เรื่อง : วรรณิดา อาทิตยพงศ์
ภาพ : สัญญา มัครินทร์ (ที่มา)
ถามหน่อยว่า ในชีวิตวุ่นวายทุกวันนี้ ครั้งสุดท้ายที่ได้อยู่นิ่งๆ หรือมีสมาธิจดจ่อกับสิ่งตรงหน้า คือเมื่อไรกัน?
ถึงจะไปเดินเล่น พักใจในสวน จ้องมองใบไม้ใบหญ้าสีเขียวให้ผ่อนคลาย แต่ใจก็อดคิดกังวลถึงงานที่ยังทำไม่เสร็จไม่ได้ละสิ หรือเดินเล่นเสร็จแล้วจะกลับบ้านยังไงดีนะ ต้องไปทางไหนรถถึงจะไม่ติด สารพัดในหัวคิดถึงเรื่องที่กังวล สีเขียวๆ ที่เห็นตรงหน้าก็ได้เพียงผ่านตา แต่แทบไม่ได้สัมผัสดื่มด่ำ
ด้วยเหตุนี้การบำบัดด้วยธรรมชาติ กิจกรรม หรืองานศิลปะที่ออกแบบมาเพื่อให้จดจ่อกับธรรมชาติจึงเป็นสิ่งที่กำลังเป็นที่นิยม เราเลยอยากแนะนำให้รู้จักกับมันดาลาจากธรรมชาติ (Nature Mandala) เพื่อที่การออกไปข้างนอกครั้งหน้าคุณจะได้เชื่อมโยงกับธรรมชาติ ผ่านการทำงานศิลปะ ที่จะทำให้คุณสัมผัสกับธรรมชาติมากขึ้น และเข้าไปรู้จักตัวตนภายในของตัวเองไปพร้อมๆ กัน
Mandala
มันดาลา (mandala) เป็นคำในภาษาสันสกฤต ในภาษาทิเบตเรียกว่า “กิล (kyil)” หรือ “กิลคอร์ (dkyil ‘khor)” หมายถึง แก่น ศูนย์กลาง ที่นั่ง เขตแดน ซึ่งก็คือความหมายเดียวกับคำว่า “มณฑล” ตรงตามรูปศัพท์ที่ว่า ซึ่งล้อมรอบจุดศูนย์กลาง ส่วนคำว่า “ลา (la)” หมายถึงวงล้อที่หลอมรวมแก่น
มันดาลาจึงมีลักษณะเป็นวงกลม สมดุล ทรงกลมเรขาคณิต บางคนกล่าวว่ามันดาลาเป็นรูปทรงของจักรวาล เป็นศาสตร์หรือพิธีกรรมที่สืบเนื่องมาจากเรื่องศาสนา ทั้งศาสนาจากทิเบตและพราหมณ์ พระทิเบตใช้มันดาลาในการภาวนา
ในขณะเดียวกันก็กล่าวได้ว่า มันดาลาเป็นพื้นฐานของศิลปะทั้งมวล โดยเฉพาะในธรรมชาติ ถ้าเราสังเกตธรรมชาติรอบตัว แทบทุกอย่างมีลักษณะเป็นมันดาลาแทบทั้งสิ้น อย่างวงกลมกลีบของดอกไม้ การม้วนตัวของเถาวัลย์ แม้กระทั่งการขดตัวของกิ้งกือ
Nature Mandala
“เมื่อก่อนเราไม่รู้จักมันดาลา ธรรมดาเด็กบ้านนอก พอมีจังหวะได้อยู่คนเดียว เราก็เล่นดินเล่นทรายอยู่แล้ว สัญชาตญาณมนุษย์มันเชื่อมโยงกับธรรมชาติอยู่แล้ว แต่พอมันมีรูปแบบ (form) เรากำหนดอะไรบางอย่างได้ เราก็จดจ่อ มีสมาธิมากขึ้น”
เสียงจาก สัญญา มัครินทร์ หรือครูสอญอ คุณครูโรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย จังหวัดขอนแก่น หนึ่งในผู้มีประสบการณ์การทำศิลปะการทำมันดาลาจากธรรมชาติอยู่หลายครั้ง รวมถึงนำไปใช้ทำกิจกรรมกับเด็กๆ ในห้องเรียนอีกด้วย
Nature Mandala หรือมันดาลาจากธรรมชาติ เป็นงานศิลปะรูปวงกลมที่สร้างจากวัสดุธรรมชาติหลากหลายแบบ เป็นกิจกรรมง่ายๆ ทำได้จากธรรมชาติรอบตัว แค่เดินออกไปข้างนอกหยิบวัสดุธรรมชาติง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็นกิ่งไม้ ใบหญ้า กลีบดอกไม้ เปลือกหอย ก้อนหิน ฯลฯ ก็หยิบพวกนั้นแหละมาจัดวางโดยไม่ใช้อุปกรณ์ยึดติดช่วย จะสร้างบนกระดาษ หรือจะสร้างบนผืนดิน หาดทราย บนพื้นหญ้า บนกระดาษ ที่ไหนก็ได้ตามสะดวก
มันดาลากับการกลับมาดูธรรมชาติข้างในตัวเอง
ครูสอญอเล่าถึงช่วงเวลาที่ได้ทำ Nature Mandala ว่า เหมือนเราเข้าไปเชื่อมโยงกับธรรมชาติ โดยทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว ช่วงที่เราไปเก็บไปก้ม มันสัมผัสกับธรรมชาติอยู่แล้ว เห็นความงามของก้อนหิน ก้อนดิน กิ่งไม้ใบหญ้า เป็นประตูเปิดให้เห็นความงามผ่านมือ มันง่ายมากที่จะเห็นความงามแบบนี้
“พอเราเริ่มเอามาวาง เรียงร้อย ก็เห็นละเอียดขึ้น เหมือนเรากำลังทำอะไรบางอย่างที่ค่อยๆ เป็นรูปเป็นร่างไปเรื่อยๆ ระหว่างทำเราก็เหมือนชีวิตเนิบช้าไปด้วย ในขณะเดียวกันแค่ลมพัดเราก็เฟลแล้ว เพราะใบไม้เราปลิว (หัวเราะ) พอมันเห็นความจริงตรงหน้ากับความจริงข้างในเรา เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป พร้อมๆ กัน เลยชอบประสบการณ์ตรงนี้มาก”
- เกิดขึ้น – เพราะเรากำลังบรรจงสร้างงานศิลปะวงกลมมันดาลาจากวัสดุธรรมชาติที่เราเลือกมา
- ตั้งอยู่ – งานของเราก่อร่างตามที่เราออกแบบอยู่ในใจ
- ดับไป – เมื่อทำงานข้างนอก ลมพัด ฝนตก ธรรมชาติเราควบคุมไม่ได้ สุดท้ายมันดาลาของเราก็จะถูกทำลายลง
เป็นสัจธรรมง่ายๆ ที่อยู่เคียงคู่มากับชีวิต แต่นานๆ ทีเราถึงจะเห็นมันอย่างเข้าอกเข้าใจ
แล้วมันดาลาของคุณจะเป็นแบบไหน? วันหยุดมีเวลาว่าง ลองออกไปข้างนอกและใช้เวลาทำมันดู ชวนเพื่อน ครอบครัวทำด้วยกันก็ได้ ให้เวลากับมัน ปล่อยตัวไปกับธรรมชาติรอบตัว ศิลปะแห่งสมดุลและวงกลมตรงหน้า และอย่าลืมว่า “เจตนาไม่ได้ต้องการสวยหรือไม่สวย แต่เราต้องการให้คนกลับมาเห็นมันดาลา เห็นตัวเอง กลับมาเห็น กลับมาดูธรรมชาติข้างในเรา”
Tip สำหรับคนเริ่มทำมันดาลา
ครูสอญอฝาก Tip สำหรับผู้อยากลองหยิบวัสดุจากธรรมชาติมาสร้างมันดาลา ให้เริ่มจากจุดตรงกลางแล้วหาสมดุล บน ล่าง ซ้าย ขวา จากนั้นค่อยขยายจุดมณฑลไปเรื่อยๆ ตามที่ชอบเลย
รายการอ้างอิง
- ปิยะแสง จันทรวงศ์ไพศาล. ศิลปะทิเบต. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๕๘.
- https://www.bearpark.co.nz/make-nature-mandala/
- https://www.anft.blog/blog/art-in-nature-the-mandala