ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต


นอกจากจะเป็นศูนย์บริหารราชการทวยเทพของพระอินทร์แล้ว สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ยังเคยเป็นที่เกิดเหตุสำคัญในพุทธประวัติอีกด้วย นั่นคือการเสด็จมาโปรดพุทธมารดาของพระพุทธองค์

ในพรรษากาลที่ ๗ นับแต่ตรัสรู้ พระพุทธองค์ได้เสด็จไปจำพรรษา ณ ดาวดึงส์เทวโลก เพื่อเทศนาโปรดพระพุทธมารดา ซึ่งขณะนั้นอยู่ในเพศของเทพบุตร คือเป็นชาย เพราะตามเรื่องในคัมภีร์พุทธประวัติ พระนางสิริมหามายา พระพุทธชนนี สิ้นพระชนม์หลังประสูติพระพุทธเจ้าเพียง ๗ วัน ภายหลังสิ้นพระชนม์แล้ว ก็มาบังเกิดเป็นเทพบุตรอยู่ ณ สวรรค์ชั้นดุสิต ซึ่งอยู่สูงขึ้นไปกว่าสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

เคยได้ยินว่ามีปุจฉากันว่าก็ในเมื่อพระพุทธมารดาประทับอยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิต แล้วเหตุใดพระพุทธเจ้าจึงไม่เสด็จไปเทศนาบนสวรรค์ชั้นดุสิต

วิสัชนาคือเทวดานั้นมีระดับชั้น เทวดาชั้นสูงกว่าสามารถลงมายังสวรรค์ชั้นต่ำกว่าได้ แต่เทวดาจากสวรรค์ชั้นล่างๆ จะไม่สามารถข้ามขึ้นไปสู่สวรรค์ชั้นสูงได้ ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงเลือกเทศนา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์อันเป็นสวรรค์ชั้นล่างสุด เพื่อให้เทวดาในทุกชั้นฟ้าสามารถมาร่วมสดับพระอภิธรรมได้

สิ่งที่ฟังดูแปลกๆ อีกอย่างหนึ่งก็คือ พุทธมารดานั้น ย่อมมีเพศเป็นสตรี แต่เหตุใดขึ้นสวรรค์ไปแล้วจึงกลับกลายเป็นเทพบุตรได้ ?

เรื่องนี้ก็มีผู้ให้คำอธิบายไว้อีกว่า ในคติอย่างโบราณ ผู้ที่ถึงพร้อมด้วยบุญกุศล ไม่ว่าจะหญิงหรือชาย เมื่อตายไปแล้วก็จะไปเสวยสุขด้วยการบังเกิดเป็นเทพบุตรทั้งสิ้น ส่วนเหล่านางฟ้าบริการที่มาเป็นทั้งนางบำเรอและคอยรับใช้นานานั้น ก็มิใช่ว่าเป็นหญิงที่ทำบุญไปเกิดเป็นนางฟ้า หากแต่พวกเธอๆ เกิดขึ้นเองด้วยบารมีของเทพบุตรองค์นั้นๆ

คือดูเหมือนจะไม่มีชีวิตจิตใจของตัวเองเท่าไหร่ คล้ายๆ เป็นหุ่นยนต์ไซบอร์กหรือเป็นร่างโคลน

สายสิทธิสตรีคงว่านี่เป็นการทำให้ผู้หญิงเป็น “วัตถุ” นั่นเอง

เรื่องที่ว่าพระพุทธมารดาเป็นเทพบุตรนี้ เห็นได้ในภาพจิตรกรรมฝาผนังโบราณที่มักแสดงพระพุทธมารดาเป็นเทวดาผู้ชาย แต่มาในระยะหลังนี้ จิตรกรสมัยใหม่อาจต้องการแสดงนัยแห่งความเป็น “แม่” ของพระพุทธมารดาจึงวาดภาพให้เป็นนางเทพธิดาแทน เช่นจิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถวัดพุทธปทีป กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ฝีมือจิตรกรร่วมสมัยชาวไทยผู้มีชื่อเสียง

แต่จะว่าเรื่องนี้เป็นคติใหม่ทั้งหมดก็ไม่ใช่เสียทีเดียว เพราะยังมีหลักฐานเก่าแก่มากชิ้นหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นว่าครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เคยมีความนิยมแสดงภาพพุทธมารดาเป็นเทวนารีมาก่อน

อย่างที่เคยเล่ามาแล้วว่า วัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพฯ ซึ่งมีเสาชิงช้าอยู่หน้าวัดนั้น มีความหมายเทียบได้กับสุทัสนนครบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

น่าสนใจว่าที่ด้านหลังฐานชุกชีของพระศรีศาสดา พระพุทธรูปประธานในพระวิหารหลวง วัดสุทัศน์ฯ มีแผ่นศิลาจำหลักขนาดใหญ่ เป็นงานช่างแบบทวารวดี อายุกว่าพันปี ไม่ปรากฏประวัติว่าแต่เดิมได้มาจากที่ใด แต่ท่านผู้อัญเชิญมาผนึกไว้ตรงนั้นเมื่อสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ย่อมต้องสามารถ “อ่าน” ออก ตีความได้ ว่าตอนบนเป็นเหตุการณ์ในพุทธประวัติตอนเทศนาโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ จึงนำมาประดิษฐานไว้ ณ จุดนั้น

ขอให้สังเกตภาพบุคคลที่นั่งอยู่ทางซ้ายของพระพุทธองค์ที่กำลังแสดงอาการเทศนา ซึ่งช่างตั้งใจสลักให้เห็นเป็นหญิง คือมีหน้าอกนูนเด่น และมิได้แสดงอาการประนมมือ ซึ่งในที่นี้ ก็ควรหมายถึงพุทธมารดาอย่างไม่ต้องสงสัย

กลับไปที่เรื่องในพุทธประวัติอีกครั้งหนึ่ง ภายหลังจากเทศนาโปรดพระพุทธมารดาตลอดถ้วนทั้งพรรษา คือสามเดือนแล้ว พระพุทธองค์จึงเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ด้วยบันไดแก้ว เคียงข้างขนาบมาด้วยพระอินทร์พระพรหม และหมู่เทวดาที่มาส่งเสด็จ

เหตุการณ์ครั้งนั้นยังคงถูกนำมาจำลองไว้ทุกปีหลังจากออกพรรษา ในประเพณีที่เรียกกันว่า “ตักบาตรเทโว” ตามวัดที่ตั้งอยู่บนภูเขา เช่นวัดสังกัสรัตนคีรี อุทัยธานี หรือวัดที่สถานที่อำนวยให้ เช่น พระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) วัดสระเกศฯ ในกรุงเทพฯ ก็จะมีการให้พระสงฆ์ไปตั้งแถวอยู่บนนั้นแล้วจึงค่อยๆ เดินลงมารับบาตรจากญาติโยม เลียนแบบเหตุการเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในพุทธประวัติ