เรื่อง : วาสนา เพิ่มสมบูรณ์
ภาพ : เอื้อการย์ เบ็ญจคุ้ม

ส.บุญประกอบพานิช สุขเล็กๆ ที่เจือจาง

ไอแดดอุ่นเจิดจรัสยามเช้ากระทบไอฝนที่บางเบา เรื่องราวเก่าๆ เกิดขึ้นที่นี่ บางรัก ถนนเจริญกรุง อาคารโบราณ บ้านไม้เก่าคร่ำ ถูกซุกซ่อนอยู่ท่ามกลางความเจริญที่แออัดจอแจ

สองเท้าก้าวเดินไปยังห้องแถวขนาดยาว ปากซอยถนนเจริญกรุง ๔๔ ขนมไทยคาวหวานในห่อพลาสติกใสวางเรียงรายน่าทานอยู่บนถาด

เหลือบมองเหนือศีรษะจะพบป้ายไม้สักสลักชื่อร้าน ส.บุญประกอบพานิช ร้านขนมไทยที่มีความเก่าแก่ถึง ๗๖ ปี ภายในร้านตกแต่งเรียบง่าย ภาพถ่ายบนฝาผนังบ่งบอกความเก่าแก่ที่อยู่คู่บางรักมายาวนาน คุณยายวัฒนา แสดมณี เจ้าของร้านหญิงชราวัย ๘๖ ที่ยังดูแข็งแรง วางมือจากเหรียญที่กำลังนับอย่างจดจ่อ ขยับกายเอนหลังให้เข้าที่บนรถเข็นคู่ใจ ก่อนจะบอกเล่าเรื่องราวในความทรงจำให้เราฟังอย่างผ่อนคลาย

“เริ่มขายขนมไทยตั้งแต่อายุ ๑๐ ขวบ ช่วยอาและพี่สาวขาย เด็กสมัยก่อนไม่ได้เรียนหนังสือ ให้เอาเวลามาขายของไม่ได้ไปเรียน ยายมีหน้าที่เก็บเงินอย่างเดียว เมื่อก่อนร้านไม่ใหญ่เท่านี้ เป็นแผงธรรมดาไว้สำหรับวางขนม และขายพริกแกงแขกด้วย จำได้ว่าขายข้าวเหนียวตัดอันละ ๑ สตางค์ เงินสตางค์หนึ่งถือว่ามีค่ามาก เมื่อก่อนขายดีถึงวันละ ๑๐ ถาด”

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ อายุ ๑๖ ได้ยินเสียงเครื่องบินมาก็ต้องหอบตะกร้าเงินวิ่งหนีระเบิดเข้าหลุมหลบภัย เรียกได้ว่าโกลาหลยิ่งนัก แต่ขนมก็ยังคงขายดีเช่นเดิม ไม่ถือว่าได้รับผลกระทบ ข้าวเหนียวตัดขายดีที่สุด ราคา ๒ สตางค์ สั่งครั้งหนึ่ง ๔๐ ห่อ เมื่อก่อนข้าวเหนียวกิโลกรัมละ ๖ บาท ต่อมาเศรษฐกิจไม่เจริญ แบ่งขายครึ่งกิโลกรัมละ ๓ บาท ปัจจุบันนี้ไม่มีขายแล้ว เนื่องจากคนทำเสียชีวิต เปลี่ยนจากข้าวเหนียวตัดเป็นข้าวเหนียวมะม่วง กิโลกรัมละ ๑๕๐ บาท

คุณยายยังคงขายขนมไทยมาตลอด และเริ่มทำขนมไทยเองเมื่อพี่สาวเสียชีวิต ก่อนหน้านี้ได้ศึกษาวิธีการทำจากพี่สาว

“ขนมไทยที่นี่ถือว่าเป็นสูตรดั้งเดิมและทำมานานกว่า ๗๐ ปี แม้จะมีห้างเข้ามาก็ไม่จำเป็นต้องไปแข่งกับเขา เพราะขนมของเรามีดีอยู่แล้ว อร่อยแบบดั้งเดิม

“การทำขนมห้ามขี้เหนียวกะทิ มะพร้าว น้ำตาล ภัตตาคารหลายแห่งย่านนี้ซื้อไปขายวันละ ๓-๕ กิโลกรัม คิดว่าขายได้เท่านี้ก็ถือว่าดีแล้ว เมื่อก่อนกับปัจจุบันไม่ต่างกันมากนัก ตอนนี้ถือว่าขายง่ายกว่า สมัยก่อนลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนบางรัก แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมี เพราะย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่อื่น บ้างย้ายตามครอบครัว บ้างก็แต่งงานกับคนนอกพื้นที่ ตอนนี้จะเห็นคนต่างถิ่นที่มาทำมาหากินและนักท่องเที่ยวบ่อย” คุณยายเล่าด้วยรอยยิ้มที่เปี่ยมด้วยความภูมิใจ

ยามนี้ฟ้าเริ่มเปิด เมฆแผ่กระจาย แสงแดดจากดวงอาทิตย์เริ่มทำหน้าที่ในยามบ่าย เช่นเดียวกันกับคุณยายวัฒนาที่ยังคงทำหน้าที่เก็บเงินจากการขายขนม ลูกจ้างคนสนิทอย่างนางสาวแดง โชคดี หรือพี่แดง บอกเล่าถึงคุณยายว่า

“ความสุขของยายคือไม่มีใครมาวุ่นวาย ไม่เป็นหนี้ใคร ยายเชื่อว่าที่ขายดีทุกวันเพราะยายใส่บาตรทุกวัน สมัยก่อนมีคนมาจีบยายไม่สนใจ ด่าหนีไปหมดเลย แบบนี้มีความสุขแล้วอย่าหาเรื่อง และอย่าให้เรื่องมาหา” เมื่อกล่าวมาถึงประโยคนี้ เราและคุณยายต่างประสานเสียงกันหัวเราะอย่างลืมตัว

แต่เมื่อไม่มีทายาทสืบทอด ร้านนี้จะอยู่อย่างไรต่อ คุณยายตอบด้วยสีหน้าไม่บอกอารมณ์ใดๆ คิ้วสองข้างขมวดเป็นปมเหมือนดั่งกำลังใช้ความคิด

“พรุ่งนี้ยังมาไม่ถึง มันเป็นเรื่องของวันพรุ่งนี้ จะไปคิดทำไม”

มือขวาของคุณยายวัฒนาคือน้าแอ๋ว หญิงสูงวัย อายุ ๖๐ ปี เชื้อสายจีน รักการทำขนมไทย อาศัยอยู่กับคุณยายมากว่า ๒๐ ปี กำลังจัดเตรียมอุปกรณ์ด้วยความคล่องแคล่วเพื่อโชว์ฝีมือการทำขนมทองหยิบ น้ำเสียงและบุคลิกที่ห้าว กระโตกกระตาก กลับสงบลงอย่างประหลาด เมื่อสองมือบรรจงหยิบขนมใส่ถ้วยอย่างใจเย็น สองปากขยับบอกเล่าเรื่องราวในร้านขนมไทยแห่งนี้อย่างตั้งใจ

“น้ามารู้จักยายวัฒนาเพราะสามีเป็นทนาย ดูแลทรัพย์สินของคุณยาย จึงออกมาขายเป็นเพื่อน ยายวัฒนารักร้านขนมแห่งนี้ ที่จริงไม่ขายก็มีกินมีใช้ เพราะเป็นเจ้าของตลาดบางรักยาวไปถึงท่าน้ำ”

น้าแอ๋วเล่าต่ออีกว่า บรรดาขนมไทยที่ยากที่สุดคือทองหยิบ ขนมไทยนั้นต่อให้นั่งดูหรือมีคนสอนก็ทำไม่ได้ ขนมไทยไม่เหมือนขนมฝรั่ง ขนมฝรั่งมีใส่เครื่องปรุง ขนมไทยต้องอาศัยวัตถุดิบ อารมณ์ อากาศ เช่น ช่วงนี้อากาศร้อน ไข่แดงเป็นน้ำ เมื่อเคาะเสร็จแล้วให้ทำเลย หากทำขนมฝอยทอง ทองหยิบเป็น อย่างอื่นก็ถือว่าง่าย แต่ต้องอาศัยความใจเย็นและความพยายามพอสมควร

ผ่านไปเพียงครึ่งชั่วโมง ทองหยิบที่ว่าหยิบยากแสนเข็ญนั้นก็วางเรียงรายอยู่บนถาดเตรียมใส่กล่องขาย แม้แต่หญิงสาวแรกแย้มยังต้องยอมแพ้ความคล่องตัวของน้าแอ๋ว เมื่อทำขนมทองหยิบเสร็จก็ตระเตรียมอุปกรณ์หรือที่เรียกกันว่าตั้งร้าน เพื่อเตรียมทำขนมฝอยทองกันต่อ

ภายในกระทะทองเหลืองมีน้ำเชื่อมที่เคี่ยวจนได้ที่ ตั้งบนเตาแก๊สเปิดไฟแรง ไข่เป็ดและไข่ไก่ผสมกันอย่างละครึ่ง แยกไข่ขาวออกจากไข่แดงเสียก่อน ตามด้วยไข่น้ำค้างตามสูตรโบราณ ไข่น้ำค้างก็คือไข่เป็ดที่อยู่ปลายไข่ ใส่ให้เกิดความเงา บางร้านใส่น้ำมันพืช แต่ไม่ดีนัก เพราะจะทำให้เหม็นหืน

“ขนมไทยมีจุดอ่อนอยู่อย่างหนึ่งคือ เราต้องทำ ถ้าเราไม่ทำ ต่อให้จับมือสอนทุกขั้นตอนก็ทำไม่ได้ ประสบการณ์จะสอนเราเอง เพราะมันไม่มีในตำรา ไม่มีอะไรยาก ถ้าคิดว่ายากก็ไม่ต้องทำอะไร ยกขาก็ยาก ยกแขนก็ยาก ถ้าคิดว่ามันยาก

“ขนมของเรายายวัฒนามักไม่ชอบขึ้นราคา เพราะไม่หวังรวย อยากให้คนไทยได้กินขนมไทยเท่านั้นเอง” น้าแอ๋วกล่าวขณะสองมือเริ่มจับใบตองม้วนเป็นกรวยเพื่อใช้แทนกรวยโลหะ

หญิงสูงวัยเล่าต่ออีกว่า การทำขนมต้องอาศัยการสังเกต อย่างที่เคยใช้กรวยโลหะหยอดฝอยทองแต่พบว่าเส้นขาด พอใช้ใบตองแล้วลื่นไหลดีกว่า เราก็ลองปรับตามสถานการณ์ สิ่งเหล่านี้ไม่มีใครสอน ต้องสังเกตด้วยตัวเอง

“ก็เหมือนการใช้ชีวิตในแต่ละวัน ไม่มีใครมาสอนเราได้ตลอดเวลา กว่าจะทำขนมได้ขนาดนี้ต้องผ่านการฝึกฝนและใช้เวลา รู้สึกมีความสุขทุกวัน เพราะถ้าไม่มีความสุขแล้วจะทำทำไม ที่อื่นใส่แต่แป้ง ใส่ไข่ขาว จึงไม่อร่อยและไม่นุ่ม น้าทำขนมทุกวัน ใส่ไข่แดงล้วนๆ ไม่เคยหลอกคนกิน อยากกินของดีราคาถูกไม่มีจริงบนโลกหรอก”

สองมือของน้าแอ๋วค่อยๆ บรรจงเทไข่ใส่ในกรวย เมื่อน้ำเชื่อมเดือดได้ที่จึงใช้มือหนึ่งโรยเส้นฝอยทองลงบนน้ำเชื่อมอย่างใจเย็น โดยโรยเป็นวงกลมราว ๓๐ วงต่อเนื่องกัน

แววตาของหญิงสูงวัยฉายแววมุ่งมั่น มือที่หยาบกร้านบ่งบอกความชำนาญที่หล่อหลอมจากรุ่นสู่รุ่น

“มาถึงวันนี้น้าเองก็ไม่รู้ว่าใครจะสืบทอด เพราะยายวัฒนาไม่มีสามีและทายาท ใจอยากให้ลูกชายมาเรียนรู้การทำขนมไทย แต่เขาไม่ชอบ อยากเปิดร้านอาหารที่ต่างประเทศ” น้าแอ๋วกล่าวทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม

เราต่างยิ้มให้กัน เพราะนี่อาจเป็นอีกหนึ่งกำลังใจที่ผู้มาเยือนอย่างเราทำได้

เพราะ ส.บุญประกอบพานิช คือร้านขนมไทยที่บอกเราว่าเงินอาจไม่ใช่ทุกคำตอบที่จะประกอบสร้างให้ทุกคนมีความสุข

เสียงจากขาประจำ

“อุดหนุนตั้งแต่อายุ ๑๓ ปี ชอบซื้อข้าวเหนียวมะม่วงเพราะที่นี่ทำอร่อยและขึ้นชื่อ ร้านนี้มีมานานแล้ว ถ้าจะซื้อขนมเป็นของฝากหรือรับประทานเอง ต้องร้านนี้เท่านั้น”

คุณป้าเอี่ยม ลูกค้าประจำร้าน ส.บุญประกอบพานิช อายุ ๕๐ ปี อาศัยอยู่ในซอยเจริญกรุง ๔๔

“เมื่อก่อนอาศัยอยู่แถวตลาดบางรัก เดี๋ยวนี้ไม่ได้พักอยู่แถวนี้แล้ว ถ้ามีโอกาสก็จะต้องแวะมาอุดหนุนเป็นประจำ เพราะร้านขนมไทยที่จะหาให้ถูกใจนั้นยาก ส่วนใหญ่ซื้อทุกครั้งคือขนมบ้าบิ่นและฝอยทอง ซื้อไปกินเองบ้าง ฝากผู้ใหญ่บ้างแล้วแต่โอกาส ถ้าไม่มีร้านนี้แล้วก็ไม่รู้จะหาร้านใหม่ที่ถูกใจได้อีกไหม”

นางสาวอโรชา แม่นปืน อายุ ๓๘ ปี ลูกค้าประจำร้าน ส.บุญประกอบพานิช