ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


เทวสมาชิกอีกองค์หนึ่งจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ที่ปรากฏชื่อในวรรณคดีอยู่บ่อยครั้ง คือ “มาตุลี”

ส่วนใหญ่แล้ว มาตุลีรับหน้าที่ “สารถี” หรือ “พลขับ” ประจำพาหนะของพระอินทร์ คือ “เวชยันต์ราชรถ” แต่อาจด้วยมีฐานะเป็นผู้ใกล้ชิดที่ไว้วางใจ ในคัมภีร์บางแห่งจึงดูเหมือนว่ามาตุลีมารับหน้าที่เป็น “เลขาฯ หน้าห้อง” หรือ ทส. (เทพคนสนิท) ของพระอินทร์ไปด้วยในตัว

“ไตรภูมิกถา” หรือ “ไตรภูมิพระร่วง” เล่าไว้ว่า ทุกวันพระ ๘ ค่ำ และ ๑๕ ค่ำ จะมีเทวดาลงมาสอดส่องตรวจดูผู้คนในโลกมนุษย์ตามบ้านเรือน พร้อมอุปกรณ์ติดมือคือแผ่นทองและดินสอ ถ้าเห็นใครทำบุญก็จะรีบจดบันทึกข้อมูลไว้ว่าคนชื่อนี้ๆ อยู่บ้านนี้ๆ ได้ทำกุศลอย่างนี้ๆ เช่น ฟังเทศน์ฟังธรรม สวดมนต์ไหว้พระ เลี้ยงดูพ่อแม่ เคารพยำเกรงผู้ใหญ่ รักพี่รักน้อง ฯลฯ

เสร็จแล้วเทวดาที่มาเที่ยวเดิน “จดมิเตอร์ความดี” ก็จะนำเสนอรายชื่อต่อๆ กันไปจนถึงมาตุลี ซึ่งจะเป็นผู้นำขึ้นถวายพระอินทร์ แล้วพระอินทร์ก็จะอ่านรายชื่อให้เทวดาทั้งหลายฟัง

เมื่อเทวดาเห็นว่ารายชื่อในบัญชีแผ่นทองมีมากก็จะพากันแซ่ซ้องสาธุการยินดี ว่าคราวนี้แหละจะมีมนุษย์ขึ้นสวรรค์มาเป็นเพื่อนของเรามากนักหนา เห็นทีนรกคงต้องว่างเปล่าไป แต่หากเหล่าเทวดาเห็นบัญชีชื่อในแผ่นทองนั้นมีน้อย ก็จะพากันเสียอกเสียใจใจ พูดกันเองว่า โอ้อนิจจา! คนทั้งหลายในมนุษย์โลกทำบุญทำทานกันน้อยนัก ต่อไปก็ตกนรกกันหมด ทีนี้สวรรค์ของเราก็คงเงียบเหงาเปล่าเปลี่ยวเป็นแน่แท้

ส่วนในตอนท้ายบทละครพระราชนิพนธ์เรื่อง “สังข์ทอง” เมื่อพระอินทร์จะแปลงกายยกทัพไปท้าท้าวสามนต์ พระบิดาของนางรจนา ให้มาตีคลี พนันเอาบ้านเอาเมืองกัน เพื่อหวังกดดันให้เจ้าเงาะยอมถอดรูปเป็นพระสังข์ทองเสียที แน่นอนว่ากองทัพของพระอินทร์แปลงก็ตั้งให้มาตุลีเป็นแม่ทัพอีก

 

“๏ คิดพลางทางมีพจนารถ      สั่งมาตุลีเทพบุตร
จงเตรียมพลเทวาถืออาวุธ       นิมิตเหมือนมนุษย์ชาวพารา
ทั้งหน้าหลังตั้งตามกระบวนทัพ    ให้เสร็จสรรพปีกซ้ายปีกขวา
เราจะยกพลไกรไคลคลา       ไปล้อมพาราท้าวสามนต์”

 

กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ใช้เครื่องหมายราชการ หรือ “ตราประจำกรม” เป็นภาพมาตุลีเทพบุตรขับรถเทียมม้า ซึ่งก็ย่อมหมายถึงเวชยันต์ราชรถของพระอินทร์นั่นเอง เพราะไม่เคยปรากฏว่ามาตุลีเคยไป “รับจ็อบ” เป็นโชเฟอร์ให้ใครที่ไหนอีก แต่น่าแปลกใจที่ในตรานั้น มาตุลีเป็นพลขับโดยไม่มีผู้โดยสาร<

นึกไม่ออกว่าจะมีเหตุอันใดให้มาตุลีต้อง “ตีรถเปล่า” ไปแบบนั้น นอกจากเรื่องดังที่เล่าไว้ในทศชาติชาดกลำดับที่ ๔ เมื่อพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระเจ้าเนมิราช กษัตริย์ผู้ทรงธรรมแห่งนครมิถิลา พระอินทร์ทรงมีเทวบัญชาให้มาตุลีนำเวชยันต์ราชรถไปเชิญเสด็จพระเจ้าเนมิราชขึ้นมายังเทวโลก เพราะเทวดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ปรารถนาจะได้พบพระองค์สักครั้งหนึ่ง

เมื่อไปทูลเชิญพระเจ้าเนมิราชประทับเวชยันต์ราชรถมาแล้ว ระหว่างทาง มาตุลีทูลถามขึ้นว่า หนทางไปสู่สวรรค์มีหลายเส้น พระองค์ต้องการไปผ่านที่อยู่ของผู้ทำบาปก่อน หรือจะผ่านสถานที่ของผู้บำเพ็ญบุญกุศลก่อนก็ได้ พระองค์จะเสด็จโดยทางใดดี พระเจ้าเนมิราชเลือกข้อแรก มาตุลีจึงนำพระองค์เสด็จเยือนนรกขุมต่างๆ ก่อน โดยบรรยายให้ฟังไปตลอดทางว่า วิญญาณที่ตกทุกข์ได้ยาก ถูกทรมานทรกรรมสารพัด ดังที่ทอดพระเนตรเห็นอยู่นั้น มาแต่โทษผิดบาปประการใดบ้าง แล้วจึงขับพาไปวนผ่านวิมานของเทวดานางฟ้าต่างๆ พร้อมสาธยายถึงกุศลผลบุญที่ท่านเหล่านั้นได้บำเพ็ญมาขณะมีชีวิต ก่อนจะไปถึงจุดหมายปลายทางที่ดาวดึงส์ในท้ายที่สุด

ดังนั้น หากวงการมัคคุเทศก์จะมองหาเทพเจ้าผู้อุปถัมภ์เหล่าไกด์ไทย ก็ใคร่ขอเสนอพระมาตุลีให้เข้ารอบไว้ด้วยสักองค์หนึ่ง ในฐานะที่ท่านเคยขับรถเป็นไกด์นำพระโพธิสัตว์เที่ยวชมนรก-สวรรค์มาก่อน อีกทั้งยัง “นำท่านถึงที่หมายโดยสวัสดิภาพ” คือสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เหมือนที่ชอบเขียนกันในโปรแกรมนำเที่ยว