ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่องและภาพ

เหมืองเฮงดาเป็นเหมืองแร่ดีบุก พื้นที่สัมปทานทั้งหมดประมาณ ๕,๐๐๐ ไร่ (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

เหมืองเฮงดาเป็นเหมืองแร่ดีบุก พื้นที่สัมปทานทั้งหมดประมาณ ๕,๐๐๐ ไร่ (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

 

เมื่อวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๖๓ องค์กร True Friends อันเป็นหน่วยงานภาคประชาสังคมในเมืองทวาย ภูมิภาคตะนาวศรี ประเทศพม่า ได้ออกแถลงการณ์ยืนยันว่าชาวบ้านกะบันเชาว์ (Kin Baung Chaung) ชนะคดีแพ่งต่อบริษัทเหมืองเเร่ดีบุกสัญชาติไทยที่เข้าไปลงทุนทำเหมืองดีบุกในประเทศพม่า

การตัดสินของศาลชั้นต้นเมืองทวายเกิดขึ้นเมื่อสองวันที่ผ่านมา คือวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๖๓ หลังจากชาวบ้านยื่นฟ้องศาลไปตั้งแต่ปี ๒๕๕๘ รวมระยะเวลาในกระบวนการศาลกว่า ๔ ปี

เหตุการเกิดขึ้นหลัง ซอ ดา เชว (Saw Dah Shwe) เกษตรกรในหมู่บ้านกะบันเชาว์ (Kin Baung Chaung) ตั้งข้อสังเกตว่าการดำเนินงานของเหมืองส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อม

เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๖ ผู้คนในหมู่บ้านรู้สึกถึงผลกระทบจากการทำเหมืองดีบุกหลังจากบ่อเก็บกักตะกอนหางเเร่พังทลาย ส่งผลให้น้ำที่ปนเปื้อนตะกอนหางเเร่ไหลลงมาท่วมพื้นที่ของชาวบ้าน สร้างความเสียหายต่อพื้นที่เพาะปลูก เเละทำให้เกิดปัญหาในการดำรงชีพ

หลังจากนั้นชาวบ้านก็ต้องประสบกับปัญหาน้ำท่วมที่ดินทุกปีในช่วงฤดูมรสุม หลายครอบครัวต้องสูญเสียต้นหมากเเละผลไม้อื่นๆ ซึ่งเป็นเเหล่งรายได้หลัก

 

ชาวบ้านชี้ไปยังเหมืองเฮงดาซึ่งตั้งอยู่ห่างจากหมู่บ้านเมียวพิวเพียง ๒ กิโลเมตร (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

ชาวบ้านชี้ไปยังเหมืองเฮงดาซึ่งตั้งอยู่ห่างจากหมู่บ้านเมียวพิวเพียง ๒ กิโลเมตร (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

ชาวบ้านขี่มอเตอร์ไซด์ผ่านสะพานข้ามแม่น้ำเมียวพิวที่ตื้นเขินและเปลี่ยนแปลงหลังการทำเหมืองแร่ (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

ชาวบ้านขี่มอเตอร์ไซด์ผ่านสะพานข้ามแม่น้ำเมียวพิวที่ตื้นเขินและเปลี่ยนแปลงหลังการทำเหมืองแร่ (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

เหมืองดีบุกเฮงดาตั้งอยู่ใน ณ ตำบลเฮงดา เมืองมยิตตา ใกล้เมืองทวาย ในเขตลุ่มน้ำตะนาวศรีตอนบน ทางภาคใต้ของประเทศพม่า เริ่มดำเนินการมาแล้วไม่น้อยกว่า ๗๐ ปี ตั้งแต่สมัยที่พม่าตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ นับเป็นเหมืองดีบุกที่มีขนาดใหญ่และมีอายุเก่าแก่ที่สุด เดิมเป็นเหมืองดีบุกขนาดเล็กและไม่ได้ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างปัจจุบัน ดำเนินการโดยกรมกิจการเหมืองแร่ลำดับที่ ๒ (Number 2 Enterprise) อันเป็นรัฐวิสาหกิจของพม่า

ต่อมาในปี ๒๕๔๒ บริษัทเมียนมาร์ พงษ์พิพัทธ์ จำกัด จดทะเบียนในชื่อภาษาอังกฤษว่า Myanmar Pongpipat Company Limited ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินกิจการเหมืองแร่ในประเทศไทยได้รับสัมปทานจากรัฐบาลพม่า โดยร่วมกับกรมกิจการเหมืองแร่ลำดับที่ ๒ ซึ่งเป็นบริษัทที่รัฐเข้าไปมีหุ้นส่วนทำหน้าที่ดูแลและอำนวยความสะดวกในการประกอบกิจการเหมืองในพม่า ทั้งดีบุก ทังเสตน ทอง ไทเทเนียม แพลตตินั่ม

โดยกิจการเหมืองเฮงดามีการแบ่งผลประโยชน์กันในสัดส่วนกรมกิจการเหมืองแร่ลำดับที่ ๒ ร้อยละ ๓๕ และบริษัท เมียนมาร์ พงษ์พิพัทธ์ ร้อยละ ๖๕

นับตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการ ชาวบ้านสังเกตว่าแม่น้ำและลำธารเริ่มตื้นเขิน พืชผักและสัตว์ป่าหลายชนิดเริ่มสูญหาย พืชผลทางการเกษตร บ่อน้ำ บ้านเรือน และศาสนสถานได้รับผลกระทบจากดินตะกอนและของเสียเป็นพิษที่ไหลมาตามลำน้ำ

ในปี ๒๕๕๕ เกิดน้ำท่วมใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์ ท่วมนานถึง ๑๑ วัน และท่วมสูงถึงคอ ทำให้ตะกอนหางแร่จากเหมืองไหลออกมาจากบ่อกักเก็บ สร้างความเสียหายต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม  โดยเฉพาะลำคลองมะเยาว์พะโยว์ แหล่งน้ำที่ชาวบ้านโดยรอบใช้อุปโภคบริโภค พื้นที่เพาะปลูกทั้งสวนหมาก ทุเรียน มะม่วงหิมพานต์ ได้รับความเสียหายอย่างหนักประมาณ ๒๐ เอเคอร์ หรือ ๕๐.๖ ไร่

จากการทดสอบของบริษัท Ecolab ในปี ๒๕๕๗ ระบุว่าน้ำในแหล่งมีสารตะกั่วปนเปื้อนระดับสูง ผลการทดสอบในห้องทดลองในเนเธอแลนด์ยังระบุว่าพบสารหนูในคลองมะเยาว์พะโยว์ ระดับสูงกว่าค่าที่ยอมรับได้ขององค์การอนามัยโลกสำหรับมาตรฐานน้ำดื่มที่ปลอดภัย ๘ เท่า และมีสารตะกั่วปนเปื้อนในลำน้ำสูงกว่ามาตรฐานน้ำดื่มที่ปลอดภัยถึง ๓๕-๑๙๐ เท่า

มีการยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของประเทศไทย ในหมายเลขคำร้อง ๒๘๕/๒๕๕๘ เรื่อง “ขอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ด้านสิทธิชุมชน กรณีประชาชนสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ของบริษัทเอกชนสัญชาติไทย” ต่อมาวันที่ ๒๒-๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากรลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างไม่เป็นทางการ พบชาวบ้านชี้ให้เห็นว่าต้นหมากหลายต้นไม่ติดผลมากเหมือนเมื่อก่อน บางต้นยืนต้นตาย เกิดการทับทบของตะกอนและกากแร่ในแม่น้ำเมียวพิวจนไม่สามารถใช้น้ำจากแม่น้ำได้ ต้องนำน้ำใต้ดินหรือน้ำจากภูเขามาใช้แทน แต่หลายครอบครัวก็ไม่สามารถใช้น้ำใต้ดินได้เนื่องจากปนเปื้อนเช่นกัน น้ำมีสีขุ่นออกแดงหรือส้ม นำมาอาบแล้วมีผื่นขึ้นตามตัวและคัน จนในที่สุดก็ต้องใช้น้ำจากภูเขาละซื้อน้ำดื่มจากนอกหมู่บ้านเพื่อบริโภค

สำหรับคำร้องของนาย ซอ ดา เชว ที่ยื่นต่อศาลจังหวัดทวายในปี ๒๕๕๘ เพื่อเรียกร้องค่าชดเชยสำหรับต้นหมาก ๘๘๒ ต้นที่เขาบอกว่าล้มตายลงเนื่องจากน้ำจากเหมืองไหลลงมาท่วม

ชาวบ้านเคยใช้น้ำจากแม่น้ำต้องเปลี่ยนมาใช้น้ำจากภูเขาและน้ำใต้ดิน ต่อมายังพบว่าน้ำในบ่อหลายแห่งมีสีขุ่นออกแดงหรือส้ม (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

ชาวบ้านเคยใช้น้ำจากแม่น้ำต้องเปลี่ยนมาใช้น้ำจากภูเขาและน้ำใต้ดิน ต่อมายังพบว่าน้ำในบ่อหลายแห่งมีสีขุ่นออกแดงหรือส้ม (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

ชาวบ้านเคยใช้น้ำจากแม่น้ำต้องเปลี่ยนมาใช้น้ำจากภูเขาและน้ำใต้ดิน ต่อมายังพบว่าน้ำในบ่อหลายแห่งมีสีขุ่นออกแดงหรือส้ม (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

หมากเป็นพืชเศรษฐกิจ ผู้ยื่นฟ้องร้องเรียนว่ามีหมากตาย ๘๘๒ ต้นใกล้เหมือง (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

หมากเป็นพืชเศรษฐกิจ ผู้ยื่นฟ้องร้องเรียนว่ามีหมากตาย ๘๘๒ ต้นใกล้เหมือง (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

อีกสี่ปีต่อมาคือวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๖๓ ศาลจังหวัดทวายจึงมีคำพิพากษาให้บริษัทเมียนมาร์ พงษ์พิพัทธ์ จ่ายค่าชดเชยให้กับเขา เป็นเงินจำนวน ๑๑๔,๘๐๐,๐๐๐ จั๊ต หรือประมาณ ๗๖,๕๓๓ เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ ๒,๔๐๐,๐๐๐ บาท อย่างไรก็ตาม เเม้เขาจะชนะคดีในศาลชั้นต้น เเต่บริษัทอาจยื่นอุทธรณ์ต่อศาลภูมิภาคหรือศาลอุทธรณ์กลางซึ่งจะทำให้ต้องสู้คดีกันต่อไป

“มันเป็นเรื่องยากที่ชาวบ้านในชนบทห่างไกลจะฟ้องร้องบริษัทเรื่องผลกระทบที่มีต่อการดำรงชีวิต เนื่องจากการต่อสู้คดีในศาลนั้นกินเวลายาวนาน” ดอว์ มี มี โซ (Daw Mi Mi Soe) ทนายฝ่ายโจทก์ ซึ่งทำงานร่วมกับองค์กร True Friends ในทวายกล่าว

“เรายอมรับคำพิพากษาของศาลซึ่งตั้งอยู่บนความยุติธรรม เราหวังว่าความสำเร็จของคดีนี้จะช่วยให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในระบบยุติธรรมในอนาคต”