เรื่อง : สุภัชญา เตชะชูเชิด
ภาพ : สิริพงศ์ ลี้วุฒกุล

 “รากไม้ถึงกระดองเต่า ปริศนายาจีน”

ฉันก้าวเข้าไปในร้านขายยาจีนที่เรียงรายไปด้วยตู้ไม้ขนาดใหญ่กว่า ๑๐๐ ลิ้นชักแปะด้วยภาษาจีนที่ฉันไม่อาจเข้าใจได้

รากไม้รูปร่างหน้าตาประหลาดบรรจุอยู่ในขวดโหลใสๆ ตั้งโชว์ไว้หน้าร้าน

สำหรับเด็กสายวิทย์อย่างฉันแล้วของพิสดารเหล่านี้ช่างท้าทายและทำให้อดตั้งคำถามมากมายไม่ได้

ห้างขายยาจีน “เฮียบจี่ตึ้

” และ “อี่ซิ่วตั้ง” เป็นร้านขายยาจีนโบราณตั้งอยู่บนถนนเจริญกรุง ย่านบางรัก ก่อกำเนิดขึ้นพร้อมๆ กับชาวจีนที่อพยพแบกเสื่อผืนหมอนใบล่องสำเภามาขึ้นฝั่งย่านนี้ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒

ร้านขายยาจีนทั้งสองมีอายุกว่า ๑๐๐ ปี สืบทอดกิจการจากรุ่นสู่รุ่น ท่ามกลางบรรยากาศโดยรอบที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งรถราที่แน่นขนัด ห้างสรรพสินค้าหรือกระทั่งร้านขายยาแผนปัจจุบันที่ตั้งอยู่ใกล้กัน แต่ร้านขายยาจีนยังคงเอกลักษณ์และกลิ่นอายของวัฒนธรรมจีนสมัยโบราณไว้อย่างดี

สายัณต์ ปัญญาศีวิต อาแปะเจ้าของร้านขายยาเฮียบจี่ตึ้งเล่าให้เราฟังว่าตู้ลิ้นชักไม้เหล่านี้ทำมาจากไม้สักที่มีมูลค่าหลักแสน สมัยก่อนซื้อบ้านได้ทั้งหลังเลยทีเดียว

ภายในลิ้นชักบรรจุยาจีนหลากหลายที่ทำให้เราประหลาดใจได้ไม่รู้จบ

ตั้งแต่รากไม้นานาชนิด ลำต้นกล้วยไม้ ดอกไม้ เขาสัตว์ คราบจั๊กจั่น ไข่มุก ไปจนถึงกระดองเต่า

“ทุกอย่างเป็นยาได้หมด หิน ดิน ทราย ยังเป็นยาได้เลย” อาแปะกล่าวพร้อมกับหยิบกล่องใส่กรวดและก้อนหินออกมาโชว์ให้เราดู มีทั้งผงแม่เหล็ก หินภูเขาไฟ และหินสีสันต่างกันออกไป

ตัวยาตามตำราโบราณมีมากกว่า ๘,๐๐๐ ชนิด แต่ที่นิยมใช้กันและมีจำหน่ายทั่วไปเพียง ๒๐๐ ชนิดเท่านั้น นั่นทำให้ฉันอดถามถึงของหายากอย่างจู๋เสือและดีหมีอันเลื่องลือเสียไม่ได้ อาแปะจึงอธิบายให้ฟังว่า “พวกเกี่ยวกับสัตว์ไม่มีขายแล้ว ถ้าไม่งั้นคนจีนเอาไปกินหมด กระดูกสัตว์หรือดีหมีถ้าเอามาทำยาก็สูญพันธุ์แน่ อย่างงาช้างแต่ก่อนเอามาบดกินเป็นยา แต่เดี๋ยวนี้ไม่ได้แล้วเพราะเขารณรงค์กัน”

ฉันจินตนาการไปถึงภาพจอมยุทธ์เที่ยวเดินป่าเสาะหายาสมุนไพรถอนพิษแบบในหนังจีนกำลังภายใน แต่พอได้ฟังอาแปะเล่าที่มาของตัวยาเหล่านี้ทำให้ตื่นสู่โลกความจริงว่าปัจจุบันยาจีนได้พัฒนาขึ้นเป็นอุตสาหกรรมประเภทหนึ่ง ในประเทศไทยมีตัวแทนจำหน่ายที่รับนำเข้าส่วนผสมยามาจากประเทศจีน และมีพนักงานขายคอยเดินเสนอขายตามห้างร้านต่างๆ

“ยาก็เหมือนกับผลไม้ ยาแต่ละตัวจะมีคุณภาพต่างกันตามแต่ละพื้นที่ ขึ้นอยู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยวและภูมิภาคของเขาด้วย ร้านยาจึงเลือกได้ว่าจะรับยาคุณภาพระดับไหนมาขายที่ร้าน” พรรณวดี ศรีวิภาพัฒนา เจ้าของร้านยาอี่ซิ่วตั้งเสริม

อาแปะ (สายัณต์ ปัญญาศีวิต) บอกว่าแพทย์แผนจีนเป็นศาสตร์ที่มีมายาวนานถึง ๔,๐๐๐ ปี และอธิบายหลักการเบื้องต้นให้เราฟังว่าแพทย์แผนจีนเน้นการปรับสมดุลร่างกายให้สอดคล้องกับธรรมชาติและดูแลแบบองค์รวม เพราะการทำงานภายในร่างกายเชื่อมโยงกัน ความผิดปรกติของอวัยวะหนึ่งจะส่งผลต่ออวัยวะส่วนอื่นด้วย

ยาจีนจึงเน้นการรักษาที่เสริมประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกันเพื่อให้ร่างกายต่อสู้กับโรคเหล่านั้นเอง

ดังที่กล่าวไว้ในตำราจีนว่า “无问其病、以平为期 อย่าไปคิดถึงว่าป่วยเป็นอะไร คิดว่าร่างกายแข็งแรงก็พอแล้ว ยังไม่มียาใดสามารถแทนที่การบําบัดรักษาด้วยตนเองได้”

ขณะที่แพทย์แผนปัจจุบันมักมองโรคอย่างเฉพาะเจาะจงที่อวัยวะใดอวัยวะหนึ่งเท่านั้น และมุ่งเน้นรักษาโดยการกำจัดเชื้อโรคด้วยยาเคมีที่รุนแรง เช่น ยาปฏิชีวนะ ซึ่งทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงและอาจทำให้เชื้อโรคดื้อยาอีกด้วย

อย่างไรก็ตามบางอาการที่ต้องรักษาอย่างเร่งด่วนจำเป็นต้องรักษาด้วยยาแผนปัจจุบัน ขณะที่ยาจีนออกฤทธิ์ช้ากว่าจึงเหมาะแก่การรักษาโรคเรื้อรัง

ปัจจุบันศาสตร์แพทย์แผนจีนมีการวิจัยอย่างเป็นระบบและมีบริการที่หลากหลาย มีการเรียนการสอนแพทย์แผนจีนในหลายมหาวิทยาลัยชั้นนำ เช่น มหาวิทยาลัยหัวเฉียว มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นต้น ทำให้ศาสตร์นี้เป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายมากขึ้น อีกทั้งผู้คนเริ่มหันมาสนใจแพทย์ทางเลือกมากขึ้น เพราะกลัวสารตกค้างจากยาทางเคมีหรือผลข้างเคียง ยอดขายยาจีนจึงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ระหว่างที่เรากำลังคุยกับอาแปะภายในร้านอยู่นั้นก็มีลูกค้าเดินเข้ามาหาซินแสที่นั่งอยู่ทางด้านหลังร้าน

ซินแสจับชีพจรและไถ่ถามอาการต่างๆ ก่อนให้ใบสั่งยากับอาแปะที่เราคุยอยู่ด้วย ขั้นตอนการจัดยาจึงได้เริ่มต้นขึ้น

กระดาษสี่เหลี่ยมจัตุรัสแผ่นใหญ่ถูกนำมาวางเรียงกัน อาแปะจัดยาด้วยความชำนาญ ตัวยาหลากหลายถูกนำออกมาจากลิ้นชักและชั่งบนตาชั่งสองแขน ด้านหนึ่งถ่วงด้วยตุ้มน้ำหนัก

ทั้งรากไม้ ดอกไม้ ใบไม้ เริ่มกองเรียงรายมากขึ้น จนฉันอดคิดไม่ได้ว่าเมื่อไหร่จะหมดสักที

เมื่อเสร็จสิ้น แต่ละห่อก็มีตัวยาถึง ๒๐ ชนิดที่ต้องนำไปต้มกินรวมกัน ถ้าเป็นโรคทั่วไปเภสัชกรยาจีนก็จ่ายยาเองได้ หรือสูตรยาบางอย่างมีแบบบรรจุภัณฑ์ทำสำเร็จรูปที่ซื้อได้เลย แต่ถ้าเป็นโรคเฉพาะทางก็ต้องให้ซินแสตรวจดูก่อนเพื่อเทียบยาให้ตรงกับอาการของโรคและสมดุลร่างกายของผู้ป่วย เพราะสภาพร่างกายคนไข้แต่ละคนไม่เหมือนกัน แม้จะให้ยาตำรับเดียวกัน แต่อาจเพิ่มหรือลดส่วนผสมบางอย่างให้เหมาะกับคนไข้

ตัวยาที่ดูผสมปนเปเหล่านั้นยังไม่อาจทำให้ฉันเชื่อได้ว่ามันจะรักษาได้จริงหรือ

และใครกันช่างเป็นคนคิดค้นสูตรยามากมายเหล่านี้

อาแปะจึงเล่าต่ออย่างกระตือรือร้นถึงประวัติความเป็นมาอย่างยาวนานของตำรายาจีนในยุคต่างๆพร้อมทั้งเปิดหนังสืออธิบายไปพร้อมกัน

ในยุคเริ่มแรกมีการนำส่วนต่างๆ ของพืชมาทดลองใช้และสังเกตผลเป็นเวลานาน ในตำราโบราณยุคนั้นมีพืชสมุนไพรเพียงไม่กี่สิบชนิดเท่านั้น แต่การศึกษายาจีนเริ่มเฟื่องฟูในช่วงราชวงศ์จิ้นเพื่อหายาอายุวัฒนะให้ฮ่องเต้และเริ่มต้นการเล่นแร่แปรธาตุ จึงเป็นยุคที่นำแร่ต่างๆ มาเป็นส่วนประกอบของยา ส่วนยาที่เห็นจ่ายร่วมกันหลายชนิดอาจเสริมฤทธิ์หรือหักล้างฤทธิ์กันก็ได้ เช่น ยาตัวหนึ่งสามารถรักษาโรคได้ แต่มีผลข้างเคียงต่อตับ จึงต้องต้มกินควบคู่กับตัวยาอีกตัวเพื่อบำรุงตับด้วย หรือตัวยาบางตัวต้องต้มรวมกันถึงจะได้ผลรักษาที่ดีขึ้น เป็นต้น

ด้วยความซับซ้อนของการจัดยากลุ่มและวิธีการประเมินร่างกายของคนไข้ด้วยศาสตร์ที่ต่างจากความเข้าใจในแพทย์แผนปัจจุบัน ทำให้การพิสูจน์ประสิทธิภาพของยาแผนจีนเป็นไปได้ยาก

งานวิจัยส่วนใหญ่ถูกตีพิมพ์ในภาษาจีนและไม่ค่อยได้รับการยอมรับจากนานาชาติ แต่ตัวอย่างหนึ่งโด่งดังจนกระทั่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ เมื่อปี 2558 คือการค้นพบยารักษาโรคมาลาเรียจากสมุนไพรจีนชื่อว่า “ไง่เฮียะ” หรือต้นโกฐจุฬาลำพาจีน

โดยตำรายาบันทึกว่าสมุนไพรชนิดนี้ควรสกัดเย็นและไม่ควรใช้ความร้อนสูง หลังจากนักวิทยาศาสตร์จีนพยายามสกัดออกมาแล้วได้สารอาร์ตีมิซินิน (Artemisinin) ซึ่งมีฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรียและพัฒนาไปสู่การผลิตยารักษาโรคในที่สุด ยานี้ได้ช่วยชีวิตผู้ป่วยมาลาเรียหลายแสนคนในประเทศจีน

แต่ยาจีนบางชนิดก็อาจมีส่วนผสมประหลาดที่ไม่ได้มีสรรพคุณตรงตามความเชื่อ เช่น ซุปกระดองเต่า ลักษณะเป็นวุ้นสีน้ำตาลเข้มคล้ายเฉาก๊วย เชื่อกันว่าช่วยลดการเติบโตของเซลล์มะเร็งได้ ผลการศึกษาพบว่าสมุนไพรทุกตัวในซุปกระดองเต่ามีส่วนช่วยยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็งได้จริง ยกเว้นแต่กระดองเต่าที่ไม่มีสารสำคัญแต่อย่างใด ทั้งยังเป็นอาหารให้เซลล์มะเร็งเติบโตได้

นอกจากนี้ตัวยาอีกหลายชนิดอาจมีสารโลหะหนักปนเปื้อน หรือยังไม่ได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาจริงหรือ

อาแปะเหมือนจะล่วงรู้ความคิดของเราเลยพูดเปรียบเปรยขึ้นว่า “สมัยก่อนเขาสร้างพีระมิดกัน สมัยนี้ยังทำไม่ได้เลย หินหนักตั้งหลายตันขนมาได้ยังไงตั้งไกล ศาสตร์แพทย์แผนจีนก็คล้ายๆ กัน”

ในตำราหลายเล่มนอกจากอธิบายถึงสรรพคุณตัวยาต่างๆ แล้ว ยังอธิบายวิธีการใช้ชีวิตหรืออาหารการกินที่ช่วยรักษาโรคเบื้องต้นด้วย เช่น เวลาตัวร้อนควรกินผักอะไรบ้างหรือไม่ควรกินอะไร เป็นสิวบอกอะไรเราบ้างและต้องปรับสมดุลร่างกายอย่างไรให้ได้ผล

ก่อนออกจากร้านอาแปะยังฝากไว้อีกว่า

“อาหารเป็นยา เรื่องพวกนี้ควรมีสอนในหลักสูตรให้เด็กรู้จักเอาตัวรอดได้อันนี้สำคัญ ดีกว่าให้ไปท่องจำว่าดวงอาทิตย์อยู่ห่างจากโลกเท่าไหร่ ควรสอนอะไรง่ายๆ ที่เขาได้ใช้ในชีวิตมากกว่า” ฉันเห็นด้วยโดยไร้ข้อกังขา

ก้าวออกจากร้าน แม้จะยังไม่แน่ใจว่ารากไม้หรือกระดองเต่าจะช่วยรักษาโรคได้จริงหรือ แต่ฉันเชื่อว่าแพทย์แผนจีนเป็นวิทยาศาสตร์ดั้งเดิมอย่างหนึ่งที่เกิดจากการสังเกตและทดลองซ้ำๆ ด้วยความที่ยังไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือที่ชี้วัดได้และประสิทธิภาพการรักษาก็ไม่อาจยืนยันร้อยเปอร์เซ็นต์

แต่ด้วยความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัยขึ้นทุกวัน ความสนใจของผู้คนและการศึกษาเพิ่มเติมที่มากขึ้นจะทำให้แพทย์ทางเลือกอย่างแพทย์แผนจีนพัฒนาและใช้รักษาควบคู่กับแพทย์แผนปัจจุบันได้อย่างเหมาะสม

ขอขอบคุณ

  • สายัณต์ ปัญญาศีวิต เจ้าของร้านขายยาเฮียบจี่ตึ้ง
  • พรรณวดี ศรีวิภาพัฒนา เจ้าของห้างร้านขายยาอี่ซิ่วตั้ง
  • ทีมงานค่ายสารคดีครั้งที่ ๑๒

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  • เมชฌ สอดส่องกฤษ.ข้อมูลสมุนไพรจีน. อุบลราชธานี : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, ๒๕๕๘.
  • แพทย์จีน เชน ปรีชาวณิชวงศ์. ความแตกต่างระหว่างแพทย์แผนจีนกับแพทย์แผนปัจจุบัน.คลินิกหัวเฉียวฯ แพทย์แผนจีน.
    สืบค้นจาก http://huachiewtcm.com/upload_pic/pdf/C001.pdf
  • คลินิกหัวเฉียวฯ แพทย์แผนจีน. ทําไมถึงรักษาโรคได้ด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน.
    สืบค้นจาก http://huachiewtcm.com/upload_pic/pdf/A0029.pdf
  • สำนักการแพทย์ทางเลือก. การแพทย์แผนจีน (Traditional Chinese Medicine). วารสารสำนักการแพทย์ทางเลือก,
    (มกราคม-เมษายน ๒๕๕๖).
  • Nature. Hard to swallow. Nature 448, 105-106, (July 2007).
  • https://en.wikipedia.org/wiki/Traditional_Chinese_medicine
  • https://www.usc.edu/CSSF/History/2002/Projects/S1417.pdf