เรื่อง : เกียรติก้อง เทียมธรรม
ภาพ : สืบสาย สำเริง
“ซ่า~” เสียงคล้ายฝนตกตามฤดูกาลธรรมชาติ แต่ใครจะคิดล่ะว่าเป็นเสียงลมพัดผ่านต้นสนประดิพัทธ์หลายสิบต้นที่เรียงรายล้อมรอบฟาร์มเลี้ยงหมู ที่นี่คือ ว.ทวีฟาร์ม เนื้อที่ประมาณ ๓๔ ไร่ ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านเม็ง อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น กลิ่นหญ้าใบเขียวกับดินเปียกชื้นทำให้เรารู้สึกสดชื่น ขัดกับความคิดว่าความจริงกำลังอยู่ที่ฟาร์มเลี้ยงหมู สถานที่ซึ่งน่าจะสกปรก อับชื้น และเหม็น แต่เมื่อมองไปทางไหนตอนนี้มีแต่ทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ ฝูงวัว และบ่อน้ำ
“การเลี้ยงหมูในคอกแคบ ๆ กิน ๆ นอน ๆ เฉพาะในคอกทำให้หมูเกิดความเครียดและอ่อนแอจนเกิดโรคได้ครับ แต่การเลี้ยงหมูแบบปล่อยทุ่ง มีที่อยู่อาศัยกว้างขึ้น ได้เดินเล่นออกกำลังกายตลอดวัน ทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่จำเป็นต้องใช้วัคซีนหรือยารักษาโรค พร้อมทั้งลดความเครียดกลายเป็นหมูอารมณ์ดีด้วยครับ” คือเสียงยืนยันหนักแน่นของชายหนุ่มวัย ๓๕ ปีที่แฝงด้วยความมุ่งมั่นเต็มเปี่ยมในอุดมการณ์และความฝัน ลมเย็นพัดผ่านตัวเราเสมือนเป็นยาบรรเทาอาการเหนื่อยล้า บรรยากาศดูเหมาะกับการที่ชายหนุ่มเจ้าของฟาร์มจะพาเราย้อนกลับสู่อดีต
หมอเซเว่นฯ ขวาน และอุดมการณ์ของความฝัน
“เข้ามาเลยครับพวกมันไม่กัด”
เรามาถึงสถานที่แห่งนี้พร้อมกับเจอฝูงสุนัขห้าหกตัวต้อนรับด้วยเสียงเห่าทักทาย จนได้ยินเสียงห้ามปรามจากชายเจ้าถิ่น วานิช วันทวี ผู้แต่งตัวเหมือนหลุดจากหนังอเมริกันยุคคาวบอย เขาเป็นชายร่างสูง รูปร่างดี ผิวดำแดงของเขาบ่งบอกการผ่านร้อนผ่านแดดมาพอสมควร
เมื่อมีแบตแมนก็ต้องมีโรบิน เขาแนะนำคู่หูที่ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กันมาตั้งแต่ก่อตั้งฟาร์ม ภิรวัฒน์ สถิตสิงห์ ชายหนุ่มรูปร่างสันทัดวัย ๒๗ ปี เสื้อผ้าของเขามีคราบดินเปรอะเปื้อนอันเป็นร่องรอยจากการทำงาน
วานิชเล่าว่าเขาเป็นคนขอนแก่นตั้งแต่เกิด แม่มอบที่ดินผืนนี้ให้แก่เขาที่เป็นลูกชายคนสุดท้อง ขณะนั้นเขาเป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรง เพิ่งจบจากคณะเทคโนโลยีการเกษตร สาขาสัตวบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม และฝันจะมีฟาร์มของตนเอง
“ก่อนมาทำฟาร์ม ผมเป็นฟรีแลนซ์รักษาสัตว์ ได้ฉายาว่าหมอเซเว่นฯ เพราะใครเรียกตอนไหนก็ไปตอนนั้น ทำคลอด ผ่าตัด มดลูกทะลัก ทำหมด เข้าป่าขึ้นเขา ๒๔ ชั่วโมงก็ไป”
นั่นคือช่วงอายุ ๒๔-๒๖ ปีที่ยังสนุกกับการทำงานเป็นหมอรักษาพยาบาลสัตว์ ได้ใช้ความรู้และศักยภาพที่เรียนมาอย่างเต็มที่
เขาชอบงานภาคสนามอย่างมากจน “แทบจะอยู่ในเส้นเลือด” การได้เห็นรอยยิ้มเห็นความจริงใจของเกษตรกรทำให้ค้นพบว่านี่แหละคือชีวิตของเขา
แต่ทุกอย่างเมื่อขึ้นไปถึงบนจุดสูงสุดก็ต้องมีจุดอิ่มตัวแล้วค่อย ๆ ลดลงเหมือนไฟที่มีวันมอด
“พออายุมากขึ้นเริ่มหมดไฟ ผมเริ่มรู้สึกเหนื่อยทำไม่ไหว เลยคิดจะทำฟาร์มเพื่ออนาคตที่มั่นคงขึ้น”
สองมือเขาจึงจับขวานเปลี่ยนแปลงพื้นที่รกร้างและกลายมาเป็น ว.ทวีฟาร์ม จากหนุ่มหมดไฟก็กลับมีไฟอีกครั้งกับความมุ่งมั่นครั้งใหม่ที่จะทำฟาร์มหมู
“ผมมากับหมาและขวานของผมเพื่อจะเปลี่ยนแปลงที่ดินผืนนี้”
“การเลี้ยงหมูในคอกแคบ ๆ กิน ๆ นอน ๆ
เฉพาะในคอกทำให้หมูเกิดความเครียด
และอ่อนแอจนเกิดโรคได้
แต่การเลี้ยงหมูแบบปล่อยทุ่ง
มีที่อยู่อาศัยกว้างขึ้น ได้เดินเล่น
ออกกำลังกายตลอดวัน
ทำให้สุขภาพแข็งแรง”
หมูเคมี เคมีที่ไม่เข้ากัน
วานิชเล่าว่าสมัยเรียนมหาวิทยาลัยเคยฝึกงานในฟาร์มบริษัทขนาดใหญ่ที่ราชบุรี ได้เรียนรู้การเลี้ยงหมูแบบป้องกันโรคทุกวิถีทาง ตั้งแต่จำกัดคนเข้าออกโรงเรือน ชะล้างน้ำยาก่อนเข้าและออก ใช้วัคซีนและยาปฏิชีวนะมากมายป้องกันและรักษาโรค
“ใช่ครับ ผมจำทุกอย่างเอามาทำหมดทั้งจากมหาวิทยาลัยและฟาร์มบริษัทใหญ่ เวลานั้นผมคิดว่าตัวเองความรู้ดี ประสบการณ์มี สามารถควบคุมปัจจัยเสี่ยงได้ทุกอย่าง”
เขาทุ่มเทให้กับการสร้างฟาร์มเลี้ยงหมู โดยเริ่มปลูกกระท่อมหลังเล็ก ๆ และสั่งซื้อหัวอาหารจากโรงงานที่จังหวัดนครปฐมสำหรับฟาร์มหมูเคมีหรือหมูอุตสาหกรรม
“สามปีแรกสบายมาก เลี้ยงแบบขายอย่างเดียว พออาหารแพงผมก็เริ่มผสมอาหารเอง ได้ตามเป้าการขายของอุตสาหกรรมเลย เลี้ยง ๓-๔ เดือนก็ได้ขายแล้ว ธุรกิจใหญ่โตมาก”
ด้วยความเป็นคนชอบเรียนรู้และมีไฟตลอดเวลา เขาจึงไปเรียนรู้สูตรผสมอาหารจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กำแพงแสน และยังเรียนการทำแผงโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าเหตุผลคือหากมีปัญหาเกิดขึ้นจะได้สามารถแก้ปัญหาหรือซ่อมได้ หรือเพื่อต่อยอดในอนาคต
“เราต้องพึ่งตนเองให้ได้”
การทำฟาร์มหมูระบบอุตสาหกรรมใน ๓ ปีแรกนั้นประสบความสำเร็จอย่างมาก แต่กลับไม่ทำให้เขามีความสุข กำไรที่ได้จากการขายหมูไม่งอกเงยดั่งใจคิด เพราะกำไรที่ได้มาทุกครั้งก็ต้องนำมาลงทุนใหม่ ซื้อหัวอาหาร ยาฉีดวัคซีน ค่าน้ำค่าไฟ วนเวียนอยู่ในวงจรนี้จนเขาเริ่มท้อ อนาคตกับการยืนด้วยตัวเองดูจะไม่มีทางก้าวหน้า
จุดเปลี่ยนสำคัญคือหมูเริ่มป่วยบ่อยขึ้น
“ตอนผมสร้างฟาร์มใหม่ ๆ จนถึงปีที่ ๓ โรคไม่มี หลังจาก ๓ ปีนี่สิโรคมาแบบเยอะมาก ปากเท้าเปื่อย โรคระบาดอีกมากมาย”
เขาเล่าว่ารู้สึกเครียดทุกครั้งที่เห็นหมูตัวเองป่วย
ทุกเช้าวานิชจะตื่นมาถือสเปรย์กระป๋องสีเดินเช็กหมูที่คอก ตัวไหนป่วยเขาจะฉีดสเปรย์ที่ตัวของหมูและไปซื้อยามาฉีด
“ผมทำแบบนี้ทุกวัน เงินหมดไปกับค่ายารักษา ขาดทุนมาก”
“ผมเข้ามาถางที่ ซึ่งเต็มไปด้วยต้นไม้ พร้อมขวานหนึ่งเล่ม และหมาอีกสองตัว”
เป็นถ้อยคำที่ วานิช วันทวี มักเล่าถึงความมุ่งมั่นในช่วงบุกเบิกฟาร์มกว่าจะยืนได้ด้วยตนเอง ต้องผ่านความลำบากมาไม่น้อย
พบรักกับออร์แกนิก
วานิชเริ่มศึกษาจากหนังสือบ้างอินเทอร์เน็ตบ้างเพื่อหาวิธียุติปัญหา แล้วเขาก็พบทางออกกับตัวอย่างการเลี้ยงหมูหลุมออร์แกนิกของ สุพจน์ สิงห์โตศรี
“ผมเจอคลิปของพี่สุพจน์ในยูทูบ เขาเคยเป็นหมอในฟาร์มมาก่อนเหมือนเรา แล้วเขาไปศึกษากับอาจารย์โชคชัย สารากิจ ที่เชียงราย หมูที่นั่นไม่มีกลิ่น ไม่เป็นโรค ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ”
ปี ๒๕๕๙ วานิชเริ่มนำวิธีการเลี้ยงหมูหลุมออร์แกนิกมาปรับใช้ในฟาร์ม
“ช่วงแรกมีแต่คนว่าผมบ้า เพราะหมูของผมตายเกือบหมด”
เพราะการเปลี่ยนผ่านไม่ใช่เรื่องง่าย เขาบอกว่าตอนนั้นหมูคอกหนึ่งคลอดออกมา ๑๐ ตัว จะเหลือรอด ๑ หรือ ๒ ตัวเท่านั้น
แต่เขาไม่ละความพยายามในการหาวิธีเปลี่ยนแปลงฟาร์มให้เป็นหมูหลุมออร์แกนิก จนต่อมาก็ประสบความสำเร็จ
ความเป็นคนชอบคิดจึงอยากพัฒนาฟาร์มไปอีกขั้น
“สมัยผมเรียนปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัย ผมได้ทุนไปศึกษาดูงานที่ประเทศเยอรมนี ได้เห็นระบบการเลี้ยงหมูที่ฮิตมากของที่นั่น เรียกว่า freedoms of animals ระบบไบโอไดนามิก”
ระบบไบโอไดนามิก (biodynamic) คือการเลี้ยงหมูแบบธรรมชาติให้หมูมีพื้นที่วิ่งอิสระ มีระบบนิเวศของตัวเอง ส่วนคำว่า freedoms of animals นั้นมีความหมายถึงสามอย่าง คือ
หนึ่ง หมูต้องมีอิสระจากการหิวกระหาย (freedom from hungry and thirst) ต้องปล่อยให้หมูเลือกหากินพืชที่ปลูกไว้ได้อย่างอิสระ หรือกินตามความต้องการจนพอใจ
“ฟาร์มเรามีขนาดใหญ่ เราก็จะใช้เมล็ดพันธุ์ปลูกพืชแล้วปล่อยให้หมูเข้าไปกิน มันก็จะขับถ่ายอุจจาระพรวนดิน
ให้เรา เราก็ได้ดินได้ปุ๋ยเพื่อปลูกพืชเมล็ดพันธุ์ได้อีกครั้ง หมูไม่ใช่เอาแต่กินอาหาร มันเองก็ให้อาหารแก่ธรรมชาติด้วย”
วานิชยังเสริมอาหารหมูด้วยรำออร์แกนิก ผลไม้ออร์แกนิก สังเกตได้จากการมีรอยหนอนเจาะและคราบรา “ปลอดภัยจากสารเคมีแน่นอน”
สอง หมูต้องมีอิสระจากความไม่สะดวกสบายอันเนื่องมาจากสภาวะแวดล้อม (freedom from discomfort) แต่เพราะสภาพอากาศแต่ละช่วงวันไม่เหมือนกัน เขาจึงจัดโซนให้หมูเลือกอยู่ตามความต้องการของมันเอง มีทั้งในร่ม กลางแดด และกลางแปลงพืชไร่
สาม หมูต้องมีอิสระในการแสดงพฤติกรรมตามปรกติ (freedom to express normal behavior) คือการให้สัตว์อยู่ตามธรรมชาติ ใช้ชีวิตตามพฤติกรรมหรือระบบสังคมของมัน
ผลลัพธ์ที่เห็นได้ชัดในฟาร์มแห่งนี้คือหมูไม่กลัวคน พวกมันจะวิ่งเข้าหาคนตลอด แทนที่จะวิ่งหนีเหมือนฟาร์มอื่น และที่พิเศษคือหมูอยู่รวมกันเป็นฝูงและมีจ่าฝูง หมูไม่เครียด ไม่กัดกัน ทุกตัวเป็นอิสระและมีพื้นที่ส่วนตัว
“จะเห็นว่าหมูที่นี่ชอบเอาจมูกคุ้ยดินเพราะมันจะหาแมลง หนอน ไส้เดือนกินอย่างอิสระ”
เขาบอกว่าการผลิตหมูออร์แกนิกให้กำไรเยอะกว่าหมูเคมีหนึ่งเท่า แต่ใช้เวลาเลี้ยงมากกว่าหมูเคมีถึง ๗ เดือน ถึงอย่างนั้นก็คุ้มค่าเพราะประหยัดค่าอาหาร ไม่เสียค่าซื้อยาวัคซีน และยังมีคนมาขอคำแนะนำจำนวนมาก ทำให้เขาได้สนทนาแลกเปลี่ยนกับคนอื่นอยู่เสมอ
ถึงวันนี้เขามีรายได้จากการขายเนื้อหมูปีละหลายแสนบาท เพียงพอให้เขาลงทุนปรับปรุงระบบภายในฟาร์มอยู่เรื่อย ๆ
“ผมขายหมูเป็นเซต เซตละ ๒๐๐ ตัว แล้วผมก็นำหมูคอกใหม่จากคอกอนุบาลมาเลี้ยงในคอกใหญ่ต่อ”
ธรรมชาติท้องถิ่น
คุณค่าที่ผสมลงตัวหมู
เมื่อหมูเป็นออร์แกนิกเต็มตัวก็เริ่มมีลูกค้ามาติดต่อ จากกลุ่มเล็ก ๆ ขยายเป็นกลุ่มใหญ่
“มีเชฟมาแนะนำว่าน่าจะทำให้เนื้อมีกลิ่นเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร”
วานิชจึงศึกษาข้อมูลแล้วพบตัวอย่างของหมูสเปนที่มีกลิ่นเนื้อคล้ายเบอร์รี เพราะเลี้ยงโดยให้หมูกินเบอร์รีกินลูกสน
“ผมพัฒนาต่อเลยครับ ปลูกสมุนไพร ปลูกพืชที่มีกรดอะมิโน พวกหมากเม่า ลูกมะเดื่อ ผมเน้นพืชถิ่น”
เขานำพืชป่าในท้องถิ่นมาเป็นอาหารหมู สร้างกลิ่นเฉพาะตัวฝังอยู่ในเนื้อสัตว์ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับวัวโกเบที่กินเบียร์แล้วเนื้อนุ่มมีกลิ่นเบียร์ และยังพบว่าพืชที่มีกรดอะมิโนของธรรมชาติส่งผลให้หมูโตเร็วขึ้น และทำให้เนื้อหมูของเขามีคุณภาพดี เนื้อเหนียวนุ่ม รวมทั้งไม่ค่อยติดมันเพราะหมูในฟาร์มนี้จะไม่นอนอยู่เฉย ๆ พวกมันวิ่ง เคลื่อนไหวร่างกายตลอดเวลา ส่งผลให้มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง
และเคล็ดลับที่ทำให้หมูไม่เป็นโรคโดยไม่ต้องพึ่งยาวัคซีน คือการที่ทำให้หมูในฟาร์มสร้างระบบภูมิคุ้มกันตัวเอง
“เรามีหมูตัวผอมที่สุดในคอก มันเป็นตัวที่ป่วย แต่มันทำให้หมูตัวอื่นสร้างระบบภูมิคุ้มกันต่อโรคและแข็งแรงขึ้นตามกลไกธรรมชาติ”
วานิชยังหาเชื้อจุลินทรีย์ที่จะมาสร้างภูมิคุ้มกันป้องกันโรคให้หมูโดยการเก็บเชื้อจุลินทรีย์จากป่าบนเขาซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์มาก เขาจะนำน้ำตาลธรรมชาติคือมะพร้าว ไปวางตามซอกหิน รากไม้ ธารน้ำในถ้ำ ทิ้งไว้ ๓ คืนจึงค่อยไปเก็บ วานิชบอกว่าจุลินทรีย์จะลงมาตอนกลางคืนเวลาที่ต้นไม้คายคาร์บอนไดออกไซด์
จุลินทรีย์ภูเขาจะถูกหมักในถังแล้วนำมาผสมกับน้ำให้หมูกิน ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรค ช่วยย่อยอาหาร ส่งผลให้กลิ่นมูลสัตว์ดีขึ้นไม่เหม็นมาก และยังส่งผลดีต่อสภาพแวดล้อม เขายังนำจุลินทรีย์ภูเขาที่หมักแล้วผสมกับหญ้า รำ ข้าวโพดให้เข้ากัน ใช้เป็นอาหารเสริมระหว่างวันให้หมูด้วย
อีกหนึ่งเคล็ดลับคือการปลูกต้นสนประดิพัทธ์
“หลายคนคิดว่าผมปลูกสนไว้เพื่อความสวยงาม ไว้บอกอาณาเขต”
เขาเฉลยว่าแท้จริงแล้วปลูกไว้เป็นแนวกันลม ป้องกันสารเคมีหรือสิ่งแปลกปลอมอันตรายที่พัดตามลมเข้ามาในฟาร์ม
“เป็นด่านแรกที่เราใช้ป้องกันสัตว์ออร์แกนิกภายในฟาร์มจากสารเคมีต่าง ๆ”
หมูปลอดภัยสู่ตลาดสีเขียว
วานิชเป็นที่รู้จักในวงการอาหารของคนรักสุขภาพอย่างมาก เพราะการได้เข้ามาเป็นสมาชิกของ “ตลาดสีเขียวขอนแก่น” หรือ Khon Kaen Green Market ซึ่งเปิดตลาดอยู่บริเวณถนนอนุสาวรีย์พระนครศรีบริรักษ์ ริมบึงแก่นนคร เขาจะไปขายทุกวันศุกร์ ตั้งแต่เวลา ๔ โมงเย็นถึง ๑ ทุ่ม สินค้าหลักคือหมูบาร์บีคิว ร้านสเต๊กเนื้อหมูออร์แกนิก ซึ่งได้เสียงตอบรับดีมาก
วานิชเล่าที่มาที่ไปว่าเพราะเขาได้รับการชักชวนจากปาณิศา อุปฮาด ให้มาขายที่ตลาดสีเขียวขอนแก่น
ปาณิศาหรืออ้อม หญิงสาวนิสัยร่าเริงสดใส เธอเป็นเลขาธิการของตลาดสีเขียวขอนแก่น และเป็นผู้มีส่วนริเริ่มก่อตั้งตลาดตั้งแต่เมื่อปี ๒๕๕๗ โดยกลุ่มเกษตรกรอินทรีย์ได้ขอพื้นที่ตั้งตลาดสีเขียวกับทางเทศบาลและมีหลายหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือ เช่น สาธารณสุขจังหวัด สหกรณ์ผู้บริโภค
ช่วงแรกตลาดยังไม่เป็นที่รู้จัก ขายได้กำไรบ้างขาดทุนบ้างจนเกือบจะถอดใจกันแล้ว
“ตอนแรกเราเอาโต๊ะเก้าอี้กันมาเอง ยังไม่ได้เก็บเงินค่าแผงกันเลย ขายกันแบบตามมีตามเกิด”
จนเมื่อตลาดเริ่มอยู่ตัวจึงเริ่มก่อตั้งเป็นสหกรณ์ โดยเลือกเกษตรกรเข้ามาเป็นกรรมการ เทศบาลเป็นที่ปรึกษา สาธารณสุขเป็นฝ่ายตรวจสอบคุณภาพของสินค้า และมีผู้บริโภคมาเป็นคณะกรรมการจัดตั้งด้วย จัดประชุมกันทุกเดือนและเริ่มสร้างทีมตรวจสอบแปลงผักต่าง ๆ ของสมาชิก และเริ่มเก็บเงินค่าแผงครั้งละ ๑๐ บาท
“พ่อค้าแม่ค้าบอกว่าเก็บทำไมแค่ ๑๐ บาท ขึ้นราคาเถอะพี่ เลยขึ้นเป็น ๒๐ บาท”
เงินค่าแผงทั้งหมดนำไปใช้เป็นค่าตรวจสอบแปลงประจำเดือน และตรวจสอบมาตรฐานของร้านค้าใหม่ที่ต้องการเข้ามาในตลาด
“มีคนขอเข้ามาขายที่ตลาดสีเขียวขอนแก่นกว่า ๕๐๐ ร้าน แต่ที่จะขายในตลาดได้จริง ๆ มีแค่ราว ๗๐ ร้าน เราจะคัดกรองและตรวจลึกมาก ที่สำคัญคือเราต้องการคนที่มีแนวคิดกับหัวใจเป็นเกษตรอินทรีย์”
การตรวจแปลงจะมีคณะกรรมการเดินทางไปตรวจถึงที่โดยไม่รับเงินค่าจ้างใด ๆ “ไปตรวจแปลงก็ห่อข้าวไปกินกันเอง”
เธอบอกว่าถ้าคิดว่าต้องใช้เงินก็จะเป็นปัญหา เธอคิดว่าการตรวจแปลงถือเป็นการพัฒนาตลาด ซึ่งก็จะช่วยให้เธอขายของและมีรายได้จากตลาดนี้ไปด้วย
ในตลาดสีเขียวขอนแก่นแบ่งเกษตรกรเป็นสองส่วน คือส่วนที่เป็นอินทรีย์จะตั้งธงสีเขียวไว้หน้าร้าน ส่วนร้านที่ตั้งธงสีเหลืองคือ “ปลอดภัย”
“ธงสีเหลืองคือเกษตรกรที่กำลังเปลี่ยนผ่าน ปรกติถ้าจะเป็นเกษตรอินทรีย์ได้นั้นดินต้องงดใช้สารเคมีมาไม่ต่ำกว่า ๓ ปีถึงจะเป็นธงสีเขียว ที่เราคัดเข้ามาเพราะเขามีหัวใจอยากเปลี่ยนเป็นระบบอินทรีย์ แต่เราก็ต้องชัดเจนกับผู้บริโภคและเปิดโอกาสช่วยเหลือเกษตรกรที่อยากเป็นระบบอินทรีย์เต็มตัว”
ส่วนร้านที่เป็นธงเขียวจะถูกสุ่มตรวจปีละสองครั้งก่อนจะเข้ามาในตลาดได้ คณะกรรมการจะลงไปตรวจเก็บตัวอย่างดิน ตัวอย่างผลผลิต ไปให้ห้องแล็บของสาธารณสุขเก็บค่าสมาชิกปีละ ๑๕๐ บาท
ปาณิศาบอกว่าทางตลาดพยายามสื่อสารกับผู้บริโภคให้มากที่สุด ทั้งจัดกิจกรรมให้ความรู้ กิจกรรมการเยี่ยมแปลงเกษตรกร ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของตลาดสีเขียวขอนแก่น โดยนำผู้บริโภคไปเยี่ยมแปลงเกษตรกร สร้างความสัมพันธ์กินข้าวร่วมกันสร้างความเชื่อใจกัน
“เราจัดกิจกรรมนี้มา ๓ ปีแล้ว เหมือนธุรกิจขายตรงเลยก็ว่าได้ เราขายความน่าเชื่อถือ”
เมื่อ ว.ทวีฟาร์ม ได้เข้ามาขายในตลาดสีเขียวขอนแก่น ก็ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบต่าง ๆ ดังกล่าวมาเช่นกัน
ปาณิศาบอกว่าร้านของวานิชขายดีมากเป็นพิเศษ
“ขายหมดเกือบทุกวัน บางวัน ๕ โมงก็หมดแล้ว”
เธอยังบอกอีกว่ารสชาติของเนื้อหมูหอมอร่อยมาก เนื้อสัมผัสคล้ายกับเนื้อวัว แต่กลิ่นหอมกว่าเนื้อหมูทั่วไป
จากปณิธานสู่คำสอนของพ่อ
“มีลูกค้าบางคนบอกว่าผมเอาเนื้อวัวมาขาย ไม่เชื่อว่าเป็นเนื้อหมู”
นอกจากขายสินค้าที่ตลาดสีเขียวขอนแก่นแล้ว วานิชยังนำสินค้าไปขายที่ตลาด Fairy Farmers Field ที่ห้างสรรพสินค้าแฟรี่พลาซ่า ทุกวันอาทิตย์และวันจันทร์
เขาให้ความเห็นว่า คนส่วนใหญ่เวลาคิดถึงอาหารรักสุขภาพจะคิดถึงผักผลไม้ ไม่ค่อยมีใครคิดถึงเนื้อหมู แต่เขาอยากบอกกับทุกคนว่ายังมีเนื้อหมูที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ และยังอยากให้คนรุ่นใหม่รู้ว่าการเลี้ยงหมูโดยไม่ต้องพึ่งสารเคมีทำได้จริง สามารถอยู่กับธรรมชาติได้
“เคยมีคนบอกผมว่าอิจฉาชีวิตแบบผมที่มีสถานที่บรรยากาศสวย ๆ ไว้ถ่ายรูป แต่กว่าผมจะมีสถานที่สวย ๆ อย่างนี้ผมต้องใช้ขวานของผม ใช้ความพยายามในการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ที่มีแต่ต้นไม้รกร้าง
“กว่าจะมาเป็นแบบนี้ผมผ่านอะไรมาเยอะ”
วานิชเคยมีช่วงที่เผชิญปัญหาหนักหนาจนคนที่สู้ชีวิตอย่างเขายังต้องจนมุม จนวันหนึ่งได้พบทางสว่างได้เรียนรู้หลักการพึ่งตัวเองของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทำให้เขาเรียนรู้ว่าจะต้องพึ่งตนเองให้ได้มากที่สุด ลดการใช้สารเคมีให้มากที่สุด เรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติให้ได้อย่างลงตัวและยั่งยืน
“ผมเคยท้อมาก ๆ แต่พอได้เห็นในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทำให้ผมนึกถึงหลักคำสอนว่า เราต้องเรียนรู้
เพื่ออยู่กับธรรมชาติและเราจะมีความสุขเอง”