10 Hot Environment News of 2019 - ข่าวสิ่งแวดล้อมต้องติดตาม

10 Hot Environment News of 2019
๑๐ ข่าวสิ่งแวดล้อมต้องติดตามจากปี ๒๕๖๒ ถึงปี ๒๕๖๓
จาก PM2.5 ในอากาศถึงมาเรียมใต้ท้องทะเล
จากแผนทวงคืนผืนป่าถึงความตายปริศนาในป่าแก่งกระจาน
จากเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงสายประธานถึง EEC

นิตยสารสารคดีประมวลข่าวสิ่งแวดล้อมต้องติดตามจากปี ๒๕๖๒ ถึง ๒๕๖๓

ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : รวบรวม

 


(ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)


PM2.5 ฝุ่นอันตราย ภัยใกล้ตัว

ปลายปี ๒๕๖๑ ต่อต้นปี ๒๕๖๒ กรุงเทพมหานครประสบปัญหาฝุ่น PM2.5 มากเป็นประวัติการณ์ หลังก่อนหน้านี้หลายจังหวัดทางภาคเหนือต้องเผชิญปัญหาเดียวกันมานานนับทศวรรษ

เมื่อเมืองหลวงอันเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การเมือง การท่องเที่ยว ประสบปัญหาทำให้ประเด็นฝุ่น PM2.5 ได้รับความสนใจจากผู้คนและสื่อมวลชนในวงกว้าง

กลางเดือนมีนาคม ๒๕๖๒ ค่า “ดัชนีคุณภาพอากาศ” (AQI : Air Quality Index) ของจังหวัดเชียงใหม่ทะยานขึ้นติดอันดับหนึ่งเมืองที่มีมลพิษทางอากาศสูงสุดของโลกนานติดต่อกันนับสัปดาห์ ด้วยทัศนวิสัยที่เลวร้าย ทำให้กัปตันต้องขอย้ายเครื่องบินไปลงจอดที่สนามบินสุวรรณภูมิ บางช่วง “ดอยสุเทพหายไป” คนเชียงใหม่ไม่สามารถมองเห็นดอยสุเทพเพราะฝุ่นหนา หรืออย่างกรุงเทพมหานครเองก็ขึ้นไปครองอันดับหนึ่งเมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๒
.
ในช่วงวิกฤติ PM2.5 ก่อนออกจากบ้านผู้คนต้องเช็คคุณภาพอากาศจากแอพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือ สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น PM2.5 ซึ่งเมื่อต้นปีกลายเป็นสินค้าขาดตลาด ที่หาซื้อได้ก็มีราคาแพงมาก การมีอากาศสะอาดบริสุทธิ์ไว้หายใจกลายเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่หลายคนเริ่มตระหนัก มองเห็นคุณค่าความสำคัญของการมีอากาศที่สามารถสูดลมหายใจเข้าสู่ร่างกายได้อย่างเต็มปอด

นอกจากนี้ยังเริ่มมีการพูดถึงความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพระหว่างผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้งกับที่ทำงานในห้องปิดหรืออาคารที่สามารถติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ

ช่วงกลางปีปัญหาฝุ่น PM2.5 อาจทุเลาเบาบางจนหลายฝ่ายนิ่งนอนใจในการแก้ปัญหา ทั้งที่ลึกๆ แล้วทุกคนน่าจะรู้ดีกว่าอีกไม่นาน ฝุ่น PM2.5 จะกลับมา แล้วเราทำอะไรได้บ้างนอกจากก้มหน้ายอมรับชะตากรรม

อ่านข่าวเพิ่มเติม


(ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช)


จากศาลชั้นต้นสู่ศาลอุทธรณ์ เพิ่มโทษคดีล่าเสือดำ

เช้าวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๖๒ ศาลจังหวัดทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี อ่านคำพิพากษา คดี เปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารและกรรมการบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) พร้อมพวกรวม ๔ คน ลักลอบล่าสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฝั่งตะวันตก จ.กาญจนบุรี คดีอาญาหมายเลขดำที่ ๒๑๙ / ๒๕๖๑ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “คดีล่าเสือดำ” เหตุเกิดตั้งแต่ช่วงวันที่ ๔-๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ หรือล่วงมาแล้วประมาณ ๑ ปี
.
คดีนี้อัยการจังหวัดทองผาภูมิเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง เปรมชัยกับพวก ใน ๖ ข้อหา ผลพิพากษาลดหลั่นกัน ในส่วนของจำเลยที่ ๑ คือ เปรมชัย กรรณสูตร ศาลตัดสินจำคุกรวม ๑๖ เดือน จากข้อหาร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ข้อหาเป็นผู้สนับสนุนให้ผู้อื่นล่าสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ข้อหาร่วมกันมีซากสัตว์ป่าคุ้มครอง (ไก่ฟ้าหลังเทา) ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ยกฟ้อง ข้อหาร่วมกันเก็บหาของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และข้อหาร่วมกันมีซากสัตว์ป่าคุ้มครอง (เสือดำ)

หลังรับฟังคำตัดสิน ขณะเดินมาขึ้นรถ ผู้สื่อข่าวยื่นไมค์ถามว่า “มีอะไรอยากจะกล่าวกับสังคมหรือไม่?” เปรมชัยได้กล่าวเพียงสั้นๆว่า “มีอย่างเดียว ผมขอโทษครับ”

ในส่วนของคดีข้างเคียงอื่นๆ ได้แก่ คดีติดสินบนเจ้าพนักงาน ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค ๗ พิพากษาจำคุก ๑ ปี ไม่รอลงอาญา ให้ประกันตัวด้วยจำนวนเงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท คดีครอบครองปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต(พบในบ้านพัก) ศาลอาญาชั้นต้นพิพากษาจำคุก ๖ เดือน ไม่รอลงอาญา คดีครอบครองงาช้าง ศาลพิพากษายกฟ้อง พร้อมทั้งยกคำร้องที่ขอให้ริบของกลางเป็นงาช้าง ๒ คู่

รวมโทษรวมจากทั้ง ๓ คดี จำคุก ๑ ปี ๒๒ เดือน ทนายของจำเลยยื่นเรื่องอุทธรณ์

อีก ๙ เดือนต่อมา
วันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๖๒ ศาลอุทธรณ์นัดฟังคำพิพากษาในส่วน “คดีล่าเสือดำ” ผลปรากฎว่าศาลอุทธรณ์เพิ่มโทษผู้ต้องหาทั้ง ๔ คนจากศาลชั้นต้น ดังนี้
– เปรมชัย กรรณสูต เพิ่มโทษจากจำคุก ๑๖ เดือน เป็นจำคุก ๒ ปี ๑๔ เดือน
– ยงค์ โดดเครือ เพิ่มโทษจากจำคุก ๑๓ เดือน เป็นจำคุก ๒ ปี ๑๗ เดือน
– นที เรียมแสน เพิ่มโทษจากจำคุก ๔ เดือน ปรับ ๑๐,๐๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา ๒ ปี เป็นจำคุก ๑ ปี ๘ เดือน ปรับเงิน ๔๐,๐๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา ๒ ปี
– ธานี ทุมมาศ เพิ่มโทษจากจำคุก ๒ ปี ๑๗ เดือน เป็นจำคุก ๒ ปี ๒๑ เดือน

หลังศาลอุทธรณ์อ่านคำพิพากษา ในช่วงบ่ายทีมทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวชั่วคราวจำเลยทั้ง ๔ คน พร้อมด้วยหลักทรัพย์เป็นเงินสดคนละ ๖ แสนบาท

ศาลพิจารณาแล้วเห็นควรให้ส่งคำร้องขอให้ศาลฎีกาพิจารณาว่าจะอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่ แต่หลังจากหมดเวลาราชการ ยังไม่ปรากฏว่ามีคำสั่งศาลฎีกาพิจารณาอนุญาตประกันตัว เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จึงนำจำเลยทั้ง ๔ คน ไปควบคุมตัวที่เรือนจำอำเภอทองผาภูมิ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

 


(ภาพ : ณภัทร เวชชศาสตร์)


มาเรียมและผองสิงสาราสัตว์ กับปัญหาขยะพลาสติก

มาเรียมถูกพบครั้งแรกที่อ่าวทึง-ปอดะ จ.กระบี่ เจ้าหน้าที่นำมาอนุบาลที่เกาะลิบง จ.ตรัง แหล่งรวมฝูงพะยูนใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความหลากหลายของหญ้าทะเล ๑๑ จาก ๑๓ ชนิดที่พบในประเทศไทย

ณ บริเวณชายฝั่งเกาะลิบง มาเรียมน้อยพะยูนเพศเมียมักว่ายคลอเคลียเรือหางยาว และมักว่ายตามกระแสน้ำยามน้ำลดไม่ทัน ชาวบ้านจึงพบมาเรียมเกยตื้นบ่อยครั้ง กลุ่มเจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร ต้องคอยช่วยเหลือ ความหวังของทุกคนคืออยากเห็นมาเรียมกลับไปอยู่ในธรรมชาติโดยไม่ต้องพึ่งความช่วยเหลือจากมนุษย์

แต่แล้วมาเรียมก็มาด่วนจากไป กลางดึกวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๒ มาเรียมลอยนิ่งและสิ้นใจ หลังสิ้นลม เจ้าหน้าที่ผ่าท้องพบเศษพลาสติกเล็กๆ หลายชิ้นอัดแน่นอยู่ในลำไส้ใหญ่ส่วนปลายของมาเรียม เกิดการสะสมของแก๊สในทางเดินอาหาร ร่องรอยอื่นๆ ที่พบคือรอยขีดข่วนทั่วร่าง

มาเรียมไม่ใช่สัตว์ทะเลตัวเดียวที่ตาย จากเดือนมกราคมถึงต้นเดือนธันวาคม ๒๕๖๒ พบซากพะยูนตายแล้ว ๒๓ ตัว นับเป็นการสูญเสียพะยูนมากกว่าปกติถึงสองเท่า จากอัตราการตายของพะยูนที่เคยมีรายงานอยู่ที่ ๑๐-๑๒ ตัวต่อปี ก็นับว่าสูงยิ่งสำหรับสัตว์ที่เหลือประชากรในธรรมชาติราว ๒๕๐ ตัว

นอกจากพะยูนแล้วยังมีเต่า วาฬ ตาย ไม้เว้นแม้แต่สัตว์บกอย่างกวางป่าในเขตอุทยานแห่งชาติขุนสถาน จ.น่าน ผ่าซากพบขยะพลาสติกหนัก ๗ กิโลกรัม ทั้งซองกาแฟ ซองเครื่องปรุงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ถุงพลาสติก ถุงมือยาง ผ้าเช็ดมือ กางเกงใน

ความจริงอันโหดร้ายคือมนุษย์เป็นตัวการใหญ่ในการทำร้ายสัตว์ ด้วยเครื่องมือประมงชนิดต่างๆ การพัฒนาแนวชายฝั่ง จากการปล่อยน้ำเสีย รวมทั้งการปล่อยให้ขยะพลาสติกเล็ดลอดออกสู่ธรรมชาติ


(ภาพ : เฟสบุ๊ก Greta Thunberg)


จาก เกรียตา ทุนแบร์ย ถึง Climate Strike Thailand โลกจับตาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ปี ๒๕๖๒ เกรียตา ทุนแบร์ย (Greta Thunberg) นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดนวัย ๑๖ ปี กลายเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจให้หลายคนหันมาสนใจปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

จากเด็กที่มีความสนใจเป็นพิเศษต่อปัญหาโลกร้อนตั้งแต่อายุ ๙ ขวบ เลิกกินเนื้อสัตว์และซื้อสินค้าเท่าที่จำเป็น เกรียต้าเลิกเดินทางด้วยเครื่องบินจนทำให้พ่อแม่ต้องปฏิบัติตาม สมาชิกในบ้านหันมาขี่จักรยาน ใช้รถยนต์ไฟฟ้า ปลูกผักกินเอง จากนั้นเกรียตาเริ่มหยุดเรียนมาประท้วงปัญหาโลกร้อนบริเวณด้านหน้ารัฐสภาสวีเดนทุกวันศุกร์ จุดกระแสให้เยาวชนทั่วโลกปฏิบัติตาม ที่ประเทศไทยก็เกิดการรวมกลุ่มกันในนาม Climate Strike Thailand

ในวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๖๒ เกรียตามีโอกาสกล่าวสุนทรพจน์ในงานประชุมระดับผู้นำว่าด้วยการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ (UN Climate Action Summit) ณ สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ กรุงนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา บางส่วนของถ้อยคำแถลง เธอกล่าวว่า

“ฉันควรจะอยู่ในห้องเรียนที่อีกฝั่งของมหาสมุทร แต่พวกคุณกลับโยนความหวังมาให้กับพวกเราคนรุ่นใหม่ กล้าดียังไง !”

“เรากำลังอยู่ในจุดเริ่มต้นของการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ แต่สิ่งที่พวกคุณพูดถึงมีแต่เรื่องเงินและนิทานเรื่องการเติบโตของเศรษฐกิจที่ไม่สิ้นสุด กล้าดียังไง !”

“How dare you ?” กลายเป็นประโยคที่หลายคนจดจำเธอได้

นับแต่นี้ต่อไป ยังมีเรื่องอีกมากมายที่เกรียตาและผู้คนทั้งโลกต้องช่วยกันทำเพื่อพลิกฟื้นสภาพภูมิอากาศ เพื่อโลก เพื่อเรา และเพื่อสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ บนโลกใบนี้

อ่านข่าวเพิ่มเติม


(ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)


ทวงคืนผืนป่า..ทวงคืนจากใคร ?

นโยบายทวงคืนผืนป่ามีมาตั้งแต่รัฐประหาร ปี ๒๕๕๗ แม้จุดเริ่มต้นจะมีเจตนาเอาผิดนายทุนที่ถือครองที่ดินในพื้นที่ป่าไม้ แต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่าเกษตรกร ชาวไร่ชาวนา คนยากจนต้องตกเป็นเหยื่อจำนวนมากมาย ทั้งถูกตัดฟันทำลายพืชผลการเกษตร เช่น ยางพารา ถูกข่มขู่คุกคามรวมทั้งมีการฟ้องดำเนินคดี

แม้หลังเลือกตั้งคำสั่ง คสช. ที่ ๖๔ และ ๖๖/๒๕๕๗ จะถูกยกเลิกไป แต่ปฏิบัติการต่างๆ ยังให้ถือว่าชอบด้วยกฎหมาย การทวงคืนผืนป่ายังดำเนินต่อไป

ล่าสุดหน่วยงานรัฐฟ้องดำเนินคดีกับชาวบ้านซับหวาย ผู้ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติไทรทอง จ.ชัยภูมิ ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้จำเลยเป็นผู้กระทำผิด มีชาวบ้าน ๑๓ คนต้องเดินเข้าคุก ตกอยู่ในสภาพผู้ต้องขัง

เริ่มมีการตั้งคำถามถึงนโยบายทวงคืนผืนป่าว่าเป็นแนวคิดจัดการทรัพยากรแบบอำนาจนิยม และเกิดปฏิบัติการที่ผิดพลาดบกพร่องจนนำมาสู่การสูญเสียอิสรภาพหรือไม่

ยิ่งมีเหตุการณ์ ปารีณา ไกรคุปต์ สส.ราชบุรี รุกพื้นที่ป่าทำฟาร์มไก่ กรมป่าไม้เตรียมแจ้งความเอาผิด ๔ ข้อหา ยิ่งทำให้คำถามถึงนโยบายทวงคืนผืนป่ายิ่งเข้มข้น ต้องติดตามชมว่าจะเกิดเหตุการณ์สองมาตรฐานระหว่างผู้มีอำนาจกับชาวบ้านตาดำๆ หรือไม่ ?


(ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)


มรสุมอีสาน : น้ำท่วม โรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาล-โรงไฟฟ้าชีวมวล และโครงการผันน้ำข้ามลุ่ม

ช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน ๒๕๖๒ อิทธิพลของพายุโมดูลและพายุคาจิกิทำให้เกิดฝนตกอย่างหนักในพื้นที่ภาคอีสาน เกิดอุทกภัยตามมาในหลายจังหวัด อาทิ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม อำนาจเจริญ ยโสธร กาฬสินธุ์ ฯลฯ โดยมีศูนย์กลางความเสียหายอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี มีรายงานว่าเป็นน้ำท่วมใหญ่ในรอบสี่สิบปี เกิดคำถามตามมาถึงการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ โดยเฉพาะการบริหารเขื่อนต่างๆ บนแม่น้ำมูนและแม่น้ำสาขา

ที่สำคัญคือ “เขื่อนปากมูล” ที่เป็นเหมือน “ประตูบานสุดท้าย” ของการระบายน้ำขังลงสู่แม่น้ำโขง เจ้าหน้าที่เปิดปิดประตูระบายน้ำเหมาะสมหรือไม่

นอกจากเหตุการณ์น้ำท่วม ในปีนี้ผู้คนในหลายพื้นที่ของภาคอีสาน ได้ออกมาร่วมต่อต้าน คัดค้านโครงการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมอ้อย-โรงงานไฟฟ้าชีวมวล เพราะเกรงว่าจะทำให้เกิดมลภาวะทางเสียงและมลพิษอากาศ และถือเป็นการสนับสนุนการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่นำวัตถุดิบเหลือทิ้งทางการเกษตรมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าในทางอ้อม

ตามแผนยุทธศาสตร์อ้อยและน้ำตาล ๑๐ ปีของรัฐบาล ภายในปี ๒๕๖๗ ในภาคอีสานจะมีโรงงานน้ำตาลและโรงงานไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มอีก ๒๙ แห่ง คนในพื้นที่จึงเกรงว่า โครงการเหล่านี้จะส่งกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตชุมชน

เรื่องอื่นๆ ภาครัฐยังพูดถึงการรื้อฟื้นโครงการผันน้ำข้ามลุ่ม จากแม่น้ำโขงบริเวณจังหวัดเลย สู่แม่น้ำชีและแม่น้ำมูล ท่ามกลางความวิตกกังวลว่าการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ข้อสำคัญคือพื้นดินอีสานหลายพื้นที่เป็นดินเค็ม การผันน้ำข้ามลุ่มจะแปรเปลี่ยนสภาพตามธรรมชาติ ทำให้เกิดการแพร่กระจายของดินเค็มที่อาจส่งผลร้ายแรงอย่างคาดไม่ถึงตามมา

อ่านข่าวเพิ่มเติม


อาลัยบิลลี่ ความตายปริศนาในป่าแก่งกระจาน

วันที่ ๒ กันยายน ๒๕๖๒ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) แถลงผลการตรวจสอบดีเอ็นเอหัวกะโหลกและโครงกระดูกมนุษย์ที่พบภายในถังน้ำมันขนาด ๒๐๐ ลิตร จมอยู่ในน้ำใต้สะพานแขวน เขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ยืนยันว่าเป็นกระดูกของ บิลลี่ พอละจี อธิบดี DSI ชี้ว่าเป็นคดีฆาตกรรม ขอเวลาให้เจ้าหน้าที่ทำงานเพิ่มเติม

บิลลี่เป็นแกนนำกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี หายตัวไปอย่างลึกลับตั้งแต่วันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๕๗ โดยมีผู้พบเห็นเขาถูกชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และเจ้าหน้าที่อุทยานควบคุมตัวข้อหาครอบครองน้ำผึ้งป่า

หลายปีที่ผ่านมาบิลลี่เป็นผู้นำเรื่องการเรียกร้องสิทธิการอยู่อาศัยในป่าของกลุ่มชาติพันธุ์ ด้วยเหตุผลสำคัญว่าบรรพบุรุษของตนอาศัยอยู่ในป่าก่อนที่จะมีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ

ความตายของบิลลี่ในผืนป่าแก่งกระจาน ตลอดจนความขัดแย้งอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในผืนป่าใหญ่แห่งนี้ อาทิ การเผาและย้ายชุมชนดั้งเดิมชาวกระเหรี่ยงจากบ้านใจแผ่นดินลงมาพื้นที่ทางด้านล่างของขุนเขา เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้องค์การสหประชาชาติยังไม่ยอมรับการจดทะเบียนอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเป็นมรดกโลก

อ่านข่าวเพิ่มเติม

 


(ภาพ : kasetcenter.com)


แบนหรือไม่แบนพาราควอต

๒๒ ตุลาคม ๒๕๖๒ ที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ณ สำนักปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ลงมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ให้ยกเลิกการใช้หรือแบนสารกำจัดศัตรูพืช พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต โดยปรับจากวัตถุอันตรายชนิดที่ ๓ ให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ ๔ ตามข้อเสนอของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดให้ยกเลิกการนำเข้า จำหน่าย และใช้สารเคมีเกษตรทั้งสามในราชอาณาจักร มีผลตั้งแต่วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๖๒ เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ ที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งมีรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมดำรงตำแหน่งประธาน ได้ลงมติให้ขยายกรอบเวลาการแบนสารกำจัดศัตรูพืชทั้งสาม ออกไปอีก ๖ เดือน ให้เหตุผลว่ามติเดิมมีผู้คัดค้านจำนวนมาก ขัดกับข้อตกลงขององค์กรการค้าโลก (WTO) และส่งผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าเกษตรโดยเฉพาะ ถั่วเหลืองและข้าวสาลี

เฉพาะสารไกรโฟเซต มติใหม่ของคณะกรรมการวัตถุอันตรายยังให้ยกเลิกมติการแบน อนุญาตให้มีการใช้ต่อไป แต่จะมีการจำกัดการใช้ ให้เหตุผลว่า สารไกลโฟเซตไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

การแบนสารกำจัดศัตรูพืชทั้งสามมีทั้งผู้สนับสนุนและคัดค้าน ฝ่ายสนับสนุนเห็นว่าการแบนจะนำไปสู่วิถีการทำเกษตรกรรมยั่งยืน ปลอดสารเคมี ซึ่งนอกจากจะดีต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค ยังสร้างความยั่งยืนให้กับภาคเกษตรไทย ขณะที่อีกฝ่ายให้เหตุผลว่าเกษตรกรยังมีความจำเป็นที่ยังต้องใช้ เพราะยังไม่สามารถหาสารทดแทนได้ การยกเลิกจะทำให้ต้องเลี่ยงไปใช้สารเคมีชนิดอื่นที่มีราคาแพงกว่า และจะทำให้ภาคเกษตรของไทยแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้

คงต้องจับตาว่ามติสุดท้ายจะออกมาเช่นไร

อ่านข่าวเพิ่มเติม

 


(ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)


เดินเครื่องปั่นไฟเขื่อนไซยะบุรี ปักหมุดเขื่อนแรกกั้นแม่น้ำโขงตอนล่าง

วันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๒ เป็นวันประวัติศาสตร์ของการผลิตไฟฟ้าจากแม่น้ำโขงในเขตลุ่มน้ำโขงตอนล่าง เมื่อเขื่อนไซยะบุรีเริ่มขายไฟฟ้าให้กับประเทศไทยอย่างเต็มตัวตาม “สัญญารับซื้อไฟฟ้า” ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามกับเจ้าของเขื่อน “เขื่อนลาวสัญชาติไทย” แห่งนี้จะผลิตไฟฟ้าส่งมาเมืองไทยอีกอย่างน้อย ๓๐ ปี

วันเดียวกัน เจ้าของเขื่อนไซยะบุรีซื้อหน้าโฆษณาหนังสือพิมพ์เกือบทุกฉบับ พาดหัวว่า “โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี โรงไฟฟ้าแห่งแรกบนแม่น้ำโขงที่มีวิถีธรรมชาติเป็นต้นแบบ” ชี้แจงว่าเทคโนโลยี Run-of-river เขื่อนแบบน้ำไหลผ่านเป็นนวัตกรรมล้ำสมัย ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังนำเสนอเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมของเขื่อน อาทิ ทางปลาผ่านหรือบันไดปลาโจน กังหันปั่นไฟแบบเป็นมิตรกับปลา ระบบระบายตะกอนเหนือเขื่อนไปยังท้ายน้ำ

อย่างไรก็ตาม ปี ๒๕๖๒ เป็นปีที่แม่น้ำโขงผันผวนผิดธรรมชาติ อาทิ ระดับน้ำลดต่ำลงที่สุดในรอบหลายปีทั้งๆ ที่อยู่ในช่วงน้ำหลาก ช่วงเดือนกรกฎาคมสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ต้องร่อนหนังสือด่วนถึงทางการลาว ขอให้ชะลอการทดสอบระบบไฟฟ้าเขื่อนไซยะบุรี ชี้แจงสาเหตุที่ระดับน้ำโขงลดลงมากในรอบหลายปีว่าเกิดจาก ๓ ปัจจัยหลัก คือ ปริมาณฝนที่ตกลงมาต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ เขื่อนจิงหงของจีนปรับลดการระบายน้ำ และการทดสอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าของเขื่อนไซยะบุรี

ต้นเดือนธันวาคมปลายปี ยังเกิดเหตุการณ์แม่น้ำโขงในหลายพื้นที่ เช่น จ.นครพนม อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี เมืองปากเซ ลาวใต้เปลี่ยนสี จากปรกติที่มีสีขุ่นโคลนกลายเป็นสีครามใสคล้ายน้ำทะเล ชาวบ้านและนักวิชาการระบุว่าน่าจะเกิดจากแม่น้ำโขงขาดตะกอนมาหล่อเลี้ยง จนเกิดอาการ “หิวตะกอน”

ท่ามกลางความวิตกกังวลว่ามหานทีที่เคยอุดมสมบูรณ์ (Mighty Mekong) ด้วยตะกอน แร่ธาตุ จะกลายสภาพเป็นแม่น้ำที่หิวโหย (Hungry Mekong)

อ่านข่าวเพิ่มเติม

 


(ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

๑๐
ทิศทาง EEC หลังเปลี่ยนสีผังเมือง

โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี (EEC : Eastern Economic Corridor) เป็นนโยบายสำคัญภายใต้ยุทธศาสตร์ “ไทยแลนด์ ๔.๐” ตั้งแต่ยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มุ่งขับเคลื่อนการลงทุนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ ต่อจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ Eastern Seaboard แต่พื้นที่ EEC กว้างใหญ่กว่าหลายเท่า คือครอบคลุมทุกตารางนิ้วของ ๓ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง

หลังเลือกตั้ง รัฐบาลชุดใหม่ที่มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ หน้าเก่า ยังคงเดินหน้าสานต่อโครงการ EEC จากยุทธศาสตร์ที่ได้ผลักดันมาสำเร็จแล้วก่อนหน้านี้ อาทิ การให้สำนักงานฯ อีอีซีมีอำนาจดำเนินงานเพื่อให้เกิดการเช่า เช่าซื้อ เวนคืน ถมทะเล การกำหนดผังเมืองใหม่ให้ง่ายต่อการตั้งโรงงานอุตสาหกรรม

ซึ่งเมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติร่างประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง แผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. …. ซึ่งจะมีการปรับผังที่ดินสีเขียว หรือ “ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม” เป็นผังที่ดินสีม่วง หรือ “ที่ดินประเภทอุตสาหกรรม” ตามที่นักลงทุนต้องการ

ล่าสุดในหลายพื้นที่ ๓ จังหวัดกำลังขับเคลื่อน EEC เช่น โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ ๓ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ ๓ ที่จะต้องมีการถมทะเล โครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิตัล โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน แต่ละโครงการตั้งอยู่มีพื้นที่นับพันไร่

ท่ามกลางข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนพื้นที่ทางการเกษตร ประมง ท่องเที่ยว ที่อยู่อาศัย พื้นที่ชุ่มน้ำ อันอุดมสมบูรณ์ของ ๓ จังหวัด การริดรอนสิทธิชุมชนชาวบ้าน

การเปลี่ยนผืนดินอู่ข้าวอู่น้ำของประเทศไทยให้กลายเป็นเมืองอุตสาหกรรมจะคุ้มค่ามากแค่ไหน