เก็บตก บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี..จากการลงพื้นที่ภาคสนาม
เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๖๒ จดหมายเปิดผนึกฉบับหนึ่งถูกร่างขึ้นริมฝั่งแม่น้ำโขง ผู้ร่างคือ ก้านก่อง จันลอง เรียน ฯพณฯ ชวน หลีกภัย ฝ่ายหนึ่งเป็นชาวบ้านที่ประกอบอาชีพทำสวน ทำไร่ อยู่ในพื้นที่บ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย อีกฝ่ายคือ ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎรคนปัจจุบัน เนื้อหาในจดหมายเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลงพื้นที่ ๗ จังหวัดริมน้ำโขงภาคอีสาน เพื่อรับฟังความทุกข์ยากหลังประสบปัญหาแม่น้ำโขงท้ายเขื่อนไซยะบุรีเหือดแห้ง
“เราอยากชี้แจงให้ ฯพณฯ ทราบว่า นับตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๒ เป็นต้นมา ที่เขื่อนไซยะบุรีได้ทดลองเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าจนกระทั่งถึงปัจจุบัน พวกเราต้องเผชิญกับความทุกข์ยากแสนสาหัสจากการที่ระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดลงผิดปรกติ ถึงแม้จะอยู่ในช่วงฤดูฝน แต่ระดับน้ำต่ำกว่าที่ควรจะเป็นนับสิบเมตร และระดับน้ำยังผันผวน ขึ้นๆ ลงๆ รายวัน ผิดธรรมชาติ ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถทำประมงที่เป็นรายได้หลัก ได้รับความเดือดร้อนจากการขาดแคลนปลาสำหรับบริโภค”
ก้านก่อง จันลอง ประธานกลุ่มคนรักษ์แม่น้ำโขงชี้แจงข้อความตามจดหมาย และชี้ให้ดูภาพป่าไคร้ ระบบนิเวศสำคัญของแม่น้ำโขงตอนล่างยืนต้นตาย
ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคมและกลางเดือนตุลาคม ๒๕๖๒ ก้านตองและกลุ่มคนรักษ์แม่น้ำโขงเห็นสัตว์น้ำแห้งตายกลางแม่น้ำโขงจำนวนมาก ทั้งกุ้ง หอย ปู ปลา คาดว่าเกิดจากระดับน้ำโขงลดอย่างกะทันหัน สัตว์น้ำว่ายลงร่องน้ำลึกไม่ทัน ยกตัวอย่างหอยกาบเล็กที่กลายเป็นซากแห้งกรังติดอยู่บนรากต้นไคร้
นับตั้งแต่มีการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตอนบนประเทศจีน ระดับน้ำโขงก็ไม่ขึ้นลงตามธรรมชาติ หลังสร้างเขื่อนไซยะบุรีในลาว ก้านก่องบอกว่าสถานการณ์ยิ่งเลวร้าย เนื่องจากตั้งอยู่ห่างชายแดน อ.เชียงคาน จ.เลย แค่ประมาณสองร้อยกิโลเมตร
เขื่อนไซยะบุรีเป็นเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงแห่งแรกในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตอนล่าง หนังสือ “นิเวศ เศรษฐกิจ วัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง จากแก่งคุดคู้ถึงผาชันในกระแสการเปลี่ยนแปลง” จัดพิมพ์โดยเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลลุ่มน้ำโขง ๗ จังหวัดภาคอีสาน ระบุถึงสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเขื่อนไซยะบุรีว่า
เขื่อนต้องส่งไฟฟ้าให้ไทยไม่ต่ำกว่าวันละ ๘ ชั่วโมง รวมทั้งปีเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าวันละ ๑๐ ชั่วโมง ไม่รวมวันอาทิตย์ ในฤดูแล้งเขื่อนต้องปิดประตูระบายน้ำทุกบานเพื่อเก็บกักน้ำนาน ๑๖ ชั่วโมงต่อวัน สำหรับปล่อยน้ำผ่านเครื่องกำเนิดไฟฟ้าให้ได้ ๘ ชั่วโมงต่อวัน คาดว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงแบบวันต่อวัน หรือแม้แต่ชั่วโมงต่อชั่วโมงได้มากถึง ๕ เมตรในหนึ่งวัน ในหมู่บ้านที่อยู่ท้ายเขื่อนระยะ ๔๐-๕๐ กิโลเมตร ภายใน ๑-๒ ชั่วโมง ซึ่งยังอยู่ในเขตลาว
ถึงช่วงที่ต้องเก็บกักน้ำนาน ๑๖ ชั่วโมงต่อวัน ระดับน้ำท้ายเขื่อนจะลดและแห้งลงเป็นระยะทางประมาณ ๒๕๘ กิโลเมตรซึ่งจะเข้าเขตไทย-ลาว ผ่าน อ.เชียงคาน ไปถึง อ.ปากชม จ.เลย ทำให้ระดับน้ำที่เชียงคานเปลี่ยนแปลงได้สูงสุด ๑-๒ เมตร และในเขตอุบลราชธานี จังหวัดสุดท้ายที่แม่น้ำโขงไหลผ่าน เปลี่ยนแปลงได้ ๐.๕ เมตรต่อวัน
จดหมายเปิดผนึกของก้านก่องถูกร่างหลังทราบข่าวว่าเมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๖๒ ฯพณฯ ชวน หลีกภัย เดินทางไปเยี่ยมชมการดำเนินงานเขื่อนไซยะบุรี วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๖๒ มีการเผยภาพถ่ายกับเจ้าหน้าที่และผู้บริหารเขื่อน ทั้งภาพหมู่บนจุดชมวิวมีแม่น้ำโขงและเขื่อนไซยะบุรีเป็นฉากหลัง ภาพภายในอาคารขณะรับฟังบรรยายสรุป เหตุการณ์เกิดก่อนสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้กับประเทศไทยอย่างเป็นทางการจะเริ่มขึ้นวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๒
“ขณะที่หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำโขง และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพื้นที่ไม่เคยลงพื้นที่มาดูข้อเท็จจริง และรับฟังความทุกข์ของชาวบ้าน ทั้งที่เป็นประเด็นปัญหาที่สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านทั้งที่บ้านม่วงและที่ตั้งชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขง ๗ จังหวัดในภาคอีสาน และเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในระดับภูมิภาค
“ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น ข้าพเจ้าและชาวบ้าน ต.บ้านม่วง จึงขอเรียนเชิญ ฯพณฯ ในฐานะประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้โปรดลงพื้นที่เพื่อดูข้อเท็จจริง และพบปะกับชาวบ้านที่เดือดร้อน เพื่อดำเนินการต่อไปที่เป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว”
ข้อความปิดท้ายจดหมายเปิดผนึกที่ก้านก่องส่งถึง ฯพณฯ ชวน หลีกภัย
หมายเหตุ : เก็บตกจากลงพื้นที่ อ.สังคม จ.หนองคาย, อ.ปากชม จ.เลย และกิจกรรมเสวนา เขื่อนไซยะบุรี การเปลี่ยนแปลงของน้ำโขงที่ไม่หวนคืน ๒๘-๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๒