เรื่อง : สุนันทา จันทร์หอม
ภาพ : กิตติคุณ ขุนทอง
กลิ่นหอมเมื่อลมหวน
อากาศร้อนยามบ่ายพาให้เหงื่อของเราทั้งสองคนผุดเต็มใบหน้า เราเดินฝ่าผู้คนและรถราแน่นขนัดบนถนนเจริญกรุง ผ่านร้านค้าที่แสดงเอกลักษณ์และวัฒนธรรมหลากหลาย เพราะที่นี่อุดมด้วยผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ ทั้งไทย จีน อินเดีย ไม่ต้องแปลกใจที่เราจะเห็นวัดไทย โบสถ์คริสต์ และสุเหร่าตั้งอยู่ไม่ไกลกันนัก ตึกรามบ้านช่องยังคงเอกลักษณ์ดั้งเดิมมาตั้งแต่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีเพียงไม่กี่ตึกที่ปรับปรุงเป็นสมัยใหม่
เราอดกลั้นความหิวผ่านร้านอาหารขึ้นชื่อหลายร้าน มุ่งหน้าไปยังแยกบางรัก ปากซอยเจริญกรุง ๔๒ อันเป็นที่ตั้งของร้านเครื่องเทศชื่อดังที่มีประวัติยาวนานหลายทศวรรษ ตั้งอยู่ไม่ไกลจากโรงเรียนอัสสัมชัญ และเป็นหนึ่งในศูนย์รวมวัตถุดิบปรุงอาหารสำหรับชาวมุสลิมในละแวกนี้และใกล้เคียง ใช่แล้ว! ที่นี่ “สุวรรณเครื่องเทศ”
ทันทีที่ประตูกระจกหน้าร้านเปิดออก กลิ่นเครื่องเทศสารพัดก็ประดังมาแตะจมูก คุณน้าหน้าคมกับพี่ชายอารมณ์ดียิ้มต้อนรับ พลางเชื้อเชิญให้เราชมกระบะเครื่องเทศหลากหลายชนิดวางเรียงรายเป็นสีสันสวยงาม
นอกจากเครื่องเทศกลิ่นหอมอบอวลในกระบะไม้แล้ว ยังมีวัตถุดิบทำอาหารอิสลามหลายอย่างวางขาย บางอย่างเก็บไว้ในถังสเตนเลส และยังมีผ้าโสร่ง หนังสือศาสนา อาหารแห้งและอาหารกึ่งสำเร็จรูป รวมไปถึงขนมและเครื่องดื่มต่างๆ
เส้นทางเครื่องเทศที่เชื่อมโลกตะวันตกและโลกตะวันออกในยุคกลางปิดฉากลงแล้ว
แต่วันนี้เส้นทางของเครื่องเทศในร้านสุวรรณเครื่องเทศแห่งนี้กำลังเริ่มต้น โดยมีเราเป็นผู้นำทางให้ท่านไปค้นพบ
อบอวลมายาวนาน
“ชื่อร้านสุวรรณเครื่องเทศมาจากภาษาอังกฤษ แต่ก่อนชื่อร้านคือ Gold Spices ซึ่งความหมายก็ตรงตัวนะ” ภูวนาถ ธีรลักษณ์ ทายาทผู้สืบทอดรุ่นที่ ๓ ของร้านนี้อธิบายให้เราฟัง
“ถ้าจะถามว่าร้านนี้เปิดตั้งแต่เมื่อไหร่ก็บอกไม่ได้ เพราะมันนานมาก คุณน้าก็จำไม่ได้” ภูวนาถพูดพลางหันไปมองคุณน้า
“ใครจะไปจำได้ รุ่นปู่เชียวนะ อย่าถามเลยว่าตั้งเมื่อไหร่ ตั้งทำไม เกิดไม่ทันหรอก” คุณน้ารัตนา อภิชาตวรพันธ์ ทายาทรุ่นที่ ๒ ของร้านพูดแทรกขึ้นมาพร้อมหัวเราะ ภูวนาทเสริม “จำได้แน่ๆ คือน่าจะประมาณ ๑๐ ปีก่อนสงครามโลก ราวๆ ปี ๒๔๗๕ รวมแล้วก็ประมาณ ๘๔ ปี” เขายิ้มอย่างภูมิใจ ก่อนขอตัวไปตักเนยเหลวในถังสเตนเลสให้ลูกค้าชาวมุสลิมที่เพิ่งเข้าร้าน
สุวรรณเครื่องเทศเป็นศูนย์รวมเครื่องเทศซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในอาหารอิสลาม ๔๐ กว่าชนิด ไม่ว่าจะเป็นอบเชย ขมิ้น พริกไทย ลูกกระวาน ผักชี ยี่หร่า เครื่องแกงต่างๆ ทั้งพะโล้ ผงกะหรี่ เครื่องข้าวหมกต่างๆ นอกจากเครื่องเทศแล้วยังมีวัตถุดิบอื่นๆ เช่น เนยเหลว เนยกระป๋อง รวมถึงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เนื้อเชียง ซึ่งถูกต้องตามหลักอาหารอิสลาม (อาหารฮาลาล)
ชาวมุสลิมละแวกนี้และใกล้เคียงมักแวะเวียนมาซื้อกันเป็นประจำ ชื่อเสียงของร้านยังขจรไปไกล บางครั้งผู้ซื้อจากต่างจังหวัดก็เดินทางมาซื้อเครื่องเทศที่นี่ไปตุนไว้เป็นสิบๆ กิโลกรัม
“เวลามีงานใหญ่ๆ อย่างงานแต่งงาน งานโกนผมไฟ งานที่สุเหร่าต้องทำกับข้าวเลี้ยงแขก ก็จะมาซื้อทีละหลายกิโลเหมือนกัน แถวนี้มีสุเหร่าอยู่ ๑๐ แห่ง ก็จะมาซื้อเครื่องเทศที่ร้านเราตลอด” ภูวนาถกล่าวยิ้มๆ
“จริงๆ ร้านเครื่องเทศมีหลายร้านนะ แต่แถวนี้ร้านนี้คนรู้จักเยอะที่สุด ครบเครื่องที่สุด คุณภาพดีที่สุด” น้ารัตนาเสริม
ผสมผสานหลายเชื้อชาติ
หากใครเคยรู้เรื่องราวของเส้นทางสายเครื่องเทศมาบ้าง คงจะพอทราบว่าในยุคกลาง เกิดเส้นทางการขนส่งสินค้าโดยเฉพาะเครื่องเทศจากอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าสู่ดินแดนในตะวันออกกลาง ก่อนจะส่งไปยังทวีปยุโรป การค้าขายเครื่องเทศเป็นกิจการที่สำคัญที่สุดของการค้าขายในยุคนั้น ส่งผลให้เกิดเส้นทางการค้าทางทะเลใหม่ และกระตุ้นประเทศในยุโรปให้เข้าสู่สมัยจักรวรรดินิยมและการล่าอาณานิคม
กล่าวสั้นๆ คือเส้นทางการค้าเครื่องเทศเป็นตัวเชื่อมเศรษฐกิจและเชื่อมโลกตะวันตกกับโลกตะวันออกในยุคนั้น
ร้านสุวรรณเครื่องเทศแห่งนี้ก็เป็นจุดเชื่อมโยงหลากหลายวัฒนธรรมเข้าไว้ด้วยกัน
บนถนนเก่าแก่ที่มีผู้คนหลากหลายสัญชาติมาตั้งรกราก เราจึงเห็นลูกค้ามากหน้าหลายตาไม่เพียงเฉพาะชาวมุสลิม หากแต่คนไทย อินเดีย คนจีน ก็แวะเวียนมาซื้อวัตถุดิบอยู่บ่อยๆ
เครื่องเทศและสินค้าต่างๆ ของร้านก็นำเข้ามาจากหลายทาง
พริกไทย เม็ดผักชี อบเชย จากภาคตะวันออกของบ้านเรา
เครื่องแกงต่างๆ จากทางจีน อินเดีย และอินโดนีเซีย แถมยังมีผ้าโสร่งนำเข้าจากอินโดนีเชียวางขายคู่กับผ้าโสร่งผืนงามจากไทยอีกด้วย
“เรามียี่ปั๊วเอาของมาส่งตามที่เราสั่ง ทั้งเครื่องเทศ บะหมี่ แล้วก็ผ้าโสร่ง จริงๆ ยี่ปั๊วเขาก็ส่งหลายเจ้านะ ของก็มีหลายแบบหลายยี่ห้อ แต่ของร้านเราเรากินเอง คัดเองมาแล้วว่าอันไหนหอม อันไหนใส่แล้วอร่อย อันไหนกินอร่อย แล้วเอามาขาย คนก็ติดใจ มาซื้อบ่อยๆ”
คุณน้ารัตนากล่าวยิ้มๆ เราพยักหน้าเห็นด้วย เพราะกลิ่นเครื่องเทศที่นี่หอมจริงๆ เมื่อยิ่งอยู่นานๆ เรายิ่งสังเกตได้ว่ากลิ่นเครื่องเทศที่นี่หอม แต่ไม่แรงจนฉุน
ถามถึงความต่างของเครื่องเทศใส่อาหารอินเดียกับใส่อาหารอิสลามว่าแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน
ป้ารัตนาคิดสักพักก่อนตอบ
“จริงๆ คนอินเดียที่นับถือฮินดูหรือซิกข์เขาไม่กินเนื้อ ความเชื่อเขามาแบบนั้น แต่คนอิสลามกินเนื้อ ไม่กินหมู เครื่องเทศเลยหอมต่างกัน รสชาติก็ต่างคนละแบบ แต่เครื่องเทศนี่นับถืออะไรก็ซื้อได้ อาหารไทยก็ใส่เหมือนกัน”
องอาจสู้ทุนนิยม
ผู้คนยังคงแวะเวียนเข้าร้านมาเรื่อยๆ เมื่อเห็นว่าขายดีขนาดนี้เราจึงถามว่าในอนาคตมีแผนจะเปิดสาขาบ้างหรือไม่
“เปิดอีกสาขาก็ไม่รู้จะให้ใครขาย ขายแค่ตรงนี้ก็พออยู่ได้ ฐานลูกค้าเราก็มีเยอะ หลังๆ มีคนมาซื้อของเราไปขายต่อตามย่านมีนบุรี บางกะปิ หนองจอก ซื้อที ๑๐ โล ๒๐ โลเลย ก็เหมือนกระจายไปขายในตัวอยู่แล้ว” ภูวนาถตอบพลางตักเครื่องเทศใส่ซองเล็กๆ ลูกค้าบางคนที่นี่ซื้อเป็นกิโลกรัม หรือครึ่งกิโลกรัม แต่บางคนก็ซื้อเป็นซองเล็ก
เครื่องเทศซองเล็กๆ แบ่งไว้สำหรับลูกค้านำไปทำกับข้าวเป็นมื้อๆ หน้าซองเขียนบอกชนิดของเครื่องเทศ ราคา และจำนวนบรรจุเอาไว้ คล้ายกับเครื่องเทศที่ขายเป็นซองตามร้านสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ
“เรายังเชื่อมั่นในฐานลูกค้าเราอยู่ ต่อให้มีเป็นซองสำเร็จรูปขายตามร้านแบบนั้น ยังไงลูกค้าก็มาซื้อกับเรา ถ้าถามว่าทำไมถึงมั่นใจ เพราะเราเชื่อในวัตถุดิบเรา เราเอาของดีมาขาย มันหอมกว่า ซองแบบนั้นหอมสู้เราไม่ได้”
เราพยักหน้าเห็นด้วย จากประสบการณ์การทำอาหารที่พอมีบ้างแม้จะไม่มาก เราก็ยืนยันได้ว่าเครื่องเทศหรืออาหารสำเร็จรูปแบบซองมีไว้เพื่อความสะดวกรวดเร็ว แตกต่างจากอาหารที่ทำเองหรือเครื่องเทศสดๆ แบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นหรือรสชาติ ซึ่งผู้บริโภคเองก็มีสิทธิ์เลือกซื้อตามความสะดวกหรือความพอใจ อย่างน้อยเราก็ไม่ต้องไปหาซื้อเครื่องเทศคุณภาพดีในที่ไกลๆ เพราะสุวรรณเครื่องเทศคัดของดีมีคุณภาพมาไว้ให้แล้ว
แสงบ่ายเริ่มอ่อนแรง แต่ผู้คนที่นี่ยังไม่บางตา หนุ่มชาวอินเดียผิวคล้ำหน้าเข้มเข้ามาแวะซื้อผงกรุหม่าแล้วยิ้มให้เรา
ก่อนกลับเราซื้อผงกะหรี่อินเดียและผงพะโล้ ด้วยหวังว่าจะติดใจเมื่อได้ลิ้มรส และกลับมาซื้อแล้วซื้ออีกเหมือนลูกค้าประจำคนอื่นๆ
เวลาใกล้หมดลงแล้ว อีกไม่นานจะถึงเวลาที่เจ้าของร้านต้องปิดร้านเพื่อพักผ่อน
ก่อนจะเปิดกลิ่นหอมฟุ้งให้ผู้คนหลายเชื้อชาติได้สัมผัสอีกครั้งในวันพรุ่งนี้แต่เช้าตรู่
ขอขอบคุณ
- ภูวนาถ ธีรลักษณ์
- รัตนา อภิชาตวรพันธ์
- http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=4&chap=9&page=t4-9-infodetail06.html
- https://www.facebook.com/goldspices/?ref=br_rs
- http://www.suandusitcuisine.com/food4/central/herb/spices_route.php
- http://guru.sanook.com/8638/