เรื่องและภาพ จิตรทิวัส พรประเสริฐ

เรื่องราวความขัดแย้งของมนุษย์และสัตว์ป่า เกิดขึ้นแทบทุกที่บนโลก

ขณะที่สัตว์ป่าต้องหลีกทาง อยู่อาศัยอย่างจำกัด หรือโดนขับไล่จากบ้านของตัวเอง น้อยครั้งมากหรือแทบจะเป็นไม่ได้เลย ที่มนุษย์จะเป็นฝ่ายถอย

ที่อยู่ของสัตว์ป่าเหลือน้อยลงทุกที และมนุษย์เป็นผู้ชนะเสมอ

หลายสถานที่กลายเป็นของมนุษย์โดยถาวร แต่บางสถานที่นั้นยังมีเรื่องราวที่แสดงถึงความพยายามอาศัยอยู่ร่วมกันของมนุษย์กับสัตว์ป่า

…………….

รถ jeep ขับเคลื่อนสี่ประตูไต่ระดับความสูงไปตามทางลูกรังที่เปียกชื้น ผ่านม่านหมอกหนาจนกระจกทุกบานมีหยดน้ำเกาะ

เส้นทางข้างหน้าขาวโพลน มองเห็นไกลที่สุดเพียง 3 เมตร พนักงานขับรถต้องใช้ทุกประสาทสัมผัสในการควบคุมรถอย่างเต็มที่

ผมผ่านเหตุการณ์แบบนี้มาครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ไม่มีครั้งไหนตื่นเต้นเท่าครั้งนี้

ภาพป่าดิบเขาที่มีไม้ยืนต้นขนาดใหญ่เคลื่อนตัวสวนทางกับเส้นทางที่รถวิ่งไป

เรากำลังขึ้นไปยังปากปล่องภูเขาไฟของอุทยานแห่งชาติ Ngorongoro ประเทศแทนซาเนีย

…………….

สำหรับชาวเผ่ามาไซ กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ภายในพื้นที่ Ngorongoro แต่ดั้งเดิมกลับเป็นเรื่องตรงกันข้าม

พวกเขารู้จักพื้นที่แห่งนี้ดีเสมือนสวนหลังบ้าน แม้ชาวเผ่ามาไซจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หลังๆ ที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่ Ngorongoro แต่พวกเขาก็ถือว่าพื้นที่นี้เป็นเสมือนบ้านอันอบอุ่นและอุดมสมบูรณ์ที่สุดของพวกเขา

ชาวมาไซแต่ดั้งเดิมมีวิถีชีวิตแบบชนเผ่ากึ่งเร่ร่อน เคลื่อนย้ายตามแหล่งอาหารของปศุสัตว์ ในบางฤดูกาลก็ต้องอพยพเป็นระยะทางไกล

โดยปกติแล้วชาวมาไซอาศัยอยู่บริเวณทุ่งหญ้าบนที่ราบสูงในตอนกลางของอุทยานแห่งชาติ Ngorongoro เมื่อพื้นที่แห่งนี้เริ่มแห้งแล้ง ชาวมาไซก็จะเริ่มอพยพ พาครอบครัวและปศุสัตว์ เดินทางไกลสู่ที่ราบเซเรนเกติในช่วงต้นฤดูฝน ซึ่งบริเวณนั้นจะมีแหล่งน้ำ และแหล่งอาหารเพียงพอต่อปศุสัตว์

วิถีชีวิตเช่นนี้ ดำเนินมาอย่างช้านาน

จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1959 ความพยาพยามที่จะอนุรักษ์และสงวนพื้นที่ไว้เพื่อรักษามรดกทางธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ ทำให้มีการประกาศจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ Ngorongoro ขึ้น สิ่งมีชีวิตต่างๆ จะได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ได้รับการปกป้อง มีรัฐบาลแทนซาเนียเป็นดัง ซิมบ้า ราชาสิงโต ในเรื่อง The Lion king คอยปกครองดินแดนแห่งนี้ให้อยู่ในความสงบสุข

ชาวมาไซซึ่งใช้วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมและอยู่อาศัยมาก่อนจะมีการประกาศอุทยานแห่งชาติ จึงได้รับการอนุญาติเป็นกรณีพิเศษ ให้สามารถอยู่อาศัยภายในเขตอุทยานแห่งชาติฯ ได้

แต่มีข้อกำหนดคือ ห้ามล่าสัตว์ป่า ให้เลี้ยงปศุสัตว์ได้ ทำเกษตรได้ แต่ถูกจำกัดจำนวนและพื้นที่

ผลกระทบจากการล่าสัตว์ป่าอย่างหนักหน่วงและการทำลายทรัพยากร หลายพื้นที่จึงจัดตั้งเป็นเขตอนุรักษ์โดยห้ามมนุษย์อยู่อาศัย หรือใช้ชีวิตและทำกินในพื้นที่
เซเรนเกติ เป็นหนึ่งในนั้น

ชาวมาไซไม่ได้รับอนุญาติให้ตั้งรกรากอีกต่อไป ชาวมาไซกลุ่มใหญ่จึงอาศัยอยู่ได้แค่ภายในเขตอุทยานแห่งชาติ Ngorongoro มีประชากรบางส่วนย้ายออกไปทำกินนอกพื้นที่อนุรักษ์

 

………………

เมื่อประชากรเพิ่มขึ้น แต่พื้นที่การอยู่อาศัยมีขนาดเท่าเดิม มนุษย์และสัตว์ป่าต่างใช้พื้นที่ทับซ้อนกัน ความขัดแย้งจึงเกิดขึ้นเนื่องจากความไม่สมดุล

ฝูงปศุสัตว์ของชาวมาไซต้องใช้พื้นที่หากินร่วมกับฝูงวิลเดอร์บีสต์และควายป่า เกิดการแก่งแย่งแหล่งอาหารระหว่างสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า

การจำกัดพื้นที่เข้าถึงแหล่งอาหารของปศุสัตว์ ทำให้ชาวมาไซตกอยู่ในภาวะตึงเครียด เนื่องจากขาดแคลนน้ำและอาหาร บางส่วนลักลอบขยายแปลงเพาะปลูก จึงถูกคำสั่งห้ามทำเกษตรกรรมเมื่อปี ค.ศ. 1975 สถานการณ์ตึงเครียดมากยิ่งขึ้น จนนำไปสู่การเรียกร้องได้คืนสิทธิการทำเกษตรกรรมของชาวมาไซในปี ค.ศ 1992 แต่ข้อจำกัดด้านพื้นที่ยังคงเป็นอยู่เช่นเดิม ความไม่สมดุลกลับมาอีกครั้ง สิทธิการเพาะปลูกถูกริดรอนอีกครั้งในปี ค.ศ. 2009

จนถึงปัจจุบันชาวมาไซ ก็ยังไม่สามารถเพาะปลูกพืชได้

 

………………….

ในช่วงเวลาที่มืดมิด ยังพอมองเห็นแสงสว่างที่ปลายทาง

การพยายามยุติความขัดแย้งเริ่มประสบผล เมื่อหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงหน่วยงานอิสระ พยายามช่วยกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง

สัตว์ป่าอยู่ได้ คนอยู่ได้

ชาวมาไซได้รับการจัดสรรเงินงบประมาณบางส่วนจากภาครัฐ เพื่อช่วยเหลือด้านอาหาร ชีวิตความเป็นอยู่ รวมถึงปัจจัยพื้นฐานต่างๆ ให้พวกเขามีชีวิตที่สะดวกสบายขึ้น และยังมีโครงการจัดสรรที่ทำกินภายนอกอุทยานฯ ให้ด้วย

นอกจากนี้ยังมีโครงการนำการท่องเที่ยวมาช่วยสร้างรายได้ โดยชาวมาไซเปิดบ้านให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม สำหรับนักท่องเที่ยวที่อยากเรียนรู้วัฒนธรรมดั้งเดิมของชนเผ่ามาไซ วิธีการนี้มีการนำมาประยุกต์ใช้ในหลายพื้นที่ทั่วโลก แต่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ ยุติปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนและสัตว์ป่า รวมถึงสร้างความเข้าใจและสร้างหัวใจของการอนุรักษ์ให้กับผู้คน ซึ่งนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน

สำหรับในประเทศไทยบริเวณอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ซึ่งมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านและช้างป่ามาเนิ่นนาน ก็มีการใช้โมเดลการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์มาประยุกต์ใช้เช่นกัน โดยอุทยานแห่งชาติทำงานร่วมกับองค์กรอนุรักษ์ต่างๆ สร้างกลุ่มนำเที่ยวชมสัตว์ป่า ให้ชาวบ้านเป็นผู้นำเที่ยว มีรายได้จากการพานักท่องซาฟารี เที่ยวเข้าชมช้างป่า และสัตว์อื่นๆ ภายในอุทยานแห่งชาติ
ชาวบ้านที่ทำหน้าที่นำเที่ยว จะได้รับการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศ สัตว์ป่า รวมถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ จนในที่สุดเกิดความหวงแหนทรัพยากร และเข้าใจถึงการอยู่ร่วมกัน
ขณะเดียวกันทางอุทยานแห่งชาติและองค์กรเครือข่ายต่างๆ ยังช่วยป้องกันช้างป่าที่เข้ามาทำลายพืชผลชาวบ้านให้ด้วย โดยนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีต่างๆ มาช่วย ที่สำคัญคือต้องคำนึงถึงความปลอดภัยทั้งคนและช้างป่าเป็นอันดับแรก

 

………………..

รถ jeep ขับเคลื่อนสี่ประตูคันเดิม หลังจากผ่านการเดินทางมาอย่างยากลำบาก ก็จอดลงบริเวณเนินเขาที่เต็มไปด้วยม่านหมอก

เบื้องหน้ามีชายชาวมาไซ ห่มผ้าคลุมลายสก็อตสีแดงสด เดินมาหาเราพร้อมกล่าวคำว่า “Jambo” คำทักทายภาษา สวาฮิลี หนึ่งในภาษาทางการของประเทศแทนซาเนีย และผายมือต้อนรับ

เขาพาเราเดินเข้าไปในหมู่บ้าน บ้านแต่ละหลังเป็นบ้านดิน ห้อมล้อมด้วยรั้วกิ่งไม้ ชาวมาไซกลุ่มใหญ่มารอคอยพวกเราอยู่แล้ว

หญิงมาไซยืนเรียงแถวหน้ากระดาน ส่วนชายต่อแถวเป็นแถวตอนลึกในมือถือกิ่งไม้ทำเป็นพลอง

เพียงเราหยุดฝีเท้าลงต่อหน้า เสียกู่ร้องก็ดังขึ้น

ชาวมาไซกระโดดขึ้นลงเป็นจังหวะ นี่คือการเต้นรำแสดงความต้อนรับแก่คณะของเรา

จังหวะเริ่มสนุกสนานขึ้น ชาวมาไซคนเดิมผายมืออีกครั้ง บ่งบอกว่าถึงเวลาที่คณะของพวกเราต้องร่วมการเต้นรำ

พวกเราแต่ละคน ค่อยๆ กระโดดปรับจังหวะให้พร้อมเพรียงกับเจ้าบ้าน

เหมือนดังที่ชาวมาไซ ปรับจังหวะชีวิตตัวเองให้เข้ากับจังหวะชีวิตของสัตว์ป่า