำหรับพระราชทานเป็นที่ระลึก ดังนี้

๑. ความเห็นเรื่องเรือ “ส” พระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
๒. เจ้านายเล็ก ๆ-ยุวกษัตริย์ พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
๓. เรื่องพระราชานุกิจ รวมพระราชกิจประจำวันของพระมหากษัตริย์ ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๙ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
๔. บรมกษัตริย์วัฒนสถาน ประมวลข้อมูลที่จัดแสดงในนิทรรศการ ณ หอนิทรรศการ พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสา-อัยยิกาเจ้า วังสระปทุม
๕. พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร รัชกาลที่ ๙
๖. บันทึกการเสด็จพระราชดำเนิน พระราชทานกระแส
พระราชดำริ เรื่องปัญหาการใช้คำไทย ในการประชุมทางวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๐๕
๗. เครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศ
๘. รวมบทความเกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่พิมพ์ลงในวารสาร มูลนิธิชัยพัฒนา เล่ม ๑-๓
๙. พระราชสาส์น ลายพระราชหัตถ์ ลายพระหัตถ์ สาส์น ซึ่งพระประมุข พระราชวงศ์ และประมุขประเทศต่าง ๆ แสดงความเศร้าสลดพระราชหฤทัย เศร้าพระทัย และเสียใจ ในการเสด็จสวรรคต
๑๐. รวมพระธรรมเทศนาในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระบรมศพ
๑๑. มิวเซียม ฤๅ รัตนโกษ เล่ม ๑-๓ เป็นหนังสือหายาก ตีพิมพ์เมื่อจุลศักราช ๑๒๓๙ เนื้อหาเป็นการประมวลความรู้ทั่วไปในเรื่องต่าง ๆ

นอกจากนั้นแล้วยังมีหนังสือที่ระลึกและจดหมายเหตุ ซึ่งทางราชการ หน่วยงาน และคณะสงฆ์ จัดพิมพ์ถวายโดยเสด็จพระราชกุศลอีกหลายรายการ ผู้เข้าร่วมงานแต่ละท่านจะได้รับบัตรรับหนังสือและชุดของที่ระลึกที่มีหมายเลขกำกับเดียวกันทุกใบ โดยมีกำหนดรับหนังสือในภายหลัง ได้แก่

  • หนังสือ จดหมายเหตุงานพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร (สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร)
  • หนังสือ เครื่องประกอบพระราชอิสริยยศงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร)
  • หนังสือ พระเมรุมาศสมัยรัตนโกสินทร์ (สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร)
  • หนังสือ พระเมรุในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร)
  • หนังสือ “นวมินทราศิรวาทราชสดุดี” ร้อยกรองเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร)
  • หนังสือ พระเสด็จสู่ฟ้า ราษฎร์ล้วนอาลัย (สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร)
  • หนังสือ พระผู้สถิตในหทัยราษฎร์ (กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม)
  • หนังสือ บทเพลงจากดวงใจแด่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ “พระผู้สถิตในหทัยราษฎร์” (กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม)
  • หนังสือ มหานิบาตชาดกทศชาติฉะบับชินวร เล่ม ๑-๒ (สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในนามคณะสงฆ์)
  • หนังสือ พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา-ภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (คณะสงฆ์ธรรมยุต)
  • หนังสือ ราชสรีรานุสรณีย์ (คณะวัดราชบพิธสถิตมหาสีมา-รามราชวรวิหาร)
  • ชุดของที่ระลึก ประกอบด้วย ๑) ชุดภาพพระราชกรณียกิจ ๘๙ พระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสอันเป็นมงคลสูงสุด
    ๒) หนังสือ ถนนทุกสายมุ่งสู่ประชาชน และ ๓) หนังสือ จากนภา ผ่านภูผา สู่มหานที (สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ)