เรื่อง : ณัฐชานันท์ กล้าหาญ
ไม่รู้เมื่อไหร่ที่ภาพจำของคำว่า “โรตี” กับ “อินเดีย” กลายเป็นของคู่กัน แต่วัฒนธรรมการกินโรตีของเราสนุกสนานและมีลูกเล่นตราบใดที่สตรีทฟูดยังอยู่ดี ไม่ว่าจะเป็นการซื้อโรตีกรอบใส่นมน้ำตาลตามรถเข็น นั่งสั่งหน้านูเทลล่า, กล้วยช็อกโกแลตตามร้านนม โรตีมะตะบะที่ออกจะเป็นเมนูของคาวเสียหน่อย หรืออีกแบบไปเลยคือสายแข็งแห่งอาหารอินเดีย นั่งกินแป้งโรตีที่เรียกว่า ‘นาน’ ในร้านอาหารคู่กับแกงไก่มาซาลาหรือแกงกุรุหม่า
แต่ในสเกลโลก เรื่องราวของโรตีนั้นซับซ้อนและหลากหลายมากจนยากจะบอกว่าชาติใดเป็นคนนำเข้ามา ตั้งแต่ชาวอียิปต์โบราณในลุ่มแม่น้ำสินธุเมื่อ 5,000 ปีที่แล้ว บ้างบอกว่ามาจากเปอร์เซีย ทำมาจากแป้งไมดา(แป้งจากอินเดีย ทำจากข้าวสาลี) บ้างบอกว่าชาวแอฟริกาตะวันออกนำเข้ามาในอินเดีย เพราะยุคนั้นมีหลักฐานว่าที่นั่นผลิตข้าวสาลีและแป้งแผ่นกลมบางกรอบกันเยอะโดยไม่ต้องใช้การหมัก แถมยังเป็นอาหารหลักในหมู่ชาวแอฟริกันตะวันออกที่พูดภาษาสวาฮีลีด้วย
แต่เหตุผลที่เราคุ้นเคยภาพของโรตีกับอินเดียก็ไม่แปลกเพราะหลักฐานทางประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ระบุไว้ว่า ‘โรตี’หรือ ‘จาปาตี’ ถูกพบเจอที่อินเดียตอนใต้
ยุคที่อินเดียทำอาชีพเกษตรกรรมกันเป็นหลัก ชาวอินเดียก็ปลูกข้าวกับพืชพันธุ์ที่เป็นพวกของแห้งไปตามเรื่องตามราว แต่ก็ยังไม่มีพืชผลหลากหลายมากนัก ชาวบ้านเลยเริ่มปลูกข้าวฟ่างและธัญพืชบดละเอียดเข้าด้วยกันแล้วนำไปผสมน้ำ จาปาตีเลยเกิดขึ้นจากการที่ชาวบ้านหยิบนู่นผสมนี่ นำข้าวสาลีและแป้งผสมเข้าด้วยกันจนอร่อยกว่าพืชผลต่างๆ ที่ตัวเองปลูกเสียอีก
ว่ากันว่าพวกนักเดินทางใช้เจ้าแป้งบางกรอบนี่ห่อแกงกะหรี่ไปแทนภาชนะเลยเพราะสามารถบรรจุอาหารกับน้ำได้ แถมกินได้อีกต่างหาก
จากนั้นแป้งจาปาตีมหัศจรรย์ก็ป๊อปไปตามเส้นทางความกินง่าย มิกซ์กับอะไรก็อร่อยจนป๊อปเป็นพิเศษในหมู่พวกทหารชาวบริติชในช่วงสงครามประกาศอิสรภาพปี 1857 ซึ่งมักจะชอบแป้งมากกว่าข้าวด้วยซ้ำ จาปาตีกลายเป็นอาหารแห่งนวัตกรรมไปในหลายประเทศเพราะผู้อพยพนำสูตรเข้ามาในอเมริกาและอังกฤษจนเมนูที่เกี่ยวข้องพัฒนาไปไกลมาก สูตรแป้งก็หลากหลาย แถมรสชาติก็ยังน่าสนใจแตกต่างกัน แค่ลองชิมจาปาตีในแต่ละพื้นที่ของอินเดียรสชาติก็แปลกลิ้นแตกต่างกันแล้ว
ในแต่ละประเทศก็มี signature โรตี หรือจาปาตีในแบบของตัวเอง สื่อสารได้ถึงการอยู่ร่วมกันทางวัฒนธรรมโดยมีอาหารง่ายๆ เป็นตัวแทนของความหลากหลายในสังคม สนุกและมีนัยยะทางวัฒนธรรมตั้งแต่วัตถุดิบไปจนถึงวิธีการกิน คนไทยอาจจะไม่ค่อยใช้มือจกแป้งปาดแกงกะหรี่กันมากนัก แต่ลองไปนั่งท่ามกลางโรงอาหารอินเดียสิ ลองสังเกตสีหน้าแห่งความสาแก่ใจตอนที่คนดูดนิ้วที่ติดแกงอยู่เพื่อปิดจ็อบหนึ่งมื้อดูสิ
มาเลเซียมีโรตีจาไนที่อยู่มาตั้งแต่ยุคจักรวรรดิบริติช แป้งสะบัดหมุนลอยในอากาศตวัดเป็นวงกลมคล้ายแผ่นซีดีขนาดเล็ก ใส่เนยกี(ทำจากนมวัว/นมควาย) ทอดจนกรอบแต่เคี้ยวแล้วยังนุ่มละมุนอยู่ สิงคโปร์มี โรตีปราตาไว้กินคู่กับแกงกะหรี่หรือแกงเนื้อรสจัด หรือในสายของหวานแบบที่เราคุ้นเคยกัน ใส่ชีส ใส่นม ใส่ไอศกรีมก็ยังได้ ลูกเล่นมีสารพัดและหากินได้ง่ายตามท้องถนนอีกต่างหาก ถือว่าเป็นวัตถุดิบแห่งการผจญภัยสืบเนื่องมาหลายศตวรรษจริงๆ
รู้เกร็ดคร่าวๆ เกี่ยวกับโรตีในประวัติศาสตร์โลกกันไปแล้ว ลองย่อขนาดแผนที่ให้เล็กลงมาที่แง่มุมของโรตีและชีวิตจริงของคนฟาดแป้งกันดูบ้าง นอกจากเรื่องกระบวนการ อาหารก็เป็นกระบอกเสียงเล่าเร่องราวของวัฒนธรรมและกิจกรรมของคนแต่ละยุคสมัยได้มาก ถ้าพูดถึงโรตีกับมุสลิม คนมุสลิมเองก็กินโรตีต่างข้าวดุๆ เหมือนกัน ยิ่งถ้าใครเคยไปมัสยิดหรือสุเหร่าก็อาจจะคุ้นเคยดีเพราะในแต่ละพื้นที่จะมีร้านโรตีตั้งอยู่ประปรายตามโอกาส
ผลงานชิ้นแรกพาไปสำรวจเรื่องราวของโรตีที่โรยชีวิตลงไปในนั้นแทนน้ำตาล ตอนที่คลิกอ่านก็อย่าลืมไปซื้อโรตีใส่ไข่แถวบ้านมานั่งกินแกล้มไปด้วยนะ