เก็บตก บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี..จากการลงพื้นที่ภาคสนาม


ป่าไคร้ยืนต้นตายหลังแม่น้ำโขงลดระดับลงอย่างกะทันหัน ปรกติป่าไคร้จะคอยทำหน้าที่เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำเหมือนป่าชายเลน ช่วงน้ำหลากอาจจมอยู่ใต้น้ำนับสิบเมตร ถึงช่วงแล้งก็โผล่ขึ้นมาเป็นป่าสมบูรณ์ (ภาพ : กลุ่มรักษ์แม่น้ำโขง)

 

“วันนั้นสังเกตว่ามีชาวบ้านออกมาหาปลากันมาก แล้วได้ปลากลับไปเป็นกระสอบ มีคนบอกว่าพวกเราน่าจะออกไปดู ในใจยังคิดว่าจะออกไปหาอาหารกลางวัน แต่พอลงไปกลางแม่น้ำ มันไม่ใช่แล้ว ปลาตายเยอะผิดปรกติ ตายเป็นกิโลๆ”

สุพัตรา อินทะมาตร นักวิจัยท้องถิ่นเรื่องความมั่นคงทางอาหาร พื้นที่ อ.สังคม จ.หนองคาย
๑๘ กรกฎาคม ๒๕๖๒

“วันนี้ที่ห้วยค้อ อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย ท้ายเขื่อนไซยะบุรี แม่น้ำโขงวิกฤตหนัก น้ำลดจนกระทั่งสัตว์น้ำทั้งปู ปลา กุ้ง หอย ไม่สามารถหนีลงร่องน้ำลึกได้ และแห้งตายตามหาดทราย นี่คือหายนะของแม่น้ำโขง ราชาแห่งสายน้ำ”

เพจ Mekong Voice เสียงจากลำน้ำโขง
๑๔ ตุลาคม ๒๕๖๒

(ภาพ : Mekong Voice เสียงจากลำน้ำโขง)

ซากปลาหลายชนิดแห้งตายเพราะว่ายลงน้ำลึกไม่ทัน เช่นเดียวกับซากหอยกาบเล็กที่อาศัยเกาะตามรากไคร้ โศกนาฏกรรมหมู่ในภาพเกิดขึ้นที่บ้านห้วยค้อ ต.บ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๖๒ (ภาพ : Mekong Voice เสียงจากลำน้ำโขง)

กลางเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๒ ระดับแม่น้ำโขงในพื้นที่ ต.บ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย ลดต่ำลงเป็นประวัติการณ์ เกิดปรากฏการณ์ “กุ้งย่างปลาย่างกลางแม่น้ำโขง” หลังจากระดับน้ำลดลงอย่างกะทันหัน สัตว์น้อยสัตว์ใหญ่พากันหลงทิศทางและว่ายหนีลงร่องน้ำลึกไม่ทัน ที่สุดก็ขาดน้ำและถูกแสงแดดแผดเผาจนแห้งตาย

คล้อยหลังไม่กี่เดือน โศกนาฏกรรมกลางลำน้ำโขงเกิดขึ้นซ้ำรอยเดิมอีกครั้ง เมื่อช่วงกลางเดือนตุลาคม ชาวบ้านกลุ่มรักษ์แม่น้ำโขงออกสำรวจแม่น้ำโขงบริเวณบ้านห้วยค้อ ต.บ้านม่วง อ.สังคม พบกุ้ง หอย ปู ปลา แห้งตายคาพื้นทรายกลางแม่น้ำ เช่นเดียวกับไคร้พืชท้องถิ่นยืนต้นตายจำนวนมาก

ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม หนึ่งในคณะสำรวจแม่น้ำโขงบรรยายสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่า

“ในช่วงที่แดดเริ่มระอุพวกเราเดินบนทรายร้อนๆ สลับกับแอ่งที่พอจะเหลือน้ำอยู่บ้าง หากเป็นช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เราคงเดินอยู่ใต้น้ำลึกราว ๑๐ เมตร แต่ปีนี้สรรพชีวิตส่วนใหญ่ได้ตายไปแล้ว ทั้งต้นไม้และสัตว์น้ำ บางจุดที่เคยเป็นแอ่งน้ำกลายเป็นสุสานของสัตว์น้ำที่มารวมตัวกันและสิ้นใจไปพร้อมๆ กัน ส่วนที่ยังมีชีวิตรอดในพื้นที่เล็กๆ ที่ยังพอมีน้ำ ต่างก็รอวันตายที่กำลังคืบคลานมาในไม่ช้า”

(ภาพ : ชัยวัฒน์ พาระคุณ)

ทั้งๆ ที่ควรอยู่ในช่วงน้ำหลากแต่แม่น้ำโขงเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม ๒๕๖๒ กลับแล้งน้ำมีสภาพไม่ต่างจากหาดทราย (ภาพ : ชัยวัฒน์ พาระคุณ)

ตลอดระยะทางสำรวจประมาณ ๓ กิโลเมตร กลุ่มรักษ์แม่น้ำโขงพบปลาหายาก เช่น ปลาผั่น ติดอยู่ในแอ่งน้ำขนาดเล็ก จึงช่วยกันจับไปปล่อยในแอ่งน้ำใหญ่ ระหว่างทางมองเห็นหอยจำนวนมากทำท่าเหมือนอ้าปากพ่นน้ำที่แทบจะไม่มีอยู่ในตัวออกมา ทุกคนได้แต่ภาวนาให้พวกมันรอดชีวิต แม้รู้อยู่แก่ใจว่าอีกไม่นานพวกมันคงพากันขาดน้ำตาย

หลายปีแล้วที่ระดับน้ำในแม่น้ำโขงขึ้นลงผิดปรกติ ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ เฉพาะปีนี้น้ำโขงผันผวนหนัก และเผชิญภาวะแล้งสุดในรอบหลายปี นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นมาระดับน้ำต่ำกว่าปรกตินับสิบเมตร แล้วขึ้นๆ ลงๆ อยู่อย่างนั้น

ตัวอย่างความผันผวนของแม่น้ำโขงที่ ต.บ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย เช่น

วันที่ ๘-๙ ตุลาคม น้ำลดลงประมาณ ๒ เมตร เพียงชั่วข้ามคืน

วันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๖๒ ระดับน้ำเพิ่มขึ้นประมาณ ๑ ฟุต โดยไม่มีหลักฐานยืนยันว่าเกิดจากสาเหตุใด ชาวบ้านคาดว่าอาจเกิดจากเขื่อนไซยะบุรีในประเทศลาวปล่อยน้ำลงมาเพื่อให้ชาวเมืองปากลายได้จัดบุญแข่งเรือตามประเพณี หลังจากชาวบ้านต้องซ้อมแข่งเรือในแม่น้ำโขงที่มีระดับน้ำแห้งผิดปรกติจากปีก่อนๆ

วันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๖๒ น้ำขึ้นประมาณ ๓๐ เซนติเมตร สีน้ำเปลี่ยนจากขุ่นเป็นใส

ปลาเอินหรือยี่สกไทย ปรกติจะอพยพจากตอนใต้ของลาวขึ้นมาวางไข่แถวหนองคายราวเดือนพฤศจิกายนถึง ธันวาคม วางไข่แล้วก็อพยพกลับ แต่ปี ๒๕๖๒ ปลาเอินมาเร็วมาก อาจสับสนจากระดับน้ำที่ขึ้นลงผิดปกติ

ช่วงเช้าวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๖๒ ที่ อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย (ฝั่งตรงข้ามคือกรุงเวียงจันทน์) ยังพอมีน้ำ แต่ยามบ่ายน้ำลดกะทันหัน นักท่องเที่ยวพบหอยจำนวนมากหนีลงน้ำไม่ทัน ค้างเติ่งอยู่บนหาดทราย (ภาพ : ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ)

คืนวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๖๒ ชาวบ้านที่ห้วยค้อ อ.สังคม จ.หนองคาย เตรียมทำพิธีไหลเรือไฟ ถึงแม้แม่น้ำโขงจะแห้ง และแทบไม่มีน้ำไหล (ภาพ : อรอนงค์ วงษ์จักร)

ปรากฏการณ์สัตว์น้ำและต้นไม้ล้มตายภายในเวลาไม่นานทำให้ชาวบ้านพูดเป็นเสียงเดียวว่า เวลานี้เขื่อนในจีนและลาวควบคุมน้ำได้อย่างเด็ดขาด ระดับแม่น้ำโขงจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับเขื่อน ทางด้าน สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานน้ำและทรัพยากรแห่งชาติ (สทนช.) ชี้แจงว่าสถานการณ์น้ำโขงลดต่ำผิดฤดูกาลเกิดจากปริมาณฝนน้อยทั้งลุ่มน้ำโขง ทำให้มีน้ำไหลมาเติมแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขาน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เป็นเหตุให้การปล่อยน้ำจากเขื่อนทั้งในประเทศจีนและลาวมีปริมาณน้อยตาม

หลังออกสำรวจแม่น้ำโขง ได้เห็นภาพสัตว์น้ำและป่าไคร้แห้งตายด้วยสายตาตนเอง สูดดมซากสัตว์ที่เริ่มส่งกลิ่นเหม็น สังเกตว่าพื้นที่ริมฝั่งโขงที่เคยถูกน้ำท่วมและเป็นที่วางไข่ของปลาโผล่พ้นเหนือน้ำ แม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขงถูกดึงน้ำลงมาจนแห้งขอดตาม น่าจะส่งผลกระทบต่อการขยายพันธุ์สัตว์น้ำในปีต่อๆ ไป รวมทั้งได้รับรายงานว่าสภาพน้ำแห้งระดับหายนะนี้เกิดขึ้นตลอดแนวพรมแดนไทยลาวในภาคอีสาน ตั้งแต่เลยถึงอุบลราชธานี และคาดว่ามีผลกระทบถึงแม่น้ำโขงในลาวใต้ และกัมพูชา

กลับจากสำรวจ ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ หวนนึกถึงภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่อง The Day after Tomorrow หรือชื่อไทย “วิกฤตวันสิ้นโลก” ที่กล่าวถึงหายนะทางธรรมชาติ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมื่อวันที่คลื่นยักษ์และพายุทอร์นาโดพัดถล่มเมืองสำคัญของสหรัฐอเมริกา น้ำแข็งปกคลุมผิวโลกจนมนุษยชาติเกือบสูญพันธุ์

ดร.ไชยณรงค์ คิดเชื่อมโยงมาถึงเหตุการณ์มรณะที่เพิ่งพานพบ ณ แม่น้ำโขง

“นี่คือการหายนะของระบบนิเวศน์ที่เป็นภัยพิบัติในระดับภูมิภาคและระดับโลก แต่รัฐบาลทุกรัฐบาลในลุ่มน้ำโขงเมินเฉยที่จะกล่าวถึงราวกับว่าเป็นเรื่องไม่สำคัญ ในทางกลับกันยังจับมือกับกลุ่มทุนในการเดินหน้าสร้างเขื่อนแห่งใหม่บนลำน้ำโขงต่อไป ผมได้แต่หวังว่าสังคมจะต้องไม่ปล่อยให้เรื่องนี้ลอยนวล และจะช่วยกันทวงความเป็นธรรมให้กับแม่น้ำโขง แม่ของสรรพชีวิต และแม่ของคนกว่า ๖๐ ล้านคนที่พึ่งพาแม่น้ำสายนี้”

เหตุการณ์ในหนัง The Day after Tomorrow มีทั้งสิ่งที่เป็นไปได้และเป็นไม่ได้ทางวิทยาศาสตร์

แต่ความย่อยยับของแม่น้ำโขงและพื้นที่ลุ่มน้ำโขงกำลังเกิดขึ้นจริงในยุคของเรา

ไม่แน่ว่าตัวอย่างเหตุการณ์วันสิ้นโลกอาจอยู่ใกล้แค่ปลายจมูกเรานี่เอง