เรื่อง : บุษกร รุ่งสว่าง
สารคดี : ยินดีด้วยนะคะพี่ เรื่องข้อเรียกร้องช้าง 11 ตัว
จืด เข็มทอง : ยังๆ
สารคดี : ในขั้นต้นค่ะพี่จืด
จืด เข็มทอง : ใช่ ๆ (หัวเราะ)
8 ข้อเรียกร้องในห้องเรียนช้าง 11 ตัว
เป็นเวลา 11 วันเต็ม ตั้งแต่วันที่ 11 ถึง 21 ตุลาคม ที่ “จืด” เข็มทอง โมราษฏร์ อดข้าวอดน้ำเพื่อไว้อาลัยแก่เหตุการณ์ช้างตกเหวนรกจำนวน 11 ตัว และเรียกร้องให้มีการพิจารณาข้อเสนอสองข้อหลัก คือ 1. การหละหลวมในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ 2. รื้อถอนจุดบริการนักท่องเที่ยวน้ำตกเหวนรกซึ่งสร้างทับทางเดินดั้งเดิมของช้างป่า
จนบ่ายวันที่ 17 ตุลาคม ขณะที่จืดเข้าสู่การอดข้าวเป็นวันที่ 7 และอดน้ำเป็นวันที่ 2 เพื่อยกระดับการประท้วงให้อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เร่งดำเนินการตามข้อเรียกร้องดังกล่าว เขาก็ได้รับจดหมายตอบกลับใจความระบุว่า ให้มีการจัดการประชุมเพื่อหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาช้างป่าพลัดตกบริเวณน้ำตกเหวนรกจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันเกิดเหตุการณ์ซ้ำอีกในอนาคต โดยเร่งด่วน ณ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ วันที่ 6 พฤศจิกายน 2562
สารคดีโทรสัมภาษณ์จืดหลังความสำเร็จขั้นต้นว่าเขารู้สึกอย่างไร แล้วต่อจากนี้ทีมงานที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้มาจะเดินหน้ากันต่อไปทางไหน เพื่อให้ถึงจุดหมายหลักโดยไว
นั่นคือ การหยุดยั้งความสูญเสียของเหล่าสัตว์ป่าในอนาคต
“ผมเป็นแค่ตัวฟันเฟืองหนึ่งที่อยากแสดงออกให้เกิดการแก้ไข ผมอาจเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีในแง่การใช้ความคิดของตัวเองที่ดื้นด้าน (หัวเราะ) แต่จริง ๆ แล้วเพราะอยากให้การแก้ปัญหาเกิดขึ้นรวดเร็ว ให้มีการพูดคุยร่วมกันในช่วงที่เรื่องช้างตกเหวยังเป็นกระแสอยู่”
ซุ้มเสียงอันสดใสสะท้อนความเบาอกเบาใจขึ้นมาก ต่างจากครั้งก่อนที่ได้คุยกันเมื่อตอนที่ภารกิจเสี่ยงตายอย่างเต็มใจเพิ่งเริ่มต้น
สารคดีถามจืดอย่างตรงไปตรงมาว่าหากวันหน้ามีเหตุการณ์สูญเสียคล้ายกันนี้เกิดขึ้นอีก เขาคิดว่าวิธีการประท้วงอดน้ำข้าวจะยังศักดิ์สิทธิ์อยู่ไหม
“ถ้าในอนาคตยังเป็นเรื่องของคนคนเดียวลุกขึ้นมาอย่างนี้ ผมว่าสังคมเราคงอ่อนแอ”
จืดอธิบายต่อว่าเรื่องเหล่านี้ล้วนเป็นหน้าที่พลเมืองที่จะต้องออกมาตรวจสอบ ออกมาระดมความคิดเห็น และเรียกร้องให้ได้รับการแก้ไขอย่างมีพลัง ทุกวันนี้รัฐเน้นที่การแก้ปัญหาปลายเหตุ มีเรื่องครั้งหนึ่งก็ลุกขึ้นมาแก้ครั้งหนึ่ง แต่ยังไม่มีหนทางป้องกันที่เข้มแข็งในระยะยาว
ความจริงแล้วนี่ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นของเราทุกคน ทั้งพลเมืองและรัฐ เขาย้ำ
“ผมเองไม่ได้อยู่ในฐานะจุดประกาย แต่ว่าชีวิตของช้าง 11 ตัวเป็นการสูญเสียที่รุนแรง มีผลกระทบต่อจิตใจของคนทุกคน แล้วทุกคนก็แสดงศักยภาพตัวเองออกมาเพื่อเขา”
การประท้วงของจืดเป็นเหมือนการเปิดพื้นที่กลางให้ทุกภาคส่วนได้แสดงศักยภาพในการแก้ไขปัญหา
ระหว่างการไว้อาลัยแก่ช้าง จืดจัดการประชุมย่อยเพื่อหาทางออกอย่างหลากหลายซึ่งมีชื่อว่า “ห้องเรียนช้าง 11 ตัว” ร่วมกับทีมงานเครือข่ายอนุรักษ์ผืนป่ารอบเขาใหญ่ สรุปข้อเรียกร้องถึงอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ รวมทั้งสิ้น 8 ข้อ แบ่งเป็นทางแก้ไขระยะสั้นและยาวดังนี้ (ที่มา : เฟซบุ๊ก จืด เข็มทอง)
การแก้ปัญหาระยะสั้นเร่งด่วนมี 5 ประเด็นหลัก
1. อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ควรตรวจสอบและชี้แจงสาเหตุของเหตุการณ์ช้างตกน้ำตกเหวนรกในครั้งนี้ให้ชัดเจนก่อน เพราะอาจมาจากหลายปัจจัย เช่น จากกิจกรรมของมนุษย์ จากธรรมชาติ หรือจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง เมื่อทราบสาเหตุแล้วจึงนำมากำหนดแนวทางแก้ไขและป้องกันในระยะยาวต่อไป
2. อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ต้องดำเนินการตรวจสอบและปรับปรุงเพนียดกันช้างของเดิมอย่างเร่งด่วน เพื่อให้อยู่ในสภาพที่แข็งแรงและใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ต้องฟื้นฟูป้อมยามหน้าเพนียดบริเวณน้ำตกเหวนรก และจัดกำลังเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง ไปจนกว่าจะมีแผนการจัดการที่ยั่งยืนต่อไป
4. อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ต้องทบทวนตำแหน่งที่ตั้งของจุดบริการนักท่องเที่ยวน้ำตกเหวนรก ว่าเป็นอุปสรรคและกีดขวางทางเดินและการใช้พื้นที่ของช้างป่าหรือไม่ โดยให้มีการหาข้อเท็จจริงและจัดการอย่างเร่งด่วนที่สุด
5. อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ต้องเปิดเวทีหรือให้มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อจัดทำแผนแม่บทการจัดการอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่จากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
การแก้ไขปัญหาในระยะยาวมี 3 ประเด็นหลัก
1. จัดทำ “แผนแม่บทการจัดการอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่จากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน” เพื่อเป็นแนวทางการทำงานร่วมกันในอนาคต เพื่อนำไปสู่การปกป้องชีวิตสัตว์ป่า ทรัพยากรป่าไม้ รวมไปถึงชีวิตของผู้คนที่เกี่ยวข้องกับผืนป่าแห่งนี้ อย่างเป็นองค์รวมและรอบด้านครอบคลุมในทุกมิติ
2. การบริหารจัดการควรยึดหลักการการมีส่วนร่วมโดยตั้งอยู่บนฐานขององค์ความรู้ที่มีการศึกษาวิจัยอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ รวมถึงการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาช่วยจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
3. ให้คำนึงถึงวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ โดยเฉพาะข้อที่ 1 เพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ ซึ่งต้องการอนุรักษ์สภาพธรรมชาติของพื้นที่ให้คงอยู่ตามธรรมชาติ ป้องกันการรบกวนโดยมนุษย์
เพื่ออนุรักษ์พื้นที่เขาใหญ่ไว้เป็นแหล่งของทรัพยากรที่สำคัญๆ เช่น สัตว์ป่า พืชพรรณ และลักษณะธรรมชาติที่สวยงามเป็นพิเศษ รวมทั้งแหล่งอนุรักษ์พันธุกรรมที่สำคัญ ดังนั้นหากมีโครงการขนาดใหญ่ใดๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่ออุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ให้ระงับโครงการต่างๆ เหล่านั้นทันที
สามจิ๊กซอว์ใหญ่ที่ขาดหาย
จืดเล่าต่อถึง 3 สิ่งที่ขาดหายในงานอนุรักษ์ของไทย ซึ่งไม่เพียงเกิดขึ้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่หรือที่อื่นใด แต่เกิดกับการอนุรักษ์ทั้งหมดของไทย
จิ๊กซอว์ชิ้นที่ 1 “งบประมาณสนับสนุน”
“พื้นที่ป่าเขาใหญ่ที่มี 1 ล้าน 3 แสนไร่ มีเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานดูแลป่าจริง ๆ อยู่ 200 นาย ถ้าหารเฉลี่ยออกมาก็ตกคนละ 6,500 ไร่ เจ้าหน้าที่น้อยมากเลย”
จืดแจงสัดส่วนของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าต่อเนื้อที่ป่าทั้งหมดว่าขาดความสมดุลกันเพียงใด ก่อนจะร่ายยาวถึงความเสี่ยงที่พวกเขาแบกรับไว้ว่าสูงเกินไปสำหรับค่าตอบแทนที่ตกเดือนละ 9,000 บาท
รวมถึงสวัสดิการพวกเขาทั้งก่อนและหลังความตายที่ควรปรับขึ้นให้มากกว่าที่เป็นอยู่ อย่างน้อยในเรื่องการรักษาพยาบาล หรือค่าเล่าเรียนของบุตรก็ยังดี
ปัจจุบันพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในความดูแลของกรมอุทยานฯ มีอยู่ 73,000,000 ไร่ คิดเป็น 31.63 เปอร์เซ็นต์จากพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ มีเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าประมาณ 20,000 นาย เฉลี่ยแล้วอัตราส่วนการดูแลผืนป่าจะอยู่ที่ เจ้าหน้าที่ 1 นาย : ป่า 3,650 ไร่
ขณะที่งบประมาณด้านสิ่งแวดล้อมอยู่ที่ 0.7 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็น 12,800 ล้านบาท จากงบประมาณแผ่นดินทั้งหมด 3,000,000 ล้านบาท (งบประมาณปี 2562)
“ถ้าเราอยากได้ป่าเพิ่มขึ้น เรื่องงบประมาณแผ่นดินก็เป็นส่วนสำคัญ เราต้องให้ค่าพวกนี้ใหม่”
จิ๊กซอว์ชิ้น 2 “นักสื่อความหมายธรรมชาติ”
นักสื่อความหมายธรรมชาติคืออะไร ?
“คือคนที่จะต้องพูดให้เราได้สัมผัส ได้ความรู้ ตาเห็นอะไร หูได้ยินอะไร จมูกได้กลิ่นอะไร สุดท้ายหัวใจเราสัมผัสกับอะไร”
“ในรถวิ่งส่องสัตว์หนึ่งคัน ผมถามว่ามีนักสื่อความหมายธรรมชาติไหม . . . ไม่มี ส่วนมากยังใช้วิธีการที่เคยมาหยอดอาหารไว้ แล้วก็ส่อง ๆ ดู”
จืดอธิบายว่านักสื่อความหมายธรรมชาตินั้นทำหน้าที่คล้ายนักแปล ซึ่งจะคอยบอกให้เราสังเกต เรียนรู้ และเข้าใจธรรมชาติมากขึ้น
ไม่เพียงเท่านั้น นักสื่อความหมายธรรมชาติยังมีหน้าที่ย่อยข้อมูลงานวิจัยเกี่ยวกับสัตว์ป่าหรือพันธุ์ไม้ให้คนธรรมดาอย่างเราเข้าใจง่ายขึ้นอีกด้วย
จืดมองว่าบ้านเรายังขาดบุคลากรด้านนี้อยู่มาก ทำให้นักท่องเที่ยวที่มาชมธรรมชาติเข้าไม่ถึงการสัมผัสธรรมชาติที่แท้จริง ทั้งข้อมูลวิชาการด้านงานอนุรักษ์ก็ขาดคนแปลความหมายให้เข้าใจง่าย เรียนรู้สนุก ทำให้ข้อมูลสำคัญหลายอย่างไม่แพร่หลายไปในวงกว้าง
หากมีนักสื่อความหมายธรรมชาติเพิ่มมากกว่านี้ก็จะทำให้ผู้คนเข้าใจถึงแก่นสารของธรรมชาติ และนำสู่การมีหัวใจอนุรักษ์แท้จริงได้อย่างรวดเร็ว
“คุณขับรถมาที่บ้านเขา มาห้องนอนเขา มาที่ครัวเขา ขณะที่เขากำลังกินข้าวอยู่ ลองคิดดูถ้าคุณนั่งกินข้าวอยู่ในบ้านตัวเองแล้วมีคนเดินเข้ามาไล่คุณ บอกไม่ต้องมากิน ฉันจะรีบไป คุณจะรู้สึกยังไง นักท่องเที่ยวก็ต้องเอาหัวใจตัวเองไปเข้าใจหัวใจสัตว์ด้วย”
จิ๊กซอว์ชิ้น 3 “งานวิจัยในระยะยาว”
จืดจั่วหัวว่าสิ่งนี้สำคัญที่สุด เพราะงานวิจัยที่ต่อเนื่องไม่เพียงจะทำให้เรารู้พฤติกรรมและเส้นทางการอพยพของสัตว์มากขึ้น แต่ยังทำหน้าที่เสมือนเกราะคุ้มกันสัตว์ป่าจากการล่าของมนุษย์
“ไม่ว่าจะเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือว่าอุทยานแห่งชาติ ควรมีส่วนงานวิจัยโดยตรง ต้องมีงานวิจัยของกรมอุทยานเองหรือว่าจากสถาบันต่างๆ และควรเป็นงานวิจัยในระยะยาว ไม่ใช่เพียงงานวิจัยเฉพาะหน้า หรืองานวิจัยเพื่อทำธีสิสแบบนักศึกษา อย่างงานวิจัยชะนีบนเขาใหญ่ที่ยาวนานกว่ามา 40 ปี หรือว่างานวิจัยนกเงือกอย่างนี้ มันเป็นข้อมูลที่ดีที่สุดในโลก”
“ถ้าคุณทำงานวิจัยระยะยาวไม่ได้ คุณก็ควรสนับสนุนมหาวิทยาลัย หรือสถาบันที่เขาทำงานวิจัยอย่างยาวนาน”
เขาย้ำว่ากรมอุทยานฯ ว่าควรส่วนสนับสนุนงานวิจัยอย่างจริงจัง อย่ากลัวว่าการทำงานของทีมวิจัยจะทำให้เกิดข้อเปรียบเทียบกับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ แต่ให้คำนึงถึงหัวใจสำคัญร่วมกันคือการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
แม้ปัจจุบันประชากรช้างไทยไม่มีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ ตลอดเวลา 14 ปีที่ผ่านมาตัวเลขประชากรช้างยังคงอยู่ที่ 3000 – 3500 และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบตัวเลขประชากรช้างในประเทศเพื่อนบ้านแล้วเราอยู่ในเกณฑ์ที่ดีกว่ามาก
ขณะเดียวกันปัญหาการอยู่ร่วมกันระหว่างคนและช้างยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้งานวิจัยเกี่ยวกับช้างในช่วงเวลาที่ผ่านมามักศึกษาถึงผลกระทบในพื้นที่ทับซ้อนระหว่างคนกับช้าง แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังตามไม่ทันต่อปัญหาที่เกิด
แต่ความหวังยังมี เพราะขณะนี้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้สนับสนุน “โครงการการวิจัยและพัฒนาระบบเพื่อการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างป่าอย่างสันติบนฐานพลเมืองมีส่วนร่วมและงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น” เพื่อศึกษาปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจังแล้ว หลังติดตามผลและประเมินสถานการณ์ปัญหามาหลายปี
แนวทางการแก้ไขทั้งหมดที่จืดบอกกับสารคดีนี้ได้เสนอบนเวทีการประชุมเพื่อหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาช้างป่าพลัดตกบริเวณน้ำตกเหวนรกที่จัดขึ้น ณ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ วันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 รวมถึงการเสนอแบบทางเดินเหนือเรือนยอดไม้ (canopy walkway) ที่ร่วมออกแบบโดยภูมิสถาปนิกอาสา เพื่อเป็นแนวกั้นช้างป่าจากพื้นที่เสี่ยง เอื้อต่อการเฝ้าสังเกตการณ์โขลงช้างป่าของเจ้าหน้าที่ และเปิดเส้นทางศึกษาธรรมชาติในระดับเรือนยอดไม้แก่นักท่องเที่ยวซึ่งตั้งใจให้การรบกวนสัตว์ป่าน้อยที่สุด โดยทีมสถาปนิกจะเปิดแบบสู่สาธารณะเร็ว ๆ นี้
ทั้งหมดนี้จืดย้ำว่าเป็นเพียงความสำเร็จขั้นต้นเท่านั้น
ทางเดินสู่เป้าหมายที่หวังไว้นั้นยังอีกไกล เพราะฉะนั้นแล้วทุกฝ่ายอย่าเพิ่งถอดใจกันไปก่อน ไม่ว่าจะเป็นตัวเขาเอง ทีมงานเครือข่ายอนุรักษ์รอบผืนป่าเขาใหญ่ นักวิชาการ เพื่อนพ้องที่ร่วมเดินในเส้นทางเดียวกัน หรือแม้แต่สื่อทุกแขนงที่ช่วยกันโหมประโคมข่าว
ขออย่าเพิ่งหมดแรงและปล่อยให้เรื่องนี้เงียบหายไปตามกระแส
ที่มา :
- เมื่อช้างป่าไม่ได้อยู่แค่ในป่า ชวนคุยกับ ดร.พิเชฐ นุ่นโต ถึงแนวทางแก้ปัญหาช้างป่าที่ออกมาประชิดขอบป่ามากขึ้น – มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
- เหวนรก : โศกนาฏกรรมช้างป่าเขาใหญ่ จะป้องกันได้อย่างไร (สำนักข่าว บีบีซี)
- งบประมาณ 2563 : กลาโหม “ไม่มีประเด็น/รายการที่เป็นข้อสงสัย” หลังรัฐบาลประยุทธ์จัดงบให้ 2.3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.7% (สำนักข่าว บีบีซี)
- เตรียมความพร้อมทีมวิจัย “คน ช้าง ป่า”
- ข่าวดี “ช้างไทย” ไม่เสี่ยงสูญพันธุ์-ป่าตะวันออกเพิ่มร้อยละ 10 – ไทยพีบีเอส
- ช้าง : มองปัญหาคนกับช้างป่า ผ่าน “ชบาแก้ว” ลูกช้างหลงโขลงขวัญใจชาวเน็ต – ข่าวสด
- ผู้พิทักษ์ป่ากับความเสี่ยงที่รอคนพิทักษ์ -PPTV