เก็บตก บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี..จากการลงพื้นที่ภาคสนาม

กำแพงและกองหินกันคลื่น ยิ่งสร้าง ยิ่งพัง (เมื่อไม่ต้องทำ EIA) จริงหรือ ?

ปลายเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๒ หนึ่งในหัวข้อที่ถูกหยิบยกขึ้นพูดถึงในชั้นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณางบประมาณแผ่นดินประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๓ มีการตั้งกระทู้ถามแยกเฉพาะต่อ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คือผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนโครงสร้างแข็งเพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล

ผลกระทบจากการสร้าง “กำแพง” และ “กองหิน” อันเป็นโครงสร้างที่ไม่ต้องทำรายงานประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ถูกพูดถึงในรอบ ๑ เดือนที่ผ่านมา หลังจาก ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง ศูนย์เรียนรู้วิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ส่งจดหมายถึง รมต.ว่าการกระทรวงมหาดไทย รมต.ว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เรียกร้องให้พิจารณาความไม่ชอบมาพากลของโครงการต่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้วและเตรียมก่อสร้าง ชี้ว่านอกจากจะไม่สามารถยับยั้งความเสียหายต่อชายฝั่งแล้วกลับยิ่งทำให้เกิดการกัดเซาะต่อเนื่องไม่รู้จบ สิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินรวมกันหลายหมื่นล้านบาท สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินทักท้วงถึงการใช้งบประมาณว่าคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่

กำแพงและกองหินกันคลื่นเป็นโครงสร้างแข็งที่ได้รับการยกเว้นให้ไม่ต้องทำ EIA มาตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ จากเหตุผลสำคัญคือทำให้การก่อสร้างล่าช้า ขณะที่ผู้รับผิดชอบโครงการคือหน่วยงานของรัฐทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นต้องรีบเร่งดำเนินการก่อสร้างเพื่อเยียวยาความเสียหายที่อาจเกิดกับชุมชน

ผ่านมาแล้ว ๖ ปี นานพอหรือยังที่สังคมไทยจะสรุปบทเรียน ทบทวนทิศทางการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งเพื่อให้ชายฝั่งทะเลไทยคงอยู่อย่างยั่งยืนในอนาคต

“กำแพงกันคลื่นเลวร้ายที่สุดในบรรดาเครื่องมือป้องกันชายฝั่ง แต่กลับไม่ต้องศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมใดๆ”

ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง
ศูนย์เรียนรู้วิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อนุกรรมการบูรณาการด้านการจัดการการกัดเซาะชายฝั่งทะเล

“ก่อนปี ๒๕๕๖ กำแพงและกองหินกันคลื่นอยู่ในรายการที่ต้องทำ EIA แต่หลังจากนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบอกว่าต้องใช้เวลา ต้องรีบแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน บ้านเรือนกำลังจะพังถ้าต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมจะช้าเกินไป ผมเห็นด้วยว่ากระบวนการศึกษา EIA อาจจะใช้เวลา แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือ พื้นที่ที่สร้างกำแพงกับกองหินไม่ใช่บ้านเรือน

“ถ้าตรงไหนมีบ้านเรือนจำเป็นก็ต้องทำ บ้านเรือนจะพังผมก็ต้องให้ แต่ผมเห็นหลายที่ไม่มีบ้านเรือน เป็นการสร้างกำแพงกันคลื่น ลงกองหินในที่สาธารณะของรัฐ ทั้งที่อาจจะยอมให้ธรรมชาติปรับสมดุลใหม่ได้ ด้วยกระบวนการที่ไม่ต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมใดๆ ก็เลยกลายเป็นว่าทำทั้งหมด

“อันที่จริงแนวทางแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งมีหลายระดับตามมาตรการสีขาว สีเขียว สีเทา ถ้าไล่ตามมาตรการที่สร้างผลกระทบมากที่สุดคือกำแพงกันคลื่น แต่กลับกลายเป็นว่ากำแพงกันคลื่นไม่ต้องทำ EIA กำแพงกันคลื่นเลวร้ายที่สุดในบรรดาเครื่องมือป้องกันชายฝั่ง แต่กลับไม่ต้องศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมใดๆ เป็นเรื่องแปลกมาก
.
“จากประสบการณ์จากงานวิจัยต่างๆ ทั่วโลกบอกเหมือนกันหมดว่ากำแพงกันคลื่นเป็น Dead of the Beach คือตัวการทำให้ชายหาด ชายฝั่ง หายไปตลอดกาล ทางวิชาการบอกชัดเจนว่ากำแพงกันคลื่นสร้างผลกระทบแรงที่สุดในบรรดาวิธีแก้ปัญหาที่ผ่านมา เมื่อใดก็ตามที่ทำกำแพงจะไม่ได้ชายหาดกลับคืนมา แต่ปรากฎว่าบ้านเราทำได้อย่างอิสระ ตั้งแต่ส่วนกลางลงไปถึงท้องถิ่น ใครมีปัญหาตรงไหนสร้างกำแพงได้ทันที แม้แต่เขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่งที่สร้างผลกระทบน้อยกว่าก็ยังเป็นโครงการที่ต้องทำ EIA แต่กลับกลายเป็นว่ากำแพงกันคลื่นเป็นโครงสร้างที่ไม่ต้องศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมใดๆ

“อาจมีบางโครงการเจ้าของบอกกว่าศึกษาส่งผลกระทบ มีการรับฟังความคิดเห็นว่าประชาชนอยากได้รึเปล่า จ้างบริษัทที่ปรึกษามาทำรายงานว่าจำเป็นต้องสร้าง แต่เป็นการศึกษากันเองที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการตรวจสอบอย่างเข้มข้นจากนักวิชาการ ไม่ถูกกระบวนการตามหลักวิชาการ มีแต่เอกสารภายในหน่วยงานเพื่อประกอบการพิจารณาว่าทำได้ ที่ผมเรียกร้องก็คือขอให้มีกระบวนการอะไรก็ได้ที่นักวิชาการได้กลั่นกรองว่ากำแพงกันคลื่นเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมกับพื้นที่จริงๆ”

“เราอยากผลักดันให้มีมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากกำแพงกันคลื่นให้เข้มข้นที่สุด ซึ่ง EIA ควรเป็นหนึ่งในนั้น”

ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี
รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

“ผมไม่แปลกใจกับปัญหาหรือความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเรื่องการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ใครทำเรื่องนี้มานานจะเห็นว่าเมื่อไรก็ตามที่มีหลายคน หลายหน่วยงาน หลายองค์ความรู้มาเจอกัน ต้องแก้ปัญหาเดียวกันมันจะเกิดการถกเถียงและทะเลาะกันทันที แต่เราจะทะเลาะกันยังไงหรือคุยกันยังไงให้มันเป็นไปในทางที่สร้างสรรค์และแก้ปัญหาได้ ความขัดแย้งหรือความเห็นต่างจะจบได้เมื่อเรามีโอกาสได้มานั่งคุยกัน
.
“คู่ขัดแย้งในปัจจุบันถ้าดูให้ดีมีมิติเฉพาะสังคมกับสิ่งแวดล้อม วันนี้เวลาหน่วยงานราชการถกเถียงกันว่าควรทำหรือไม่ควรทำกำแพงกันคลื่น หน่วยงานหนึ่งจะบอกว่าชาวบ้านเดือดร้อน ต้องทำ ไม่ทำไม่ได้ เขาจะอยู่อย่างไร อีกหน่วยงานหนึ่งก็จะบอกว่าทำแล้วมันมีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมระยะยาว แล้วสิ่งแวดล้อมจะอยู่อย่างไร แล้วถึงจุดหนึ่งจะมีอีกตัวแปรหนึ่งคือเศรษฐกิจเข้ามา วันนี้เวทีของการพูดคุยควรมีเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และต้องมีตัวชี้วัดเพื่อช่วยในการตัดสินใจว่าเราจะมีนโยบายไปทางไหน วงของปัญหาจะใหญ่ขึ้นอีกกว่าจะคุยกันจบ
.
“เมื่อเช้า ๔ หน่วยงาน คือ สผ. กรมทะล กรมเจ้าท่า กรมโยธา หารือกัน โจทย์คือตกลงเราจะมีแนวทางในการพิจารณาลดผลกระทบสิ่งแวลดกล้อมจากกำแพงกันคลื่นอย่างไร เราเอาข้อเสนอข้อคิดเห็นของ อ.ศักดิ์อนันต์ ของ beach for life มาพูดคุยกันในที่ประชุม โดยสรุปของกรมทรัพยากรทางทะเลเห็นว่าต้องหาสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม
.
“เราเชื่อว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนจะต้องอยู่บนฐานของสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน เรามองว่า EIA คือเครื่องมือในการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่สำคัญเครื่องมือหนึ่งที่ประเทศนี้มีใช้อยู่ ในเอกสารที่กรมทะเลทำสรุปรายงานคณะรัฐมนตรี เรื่องแนวทางแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่ง เรารีวิวให้เห็นว่าเครื่องมือที่เราใช้ คือมาตรการขาว เขียว เทา กิจกรรมไหนทำแล้วต้องระวังที่สุด ไม่ได้แปลว่าไม่ดีหรือไม่ควรทำ แต่ต้องพิจารณาให้รอบคอบที่สุดเพราะมันอาจสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดก็คือเรื่องกำแพงกันคลื่น รองลงมาคือเขื่อนหินทิ้ง รอดักทราย
.
“หลังถอนกำแพงกันคลื่นออกจาก EIA ปรากฏว่าเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะที่สร้างผลกระทบที่ต้องระวังมากที่สุดกลับมีเครื่องมือในการควบคุมน้อยกว่ากิจกรรมอื่น
.
“วันนี้กรมทรัพยากรทางทะเลรายงานชี้แจงในที่ประชุม คุยกันในกรมแล้วท่านอธิบดีเองก็มีแนวทางที่ชัดเจนว่าเราอยากผลักดันให้มีมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากกำแพงกันคลื่นให้เข้มข้นที่สุด ซึ่ง EIA ควรเป็นหนึ่งในนั้น
.
“ในที่ประชุมทุกคนเห็นภาพตรงกันว่าการสร้างกำแพงกันคลื่อนเป็นเครื่องมือหนึ่งในการแก้ไขปัญหา ถ้าทำถูกวิธี ทำถูกต้อง ทำถูกจุด ถูกเวลาก็อาจมีประโยชน์มากกว่ามีโทษ แต่ถ้าทำผิดที่ ผิดเวลา ทำโดยไม่ได้เอาองค์ความรู้ไปใส่ มันก็อาจมีผลกระทบต่อเนื่องมา ทุกหน่วยงานในวันนี้ก็ยอมรับ
.
“คนข้างนอกบอกว่าจะอนุรักษ์ไปทำไม คนไม่ได้อยู่ไม่ได้กิน มันตายไปหมดแล้ว เหมือนเราให้ความสำคัญกับทรัพยากรธรรมชาติมากกว่ามนุษย์ จริงๆ ไม่ใช่ ที่เราให้ความสำคัญกับทรัพยากรธรรมชาติเพราะมันทำให้มนุษย์อยู่ได้ อยู่อย่างมีความสุขและอยู่อย่างยั่งยืน ต่อให้เราสามารถทำกำแพงกันคลื่น มันไม่ยากลำบากหรอกกับการจะทำกำแพงไปล้อมรอบบ้านสักหลังหนึ่งให้มันสู้กับคลื่น แต่ถ้าเขาอยู่ตรงนั้น แล้วจินตนาการว่าคลื่นตีเขาตลอดเวลา เขาจะอยู่ยังไง เขาจะมีความสุขแค่ไหน การอยู่ได้กับอยู่ให้มีความสุขมันไม่เหมือนกัน ฉะนั้นเหตุผลที่เราพยายามเอาเรื่องอนุรักษ์เรื่องสิ่งแวดล้อมขึ้นมานำ เพราะวันนี้หลายแห่งเช่นที่ออสเตรเลียเกิดไฟไหม้ป่า เวนิสของอิตาลีน้ำท่วมไป ๗๐ เปอเซ็นต์ของเมือง เราไม่ต้องการเห็นประเทศไทยเป็นอย่างนั้น ทั้งหมดที่เราพูดกันมาเพื่อที่จะปกป้องมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้อยู่ได้อย่างมีความสุข”

“สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือการแก้ปัญหาที่เป็นการย้ายปัญหา”

ศ.ดร.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์
ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ

“เวลาพูดถึงปัญหากัดเซาะชายฝั่ง สะกดถูกรึเปล่า เวลาจะแก้ปัญหา โจทย์เราต้องถูกก่อน จะเห็นว่าเวลาเราใช้คำว่า “การแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง” การกัดเซาะชายฝั่งเป็นตัวปัญหา แต่ผมว่าไม่ใช่ ผมว่ามันเป็นเรื่องของการสูญหาย สูญเสีย หรือหายไปของระบบนิเวศชายฝั่งหรือระบบนิเวศชายหาด
.
“เวลาเราใช้คำว่าการกัดเซาะแนวชายฝั่ง ผมว่าเรามองในเชิงกายภาพ แต่บทบาทหรือความสำคัญของชายฝั่งเป็นสิ่งนอกเหนือไปจากเรื่องกายภาพ เวลาเราแก้ปัญหาเราจะมุ่งเน้นการรักษาแนวชายฝั่งอย่างการทำโครงสร้างต่างๆ เราไม่ได้มองว่าจริงๆ แล้วปัญหา ตัวระบบนิเวศบริเวณนั้นมันสูญหายไป เราแค่จะรักษาแนวชายฝั่งโดยไม่ได้มองระบบนิเวศ มันถึงได้ออกมาในรูปแบบที่มันรักษาแนวชายฝั่ง แต่กลับทำลายหรือไม่ได้รักษาระบบนิเวศตรงนั้นที่มีอยู่ แล้วก็เกิดผลกระทบเกิดปัญหา
.
“วิทยาศาสตร์ทางทะเลอาจจะไม่ใช่เรื่องของคนที่เชี่ยวชาญด้านสมุทรศาสตร์กายภาพ หรือด้านชายฝั่งอย่างเดียว อาจจะต้องเอานักนิเวศวิทยาทางทะเลเข้ามาช่วยด้วย และเนื่องจากมันไปกระทบความเป็นอยู่ของผู้คน ผมว่ามันมีมิติของสังคมเข้ามาเกี่ยว เป็นโจทย์ที่ต้องมองจุดที่มันสูงกว่าที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน แต่แน่นอนว่าเราไม่ทิ้งประเด็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เป็นปัญหาเร่งด่วน
.
“วันนี้ต้องเปลี่ยน นอกจากผลที่ได้จากเศรษฐกิจเราต้องรักษาหรือคงไว้ซึ่งฐานทรัพยากร วันเรามีชายฝั่งยาวสามพันกว่ากิโลเมตร จะยอมเสียไปกว่านี้ไม่ได้แล้วในพื้นที่ที่เกิดการกัดเซาะ ต้องมานั่งคุยพร้อมกันว่าถ้าจะทำให้เกิดผลได้ทางเศรษฐกิจ การดูแลฐานทรัพยากรจะเป็นอย่งไร ต้องยอมรับว่าฐานทรัพยากรทางทะเลมันสนับสนุนการเติมโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน แล้วมันสามารถใช้ต่อไปได้เรื่อยๆ ทั้งรุ่นเราและรุ่นลูกหลาน
.
“สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือการแก้ปัญหาที่เป็นการย้ายปัญหา วันนี้เรามีพื้นที่แนวชายหาดที่เกิดการกัดเซาะและบอกว่าดำเนินการแก้ไขแล้วประมาณ ๖๐๐ กิโลเมตร และแนวชายหาดที่ยังไม่ได้แก้ไขประมาณ ๙๐ กว่ากิโลเมตร แต่การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นแค่การชะลอปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ได้รับผลกระทบแบบเร่งด่วน เช่น การสร้างโครงสร้างแข็ง
.
“ถ้าเราเอาเรื่องระบบนิเวศเข้าไปจับ จะเห็นว่ามันมีการเปลี่ยนแปลง แม้เรารักษาแนวชายฝั่งตรงนั้นไว้ แต่ระบบนิเวศที่อยู่ใต้น้ำหรือตรงหน้าระบบเปลี่ยนแปลงไป แต่ก่อนชายหาดมีสัตว์ทะเลที่มาอาศัย แล้วมันหายไปไม่ได้กลับมา และวันนี้อาจจะเป็นแค่การประทังปัญหา แนวชายฝั่งมีแนวโน้มที่จะพังในบางบริเวณ เป็นบทเรียนที่ค่อนข้างแพง และเราใช้งบประมาณไปพอสมควร วันนี้ต้องช่วยกันหาทางหยุดและหาทางแก้ไขอย่างมีสติ อย่างเป็นระบบ ต้องช่วยกันมองมิติทั้งในเชิงป้องกันและแก้ไข
.
“เมื่อเกิดโครงสร้าง มันไม่สามารถจะชดเชยหรือทดแทน มันไม่เหมือนเวลาเขาสร้างโรงงาน แล้วมีมาตรการที่พูดกันมาก คืออาจจะทำ CSR ปล่อยสิ่งมีชีวิตเพื่อทดแทน แต่กับการกัดเซาะชายฝั่งมันเสียระบบ และระบบตรงนั้นไม่สามาถรเอาอะไรไปทดแทนมันได้
.
“เรื่องรื้อโครงสร้างหรือสิ่งต่างๆ ที่ถูกสร้างขึ้นอาจจะเป็นแนวคิดในเชิงท้าทายของนักวิชาการ เรื่องเขื่อนปากร่องน้ำ เราปฏิเสธตรงนั้นไม่ได้ แต่เราเรียนรู้ เรามีบทเรียนมาพอสมควร หนึ่ง อย่าให้มันเกิดขึ้นอีก สอง มีทางบรรเทาหรือช่วยอย่างไรบ้าง

“พูดแล้วอาจจะเหมือนว่า พอจะรักษาทรัพยากรไว้แล้วอย่างอื่นต้องหยุดหมด จริงๆ ไม่ใช่ เรากำลังพูดถึงการใช้ประโยช์ร่วมกันอย่างมีสติ เราคงไม่บอกว่าบริเวณชายหาดห้ามทุกอย่าง แต่กิจกรรมที่เข้าไปควรเข้าไปอย่างเหมาะสม สิ่งสำคัญคือต้องร่วมมือกัน วันนี้สิ่งที่เราขาดคือเราขาดการทำงานร่วมกัน”

“เมื่อมีปัญหากัดเซาะชายฝั่ง เราให้บทบาทหรือความสำคัญกับนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลน้อยมาก”

ดร.ธรรมศักดิ์ ยีมิน
นายกสมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทศไทย

“ประเด็นสำคัญคือความรู้ความเข้าใจที่อยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ ทุกอย่างอธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์ ต้องอาศัยองค์ความรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์ทางทะเลเฉพาะด้าน
.
“ยกตัวอย่างเวลามีอาการปวดฟัน เราควรจะไปปรึกษาหมอฟันหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง แต่เมื่อมีปัญหากัดเซาะชายฝั่ง เราให้บทบาทหรือความสำคัญกับนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลน้อยมาก ไม่ค่อยเปิดโอกาสให้เขานำเสนอชุดข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
.
“องค์ความรู้วิทยาศาสตร์ทางทะเลที่เกี่ยวข้องกับการกัดเซาะชายฝั่งมีอยู่มากมาย ตั้งแต่สมุทรศาสตร์ ฟิสิกส์ เรื่องน้ำขึ้นน้ำลง กระแสน้ำ คลื่น ลม รวมถึงความเข้าใจที่เกี่ยวกับระบบนิเวศ แต่นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลไม่มีโอกาสนำชุดความรู้ลงไปสื่อสารต่อหน่วยงานรัฐ รวมถึงพี่น้องประชาชน สาธารณะ ให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหากัดเซาะชายฝั่งที่มีความสลับซับซ้อน
.
“จุดเริ่มต้นสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้กระบวนการแก้ปัญหามาจากฐานความรู้ ผมแยกเป็นสองส่วน คือ องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ทางทะเลที่เรามีอยู่ระดับหนึ่งแล้ว สามารถนำมาใช้ในกระบวนการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรือปัญหาที่เรากำหลังประสบได้
.
“กับอีกส่วนที่ไม่อยากให้ละเลย เป็นองค์ความรู้ที่มีความสลับซับซ้อน เป็นองค์ความรู้เชิงลึกที่ต้องพยายามผลักดัน สนับสนุนให้เกิดการเก็บข้อมูล ศึกษาวิจัยเชิงลึกส่วนที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ทางทะเลเกือบทุกด้าน ทั้งฟิสิกส์ เคมี ระบบนิเวศต่างๆ ให้เป็นรูปธรรม ที่จะนำมาสู่กระบวนการจัดการทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งของประเทศไทย ตรงนี้มีมูลค่ามหาศาล และจะเป็นฐานสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจของเรา
.
“กระบวนการ EIA หรืออะไรก็ตามคือเครื่องมือทางสิ่งแวดล้อมที่เราต้องการนำมาใช้กลั่นกรอง พิจารณากิจกรรมหรือโครงการที่เกิดขึ้นให้รอบคอบ ไม่ว่าจะใช้อะไรก็แล้วแต่ ฐานหลักที่จะต้องนำมาใช้คือชุดข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ไม่ได้เกิดจากการมโนหรือคาดคิดไปเอง แต่ต้องอยู่บนฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่จับต้องและอธิบายได้ ชุดความรู้ทางวิทยายาศาสตร์ทางทะเลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้จะมีความสำคัญอย่างยิ่ง เป็นฐานในการผลักดันเพื่อนำไปสู่การจัดทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมหรือเครื่องมืออื่นๆ ด้วย”

หมายเหตุ : เรียบเรียงจากเสวนา กำแพงและกองหินกันคลื่น ยิ่งสร้าง ยิ่งพัง (เมื่อไม่ต้องทำ EIA) จริงหรือ ? จัดโดย ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม และสำนักข่าวสิ่งแวดล้อม GreenNews ณ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล
ชั้น ๓ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๒