นักเล่นว่าวหัวตะเข้
เรื่อง : สโรชา ถาวรศิลปสุระกุล
ภาพ : บุญจิรา พึ่งมี
พอพูดถึงว่าว ฉันก็มีภาพไหลผ่านเข้ามาในความทรงจำ ภาพของต้นไม้ พ่อ แม่ สกุ๊ปปี้ เจ้าสุนัขตัวใหญ่ของฉัน
ภาพว่าววูบไหวบนอากาศราวกับเป็นส่วนหนึ่งของท้องฟ้า หากผีเสื้อเปรียบเสมือนดอกไม้ที่สามารถโบยบิน ว่าวก็ไม่ต่างจากอวัยวะต่อขยายของมนุษย์ที่สามารถโลดแล่นบนฟ้าดังใจ
แต่อาจด้วยยุคสมัยเปลี่ยน พื้นที่ของว่าวถูกเบียดบัง ห่างจนคนรุ่นเดียวกับฉันหลงลืมว่าวไปเสียแล้ว
ดังนั้นพอได้ยินเรื่องของชายชราที่ทุ่มเทสอนเด็กๆ ทำว่าวโดยไม่หวังผลตอบแทน ทำให้ฉันสนใจว่าเขาจะเป็นคนแบบไหน แต่ที่รู้แน่คือหัวใจเขาต้องพิเศษมาก
……….
วีระ แจ่มใส คือชื่อของเขา
เป็นครูสอนพิเศษที่วิทยาลัยช่างศิลปมาตั้งแต่ปี ๒๕๒๕ ตอนนี้อายุ ๖๓ ปี ชื่อเล่น “ว่าว” เป็นคนบางซื่อมาโตที่ลาดกระบัง พ่อเป็นคนจีนรุ่นที่ลงเรือสำเภามาเมืองไทย ส่วนแม่เป็นคนไทยลาว ไม่ชอบเรียนหนังสือเท่าไรเพราะไม่สนใจวิชาที่เรียน เขาพูดติดตลกว่า “จบแค่ ป.๗ เอง”
หากดูภายนอก วีระท่าทางแข็งแรง ตัวไม่สูงนัก ผิวคล้ำแดด ไว้เคราขาว มีประกายความอบอุ่นลอดผ่านแว่นสายตาทรงเรียว ห้อยพระมากมายบนคอ กำไลข้อมือสองข้าง พร้อมกับหมวกสีดำคู่ใจ
เขาพาฉันเดินลัดเลาะผ่านวิทยาลัยช่างศิลป ผ่านบ้านเรือน จนมาถึงตลาดหัวตะเข้ริมคลอง ตลาดเก่าแก่ที่ยังคงกลิ่นอายความเรียบง่ายของชีวิตริมน้ำที่มีมาร่วม ๑๐๐ ปี
ลำคลองไหลเอื่อยเรียบสงบ ผู้คนบางตา หากแต่ระหว่างทางไม่ว่าเจอใครก็มักเอ่ยคำทักทายชายชราว่า “อาจารย์”“พี่”“ลุงว่าว” ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้เกิดและใช้ชีวิตวัยเยาว์ที่นี่ ผู้คนถามว่าลุงมาทำอะไร ลุงว่าวก็ตอบอย่างใจดีว่ามาสอนทำว่าวให้ฉัน
เรามาถึงห้องเรียนซึ่งเป็นชั้นล่างของตึกแถวที่ภายในเรียงรายด้วยงานศิลปะ ทั้งรูปแม่น้ำขนาดใหญ่บนผนัง ไปจนถึงประติมากรรมแนวใหม่ที่ดูรูปทรงไม่ออก ลุงพาฉันไปเดินดูว่าวที่ลูกศิษย์ทำไว้ ฉันถามว่าไม่ทำขายบ้างหรือ
“ไม่มีเวลาหรอก คนทำขายไม่มีเวลาสอน มัวแต่ต้องนั่งทำแล้วก็แข่งไปเรื่อยๆ มีคนเก่งกว่าผมเยอะ แต่พวกเขาไม่สอน”
ฉันพยักหน้าเดินตามลุงไปช่วยขนของ ลุงเดินนำฉันไปจนถึงโต๊ะริมน้ำวิวสวยงามแปลกตาสำหรับคนเมืองอย่างฉัน ในคลองมีปลามากมายทั้งว่ายขึ้นมาหายใจ กินอาหาร และรวมกลุ่มกับพวกพ้อง ส่วนฝั่งตรงข้ามเป็นบ้านสังกะสีสองชั้นกับเสาอากาศรุ่นเก่า ราวกับภาพอดีตกำลังหายใจอยู่เบื้องหน้าฉัน
ลุงเริ่มสอนว่าใบไม้ที่มักใช้ทำว่าวคือใบชงโค ปอทะเล และใบโพธิ์ เพราะว่าใบขนานกันไม่เหมือนใบไม้ชนิดอื่น ถ้าเลือกใบที่สมบูรณ์ได้แล้วให้เอาไปทับไว้ในหนังสือ ทิ้งไว้ ๔ เดือน ไม่ต้องหาอะไรมาทับหนังสือให้หนัก เพราะใบไม้ต้องการพื้นที่ในการคายน้ำ หากทับแน่นไปจะทำให้ใบเน่าและเสีย
“เธอลองจับเทียบกันดูสิ”
มือข้างหนึ่งลุงให้ฉันถือใบไม้แห้ง ส่วนอีกข้างให้ถือใบไม้สด แล้วอธิบายว่าถ้าน้ำหนักของใบสดมากเกินไปว่าวจะไม่ขึ้น
ฉันมองลุงด้วยสีหน้าสงสัย
“มีว่าวตั้งเยอะ ทำไมลุงถึงเลือกทำว่าวใบไม้ล่ะคะ”
ลุงตอบว่ามีคนอยากให้สอนเยอะ ถ้าสอนว่าวจุฬากว่าจะใช้เวลาเหลาไม้ก็เป็นเดือน ลุงเลยหาวิธีว่าจะทำอย่างไรให้ผู้เรียนได้เรียนอย่างรวดเร็วเอาไปใช้ได้เลยเพื่อจะสนุกกับมันได้
ลุงว่าวหยิบใบปอทะเลสดขึ้นมาก่อนจะสอนทำผีเสื้อจากใบไม้ ตัดก้านให้เป็นหนวดของผีเสื้อ พับใบไม้เข้าหากันก่อนใช้มือตัดแต่งปีกอย่างประณีตก่อนจะคลี่ออก
“เห็นไหมว่าลายบนใบไม้เหมือนลายบนผีเสื้อ”
ฉันเห็นด้วย ไม่ว่าลายบนใบไม้หรือบนผีเสื้อก็มีความงดงามที่ทั้งเหมือนและพิเศษในตัวเองทั้งสิ้น ลุงว่าวมีดวงตาพิเศษ ไม่ใช่ว่าทุกคนจะมองเห็นรายละเอียดเล็กๆ ของความงามในธรรมชาติ
ฉันรู้สึกประทับใจและนับถือชายชราผู้อ่อนโยนตรงหน้า แม้ระหว่างเล่าเรื่องราวลุงมักพูดแทนตนเองและคนเล่นว่าวในสมัยก่อนว่า “นักเลงว่าว”
“อย่างว่าวจุฬา ถ้าทำให้ดีได้ต้องทำแบบนก ไม่ทำแบบไก่ จำเอาไว้ นกปีกอ่อนหางแข็ง ไก่ปีกแข็งหางอ่อน เป็นเรื่องแอโรไดนามิก เราทำว่าวเองต้องรู้ว่าตรงไหนอุ้มลมตรงไหนรับลม”
ชายชราอธิบายพลางเปิดหนังสือคู่มือพร้อมชี้รูปโครงสร้างพื้นฐานของว่าวให้ดู
“ว่าวก็เหมือนคนเรา โครงสร้างต้องแข็ง ถ้าเราไม่รู้ศาสตร์ทำว่าวอย่างไรก็ไม่ขึ้น”
“การทำว่าวนั้นยาก ไม่ว่าจะกำลังมีด กำลังไม้ ต้องดูว่าตัวขนาดนี้ต้องรับลมเท่าไร เป็นความชำนาญที่เราต้องค่อยๆ สั่งสมมาแล้วจะทำให้เราเข้าใจมากขึ้น”
ลุงเอื้อมไปหยิบใบไม้แห้งในกล่องก่อนจะสอนฉันทำว่าวใบไม้ตั้งแต่ขั้นตอนเริ่มแรก ทากาว แปะ เจาะ ผูก ก่อนจะเอาขึ้นบินโชว์ ว่าวเล็กๆ ลอยลู่ลมแข็งขัน ทำให้อดตื่นตากับภาพตรงหน้าไม่ได้
……………………
การทำว่าวใบไม้ ขั้นแรกนำใบไม้แห้งที่ผ่านการทับ ๔ เดือนมาวาง ทากาวน้ำสีขาวตามแนวแกนกลางของใบไม้ ก่อนจะวางริบบิ้นสีแดงพาดตามแบ่งช่วงใบไม้เป็นสามส่วน เจาะรูช่วงส่วนที่สองจำนวนสองจุดไม่ห่างกันนัก ผูกด้ายสีขาวผ่านรูทั้งสองแล้วดึงเป็นมุมฉาก ผูกปมแล้วผูกกับด้ายยาวที่ต่อกับไม้ยาวเรียวคล้ายตะเกียบ
วันนั้นลมไม่แรง รวมถึงเราก็นั่งอยู่ในที่ร่ม ฉันจึงคิดว่าคงเล่นว่าวไม่ได้หรอก หากแต่เมื่อลุงชูว่าวน้อยขึ้น มันก็ลอยโผบินโลดแล่นราวกับเต้นระบำ
ลุงหัวเราะก่อนจะมองฉัน “เป็นไง ขึ้นดีไหม”
“ขึ้นดีค่ะ!”
ลุงยังเล่าประวัติศาสตร์เกี่ยวกับว่าวไทยในรัชกาลต่างๆ ให้ฉันฟัง เช่น รัชกาลที่ ๕ โปรดว่าวมาก ทั้งโปรดให้เสี่ยงทายแรกนาขวัญด้วยว่าวดุ๊ยดุ่ย ซึ่งใส่เมล็ดพันธุ์ในกระทงเล็กๆ แล้วปล่อยให้ลอยไปกับว่าว หากเมล็ดพันธุ์ตกลงมาเร็วแสดงว่าดิน ฟ้า น้ำ สมบูรณ์ แต่หากตกช้าถือว่าไม่สมบูรณ์ ให้เตรียมตัวรับมือไว้ การแข่งว่าวสมัยก่อนเป็นการละเล่นชั้นสูง มีเพียงเจ้าขุนมูลนายที่มีสิทธิ์เล่น ซึ่งมักพ่วงกับการพนัน ดังนั้นจึงต้องระวังให้ดี และมีตำราว่าวที่ตกทอดมาชื่อว่า ตำนานว่าวพนัน เขียนโดยพระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด เศรษฐบุตร)
การเล่นว่าวจึงเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมของไทยที่มีมาช้านาน แต่คนวัยฉันหรือผู้คนในเมืองหลวงลืมมันไปเสียแทบหมดแล้ว ฉันถามเพื่อนทุกคนรู้เพียงว่าว่าวเป็นของเล่นชนิดหนึ่งที่ไม่ได้สลักสำคัญใดๆ
ลุงว่าวเล่าต่อว่าเคยไปออกบูทสอนทำว่าวและมีโอกาสได้ทูลเกล้าฯ ถวายว่าวแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระองค์ตรัสถามว่า “ขึ้นดีไหม”
“ขึ้นดีครับ”
ลุงเล่าไปยิ้มไปพร้อมกับเปิดรูปงานวันนั้นให้ดู เป็นรูปพระองค์กำลังทรงเล่าเรื่องสมัยยังทรงพระเยาว์ให้ลุงฟังว่าทรงชอบเล่นว่าวมาก มีวันหนึ่งกลับจากโรงเรียนมาถึงบ้านตั้งใจจะมาเล่นว่าว แต่บังเอิญมีส่วนหนึ่งของว่าวหลุด ทรงใช้นิ้วปาดกาวยางแปะรองเท้าที่อยู่ใกล้มือแตะที่ว่าว ผลคือนิ้วติดว่าว พอพยายามดึงมือออกว่าวเลยขาด
วันนั้นพระองค์เลยไม่ได้ทรงว่าว
………………………
ก่อนจากคุณลุงว่าวมอบว่าวใบไม้ตัวน้อยให้ฉัน
เราบอกลากัน
พอมาคิดดูแล้ว…คำว่า “นักเลงว่าว” ก็เป็นชื่อที่เหมาะกับลุงเหมือนกัน
หากแต่เป็นนักเลงอ่อนโยนผู้เป็นที่รักของผู้คนรอบข้างเท่านั้นเอง