เรื่อง: แทนไท นามเสน
ภาพ: พิฐจักร ประพฤติธรรม

ครูปู่ : ไม้ใกล้ฝั่งกับชีวิตครูอาสา

๐๙.๐๐ น.

เสียงเจื้อยแจ้วของเด็กๆ ดังก้องในชุมชนตึกแดงย่านบางซื่อในเช้าวันเสาร์

วันหยุดสุดสัปดาห์ที่เป็นวันพักผ่อนของคนทั่วไป

แต่วันนี้คือวันเรียนหนังสือของเด็กชายและเด็กหญิงสุดซุกซน ที่บ้างก็สวมบทจิตรกรเอกวาดเขียนระบายสี บ้างแปลงกายเป็นนักดนตรีที่ดื่มด่ำกับท่วงทำนองบนกีตาร์และอูคูเลเล่ตัวโปรด บ้างสวมบทนักเขียนกับลายมือคัดตัวอักษรไทยและอังกฤษสุดบรรจง

ที่แห่งนี้คือศาลาประชาคมของชุมชนซึ่งกลายเป็นห้องเรียนที่ช่วยปลดปล่อยจินตนาการและความเป็นตัวเองอย่างสร้างสรรค์ใจกลางชุมชนแออัดที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร

ทุกวินาทีแห่งการเรียนรู้ของเด็กๆ อยู่ในสายตาอันมุ่งมั่นของชายชราร่างผอมสูง ผมสีขาวโพลนหวีเรียบปาดไปทางขวา คิ้วสีน้ำตาลอ่อนบางกับรอยเหี่ยวย่นเล็กน้อยตามอายุขัย สวมเสื้อคอกลมตัวใหญ่

“ครูปู่ๆ…”

นั่นคือชื่อที่เด็กๆ เรียกก่อนที่เขาจะหันไปมอบรอยยิ้มอ่อนโยนกับเด็กน้อย

เริ่มต้น “ซ.โซ่ อาสา”

ธีระรัตน์ ชูอำนาจ หรือที่ใครๆ เรียกขานกันว่าครูปู่ เริ่มต้นชีวิตนักอาสาหลังเกษียณอาชีพตัวเองในบริษัทแห่งหนึ่งเมื่อกลางปี ๒๕๓๖ ใช้เวลาแทบทุกวันนั่งรถจากบ้านย่านบางซื่อแล้วเดินเท้าสอนวิชาความรู้แก่ผู้ยากไร้ด้อยโอกาส ณ ท้องสนามหลวง จนเป็นกิจวัตรประจำวัน

ถึงปี ๒๕๔๒ กรุงเทพมหานครจัดกิจกรรมฝึกอบรมอาสาสมัครพิทักษ์เด็กเร่ร่อนขึ้น ครูปู่ได้พบผู้ร่วมอุดมการณ์กว่า ๑๐๐ ชีวิตจึงเกิดความคิดจะลงแรงทำงานอาสาเป็นกลุ่มก้อนด้วยกันอย่างแข็งขัน ทว่าพอผู้บริหารเมืองหลวงเปลี่ยนผ่านไปตามสมัยตามวาระ นโยบายก่อนหน้าก็ถูกรื้อทิ้ง ไม่ได้รับการสานต่อ กิจกรรมอาสาจึงมีอันพับไปโดยปริยาย เพราะไร้เงินจากภาครัฐสนับสนุน

แต่ครูปู่เดินทางฝ่าความล้มเหลว รวบรวมพันธมิตรอาสาเก่าแก่ตั้งคณะขึ้นมาใหม่

โซ่ข้อแรกของ ซ.โซ่อาสา จึงถือกำเนิดขึ้น และออกทำงานอาสาพัฒนาเพื่อเด็กและเยาวชนเรื่อยมานับตั้งแต่นั้น

เริ่มตั้งแต่บริเวณคลองหลอด ก่อนขยายตัวไปยังชุมชนตึกแดงบางซื่อ สะพานอรุณอมรินทร์ สวนลุมพินี และสถานีรถไฟหัวลำโพง ใช้เวลาช่วงเสาร์อาทิตย์ มีเหล่านักศึกษาและประชาชนทั่วไปผู้มีใจอาสา ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นโซ่ข้อใหม่ที่คล้องต่อจากโซ่ข้อแรก

“โซ่เพียงข้อสองข้อมาต่อกันก็ไม่อาจเป็นโซ่ได้ แต่หากมีโซ่มาต่อกันหลายๆ ข้อ ยิ่งยาวเท่าไหร่ พลังในการผูกมัดมันก็ดีขึ้น”

ครูปู่กล่าวถึงความหมายและที่มาของชื่อกลุ่ม

“เหมือนกับอาสาสมัคร ทำเพียงคนสองคนเห็นจะไม่ได้ จำเป็นต้องอาศัยคนเยอะๆ มาร่วมแรงกันทำงาน”

“และที่สำคัญ โซ่นี้เป็นโซ่ที่คล้องใจด้วยนะ…”

ความเป็น “ครู” ไม่เคยอยู่ใต้คำว่า “อาชีพ”

“ปู่เป็นครูสอนอยู่เทเวศร์ศึกษาเป็นที่แรก ก่อนจะย้ายไปสอนที่โรงเรียนวัดราชโอรส” ครูปู่เล่าถึงชีวิตครูที่เริ่มต้นในบทบาทของข้าราชการ

“แต่ปู่เป็นคนหัวใหม่ไง ทำอะไรไปผู้ใหญ่เขาก็ไม่ชอบ เข้ามาอยู่ไม่นานก็โดนบีบให้ออก ประกอบกับช่วงนั้นก็ปี ๒๕๑๙ พอดี เราก็โดนเพ่งเล็งด้วย เลยต้องซ่อนตัวก่อน”

ผมเคยได้ยินจากปากของคนสมัยนั้นมาก็มาก ผ่านตัวหนังสือมาก็ไม่น้อย ถึงสงครามที่เกิดขึ้นภายใต้พลวัตความคิดสุดขั้วสองสายในสังคมไทย ประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ถูกเรียกขานกันในชื่อยุคขวาพิฆาตซ้าย ครูปู่ไม่ได้บอกว่าท่านไปอยู่ที่ไหน แล้วจึงค่อยเดินออกมาสู่สังคมอีกครั้งหลังเวลาผ่านไป ๒-๓ ปี

“พอกลับมา…ปู่ก็มาเป็นพนักงานเอกชนจนเกษียณเลย” ครูปู่สรุปประวัติชีวิต ๔๐ ปีของตนเองด้วยประโยคสั้นๆ

แล้วอะไรทำให้ครูปู่หันมาทำงานอาสาล่ะ?

“ปู่อยากช่วยเหลือคน แต่จะให้ไปสอนงานวิชาชีพอะไรก็ตามแต่เห็นจะไม่ได้ เพราะเราเองก็ไม่มีความรู้ตรงนั้น แต่ที่เราสามารถสอนหนังสือ สอนให้เขาอ่านออกเขียนได้ ตรงนี้เราทำได้”

วิญญาณครูที่สิงอยู่ในร่างอดีตข้าราชการครูวัย ๒๐ ต้นๆ เมื่อ ๔๐ ปีก่อน กลับออกมาแสดงบทบาทอีกครั้งในวัย๖๐ ปลายๆ

ยุคเริ่มแรกของครูอาสา ครูปู่ออกเดินทางไปสอนคนยากไร้ด้อยโอกาสในเมืองหลวง

ทีละคนๆ ทีละแห่งๆ

ด้วยความอุตสาหะ จึงสามารถระดมผู้คนมากมายที่มีใจอาสาเช่นเดียวกันเข้ามาร่วมทำงานจนกลายเป็นกลุ่ม ซ.โซ่อาสา ในที่สุด

ครูปู่ใช้เวลาวันเสาร์ช่วงเช้ากับการสอนเด็กๆ ณ ชุมชนตึกแดงย่านบางซื่อ โดยมีครูอาสาของกลุ่ม ซ.โซ่ อาสา ร่วมสอนเช่นเดียวกัน ซึ่งวิชาความรู้ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นงานวิชาการเท่าใดนัด ดูเป็นสนามกิจกรรมมากกว่า

“เราไม่สนว่าเขาเป็นใคร แค่เขาอยากเรียนเราก็สอนให้หมด” ธนาธิป พัวพรพงษ์ หรือครูโน๊ท หนุ่มใหญ่อายุ ๓๕ ปี ผู้ใช้เวลาที่เว้นว่างจากงานประจำมาทำงานเป็นครูอาสา จากใจรักในเริ่มแรกจนวันนี้กลายมาเป็นผู้อยู่คู่ ซ.โซ่ อาสามายาวนานที่สุดกว่า ๑๐ ปีแล้วรองจากครูปู่

“เด็กๆ เหล่านี้ ส่วนใหญ่ที่บ้านเป็นคนหาเช้ากินค่ำ ไม่มีเงินสนับสนุนเรื่องเรียน เด็กต้องไปทำงานหาเลี้ยงชีพแทน ซึ่งเราอยากให้เขาเห็นว่าการศึกษาของเด็กเป็นเรื่องสำคัญ”

ครูโน๊ทเป็นหนึ่งในผู้คนหลากหลายอาชีพที่เข้ามาทำงานร่วมกับ ซ.โซ่ อาสา นอกจากนี้ยังมีนักศึกษาจากหลากหลายสถาบัน

“เราต้องการพลังคนรุ่นใหม่ คนกลุ่มนี้สำคัญมาก เพราะจะเป็นคนที่สานงานต่อจากเราเมื่อวันหนึ่งคนรุ่นเราหมดไป ก็ไม่อยากให้ ซ.โซ่ขาดหาย” ครูปู่กล่าว “โดยเฉพาะการสอนเด็กๆ ในชุมชนแออัด กำลังคนสำคัญมาก”

แล้วครูจำนวนมากเกี่ยวอะไรกับการสอนเด็กในชุมชนแออัด?

ยิ่งเรามาเยอะๆ แม้ว่าจะมีคนเรียนเพียงคนเดียว อย่างน้อยเขารู้สึกได้ว่าเขาสำคัญ มีคนคอยห่วงใย เพราะเด็กในชุมชนแออัดมักขาดความอบอุ่น พ่อแม่ไม่ว่างเพราะต้องทำงาน”

“ปู่ไม่อยากให้พวกเขาไปคิดชั่ว อยากให้เขาเป็นคนดี อยากให้เขาได้เรียนหนังสือ เพราะเป็นพื้นที่เสี่ยงมาก ภูมิคุ้มกันเด็กก็เปราะบาง พลาดนิดเดียวก็หมดอนาคต”

น่าแปลกที่โลกของผู้ไร้การศึกษาและด้อยโอกาสมักถูกวาดภาพเป็นแดนไกลปืนเที่ยงกลางป่าเขา แต่ใครเลยจะคิดว่า ณ ศูนย์กลางการปกครองของประเทศกลับยังมีผู้คนอีกมากที่ตกหล่นอยู่ตามซอกหลืบแห่งความเจริญสูงสุด

แล้วปู่เหนื่อยไหม ที่ทำงานมาตลอดชีวิต?

ผมถามด้วยความรู้สึกว่าชีวิตของครูปู่ผู้ซึ่งอุตสาหะไปกับชีวิตของตนเองมากว่า ๖๐ ปี แล้วอยู่มาวันหนึ่งก็เริ่มต้นชีวิตครูอาสาอีกครั้งกว่า ๒๐ ปี มันช่างยาวนานมากๆ ในนาฬิกาชีวิตของคน

“ปู่เหนื่อยนะ แต่ไม่ท้อ ถ้าเราท้อ…” ครูปู่ผายมือไปหาเด็กๆ ที่กำลังแข่งกันท่องศัพท์ภาษาอังกฤษอย่างสนุกสนาน

“ก็เหมือนเราทิ้งพวกเขา…”

แล้วครูปู่ก็หันมาหัวเราะพลางพูดกับผมอย่างร่าเริง “ถ้าปู่สอนเด็กๆ เหล่านี้ ๑๐๐ คน แล้วทำให้คนหรือสองคนพ้นคุกได้ แค่นี้ครูก็ดีใจมากๆ แล้ว”

ชีวิตข้าราชการครูทั่วไปเกษียณอาชีพตัวเองราวอายุ ๖๐-๖๕ ปี

แต่สำหรับชีวิตครูปู่ดูจะไม่มีวันเกษียณ

๑๒.๐๐ น.

หมดเวลาเรียนแล้ว…

ผมยืนมองเด็กๆ เก็บกระดาษ ดินสอ สีไม้ เข้าตู้เหล็กสีเทาที่บรรจุอุปกรณ์การเรียนอยู่เต็ม เลื่อนโต๊ะไม้สีขาวใหญ่เข้ามุมโถง เคลื่อนกระดานไวต์บอร์ดเข้าเก็บเป็นที่เป็นทาง

ห้องเรียนแห่งนี้คืนกลับสู่สภาพศาลาประชาคมของมันอีกครั้ง แววตาพวกเขาเต็มไปด้วยความสุข เช่นเดียวกันกับครูปู่และเพื่อนๆ ครูอาสาที่ต่างส่งยิ้มให้กันและกัน

ชีวิตผมเข้าใกล้งานอาสามากที่สุดคือการออกไปสร้างอาคาร สร้างบ้านเรือนให้ชาวบ้าน ผมรู้จักชีวิตอาสาในเมืองใหญ่เพียงเล็กน้อย การรู้จักกับครูปู่ทำให้ได้เห็นว่ายังมีปัญหาสังคมอีกมากที่รัฐเข้าไปไม่ถึง

มีเรื่องอีกมากมายรอการแก้ไข

แต่ก็ยังมีคนมากมายออกเดินบนเส้นทางแห่งงานอาสาเพื่อช่วยเหลือและคลี่คลายปัญหาเหล่านี้

ผมยกมือไหว้ครูปู่เพื่อบอกลา ท่านรับไหว้อย่างช้าๆ ก่อนหันไปหาเด็กน้อยที่เรียกชื่อท่านอย่างร่าเริง

“ครูปู่ๆ”

รอยยิ้มที่อ่อนโยนของครูปู่เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง