ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต
ดังนั้น “พระอินทร์” จึงเป็นชื่อตำแหน่ง ไม่ใช่ชื่อเฉพาะตัว อย่างพระอินทร์องค์ปัจจุบันที่กล่าวถึงในคัมภีร์โลกศาสตร์ฉบับต่างๆ ก็คือ “มาฆะมาณพ” ผู้เพิ่งขึ้นสวรรค์มา แล้วตั้งตัวเป็นแกนนำ คสส. ก่อรัฐประหารยึดอำนาจ กวาดล้างรัฐบาลเก่าผู้ปกครอง “สุทัสนนคร” บนยอดเขาพระสุเมรุเดิม ให้ “ตกสวรรค์” ไปจนต้องกลายเป็นอสูร ลี้ภัยไปอยู่ใต้เขาพระสุเมรุ
ในคัมภีร์ต่างๆ ของทางฝ่ายไทย ดูเหมือนจะไม่ได้ระบุไว้ตรงไหนว่าพระอินทร์มีผิวกายสีอะไร แต่ในงานช่างของไทยนิยมแสดงรูปพระอินทร์ด้วยเทวดาที่มีผิวกายสีเขียว อย่างที่เคยมีสำนวนไทยสมัยเก่าพูดถึงเรื่องที่ไม่น่าเชื่อว่า “ต่อให้พระอินทร์ลงมาเขียวๆ (ก็ไม่เชื่อ)”
แม้จะยังไม่พบข้อมูลหรือหลักฐานชัดเจนว่า ทำไมพระอินทร์ตามขนบของภาคกลางต้อง “ตัวเขียว” แต่ในเชิงช่าง การที่กำหนดให้พระอินทร์มีผิวกายสีพิเศษ ย่อมเป็นประโยชน์ในการช่วยชี้แนะให้ผู้ชมทราบว่า รูปเทวดาที่เห็นนั้นคือ “พระอินทร์” เหมือนกันกับกายสีต่างๆ ของตัวละครในการแสดงโขน ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้ชม ในอันที่จะช่วยให้รู้ว่า “ใครเป็นใคร” ไม่อย่างนั้นดูไม่รู้เรื่อง
พระรามจึงรัดเครื่อง (สวมชุด) และสวมศีรษะสีเขียว ขณะที่ของพระลักษมณ์เป็นสีเหลือง เป็นต้น
กายสีเขียวของพระอินทร์ยังตกทอดไปถึงโอรส คือพญาพาลี เจ้าเมืองขีดขิน ซึ่งเป็นลูกของนางกาลอัจนาที่เกิดจากพระอินทร์ ในโขนไทยก็มีสีกายเป็นสีเขียวเช่นกัน
แม้แต่เมื่อพระอินทร์ “ปลอมตัว” ไป เช่นในเรื่อง “มหาเวสสันดรชาดก” หลังจากชูชกมาขอกัณหา-ชาลีไปแล้ว พระอินทร์จึงแปลงเป็นพราหมณ์เฒ่าลงมาทูลขอประทานพระนางมัทรีจากพระเวสสันดร เพราะเกรงว่าถ้าไม่ตัดหน้ามาก่อน เดี๋ยวอาจมีใครมาขอพระนางไปอีก พระเวสสันดรจะไม่มีใครปรนนิบัติดูแล แล้วเมื่อได้รับมอบแล้ว พราหมณ์ชราจึงถวายคืนไว้แก่พระเวสสันดร โดยระบุด้วยว่า ห้ามเอาพระนางไปยกให้แก่ผู้ใดอีก
รูปพราหมณ์เฒ่าในจิตรกรรมฝาผนังของภาคกลางบางแห่งก็วาดให้เห็นชัดๆ ว่าเป็นพระอินทร์แปลง ด้วยการเขียนให้เป็นพราหมณ์ตัวเขียวๆ ไปด้วย
หรืออย่างพระพุทธรูปสำคัญที่มีตำนานเกี่ยวข้องกับพระอินทร์ คือพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระแก้วมรกต องค์พระก็สลักจากแก้ว (หรือหยก) สีเขียวด้วย จึงกลายเป็นต้นทางของนามกรุงของกรุงเทพฯ ที่ผูกพันกับนามสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง คือ กรุงเทพมหานคร “อมรรัตนโกสินทร์” ฯลฯ
“รัตนโกสินทร์” คำนี้เอง “รัตนะ” แปลว่าแก้ว และ “โกสินทร์” ก็หมายถึงพระอินทร์
การขนานนามกรุงเทพฯ ว่า “กรุงรัตนโกสินทร์” ก็คือการหมายเรียกเอา “ขวัญเมือง” คือพระแก้วมรกตอันมีตำนานเกี่ยวข้องกับพระอินทร์ ให้เป็นนามกรุง
ในทำนองเดียวกับ “นครหลวงพระบาง” ในลาว ซึ่งได้รับนามตาม “พระบาง” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเช่นกัน