ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต
ตามตำนานอินเดีย จากพระอาทิตย์ ผู้เป็นเทวะ มีลูกหลานสืบเนื่องมาถึงท้าวอิกษวากุ กษัตริย์ผู้เป็นต้นวงศ์ของพระรามพระลักษมณ์ ใน “รามายณะ” หรือ “รามเกียรติ์” ด้วย อย่างใน “รามเกียรติ์” บทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑ เช่นตอนศึกกุมภกรรณ หลังจากพระลักษมณ์ถูกหอกโมกขศักดิ์ของกุมภกรรณแล้ว พระรามทรงโศกเศร้าเสียใจยิ่ง
“บัดนั้นพระยาพิเภกยักษ์ศรี
เห็นพระองค์ทรงโศกโศกี อสุรีกราบลงกับบาทา
ทูลว่าพระลักษมณ์สุริย์วงศ์ ยังไม่ปลงชีวังสังขาร์...”
นั่นคือทั้งพระรามพระลักษณ์ล้วนนับเนื่องอยู่ใน “สุริยวงศ์” อันสืบสายมาแต่พระอาทิตย์
เจ้าราชปุตในรัฐราชาสถานของอินเดียก็ยังคงอ้างอิงว่าตนสืบสันตติวงศ์แห่ง “สุริยวงศ์” ลงมาเป็นลำดับจนถึงเดี๋ยวนี้
สองปีก่อนเคยเดินทางไปราชาสถาน และซื้อตั๋วเข้าไปเที่ยวชมพระราชวังของมหารานา (เจ้าผู้ปกครอง) แห่งเมวาร์ ที่เมืองอุทัยปูร ซึ่งยังคงตกทอดมาเป็นสมบัติในราชสกุล ได้พบตราพระอาทิตย์อยู่ตามที่ต่างๆ ทั่วไป แต่ที่น่าสนใจเป็นพิเศษ คือตราประจำราชวงศ์ ซึ่งคงออกแบบขึ้นภายใต้อิทธิพลของตราประจำตระกูลแบบฝรั่ง (Coat of Arms)
จากข้อมูลที่หาได้ตามเว็บไซต์ต่างๆ อธิบายว่า ตรานี้ออกแบบขึ้นในรัชสมัยของมหารานา ศัมภูสิงห์จี (Shambhu Singhji) เจ้าผู้ปกครองช่วงปี ค.ศ. ๑๘๖๑-๑๙๗๔ (พ.ศ. ๒๔๐๔-๒๔๑๗) ประกอบด้วยรูปพระอาทิตย์เปล่งรัศมีอยู่ด้านบน อาร์มหรือโล่ที่มีภาพภูเขาและกำแพงป้อม พร้อมด้วยพระศิวลึงค์ ขนาบข้างด้วยทหารราชปุตสวมเสื้อเกราะพร้อมดาบและโล่ กับนักรบชนเผ่าภีล (Bhil) ถือธนู ซึ่งทั้งสองทัพมีบทบาทร่วมกันในการรบต้านทานทหารมุสลิมของราชวงศ์โมกุล
ที่ว่าน่าสนใจเป็นพิเศษก็เพราะ ทันทีที่เห็นตรานี้ก็ชวนให้นึกถึงอีกตราหนึ่งที่เมืองไทย คือตราประจำพระองค์ “สมเด็จฯ วังบูรพา” สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช (พ.ศ. ๒๔๐๓-๒๔๗๑) ดังที่นำตัวอย่างมาเทียบเคียงให้ดูจากปกหนังสือพระนิพนธ์
แม้จะไม่ได้เหมือนกันเสียทีเดียว แต่ก็คงต้องยอมรับว่านักรบที่ยืนขนาบข้างอาร์มตรงกลางนั้นดูไม่เป็นทหารไทยเลย และข้างหนึ่งนั้น ดูคล้ายทหารราชปุตในชุดเกราะครบเครื่อง สวมหมวกมีพู่ พร้อมดาบวงโค้งและโล่ ส่วนอีกข้างหนึ่งก็ดูคล้ายนักรบชนเผ่าโพกศีรษะ ไม่สวมเสื้อ สะพายดาบ
เท่าที่เคยผ่านตามา ยังไม่พบคำอธิบายใดๆ เรื่องนักรบสองนายบนตราประจำพระองค์ของ “สมเด็จฯ วังบูรพา” มาก่อน แต่เมื่อดูเปรียบเทียบกันแล้ว ผมค่อนข้างเชื่อว่าต้องมีความเกี่ยวข้องกันกับตราราชสกุลแห่งเมวาร์เป็นแน่
เมื่อครั้งยุวกษัตริย์รัชกาลที่ ๕ เสด็จอินเดียในปี ๒๔๑๔ “สมเด็จฯ วังบูรพา” พระอนุชา พระชันษา ๑๓ ปี ได้ตามเสด็จด้วย แม้ว่าเส้นทางของขบวนเสด็จมุ่งตัดขวางอนุทวีปอินเดีย จากบอมเบย์ (มุมไบ) ทางตะวันตก มายังกัลกัตตา (โกลกาตา) ทางตะวันออก โดยมิได้ผ่านไปถึงราชาสถาน แต่ก็เป็นไปได้ที่พระองค์จะได้เคยทอดพระเนตรตราประจำราชวงศ์เมวาร์ในระหว่างนั้น
เราจึงอาจ “คิดเล่นๆ” ได้ว่า “สมเด็จฯ วังบูรพา” เองก็ทรงมีพระนามว่า “ภาณุรังษี” อันมีความหมายเนื่องด้วยพระอาทิตย์ ดังปรากฏรูปอาทิตย์อุทัยในช่องล่างสุดของอาร์ม แม้แต่ที่ประทับของพระองค์เองก็ยังมีนามว่า “วังบูรพาภิรมย์” ดังนั้นจึงอาจทรงเลือกดัดแปลงตราของผู้สืบสาย “สุริยวงศ์” ในอินเดียมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในตราประจำพระองค์
เพราะสมเด็จฯ อาจทรงนับเนื่องว่าพระองค์ทรงร่วมอยู่ใน “สุริยวงศ์” ด้วยก็เป็นได้