ผีสางเทวดา เกร็ดเรื่องราวความเชื่อผีสาง เทวดา ในวัฒนธรรมไทยแต่อดีต
เราอาจทึกทักเอาเองว่า “สวรรค์” ควรเป็นสถานที่สว่าง-ไสว-สงบ-สงัด จะมีเสียงบ้างก็คงเป็นแค่เสียงกรุ๋งกริ๋งเบาๆ เหมือนกระดิ่งที่แขวนตามชายคาโบสถ์ แต่ขึ้นชื่อว่าคนไทย จะยุคไหนๆ ก็ไม่ค่อยโปรดปราน “ความเงียบ” เท่าใด ชีวิตในอุดมคติจึงไม่เคยว่างเว้นจากเสียงอึกทึก
แม้แต่บนสวรรค์!
คัมภีร์โลกศาสตร์ทุกฉบับกล่าวตรงกันว่า ทุกหนแห่งบนดาวดึงส์มีแต่ความครึกครื้นระดับสนั่นหวั่นไหว “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” กล่าวว่ายามเมื่อพระอินทร์เสด็จไปไหนจะมีนางฟ้าที่เป็นบริวารบำเรออยู่มากมาย นางฟ้าระดับ “ไอดอล” บ้างก็เล่นพิณ บ้างก็เป่าปี่ บางองค์เป่าสังข์ ที่เป็นมือกลองก็ระดมกระหน่ำตีกลองใหญ่กลองเล็กสุดแรง รวมๆ กันแค่นางฟ้าที่ยืนหนึ่งด้านบรรเลงดนตรีก็มีนับสิบ ยิ่งไปกว่านั้นแต่ละองค์ยังมีบริวารอีก ๖ หมื่นที่ถือเครื่องดนตรีอย่างเดียวกัน ซึ่งเมื่อพอระดับ “เซ็นเตอร์” เริ่มบรรเลง นางฟ้าบริวารก็จะเล่นโดยพร้อมเพรียงไปด้วย
ลำพังที่ระบุไว้ตามคัมภีร์จึงมีนางฟ้าที่บรรเลงดนตรีพร้อมๆ กันหลายแสนองค์แล้ว คัมภีร์จึงใช้คำขยายเสียงตั้งแต่ระดับ “เสนาะสนั่น” “ก้องกึกครึกครื้น” ไปจนถึง “สะเทือนนภดลประเทศเวหา”
เท่านั้นยังไม่พอ ตลอดเวลายังมี “คนธรรพ์” ที่เป็นพ่อเทพบุตรนักดนตรีซึ่งมีบริวารหลายหมื่นเช่นเดียวกัน เที่ยวไปสะพายกลองตีประโคม ขับร้อง ฟ้อนรำอยู่อีกทั้งสี่ทิศโดยรอบดาวดึงส์ “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” กล่าวว่า ณ ขณะหนึ่งๆ มีชาวคณะคนธรรพ์ “ประดังสุรสำเนียง ขับร้องประสานเสียง จับระบำรำฟ้อน” อยู่ถึง ๒๔ โกฏิ คำนวณได้ว่า ๑ โกฏิคือ ๑๐ ล้าน ดังนั้น ๒๔ โกฏิคือ ๒๔๐ ล้าน
นี่คือการชุมนุมเทวดานางฟ้า ๒๔๐ ล้านองค์ ร่วมขับร้องบรรเลงและเต้นระบำไม่หยุดไม่หย่อน ณ เทศกาลดนตรีกลางแจ้งที่ใหญ่ที่สุดในจักรวาล!
ดังนั้นตามมาตรฐานสุขอนามัยยุคปัจจุบัน สวรรค์ดาวดึงส์อาจเป็นสถานที่ที่ “หนวกหู” เกินจะทานทนไหว
แม้แต่ต้นหมากรากไม้บนสวรรค์ก็ยังร่วมผสมโรงเข้าไปอีก
รอบเมืองเมืองสุทัสสนะนครของพระอินทร์มีคูเมืองล้อม ถัดออกไปมีแถวต้นตาล “สมบัติอมรินทร์คำกลอน” ของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) พรรณนาไว้ว่า
กำแพงแก้วล้วนแก้วทั้งเจ็ดชั้น ตาลสุวรรณรุ่นรื่นเรียงไสว
เมื่อลมพัดก็สะบัดสำเนียงใบ เฉลิมโสตหฤทัยดังดนตรีฯ
ต้นตาลที่ล้อมรอบสุทัสสนะนครนี้ชวนให้นึกถึงศิลาจารึกหลักที่ ๑ ที่ (ว่ากันว่า) เป็นของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ซึ่งเล่าว่า “พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัยปลูกไม้ตาลนี้ได้สิบสี่เข้า จึ่งให้ช่างฟันขดารหินตั้งหว่างกลางไม้ตาลนี้”
ไม่ว่าจะเป็นพ่อขุนรามฯ หรือท่านผู้ใดก็ตามที่ให้จารึกข้อความนี้ไว้ย่อมต้องนึกว่าเมืองสุโขทัยคงเปรียบประดุจสุทัสสนะนครของพระอินทร์ที่มีต้นตาลเรียงราย คนโบราณคงรู้สึกว่าเสียงใบตาลแห้งๆ เวลาโดนลมพัดเสียดสีกันดังแกรกกรากๆ นั้นฟังไพเราะ “ดังดนตรี” ดีเหลือเกิน
ภาพจิตรกรรมฝาผนังแถวต้นตาลล้อมรอบเมืองสุทัสสนะนครมีปรากฏให้เห็นที่ด้านตรงข้ามพระประธาน ในพระอุโบสถ วัดปทุมวนาราม (วัดสระปทุม) กรุงเทพฯ ฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ ๔ ด้วย