ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต
….
บนยอดเขาพระสุเมรุอันเป็นหลักเป็นประธานแห่งจักรวาล คือที่ตั้งของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ชื่อ “ดาวดึงส์” (tavatimsa) เป็นรูปคำภาษาบาลี ตรงกับภาษาสันสกฤตว่า “ไตรตรึงษ์” (Trayastrimsa)
สองชื่อนี้พบเห็นได้ทั่วไปในเมืองไทย เป็นชื่อบ้านนามเมืองก็มี เช่นเมืองโบราณไตรตรึงษ์ที่กำแพงเพชร แต่ที่พบมากคือนิยมนำไปตั้งเป็นชื่อวัด คือวัดดาวดึงษ์ ซึ่งมีในหลายจังหวัด ตั้งแต่สมุทรสงคราม อยุธยา ปทุมธานี สิงห์บุรี และเชียงใหม่ ส่วนในกรุงเทพฯ ทางฝั่งธนบุรีก็มี “วัดดาวดึงษาราม”
คำว่า “ดาวดึงส์” ตามรูปคำแปลว่า ๓๓ หมายถึงเทวดา ๓๓ องค์ ซึ่งแต่เมื่อครั้งยังเป็นมนุษย์ ได้รวมกันตั้งก๊วน (ประมาณว่า “คณะสามสิบสาม” หรือ คสส.) ประกอบคุณงามความดีนานาประการ เช่นหน้าหนาวช่วยกันก่อกองไฟให้คนผิง หน้าร้อนก็ตักน้ำมาไว้ให้คนได้อาศัยอาบกิน โดยเฉพาะ “บุญใหญ่” ที่ได้กระทำร่วมกันคือการสร้างศาลาที่พักคนเดินทางเพื่อสาธารณประโยชน์
เมื่อตายไปแล้ว สมาชิกทั้งหมดของ คสส. เลยได้ขึ้นสวรรค์กันหมด กลุ่ม คสส. นี้มี “มาฆะมาณพ” เป็นหัวหน้าทีม จึงกลายมาเป็น “พระอินทร์” ผู้ปกครองสวรรค์ชั้นนี้ในเวลาต่อมา
เมืองของพระอินทร์บนยอดเขาพระสุเมรุมีชื่อเฉพาะตัวด้วย เรียกว่า “สุทัศน์นคร” หรือ “สุทัสนะนคร” อันมีความหมายว่าเป็นเมืองอันงดงาม น่าดูน่าชม อย่างที่กล่าวไว้ใน “สมบัติอมรินทร์คำกลอน” บทประพันธ์ของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) กวียุครัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งเริ่มเรื่องว่า
๏ ปางองค์อัมเรศร์อดิศร
ผ่านสมบัติในสุทัสนนคร สถาวรไปด้วยทิพศวรรยา
เอาสูงพื้นหมื่นแสนพระเมรุมาศ เป็นอาสน์ทองรองดาวดึงสา
กว้างยาวหมื่นโยชน์คณนา ประดับปราการแก้วแกมกัน
สี่ทิศมีมหาทวาเรศ ระหว่างเขตหมื่นโยชน์ระยะคั่น
ประตูรายหมายยอดสำคัญพัน มีสระสวนทุกหลั่นทวาไรฯ
ถอดความเป็นร้อยแก้วได้ว่า เมืองสุทัสนนครตั้งอยู่บนยอดเขาพระสุเมรุ กว้างยาวด้านละ ๑ หมื่นโยชน์ (๑๖,๐๐๐ กิโลเมตร) มีประตูใหญ่ประจำทิศทั้งสี่ กับมีประตูย่อมๆ อีก ๑,๐๐๐ ประตู ประดับประดาด้วยสวนสวรรค์และสระน้ำ
คัมภีร์ “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” ของพระยาธรรมปรีชา (แก้ว) กล่าวต่างไปนิดหนึ่งว่าเมืองสุทัสนนครนั้น มีขนาดกว้างยาว ๑ หมื่นโยชน์ โดย “กำหนดระยะห่างได้ ๔๐ โยชน์ มีซุ้มทวารอันหนึ่ง ไปอีก ๔๐ โยชน์ มีซุ้มทวารอีกอันหนึ่ง” ดังนั้น เมื่อมีประตูทุกระยะ ๔๐ โยชน์ กำแพงแต่ละด้านจึงมี ๒๕๐ ประตู รวมสี่ด้านก็คือ ๑,๐๐๐ ประตูนั่นเอง ขณะที่ “สมบัติอมรินทร์คำกลอน” เหมือนจะบอกว่ามี ๑,๐๐๐ + ๔ ประตูใหญ่ประจำทิศ เป็น ๑,๐๐๔
เมื่อสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ (และสุทัสนนคร) ตั้งอยู่บนยอดเขาพระสุเมรุ จึงถือได้ว่ายัง “ยึดโยง” กับภูมิศาสตร์กายภาพของจักรวาลแบบเขาพระสุเมรุอยู่ ขณะที่สวรรค์ชั้นบนๆ ขึ้นไปนั้น เข้าใจว่าคงลอยอยู่ในอากาศ หรือไม่ก็อยู่มิติอื่นๆ ไปเสียแล้ว
ชื่อวัดสุทัศนเทพวราราม หรือที่มักเรียกย่อๆ ว่า “วัดสุทัศน์ฯ” ข้างเสาชิงช้าในกรุงเทพฯ จึงมีความหมายเป็นสัญลักษณ์ว่าเปรียบประดุจสุทัสนนครบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ จึงมีภาพสลักรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณบนหน้าบันพระวิหารหลวง ในความหมายว่าพระวิหารหลวงนั้นคือรูปจำลองของเขาพระสุเมรุนั่นเอง