วิรัตน์ โตอารีย์มิตร: เขียน

นามปากกาที่ใช้เขียนคอลัมน์

วิรัตน์ โตอารีย์มิตร ญามิลา
ปลาอ้วน วนาโศก (คอลัมน์, บทกวี)
ส้มสายชู (บันเทิง, การเมือง – แพรวสุดสัปดาห์)
สัทธาธิก ลันโทม (หนังและดนตรี – ขวัญเรือน)
มาร์ช 8 (หนังและดนตรี)
ฯลฯ

นิตยสารที่เขียน

สีสัน ขวัญเรือน ศรีสยาม รายสัปดาห์ แพรวสุดสัปดาห์
GM GQ เนชั่นสุดสัปดาห์ a day a day weekly
Hamburger เปรียว เสาร์สวัสดี LIPS Penthouses 
Central Premiere JACKIE-O (เป็นบรรณาธิการด้วย)
ฯลฯ

พ.ศ. ๒๕๖๑ เป็นปีแรกในรอบหลายปีที่ผมรู้สึกว่าตนเองอยู่ห่างจากวงการนิตยสาร ผมเข้าสู่วงการนี้เต็มตัวเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๐ ด้วยการเป็นกองบรรณาธิการนิตยสารเล่มหนึ่ง จากนั้นก็อยู่มาเรื่อยๆ หมดเวลาของการเป็นคนทำนิตยสาร ผมเปลี่ยนมาเป็นคอลัมนิสต์หาเลี้ยงชีพด้วยการเขียนคอลัมน์ตั้งแต่ปี ๒๕๔๐ บางช่วงของการทำงานผมเขียนคอลัมน์เกือบ ๓๐ ชิ้นต่อเดือน เขียนให้ทั้งรายสามเดือน รายเดือน รายปักษ์ และรายสัปดาห์ ตอนนั้นไม่มีความคิดสักนิดว่าวงการนิตยสารจะเป็นเช่นนี้ คิดเพียงเรื่อง—ต่อไปผมก็จะกลายเป็นคอลัมนิสต์แก่ๆ เชยๆ จนกระทั่งสี่ห้าปีที่ผ่านมาสัญญาณไม่ดีในวงการนิตยสารปรากฏชัดขึ้นตามลำดับ มองไปทางไหนไม่เห็นด้านที่งอกงาม เห็นแค่ด้านร่วงโรย เหตุที่ร่วงโรยเพราะมีสิ่งอื่นที่ผู้คนให้ความสนใจมากกว่า ซึ่งเป็นธรรมดาของโลก—สิ่งใหม่มักคอยไล่ต้อนให้สิ่งเก่าพ้นไปจากสมัย ผมในฐานะผู้ที่ทำมาหากินด้วยการเขียนคอลัมน์ย่อมได้รับความเดือดร้อนเป็นธรรมดา แต่จะทำอย่างไรได้เล่า? เพราะมันเป็นเรื่องที่พ้นไปจากอำนาจและการควบคุมของเรา ดีที่สุดคือปรับใจให้เข้ากับความจริง แต่ผมเข้าใจว่าการเป็นคอลัมนิสต์สามารถทำใจได้ง่ายกว่าการเป็นเจ้าของนิตยสาร

บางคนเป็นเจ้าของมา ๕๐ ปี ๔๐ ปี ๓๐ ปี …

ทุกวันนี้แผงขายหนังสือพิมพ์ นิตยสาร เป็นพื้นที่ซึ่งแห้งแล้งไร้ชีวิตชีวา ภาพผู้คนยืนล้อมแผงหนังสือริมทางหรือในห้างกลายเป็นความหลังไปเรียบร้อยแล้ว ส่วนภาพความแห้งแล้งนั้นยืนยันได้ว่าผู้คนหันหลังให้กับนิตยสาร พวกเขายังอ่านกันอยู่ มีการอ่านเกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่เลิกอ่าน แต่ไม่อ่านจากนิตยสาร

เราจะกล่าวโทษพวกเขาหรือ ? ที่หมดรัก หมดเยื่อใย เพราะเราเองก็ใช่ว่าจะเหมือนเดิม

ผมโตมากับการอ่านนิตยสาร อ่านจริงจังตั้งแต่เรียนมัธยมฯ รอคอยการวางแผงของนิตยสารบางฉบับ ผูกพันกับนิตยสารบางเล่มอย่างเหนียวแน่น การชอบอ่านนิตยสารมีส่วนอย่างยิ่งในการผลักดันให้ผมอยากเขียนหนังสือและอยากทำนิตยสาร

ตอนเป็นคอลัมนิสต์แล้วผมบอกรับนิตยสารหลายเล่มจากร้านเจ้าประจำ จ่ายค่าหนังสือเกือบสามพันบาทต่อเดือน ทำอย่างนี้หลายปีเหมือนกันจนกระทั่งถึงช่วงเวลาของการ “บอกเลิก” เล่มนี้ไม่เอาแล้ว เล่มนั้นยังรับอยู่ และต่อมาก็ไม่เหลือสักเล่ม ทั้งหนังสือพิมพ์และนิตยสาร อยากได้เล่มใดค่อยไปหาซื้อ เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในขณะที่อินเทอร์เน็ตได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นและสื่อออนไลน์ค่อยๆ เติบโตแข็งแรง นอกจากนั้นโทรศัพท์มือถือก็ทำสิ่งต่างๆ ได้มากมายอย่างเหลือเชื่อ ความเร็วและความกว้างไกลของสื่อออนไลน์สร้างโลกใบใหม่ในใจผู้คนจนพวกเรารู้สึกว่านี่คือส่วนหนึ่งของชีวิต พอเป็นส่วนหนึ่งก็รู้สึกว่าคือความจำเป็นของชีวิตด้วย ผิดกับหนังสือพิมพ์และนิตยสารที่ทยอยหมดความสำคัญลงเรื่อยๆ ระหว่างนั้นก็ค่อยๆ เป็นส่วนเกินมากขึ้น

ปี ๒๕๖๐ เป็นปีที่ผมรับรู้ข่าวคราวการปิดตัวของนิตยสารมากกว่าทุกปี ที่ยังอยู่และสู้ต่อก็เหน็ดเหนื่อย เป็นการสู้ที่หนทางชนะยิ่งกว่าริบหรี่ แค่ประคองไม่ให้แพ้ก็ยังยาก การติดต่อสื่อสารที่เปลี่ยนไปไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะวงการสิ่งพิมพ์แต่ทุกวงการนั่นแหละ ไม่ว่าวงการโทรทัศน์ วิทยุ ภาพยนตร์ ดนตรี โฆษณา ฯลฯ มีผู้คนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อนจากการเปลี่ยน ทำมาหากินกันลำบาก หรือแม้กระทั่งไม่รู้ว่าจะทำมาหากินในสายงานเดิมได้อย่างไร

แล้วผมก็นึกถึงผู้คนจำนวนหนึ่งในวงการนิตยสารที่ต้องถูกเลิกจ้าง พวกเขาเป็นเลขากองบรรณาธิการบ้าง ฝ่ายพิสูจน์อักษรบ้าง ฝ่ายธุรการบ้าง คนเหล่านี้คือกลไกเล็กๆ ที่มีส่วนขับเคลื่อนนิตยสาร บางคนทำงานที่เดียวมายี่สิบสามสิบปี พอตกงาน–การจะเริ่มทำอะไรใหม่หรือทำสิ่งใดเองก็ยาก…แต่ชีวิตต้องดำเนินต่อไป

ผมเตรียมตัวรับการล่มสลายของวงการนิตยสารมาสักพักแล้ว เตรียมตัวที่จะถูกถอดคอลัมน์ เตรียมตัวที่จะมีรายได้ลดลง และเตรียมตัวที่จะไม่มีรายได้จากการเขียนคอลัมน์อีกต่อไป การเตรียมไว้ก่อนทำให้ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นง่ายกว่าไม่ได้เตรียมอะไรไว้ในใจเลย นอกจากยอมรับได้ง่ายความรู้สึกอาลัยอาวรณ์ก็น้อยลง

เมื่อสิบกว่าปีก่อน—เวลารับรู้ว่ามีนิตยสารปิดตัวก็จะรู้สึกใจหาย แต่ทุกวันนี้รับรู้ด้วยความเข้าใจสถานการณ์ที่เป็นจริง เราผ่านยุครุ่งเรืองกันมาแล้ว นี่คืออีกยุคที่แตกต่างออกไป มีอะไรๆ ให้อ่านและดูเต็มไปหมดโดยไม่ต้องพึ่งพานิตยสารหรือหนังสือพิมพ์

สื่อรูปแบบใหม่ส่งสารได้เร็วกว่าและกว้างไกลกว่า ความเร็วและความกว้างข้างต้นแม้กระทั่งโทรทัศน์ซึ่งเป็นมหาอำนาจมานานก็ยังได้รับผลกระทบและเดือดร้อน ยังมีคนที่ซื้อและอ่านนิตยสารอยู่แต่ก็เหลือน้อยลงทุกที บรรดาสินค้าทั้งหลายก็ไม่อยากลงโฆษณาในนิตยสารเพราะไม่ใช่สื่อที่ป็อปปูล่าอีกต่อไป พอนิตยสารขาดรายได้จากโฆษณาก็อยู่ลำบาก เจ้าของสินค้าและเจ้าของกิจการหันไปพึ่งบล็อกเกอร์และการรีวิวซึ่งสามารถประเมินได้ในเวลาอันรวดเร็วว่าได้ผลมากหรือน้อยอย่างไร ทุกวันนี้บรรดาบล็อกเกอร์จึงมีอิทธิพลมาก จึงไม่แปลกที่สินค้าทั้งหลายจะพากันถอนโฆษณาจากนิตยสาร แม้กระทั่งสป็อตโฆษณาในโทรทัศน์ก็เหลือน้อยลง

เมื่อปลายปีที่แล้วเจ้าของนิตยสารเล่มหนึ่งที่เพิ่งปิดตัวไปโทรศัพท์มาคุยด้วย ขอบคุณที่เขียนคอลัมน์กันมายาวนาน และผมก็ขอบคุณที่เปิดพื้นที่ให้ได้เขียนหนังสือเพื่อทำมาหากิน ระหว่างการสนทนานั้นผมฟังมากกว่าพูด ไม่รู้จะพูดอะไร เข้าใจดีถึงสถานการณ์ทั้งหลาย แต่พี่เจ้าของนิตยสารต้องพูดมากหน่อยเพราะอยู่กับนิตยสารเล่มนี้มาเกือบห้าสิบปี

แม้ไม่อยากให้ตอนจบมาถึงก็ไม่รู้จะขัดขืนอย่างไร

เราต่อกรกับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยไม่ได้หรอกครับ ถึงจะขัดขืนได้ในช่วงแรกก็ต้องยอมจำนนในที่สุด ส่วนความหวังที่จะให้วงการนิตยสารกลับมาเหมือนเดิมยิ่งเป็นไปไม่ได้ เรื่องทำนองนี้มีแต่มุ่งไปข้างหน้า ที่ผ่านมา—สิ่งต่างๆ เป็นจำนวนมากที่ตกยุคก่อนนิตยสารและจะมีอีกหลายสิ่งตกยุคตามไป

ผมไม่รู้ว่าทั่วประเทศไทยนั้นผู้ที่อาลัยอาวรณ์กับการล้มหายตายจากของนิตยสารมีสักกี่คน ? แต่คงน้อยกว่าคนที่ไม่รู้สึกอะไรด้วย เราอาลัยโทรทัศน์ขาว-ดำ โทรเลข ตู้โทรศัพท์สาธารณะกันหรือ ? มีใครบ้างที่อยากกลับไปหยอดเหรียญตู้โทรศัพท์ ใครบ้างที่โหยหาโทรทัศน์ขาว-ดำ เรื่องราวของนิตยสารก็คงไม่แตกต่างกันนัก นอกจากมีสื่อที่ส่งสารได้เร็วและกว้างกว่านิตยสารสื่อชนิดนี้ยังเปิดโอกาสและมีพื้นที่ให้ทุกคนเป็นสื่อเองด้วย จะลงข่าว เขียนบทกวี สัมภาษณ์ วิจารณ์หนัง วิจารณ์เพลง ฯลฯ ล้วนทำได้ทั้งนั้น พอทุกคนสามารถเป็นสื่อได้อำนาจของสื่อต่างๆ ที่เคยมีมากก็ลดลง

แม้จะโตมากับการอ่านนิตยสาร ทำมาหากินกับนิตยสาร และเคยรู้สึกว่างานที่อยากทำมากที่สุดในบรรดางานทั้งหลายคือการทำนิตยสาร แต่เมื่อถึงเวลาที่วงการนิตยสารเปลี่ยนไปผมกลับไม่อาลัยอาวรณ์ ไม่ใช่เพราะใจแข็งหรือเย็นชาหากเป็นเพราะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง เดี๋ยวมีคนในวงการเล่าให้ฟังบ้างว่าสถานการณ์กำลังเป็นเช่นไร เดี๋ยวมีข่าวว่าเล่มนั้นเล่มนี้ปิดตัว ระหว่างที่รับรู้ข้อมูลผมก็ปรับตัวปรับใจไปด้วย พอถึงเวลาที่วิกฤตในวงการเกินเยียวยาผมก็มีภูมิคุ้มกันเรียบร้อยแล้ว การไม่มีคอลัมน์ไม่แตกต่างจากการตกงาน วันที่นิตยสารเล่มสุดท้ายที่เขียนคอลัมน์บอกว่าจะเลิกทำแล้วผมยอมรับอย่างง่ายดาย…เขียนคอลัมน์มาราวๆ ยี่สิบปีดีเหมือนกันที่หยุด จะได้ไปเขียนอย่างอื่นที่ไม่ใช่คอลัมน์

เวลาคนร่วมรุ่นในวงการนิตยสารมาหาเราจะคุยถึงวันคืนเก่าๆ อย่างมีความสุข ผลัดกันเล่าว่ามันดีอย่างไรและสนุกตรงไหน ส่วนพวกรุ่นใหม่ในวงการที่มาคุยมาหาก็จะได้ฟังด้วย นิตยสารนั้นให้อาชีพและอีกหลายสิ่งแก่ผม นิตยสารบางเล่มที่ผมเคยทำงานเหมือนโรงเรียนฝึกเขียนหนังสือเพราะเปิดโอกาสให้คิดและทดลองทำอะไรใหม่ๆ ได้ ผมพอจะมีแฟนหนังสือกับเขาบ้างและแฟนหนังสือเหล่านี้ก็รู้จักผมจากการเขียนคอลัมน์ เมื่อผมมาทำร้านหนังสือที่บ้านเกิดพวกเขาก็ยังตามมาให้การสนับสนุน

ตอนเขียนหนังสือ The Ballad of The Columnist ผมเคยอยากรู้ว่าการเขียนคอลัมน์ของตนจะจบลงตรงไหนและสิ้นสุดอย่างไร แล้วผมก็ได้รู้เมื่อปลายปีที่แล้ว…จบก็จบนะครับ สถานการณ์โดยรวมนั้นถึงแม้จะยังไม่จบแต่ก็อยู่แบบไม่ค่อยดีและไม่มีความสุข ผมมีความสุขในการเขียนคอลัมน์ไม่ได้หรอกระหว่างที่การล้มหายตายจากของนิตยสารเกิดขึ้นได้ทุกขณะ ตลาดกำลังจะวาย ร้านนั้นเลิกกิจการ ร้านนี้กลายเป็นพื้นที่รกร้าง ผู้คนพากันไปจับจ่ายที่ตลาดอื่น และการแสดงของตลาดใหม่น่าสนใจกว่า บรรยากาศในตลาดเราไม่เป็นใจต่อการคิด เขียน หรือทดลองทำอะไรที่แตกต่างออกไปเลย…

ถ้าอย่างนั้นก็สิ้นสุดเถิด

พออายุมากขึ้นผมมองการสิ้นสุดแตกต่างจากวัยหนุ่มหรือตอนที่อายุน้อยกว่า ปัจจุบันเรากลัวและต่อต้านการจบหากเป็นเรื่องที่เรายังไม่อยากให้จบ ทั้งความกลัวและการต่อต้านทำให้มองไม่เห็นสิ่งที่กำลังเป็นจริงอยู่ แต่เมื่อใจเลิกต่อต้านเราจะเห็นเป็นอีกแบบแล้วก็ยอมรับได้ง่ายขึ้น ทั้งๆ ที่อยู่ในสภาพไม่แตกต่างจากคนตกงานแต่ผมรู้สึกไม่เป็นไรหรอกแม้จะไม่มีคอลัมน์ให้เขียนเราก็ยังอยากเขียนหนังสือต่อไป การเขียนหนังสือที่ไม่ใช่คอลัมน์ยังมีอีกมาก

อย่างไรก็ตามนี่คือมุมของคอลัมนิสต์ซึ่งเป็นผู้รับจ้างเขียน ไม่ใช่มุมเจ้าของนิตยสาร ไม่ใช่มุมของคนที่กำลังทำนิตยสาร และไม่ใช่มุมของคนอ่าน

ทีนี้ลองเปลี่ยนสถานะจากคอลัมนิสต์มาเป็นคนอ่านบ้าง ในฐานะคนชอบอ่านผมยังอ่านหนังสือทุกวันแต่อ่านเฉพาะเรื่องที่อยากอ่านและอ่านจากหนังสือเล่ม ข่าวคราวต่างๆ ตามหน้าเฟซบุ๊กไม่ค่อยได้อ่านและติดตามแล้ว หลายเรื่องเราไม่จำเป็นต้องรับรู้ ส่วนนิตยสารนั้นความรู้สึกที่อยากจะเปิดดูและลองอ่านมันสูญหายไป หายจริงๆ นะครับ ไม่อยากรู้ว่าใครทำอะไร ที่ไหน ใครพูดอะไรและคิดอย่างไรก็ช่างเขา ซึ่งแตกต่างจากสมัยก่อนอย่างสิ้นเชิง ตอนนั้นจะอ่านคร่าวๆ และพลิกดูรูปรอบหนึ่งก่อนแล้วค่อยอ่านคอลัมน์ที่ชอบ ตามด้วยการทยอยอ่านจนหมดเล่ม ถ้ามีเรื่องที่ชอบมากก็จะกลับมาอ่านอีก

พอความรู้สึกอยากเปิดดูและลองอ่านหายไปการที่อยากจะซื้อนิตยสารก็น้อยลงด้วย ไม่รู้จะซื้อไปทำไม แต่เมื่อก่อนผมรู้ว่าจะซื้อไปทำไม อย่างไรก็ตามนี่คือมุมของคนอ่านคนเดียวเท่านั้นซึ่งใช้เป็นมาตรฐานใดๆ ไม่ได้ คนที่เขารู้ว่าจะซื้อนิตยสารไปทำไมและต้องการอ่านอะไรในนิตยสารก็มี เพียงแต่จำนวนลดลงจากเดิมมาก ระหว่างที่จำนวนคนลดลงการเกิดใหม่ของคนที่รักการอ่านนิตยสารก็คงจะน้อยจัดหรืออาจถึงขั้นไม่มีเลย

นิตยสารในประเทศไทยยังไม่ถึงขั้นถูกถอนรากถอนโคนจนสูญพันธุ์ แต่จะให้กลับมาปรกติสุขเหมือนเดิมและมียุครุ่งเรืองอีกครั้งเป็นไปไม่ได้แล้ว ก็เหมือนที่คณะลิเกยังอยู่แต่ไม่ได้อยู่อย่างที่เคยอยู่ คนชอบดูลิเกก็ยังมี ทว่ามีน้อยและไม่เพียงพอจะทำให้คณะลิเกทั้งหลายอยู่รอดปลอดภัย เรื่องทำนองนี้เราไม่มีอำนาจหยุดยั้งหรือห้ามปราม มันเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่คอยกำหนด

และเกิด แก่ เจ็บ ตายบนโลกก็ทำงานตลอดเวลา