RAINBOW OVER THE S.E.A.
เรื่อง : ณัฐกานต์ อมาตยกุล
ภาพ : วรรษมน ไตรยศักดา
LGBT คือ กลุ่มอักษรย่อจากคำว่า เลสเบียน (Lesbian : หญิงรักหญิง) เกย์ (Gay : ชายรักชาย)
ไบเซ็กชวล (Bisexual : รักสองเพศ) และทรานสเจนเดอร์ (Transgender : ผู้ที่ดัดแปลงร่างกายให้ตรงตามเพศวิถี)
เควียร์ (queer) หมายถึงผู้มีเพศวิถีแตกต่างจากคนส่วนมากในสังคม คำนี้เคยใช้โจมตีผู้คน
ที่มีเพศวิถีไม่ตรงกับเพศกำเนิดในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ และถือเป็นคำปรามาส ต่อมาได้รับการนิยามใหม่
ให้เป็นคำที่ไม่มีความหมายแง่ลบเพื่อใช้แสดงอัตลักษณ์ของกลุ่มคนซึ่งไม่ยึดติดกับบรรทัดฐานทางเพศของสังคม
โดยไม่ระบุเพศชัดเจนเหมือนศัพท์ LGBTไพรด์ (pride) เป็นศัพท์ที่ใช้ร่วมกันในหลายประเทศทั่วโลก หมายถึงกิจกรรมการเคลื่อนไหวของกลุ่ม LGBT
ทั้งงานที่จัดเป็นประจำทุกปีเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ลุกฮือครั้งสำคัญของกลุ่ม LGBT ที่สโตนวอลล์ในนครนิวยอร์กเมื่อ ค.ศ. ๑๙๖๙
หรืองานรณรงค์ทั่วไปเพื่อส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของกลุ่ม LGBT เช่น การผลักดันกฎหมายอนุญาตการแต่งงานของเพศเดียวกัน
การปฏิบัติอย่างไม่แบ่งแยก ฯลฯ
….
รอยยิ้มบนใบหน้า ลูกโป่งหลากสีที่ปักเบาะหลัง รวมทั้งธงสีรุ้งโบกสะบัดกลางสายฝนปรอย ปรากฏอยู่รายล้อมเหล่าผู้คนบนหลังอานจักรยานนับร้อยที่ขี่ผ่านการจราจรหนาแน่นยามเช้าวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๕๘ ในกรุงฮานอย คู่รักชายชายบางคู่นั่งซ้อนท้ายบนจักรยานคันเล็กดูน่ารัก แม้จะต้องใช้กำลังขาปั่นและช่วยกันไถรถไปข้างหน้า เหนื่อยและเปียกปอนจากน้ำเจิ่งนองตามพื้นถนนอยู่บ้าง แต่ระยะทาง ๔.๖ กิโลเมตรจากทะเลสาบสางว๋อ (Giảng Võ) สู่จุดหมายคือสมาคมอเมริกัน ถนนฮายบ่าจึง ยังคงทอดตัวรออยู่ข้างหน้า และพวกเขายังคงให้กำลังใจกันและกันจนกระทั่งถึงปลายทาง
เหงวียน ทัญ เติม (Nguyễn Thanh Tâm) หัวเรือใหญ่วัย ๒๘ ปี ของงาน เวียดไพรด์ (Viet Pride) กล่าวถึงที่มาที่ไปว่าหลังจากจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) และทำงานอยู่ที่นั่น ๒ ปี เธอได้มีโอกาสเข้าร่วมงานสตอกโฮล์มไพรด์ ที่ประเทศสวีเดน จึงเกิดแรงบันดาลใจ
“ในงานนั้นเราเกิดความรู้สึกภูมิใจที่เป็นตัวเอง อยากจะให้ชาวเวียดนามที่เป็น LGBT ได้สัมผัสความรู้สึกแบบนี้ด้วย” เธอจึงกลับสู่ถิ่นฐานฮานอย และเริ่มลงมือเจรจาขอการสนับสนุนจากองค์กรต่าง ๆ เพื่อทำให้ไพรด์เกิดขึ้นจริงใน ค.ศ. ๒๐๑๒ โดยการสนับสนุนจากสถานทูตสวีเดน จนบัดนี้เวียดไพรด์ก็เกิดขึ้นเป็นครั้งที่ ๔ แล้ว“ตอนนั้นงานไพรด์เป็นแนวคิดค่อนข้างใหม่ ทั้งสำหรับคนเวียดนามและองค์กรนานาชาติในเวียดนาม เพราะแม้ประเทศเราจะมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจสูง แต่พัฒนาการทางสังคมไม่ได้ก้าวตามทัดเทียมกัน เพราะฉะนั้นแนวคิดเรื่อง LGBT จึงถือว่าแปลก และไพรด์ถูกมองว่าเป็นการเฉลิมฉลองแบบชาวตะวันตกการโน้มน้าวให้ผู้คนสนับสนุนจึงเป็นเรื่องยากและท้าทาย แต่ฉันเชื่อว่าจำเป็นต้องจัดขึ้น เพื่อทำให้กลุ่ม LGBT มีตัวตนเป็นที่มองเห็นได้ในสังคมเวียดนาม เพราะพวกเราอยู่ตรงนี้อยู่แล้ว” เธอกล่าว สอดพ้องกับคำขวัญประจำงานปีนี้ นั่นคือ “We are queer, we are here”
ณ สวนสาธารณะ Hong Lim Park ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานพิงก์ดอต (Pink Dot) นั้นเต็มไปด้วยคนทุกเพศทุกวัยในชุดสีชมพู ถึงแม้จะมีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก แต่บรรยากาศในงานนั้นอบอุ่นและเป็นกันเองคล้ายงานปิกนิกใหญ่ที่เพื่อน ๆ และครอบครัวมารวมกัน
งานพิงก์ดอตถือเป็นงานของกลุ่ม LGBT ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาเป็นการจัดงานปีที่ ๗ ด้วยคอนเซปต์ “Where Love Lives” มีผู้เข้าร่วมทั้งชาวสิงคโปร์และชาวต่างชาติซึ่งมีกลุ่ม LGBT ครอบครัว และเพื่อนผู้สนับสนุนรวมกว่า ๒๘,ooo คน ไฮไลต์ของงานคือการจุดไฟฟอร์มเป็นจุดสีชมพูพร้อมคำว่า “LOVE” อันเป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์
ที่มาของชื่องาน Pink Dot นั้นมาจากชื่อเล่นของประเทศสิงคโปร์ว่า Red Dot หรือจุดสีแดงบนแผนที่ โดยสีชมพูนอกจากจะเกี่ยวข้องกับกลุ่ม LGBT ยังเป็นสีที่ได้จากการผสมสีแดงกับสีขาวซึ่งเป็นสีประจำชาติของสิงคโปร์ด้วย
เวียดไพรด์ ค.ศ. ๒๐๑๕ จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๓๐ กรกฎาคมถึง ๒ สิงหาคม ๒๕๕๘ ในงานมีทั้งกิจกรรมบรรยาย งานเสวนา ฉายภาพยนตร์ ปาร์ตี้ชาวเควียร์ และการปั่นจักรยานแรลลีในตัวเมือง มีองค์กรระดับประเทศ เช่น องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USAID) สถาบันเกอเธ่ สถานทูตเนเธอร์แลนด์ สถานทูตแคนาดา กลุ่มพิทักษ์สิทธิพลเมือง (Civil Rights Defenders) ฯลฯ ให้การสนับสนุน รวมทั้งมีกลุ่ม LGBT จากนานาชาติมาร่วมกิจกรรม เช่น กลุ่ม RoCK จากกัมพูชา กลุ่มเซี่ยงไฮ้ไพรด์จากจีน และในพิธีเปิดงาน เท็ด โอซิอุส (Ted Osius) เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศเวียดนาม กล่าวปาฐกถาเป็นภาษาเวียดนาม กล่าวถึงความสำเร็จของกลุ่ม LGBT ที่สามารถผลักดันให้การแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันนั้นมีผลถูกต้องตามกฎหมายสูงสุดของสหรัฐฯ และเขาก็เป็นหนึ่งในผู้ที่สมรสมีครอบครัวอยู่กับเพศเดียวกันในปัจจุบัน เท็ดปิดท้ายว่า “การเป็นตัวของตัวเองนั้นสำคัญ และกฎหมายจะต้องเปลี่ยน เพื่อนำความยุติธรรมมาให้พลเมือง”
กระนั้นเป้าหมายสำคัญของเวียดไพรด์ไม่ใช่การพุ่งเป้าไปที่การเปลี่ยนแปลงกฎหมาย เหงวียน ทัญ เติม กล่าวอธิบายว่ามีองค์กรเอ็นจีโอมากมายกำลังผลักดันเรื่องนี้ในเวียดนามอยู่แล้ว
“กฎหมายและนโยบายเป็นแค่มุมหนึ่งของชีวิต แต่เรายังต้องการการยอมรับจากสังคม เช่น เมื่อบุคคลที่ผ่าตัดแปลงเพศเข้าห้องน้ำสาธารณะ สิ่งที่คนอื่นปฏิบัติต่อพวกเราไม่ใช่สิ่งที่กฎหมายบังคับได้ นี่จึงเกี่ยวข้องกับทัศนคติของสังคมโดยรวม การยอมรับคนที่แตกต่าง และแม้แต่การยอมรับตัวเองของคนที่เป็น LGBT การสร้างความเข้าใจเหล่านี้คือเป้าหมายหลักของงานเวียดไพรด์”
ในความมืดสลัว กลุ่มวัยรุ่นชายหัวเราะคิกคัก ตบมือดีอกดีใจเมื่อตัวละครหนุ่มหล่อสองคนในเรื่อง The Way He Looks โอบกอดและจูบกันดูดดื่มในฉากจบเรื่อง นี่เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่มาร่วมฉายในงานเวียดไพรด์ ซึ่งยังมีภาพยนตร์เรื่อง A Family Affair, The Good Son รวมถึงภาพยนตร์ไทย It Gets Better บอกเล่าความรักที่ไม่จำกัดเพศ และเป็นรักซึ่งสร้างความอบอุ่นให้หัวใจได้ไม่ต่างกัน โดยไม่จำเป็นต้องฉายฉากร่วมเพศที่เร่าร้อนแต่อย่างใด
“ผมเพิ่งเคยเข้าร่วมกิจกรรมแบบนี้เป็นครั้งแรก” จ่อง หว่าง ตุ่ง (Tro.ng Hoàng Tùng) อายุ ๒๐ ปี กล่าวหลังจากการสนทนากลุ่ม “Lifting the closet : Talk with PFLAG about coming-out” ซึ่งเป็นการพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการเผยตัวตนทางเพศของเหล่า LGBT ต่อคนในครอบครัว
“ที่ว่าไม่เคย ก็เพราะไม่รู้ว่าตัวเองเป็นหรือเปล่า ผมเคยรู้สึกดีกับเพื่อนผู้ชายคนหนึ่งสมัยมัธยมฯ ปลาย แต่ก็ปล่อยความรู้สึกนั้นไป จนกระทั่งเพื่อนรูมเมตที่มหาวิทยาลัยเกิดสงสัยว่าผมน่าจะเป็นเกย์ เขาก็เลยชวนมางานนี้” เขากล่าวด้วยแววตาตื่นเต้น “ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเป็นอย่างนั้น”
นี่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ในการยอมรับตัวเอง และยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ในตัวคนอื่น ๆ ด้วย
ขบวนจักรยานมุ่งหน้าผ่านแยกไฟแดงบนถนนเส้นเหงวียนท้ายห็อก โดยมีเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกให้ผ่านไปได้ตลอดทาง ขบวนสายรุ้งเหยียดยาวแล่นผ่านวิหารวรรณกรรมวันเหมียว เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของเมืองฮานอย และธงสายรุ้งผืนใหญ่ริมถนนก็โบกสะบัดคู่กับธงชาติสีแดงประดับดาวเหลืองตามสถานที่ราชการอย่างไม่เคอะเขิน รถมอเตอร์ไซค์ของอาสาสมัครเวียดไพรด์คอยแล่นขนาบข้างเพื่อคุมแถวและให้สัญญาณเลี้ยวเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ
“ในเวียดนามไม่ค่อยมีวัฒนธรรมการชุมนุมหรือประท้วง งานนี้จึงน่าจะเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมืองที่ประสบความสำเร็จที่สุดก็ว่าได้” ถวี่ ลิญ (Thùy Linh) อายุ ๒๐ ปี กล่าวในฐานะนักศึกษาที่ใช้ชีวิตอยู่สิงคโปร์มาหลายปี
“อาจมีการประท้วงในเวียดนามบ้าง แต่ไม่มีงานใดจัดการได้ดีและเติบโตเร็วเท่าเวียดไพรด์ สังคมเรามักต่อต้านความเปลี่ยนแปลง ดูอย่างพ่อแม่ของฉัน พวกเขาโอเคกับเพศของฉัน แต่พวกเขาไม่เข้าใจความต้องการของนักเคลื่อนไหวเพื่อสังคม พวกเขาถามว่า ‘ทำไม…ทำไมไม่อยู่บ้านเฉย ๆ’ นั่นก็เพราะมีอีกหลายคนที่ยังไม่มีแม้แต่โอกาสจะมาที่นี่ ถามว่า แค่เราก้มหัวแล้วใช้ชีวิตให้เข้ากับคนอื่น ๆ ไปไม่ได้หรือ ก็คงได้…แต่นั่นคงทำให้เพียงคนบางคนเลิกทำตัวเลวร้ายใส่ฉัน เขาจะยังไม่เลิกทำเช่นนั้นกับคนอื่น ๆ” ถวี่ ลิญ กล่าว
นอกจากเวียดไพรด์ในเวียดนาม การเคลื่อนไหวของกลุ่ม LGBT ในอาเซียนยังเกิดขึ้นในประเทศกัมพูชาและประเทศฟิลิปปินส์ แต่ขนาดของงานที่พอจะเทียบเคียงได้กับเวียดไพรด์เห็นจะเป็นงานพิงก์ดอต (Pink Dot) ที่ประเทศสิงคโปร์ พื้นที่ซึ่งเปิดโอกาสให้คนมีเสรีภาพที่จะรักตามแบบฉบับของตัวเอง งานนี้มีผู้เข้าร่วมถึง ๒๘,๐๐๐ คนเมื่อกลางปีที่ผ่านมา
“สิงคโปร์และเวียดนามมีสิ่งเหมือนกันคือ การยอมรับจากครอบครัวและสังคมมีความสำคัญมากต่อคนคนหนึ่ง แต่สำหรับเวียดไพรด์ เรายังต้องการปรับเปลี่ยนมโนคติเกี่ยวกับความรักและครอบครัว เพื่อให้ครอบคลุมความรักของคนที่ไม่สามารถเข้ากันได้กับแนวคิดประเพณีนิยม” เหงวียน ทัญ เติม กล่าว
นอกจากนี้งานเวียดไพรด์ยังทำหน้าที่เป็นสถาบันที่คอยให้ความช่วยเหลือเยาวชน LGBT ด้านการศึกษา
“เราสนับสนุนทางการเงินและให้คำปรึกษาแก่เยาวชน LGBT ที่ใช้
ชีวิตอย่างลำบากเนื่องจากการเหยียดเพศและอคติ หรือผู้ที่มีปัญหากับครอบครัวเพราะเพศวิถี เงื่อนไขสำคัญของผู้ได้รับทุนคือ ต้องแสดงความจำนงชัดเจนว่าจะทำงานเพื่อกลุ่ม LGBT ในเวียดนาม นักเรียนที่ได้รับทุนไม่ได้ทำแค่เพื่อตัวเอง แต่เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนรอบตัว”จักรยานเข้าเทียบจอดบนทางเท้า ผู้ร่วมงานทยอยเดินไปรับเครื่องดื่มอย่างนมสดหรือเบียร์ฟรีที่เต็นท์บริการเพื่อดับกระหาย เสียงดนตรีดังขึ้นคลอเคล้าบรรยากาศในสายฝน เฮือง ซาง (Hu’o’ng Giang) นักร้องทรานสเจนเดอร์ชื่อดังของเวียดนามขึ้นมายืนเฉิดฉายบนเวทีพร้อมเสียงตอบรับเกรียวกราวของเหล่าผู้ร่วมงาน ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงร่างกายให้ตรงกับเพศสภาพเริ่มได้รับการยอมรับ และพวกเขา/เธอมีโอกาสเป็นดาราชื่อดัง เช่นเดียวกับ เฮือง ซาง ที่ก้าวเข้าสู่วงการบันเทิงผ่านเวทีประกวด โดยมีกลุ่มคนที่พร้อมสนับสนุน
“ตั้งแต่จัดงานมายังไม่ถูกต่อต้านรุนแรงจากสาธารณชน เราพบเพียงคำพูดเหยียดเพศที่ ๓ ในอินเทอร์เน็ตเท่านั้น” ตัวแทนผู้จัดงานกล่าวอย่างยอมรับได้ เธอบอกว่าเป้าหมายอีกอย่างของไพรด์คือการสร้างความเข้าใจระหว่างคนทั่วไปกับกลุ่มคนเพศทางเลือกในพื้นที่สาธารณะ เช่น สถานที่ทำงาน โรงเรียน ฯลฯ ซึ่งพวกเขา/เธอก็มีสิทธิ์ที่จะอยู่ร่วมกับคนอื่นอย่างมีเสรีภาพ เกิดเป็นโครงการร่วมอย่าง Equal Office โดยร่วมมือกับบริษัทเอกชนจัดกิจกรรมสร้างความเข้าใจต่อกลุ่มคน LGBT เพื่อไม่ให้คนรอบข้างปฏิบัติอย่างแบ่งแยกจนเป็นสาเหตุให้หลายคนต้องออกจากงาน
เวียดไพรด์ครั้งต่อไปจะเป็นการเฉลิมฉลองครบ ๕ ปี และหวังจะผูกโยงถึงคนในชนบทมากขึ้น “การที่ไม่อาจจะสื่อสาร อาจทำให้รู้สึกโดดเดี่ยว เข้าใจว่าตัวเองเป็นเกย์คนเดียวบนโลกใบนี้ ซึ่งนั่นเป็นความรู้สึกเลวร้ายมาก ฉันจึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้ไพรด์ครั้งที่ ๕ เข้าถึงได้ง่ายขึ้น กระจายไปถึงผู้คนในที่ห่างไกล” เหงวียน ทัญ เติม กล่าว
นักร้องวัยรุ่นสวมหมวกแต่งชุดเสื้อเชิ้ตเดินขึ้นเวทีพร้อมเสียงทำนองเพลงที่คุ้นหูใครหลายคน เขาร้องเพลงโดยมีผู้คนเบื้องล่างโยกมือซ้ายขวาตามจังหวะเพลง
I’m thinking ’bout how people fall in love in mysterious ways
Maybe just a touch of a hand
I’ll continue making the same mistakes
Hoping that you’ll understand.
(เพลง “Thinking Out Loud” โดย Ed Sheeran)
ชายหนุ่มใช้มือโอบเอวกันด้วยรอยยิ้มรักใคร่ คู่รักหญิงหญิงจุมพิตกันแผ่วเบาในเสี้ยววินาทีซึ้งของเสียงเพลงใต้โดมผ้าใบสีแดงขาว แล้วพวกเขา/เธอก็ประสานเสียงพร้อมกันในท่อน “We found love right where we are…” ระหว่างสายฝนโปรยลงบนแผ่นดินสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม